23 ก.ค. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
🎥 EP. 4
บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง : ตำนานบทสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยุคภาพยนตร์เสียง
ในช่วงเริ่มต้นดำเนินงาน บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงได้ตัดสินใจเลือก ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) นักปราชญ์ผู้มีความจัดเจนด้านการประพันธ์ มาเป็นผู้เขียนเรื่องและกำกับภาพยนตร์เสียงในฟิล์มเรื่องแรกของบริษัท
เนื่องจากได้ประจักษ์ถึงความสามารถในเชิงการกำกับการแสดงจากภาพยนตร์ เรื่อง รบระหว่างรัก ที่ออกฉายเมื่อต้นปี พ.ศ. 2474 และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
ขุนวิจิตรมาตราเป็นผู้รอบรู้เกี่ยวกับความเป็นไปของภาพยนตร์โลก โดยเฉพาะภาพยนตร์ฮอลลีวูด จึงทราบว่าช่วงเวลานั้นภาพยนตร์เพลงกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก
ดังนั้นเมื่อเริ่มลงมือเขียนบท ท่านจึงได้ผสมเรื่องราวของหนุ่มชาวไร่ผู้ทิ้งลูกเมียมาหลงแสงสีเมืองกรุง เข้ากับบทเพลงไพเราะถึง 6 เพลง จนในที่สุดก็ได้เป็นบทภาพยนตร์เรื่อง "หลงทาง" ออกมา
กองถ่ายภาพยนตร์เสียงเรื่อง หลงทาง ของพี่น้องวสุวัต
ทีมงานหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งประกอบด้วย
หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) เป็นผู้ถ่ายภาพ
นายกระเศียร วสุวัต เป็นผู้บันทึกเสียง
นายมานิต วสุวัต เป็นผู้อำนวยการสร้าง
และผู้กำกับการแสดงคือ ขุนวิจิตรมาตรา
ก็เริ่มลงมือถ่ายทำ โดยดัดแปลงบริเวณลานบ้านสะพานขาวของพี่น้องวสุวัตเป็นโรงถ่ายขนาดใหญ่สำหรับเก็บเสียง จากนั้นจึงตกแต่งเป็นห้องหับสำหรับถ่ายฉากภายใน
แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นอีกจนได้ เมื่อทีมงานไม่สามารถหาฉากภาพยนตร์ภายนอกที่เหมาะสมจะเป็นทุ่งนาบ้านของพระเอกได้
ทั้งหมดจึงออกเดินทางค้นหา หลังจากใช้เวลาไม่นานคณะผู้สร้างก็ค้นพบสถานที่ถูกใจที่ตำบลบางกะปิ เป็นทุ่งนาผืนกว้างที่เหมาะแก่การถ่ายภาพยนตร์
คณะผู้สร้างจึงปักหลักถ่ายฉากภายนอกจนกระทั่งปิดกล้อง ทุ่งบางกะปิแห่งนี้เองที่คณะถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงได้กลับมาสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงในเวลาต่อมา
▶ เกร็ด :: นอกจากเป็นภาพยนตร์เสียงในฟิล์มเรื่องแรกของไทย ยังเป็นภาพยนตร์ที่มีฉากเล้าโลมกอดจูบเรื่องแรกของไทยอีกด้วย
การถ่ายทำภาพยนตร์เสียงเรื่อง หลงทาง ได้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474 และไปสิ้นสุดเอาในช่วงปลายเดือนมีนาคม
เหตุที่คณะถ่ายทำของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงต้องเร่งถ่ายทำให้เสร็จโดยเร็วก็เพื่อจะให้ทันเข้าฉายในช่วงวันปีใหม่ เดือนเมษายน พ.ศ. 2475 (นับตามศักราชแบบเก่า ซึ่งวันปีใหม่ในสมัยนั้นคือวันที่ 1 เมษายน)
ซึ่งพิเศษกว่าทุกปี เพราะเป็นปีที่รัฐบาลจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี
ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศจะเดินทางเข้ามาในเมืองหลวงมากกว่าปรกติ
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเมื่อภาพยนตร์เสียงเรื่อง หลงทาง ออกฉายจะประสบความสำเร็จเพียงใด
ทว่าหลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงก็ไม่ได้สร้างภาพยนตร์บันเทิงต่ออีกเลยเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี
ช่วงต้นปี พ.ศ. 2477 การดำเนินการก่อสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงที่ทุ่งบางกะปิก็เริ่มต้นขึ้น
โดยบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงได้ว่าจ้างให้บริษัทคริสเตียนแอนด์เนียลเสนซึ่งเป็นบริษัทที่ชำนาญการก่อสร้างในสมัยนั้นเป็นผู้รับเหมา อาศัยแบบที่เขียนขึ้นตามแบบโรงถ่ายฮอลลีวูดทุกประการ
อาคารโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง เมื่อแรกเปิด ในปี พ.ศ. 2478
▶ โปรดติดตาม EP. 5 ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️
▶ ขอขอบคุณที่มาข้อมูล ::
- หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
- บทความของ ภาณุ อารี (http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=9)
เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้
- สุดท้ายนี้หากได้ประโยชน์จากบทความนี้อย่าลืมกด Like & Share และสามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อแบ่งปันมุมมองให้กันด้วยนะครับ 🙏🏻🤗 -
🌐 ติดตามภาพยนตรานุกรมได้ที่ :: http://thaibunterng.fandom.com/th/wiki/ไทยบันเทิง
โฆษณา