13 ก.ค. 2021 เวลา 02:50 • ความคิดเห็น
จาก Hi5 สู่ FB และ social media ตัวอื่นของไทย
ในไทยช่วงก่อนปี 2010 หากพูดถึง social media ทุกคนต้องคิดถึง Hi5 เป็นอันดับหนึ่ง สาเหตุที่ชาวไทยใช้กันทั่วบ้านทั่วเมืองอาจมาจากการปรับแต่งหน้าโปรไฟล์ของตนได้ตามใจชอบ แตกต่างจาก platform อย่าง weblog หรืออื่น ๆ ที่จำกัดรูปแบบไว้ นอกจากนี้ยังใส่เพลง ปรับ Top 5 ของเราเพื่อให้เพื่อน ๆ ที่เข้ามาดูหน้าเว็บของเราเห็นว่าใครเป็นคนสำคัญ
ทว่าหลังจากมี Hi5 ทั้ง Facebook และ social media อื่น ๆ ก็ทยอยเปิดให้บริการ แต่ยังไม่ได้รับความนิยมในไทยมากนัก
ท้ายที่สุดชาวไทยกลับอพยพจาก Hi5 มาใช้บริการ FB และ social media อื่น ๆ แทน สำหรับ FB อาจเรียกได้ว่า "ตั้งรกราก" เลยทีเดียว
ผมไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ได้แต่เดาว่าเพราะระบบอินเตอร์เน็ตมีความเร็วเพิ่มขึ้น ผนวกกับคอมเม้นของ FB แสดงขึ้นอย่างรวดเร็วปัจจุบันทันด่วนและมีระบบ Like ที่ตอบสนองการเป็นจุดสนใจ ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นข้อดีที่เหนือกว่าการได้ตกแต่งหน้าโปรไฟล์ของตนเอง
ไหนจะมีเกมให้เล่นอีก สมัยนั้นผมก็เล่น เป็นเกมปลูกผักซึ่งผมไม่เน้นปลูก เน้นขโมยผักจากแปลงเพื่อนมากกว่า 🤣
แต่จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามที ท้ายที่สุดคนไทยเลิกใช้ Hi5 อาจเพราะตอบสนองความต้องการด้านคอมเม้นไม่ได้ จะอ่านคอมเม้นแต่ละทีก็ต้องคอยกด F5 refresh หน้าจอบ่อย ๆ
เพียงคุณใช้เวลาว่าง วันละ 2-3 ชม. ทำงานพิเศษผ่านทางเน็ต ก็มีรายได้เสริม หารายได้พิเศษทำที่บ้านได้
อุ๊ย ! ขอโทษ ๆ มันอดรำลึกความหลังไม่ได้ นั่นคือประโยคโฆษณา spam ที่ทุกคนต้องเคยผ่านตามาบ้าง
1
จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ นี่อาจเป็นสาเหตุให้ FB เปลี่ยนหน้าเว็บ
ปัจจุบัน Hi5 ถูกผนวกเข้ากับเว็บไซต์ของ Tagged www.tagged.com สังกัดบริษัท Ifwe (อิฟ วี) ซึ่งข้อมูล username และ password ของ Hi5 นั้นไม่สูญหาย เรายัง login เข้าไปได้ หากลืม password ก็ตั้งใหม่ได้ด้วยบริการรีเซ็ตรหัสผ่านจาก e-mail
ซึ่งผมก็ลองกลับเข้าไปดูเช่นกัน และพบว่าไม่มีข้อมูลอื่น ๆ หลงเหลืออยู่เลย เว้นแต่ชื่อโปรไฟล์เดิมที่แทบจะลืมไปแล้ว น่าเสียดายเหมือนกันนะ แต่สุดท้ายผมก็ปิดบัญชี Hi5 ทิ้ง
🎵เพื่อบอกตัวเองว่าเราต้องลืมเรื่องราวที่ผ่าน แม้ความจริงทรมาน ไม่มีวันไหนไม่คิดถึงเธอ 🎵
1
พอ ๆ ๆ ดราม่าเยอะไปแล้ว ผมปิดเพื่อสิ้นสุดกับมันอย่างถาวร เพราะ move on มาไกลแล้วต่างหาก
ก่อนจะพูดถึง social media ของไทยในปัจจุบันอย่าง BD ผมต้องพูดถึงอีกเจ้าหนึ่งก่อน นั่นคือทอฝัน (Thorfun) ที่มีโมเดลธุรกิจนำค่าโฆษณา 51 % มาจ่ายให้เจ้าของบัญชี เพื่อดึงดูดคนให้หันมาใช้บริการและผลิตเนื้อหาเพื่อเผยแพร่ใน social media แห่งนั้น
ผมเองเกือบหลวมตัวไปสมัครใช้บริการเช่นกันแต่สุดท้ายก็ทำสิ่งอื่นจนลืมมันไป ขณะนั้นทอฝันดูจะเป็น social media สัญชาติไทยที่มีศักยภาพ เพราะมีข่าวว่าจะเปิด Thorfun 2.0 ซึ่งเพิ่มฟีเจอร์อะไรนู่นนี่ แต่สุดท้ายก็หายเงียบไปเหมือนความฝันและผมก็ค้นไม่พบข่าวคราวอื่น ๆ ของมันอีกเลย
ท่อฝัน  หายไปเหมือนตกท่อในความฝัน
BD นั้นเท่าที่สังเกตดูเหมือนจะเจริญรอยตามทอฝันในแง่ดึงดูดให้ผู้ใช้ผลิตเนื้อหาเพื่อเผยแพร่และแบ่งรายได้ให้ แต่ BD ก็อาศัยการเติมเต็มช่องว่างที่ social media, social network และ weblog อื่น ๆ ขาดหายไปด้วย
ในด้านหนึ่ง social network, social media จะมีการจัดเรียงบรรทัดของตัวอักษรไม่สวยอย่างหนังสือที่มีย่อหน้า มีเว้นระยะห่างระหว่างบรรทัด ตัวหนา ตัวเอียง แต่ที่นั่นมีผู้คนใช้บริการเยอะ โอ ! ไม่แน่ว่า Infographic อาจได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะ social media และ social network ให้โพสท์รูปก็เป็นได้ การสรุปข้อมูลมากมายให้เข้าใจง่ายในรูปเดียวดีกว่าโพสท์ที่มีตัวอักษรติดกันเป็นพรืด
ขณะที่ weblog แม้จะจัดเรียงตัวอักษรได้สวยตามรูปแบบของหน้าเว็บไซต์ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ถนัดปรับแต่งและเป็นเจ้าของเว็บ ไหนจะต้องคอยประชาสัมพันธ์มันอีก กลายเป็นภาระเพิ่มเติมนอกเหนือจากการผลิตเนื้อหา
BD แทรกตัวผ่านช่องว่างนี้ด้วยการจำกัดข้อความในรูปแบบกล่อง และดึงดูดผู้ใช้โดยไม่เลือกว่าต้องเป็นผู้ผลิตเนื้อหาเท่านั้น ระบบนิเวศน์ของ social media จึงมีทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เกิดสมดุลและมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมชาติ
1
ทว่าผมยังไม่ปักใจเชื่อว่ารูปแบบที่เป็นอยู่นี้ดีที่สุด หากในอนาคตมี social media ที่สร้างระบบการจัดวางตัวหนังสือได้ดีกว่า อ่านแล้วสบายตายิ่งกว่านี้ ผู้คนอาจย้ายไปอยู่ที่นั่นก็เป็นได้ เว้นแต่มันจะเจ๊งก่อนเหมือนทอฝัน หรือถูกซื้อด้วยบริษัทที่เห็นว่าเป็นภัยคุกคาม อย่างที่ FB ซื้อ social network อื่น ๆ ที่พิจารณาแล้วว่ากำลังคุกคามตนเอง
โลกธุรกิจมันโหด ว่าไปถึงการซื้อบริษัทแล้ว ก็แวะนินทาธุรกิจขนส่งพัสดุสักหน่อย Flash Express นี้ได้ยินคำกล่าวขวัญกันนักหนาว่าเป็น "ยูนิคอร์น" รายแรกของไทย ส่วน alpha กลับต้องปิดกิจการล้มหายตายจาก
ดูแล้วธุรกิจขนส่งพัสดุของไทยคงแข่งขันกันดุเดือดมาก ผมเสียดายที่เจ้านี้เอาพี่ติ๊ก เนวิเกเตอร์ ไปโฆษณา เพราะมีโอกาสได้เห็นกับตาเลยว่าพนักงานของ Flash Express ที่ขับมอเตอร์ไซค์ส่งของตามบ้าน เขามัดกล่องอเนกประสงค์อันใหญ่ ๆ ไว้ตรงเบาะท้ายเพื่อบรรทุกพัสดุ
ดูแล้วเป็นการขนส่งที่ไร้ซึ่งความปลอดภัยและไม่เป็นมืออาชีพเลย แตกต่างจากเจ้าอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง
น่ากลัวว่าค่าส่งถูกเพราะลดต้นทุนตรงจุดนี้หรือไม่ ใครจะมองเรื่องนี้อย่างไรก็แล้วแต่ ผมเห็นว่านี่เป็นปัญหาที่รอการแก้ไข เหมือนสนิมเกิดแต่เนื้อในตน ผมอาจประเมินผิดก็ได้ แต่ที่แน่ ๆ สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อคือ
ในวงการธุรกิจจะต้องมี “โวลเดอร์มอร์ต” หลายเจ้ารอดื่มเลือด “ยูนิคอร์น” อยู่แน่ !
2
ผมสัมผัสได้ถึงพลังงานบางอย่าง
⭐️

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา