30 มิ.ย. 2021 เวลา 13:29 • สิ่งแวดล้อม
10 พรรณไม้ป่าเต็งรัง ที่ใครๆ ก็รู้จัก...??
ลองมาดูกันว่าคุณจะรู้จักต้นไม้เหล่านี้กี่ชนิด บางครั้งคุณอาจเคยเห็น หรือได้ใช้ประโยชน์จากต้นไม้ พรรณไม้บางชนิดในป่าเต็งรัง
 PHOTO BY THOTSAPORN
...ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับป่าเต็งรังพอสังเขปกันก่อน
สังคมพืชป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) เป็นสังคมพืชที่มีต้นไม้ที่ผลัดใบเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง (deciduous species) บางครั้งเราเรียกสังคมป่าเต็งรังอีกชื่อว่า Deciduous forest ซึ่งมีไม้เด่นที่พบได้ เช่น ต้นเต็ง (อีสานเรียก ต้นจิก) ต้นรัง (อีสานเรียก ต้นฮัง) ต้นยางเหียง (อีสานเรียกต้นซาด) ยางกราด (อีสานเรียก ต้นสะแบง) ยางพลวง (อีสานเรียก ต้นกุง) ต้นพะยอม (อีสานเรียก ต้นกะยอม) เป็นต้น ไม้ยืนต้นที่กล่าวมาเป็นไม้วงศ์ยาง (DITEROCARPACEAE)
เราสามารถพบสังคมพืชป่าเต็งรังได้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ไม่ยาก หรือพบทางภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผมถือว่าป่าเต็งรังนี้มีความสำคัญกับชุมชนทางภาคอีสานเป็นอย่างมาก เราอาจเรียกว่าเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้านก็ว่าได้ ด้วยความผูกผันกับป่า และมีวิถีชีวิต พึ่งพาการหาอาหารจากป่านี้ รวมทั้งสิ่งก่อสร้างต่างๆ
ถ้าถามชาวบ้านทางอีสาน ว่ารู้จักต้นเต็ง ต้นรัง ไหม? ผู้คนส่วนใหญ่คงไม่มีใครไม่รู้จักต้นไม้ดังกล่าว.. วันนี้เรามาทำความรู้จาก 10 พรรณไม้ ที่ไม่ว่าผมหรือคุณเดินเข้าป่าเต็งรัง คงเจอได้ไม่ยาก แค่ต้องสังเกตนิดหน่อย และคุณจะเรียกชื่อได้ถูกต้อง ถ้าอ่านจดครบ 10 ชนิด นี้ พร้อมแล้วไปชมกันเลย...
1. ยางกราด หรือสะแบง Dipterocarpus intricatus Dyer ที่เราเห็นไม่ใช่ส่วนดอกนะครับ แต่เป็นผลที่กำลังพัฒนา ปีก 2 ปีก คือส่วนที่พัฒนามาจากกลีบเลี้ยง (sepal)
ผลยางกราด  PHOTO BY THOTSAPORN
2. ยางเหียง Dipterocarpus obtusifolius Teijsm. ex Miq.
หรือต้นซาดที่ได้ยินชาวอีสานเรียกบ่อยๆ กกซาดๆ มีลักษณะผลกลม ซึ่งต่างจากต้นยางกราด
ผลยางเหียง หรือซาด PHOTO BY THOTSAPORN
3. เต็ง หรือต้นจิก Shorea obtusa Wall. ex Blume
ถ้าไม่มีดอก จะมีความคล้ายกันกับต้นรังมาก ดังนั้น นักวิชาการจึงให้คีย์เพื่อแยก 2 ชนิด ด้วยลักษณะของโคนใบ ดังประโยคที่ว่า "เต็ง เต่ง รัง เว้า" (เต็งโคนใบไม่เว้า ส่วนรัง โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ)
ดอกเต็ง PHOTO BY THOTSAPORN
4. รัง หรือต้นฮัง Shorea siamensis Miq.
ทวนอีกที "เต็ง เต่ง รัง เว้า"
ดอกรัง หรือฮัง PHOTO BY THOTSAPORN
5. ระเวียงใหญ่ หรือ หนามแท่ง Catunaregam tomentosa (Blume ex DC.) Tirveng.
ด้วยหนามอันใหญ่แหลมของต้นนี้จึงเป็นที่มาของชื่อ หนามแท่ง
PHOTO BY THOTSAPORN
6. เดือยไก่ Madhuca thorelii (Dubard) H. J. Lam
มันคือละมุดป่าดีๆ นี่เองด้วยรสชาติที่หวานหอม คล้ายละมุด และจัดอยู่ในวงศ์ละมุดด้วย SAPOTACEAE
PHOTO BY THOTSAPORN
ข้ามมาฝั่งที่เป็นไม้ล้มลุกกันบ้าง ซึ่งเป็นไม้ที่อายุไม่มากตามชื่อเลย ออกดอกกันเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน บางชนิดชอบขึ้นตามบริเวณที่ชื้น
7. กล้วยไม้นางอั้วมันปู หรือหญ้ามันปู Habenaria rostellifera Rchb. f.
เป็นกล้วยไม้ดิน (Terrestrial orchid) มีลำต้นอยู่ใต้ดิน มีช่อดอกที่ยาวตั้งตรง 10-20 เซนติเมตร ชู่ช่อสง่าอยู่กลางป่า ออกดอกช่วงหน้าฝน แล้วจะมีการพักตัว หรือลงหัว (dormancy) เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง
PHOTO BY THOTSAPORN
8. เปราะลายแตงโม Kaempferia minuta Jenjitt. & K. Larsen
ชื่อน่ารักเชียว เนื่องจากใบมีลายคล้ายกับแตงโมจึงถูกเรียกว่า "เปราะลายแตงโต" เป็นพืชกลุ่มขิงข่า พืชกลุ่มนี้มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ในธรรมชาติดอกจะบานไม่เกิน 2 วัน ก็จะเหี่ยว และจะมีดอกใหม่แทงดอกขึ้นมาบานอีกครั้ง
PHOTO BY THOTSAPORN
9. ดอกดินแดง Aeginetia indica L.
เป็นพืชเบียน หรือปรสิตที่ไม่มีใบ ใช้รากเกาะอาศัยรากพืชชนิดอื่นใต้ดิน ในการดูดสารอาหาร
PHOTO BY THOTSAPORN
10. ดาดชมพู หรือก้ามกุ้งน้อย Begonia pumila Craib
ชนิดสุดท้าย ตัวน้อยน่ารัก พืชกลุ่มนี้ชื่อคุ้นกันดี บีโกเนีย (Begonia) เพราะหลายชนิดถูกนำไปเป็นไม้ประดับตามท้องตลาด พบเกาะตามหินที่ชื้นและมีมอส (moss)
PHOTO BY THOTSAPORN

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา