5 ก.ค. 2021 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ กับ 2 ทฤษฎี ของปรมาจารย์ เคนส์ vs ฮาเยก
หลังวิกฤติ The Great Depression ที่เป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ก็เกิดการโต้วาทีระหว่างสองนักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) และ ฟรีดริช วอน ฮาเยก (Friedrich Von Hayek) เมื่อปี 1931 ที่ London School of Economics (LSE)
2 ทฤษฎี ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ เคนส์ vs ฮาเยก
เคนส์ เสนอแนวคิดที่รัฐบาลต้องเข้ามาใช้จ่ายช่วยเหลือ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้คนที่ตกงานกลับมามีงานทำอีกครั้ง และไม่รอให้คนอดตายไปก่อน ซึ่งเป็นการเรียกความเชื่อมั่นของสัญชาตญาณสัตว์ (Animal Spirit) ที่อยู่ในมนุษย์ให้กลับมา เศรษฐกิจ โดยรวมก็จะได้รับอานิสงส์ สามารถพลิกฟื้นกลับมาคึกคักอีกรอบ ปัญหาก็จะจบลง
ส่วน ฮาเยก คิดตรงข้ามกับเคนส์ เขาบอกว่าวิกฤติครั้งนั้นเกิดจากดอกเบี้ยที่ถูกตั้งอยู่ที่ราคาต่ำเกินไป เพราะธนาคารกลางเข้ามาแทรกแซง ทำให้เกิดการปล่อยกู้อย่างไม่ถูกต้อง การเพิ่มบทบาทของการใช้จ่ายภาครัฐอีก จะยิ่งเป็นการมอมเมาผู้คนให้ทำผิด โดยคนจะไม่กลัวว่าตัวเองจะต้องล้ม เนื่องจากมีรัฐปกป้อง สิ่งที่ดีกว่าที่ฮาเยกเสนอ คือ การปล่อยให้กลไกตลาดดำเนินไปเสรี และให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาเอง
ในยกแรก
อาจารย์เคนส์ เป็นฝ่ายชนะ หลังจากรอเป็นเวลานาน เศรษฐกิจก็ยังคงติดหล่ม ไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้ซักที (จนเคนส์ต้องเขียนว่า ถ้ามัวแต่รอ In the long run we are all dead.)
1
รัฐบาลจึงตัดสินใจเลือกนโยบายการใช้จ่ายขนาดมหึมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะทางเลือกของเคนส์ดูจับต้องได้กับประชาชนมากกว่าในตอนนั้น
จึงนำไปสู่โครงการการใช้จ่ายของสหรัฐฯ อย่าง The New Deal ในยุคของประธานาธิบดีรูสเวลต์ ช่วงปี 1933-1939
1
และเป็นจุดเริ่มต้นของวิชาเศรษฐศาสตร์แขนงใหม่ ที่ว่าด้วย เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) ที่ช่วยตีกรอบของการบริหารเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ มานับ 50 ปี
1
อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านมาถึงยุค 1980 ความคิดของฮาเยกเริ่มถูกนำมาใช้
เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่วิกฤติอีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจฝืดแต่เงินเฟ้อสูง หรือ Stagflation นโยบายของเคนส์ไม่สามารถจัดการกับสิ่งที่เกิดได้ และยิ่งทำยิ่งมีปัญหา
ทำให้โรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ (แนวคิด Reaganomics) หรือมากาเร็ต แทชเชอร์ของอังกฤษ (แนวคิด Thatcherism) หันกลับมาเน้นนโยบายตลาดเสรี เน้นการลดกฎเกณฑ์ต่างๆ ตลอดจนทำการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน ซึ่งแนวคิดตลาดเสรีตามแนวของฮาเยกได้เป็นแนวคิดหลักของนโยบายต่อมาในหลายประเทศ อีกสักพัก
ส่วนที่ว่าแนวคิดของใครดีกว่า ได้ถูกถกเถียงกันต่อมาอีกยาวนาน แม้กระทั่งในช่วงหลังจากวิกฤติการเงินโลกในปี 2008 หลานศิษย์ของสองอาจารย์ปู่ก็ยังถกเถียงกันต่อ
ซึ่งแม้ดูผิวเผินเราอาจจะเห็นว่าเหมือนค่ายเคนส์จะชนะอีกครั้งจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรป ที่ต่างมีประธานธนาคารกลางคือ Ben Bernanke และ Mario Draghi (ช่วงตอนฟื้นจากวิกฤต) ที่ถูกฝึกสอนมาจากค่ายเคนส์ ตัดสินใจใช้เงินจำนวนมากอัดฉีดเข้าระบบ เพื่อเข้าแทรกแซงกระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่แนวคิดเรื่องการสร้างกลไกตลาดที่เหมาะสม ลดแรงจูงใจที่ผิดของสถาบันการเงินใหญ่ๆ ที่มองว่าตัวเองจะถูกอุ้มหากเดินพลาด ซึ่งเป็นแนวคิดของฮาเยก ก็ได้รับการพูดถึงและทำให้ทางการเข้าไปตรวจสอบสถาบันการเงินมากขึ้น (แม้จะขัดกับเจตนาของฮาเยกที่ต้องการใช้ตลาดเสรีเข้าไปจัดการ)
สรุปแนวคิดของ ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ เคนส์ vs ฮาเยก
ทั้งนี้ เราจะเห็นสองแนวคิดนี้ แข่งขันกันอยู่ตลอด ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็คงต้องยอมรับว่า เมื่อเทียบอายุกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่แล้ว เศรษฐศาสตร์ยังถือว่ามีอายุน้อยอยู่มาก
ดังนั้น จึงมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่มีคำตอบ และยังต้องศึกษากันเพิ่มเติม เพื่อให้เราเข้าใจเศรษฐกิจและพฤติกรรมของคนมากขึ้น
แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่า ท้าทายยิ่งกว่า ศาสตร์อื่นๆ ก็คือ บทเรียนสำคัญทางเศรษฐศาสตร์แต่ละบทเรียนที่เราเรียนรู้มา มักจะมีต้นทุนที่สูง มีราคาที่แพง
เพราะวิกฤติแต่ละครั้งที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนเป็นวงกว้าง
ทำให้คนจำนวนมากตกงาน ล้มละลาย ลำบากไปตามตามกัน กว่าที่จะทำให้เราพบข้อสรุปบทเรียนที่เหมาะสม สามารถใช้สำหรับวิกฤตครั้งต่อไป
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา