Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
EveryGreen
•
ติดตาม
5 ก.ค. 2021 เวลา 12:30 • สุขภาพ
ภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนโควิดเปรียบเทียบกัน 7 ยี่ห้อ
1
เนื่องด้วยโควิดเป็นเชื้ออุบัติใหม่ วัคซีนโควิดที่ใช้ตอนนี้จึงยังไม่มีมาตรวัดสากลในการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีน การที่จะยอมรับว่าร่างกายสามารถป้องกันต่อเชื้อโรคนั้นๆได้ จะต้องมีการวัดค่า Correlate of Protection (CoP) ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น วัดระดับแอนติบอดี้ที่ถูกกระตุ้น, วัดค่า T cell ที่ถูกกระตุ้น เป็นต้น
ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเรานั้น ไม่ได้มีแค่ระดับแอนติบอดี้ หรือ ระดับ T cell แต่มีการทำงานที่ซับซ้อน สนับสนุนซึ่งกันและกันแตกต่างกันไปตามการรับมือกับเชื้อโรค แต่การรับมือกับเชื้อโรคแบบจำเพาะ ที่เป็นหลักของการใช้วัคซีน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระบบหลัก คือ
- Humoral immune response (HMI)
- Cell-mediated immune response (CMI)
Humoral immune response (HMI) คือ การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันโดยการใช้สารน้ำ ดังจะเห็นได้จากบางงานวิจัย ที่ใช้เซรั่มของผู้ติดเชื้อมาวัดระดับการป้องกัน หรือ การวัดระดับแอนติบอดี้ที่ถูกกระตุ้นหลังการติดเชื้อหรือการฉีดวัคซีน
ส่วน Cell-mediated immune response (CMI) คือ การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันผ่านการกระตุ้นด้วยเซลล์ ซึ่งการกระตุ้นด้วยเซลล์นี้เอง จะแข็งแรงและอยู่ในร่างกายได้ยาวนานกว่า เพราะมีระบบจดจำเชื้อโรค นี่จึงเป็นอีกเหตุผลนึงที่วัคซีนบางชนิด ไม่ต้องฉีดซ้ำบ่อยๆหรือฉีดแค่ครั้งเดียวตลอดชีวิต เพราะถึงแม้ระดับแอนติบอดี้ที่ได้จากวัคซีนจะลดลงไปตามเวลา แต่ร่างกายยังมีภูมิคุ้มกันแบบเซลล์ที่สามารถจดจำหน้าตาของเชื้อโรคตามที่วัคซีนบอกไว้ เมื่อมีเชื้อโรคตัวจริงเข้ามา ร่างกายก็สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อมาสู้กับเชื้อโรคได้
1
💉 ดังนั้นในปัจจุบันนี้จึงยังไม่มีคำตอบสำหรับวัคซีนโควิดว่าควรต้องฉีดวัคซีนซ้ำไปทุกปีหรือไม่ แม้กระทั่งคำถามที่ว่าเข็ม 3 จำเป็นหรือไม่ก็ยังไม่มีคำตอบยืนยันแน่ชัด ที่ตอนนี้มีแนวโน้มว่าควรฉีดวัคซีนโควิดกระตุ้นเข็ม 3 เพราะเชื้อโควิดกลายพันธุ์เร็ว แถมยังสามารถหลบหนีภูมิคุ้มกันและลดประสิทธิภาพของวัคซีนลง รวมถึงมีหลักฐานจากหลายประเทศว่าวัคซีนบางยี่ห้อที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้น้อยสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ จึงมีแนวโน้มว่าควรฉีดเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิไว้ก่อน
1
แต่ในความเป็นจริง การศึกษาเรื่องการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนโควิด ยังต้องเก็บข้อมูลต่อไปอีกหลายปี อาจมีข้อมูลใหม่ๆออกมา ว่าถึงแม้ระดับแอนติบอดี้จะลดลง แต่ร่างกายสามารถใช้ระบบภูมิคุ้มกันแบบเซลล์รับมือกับเชื้อโควิดได้ แต่ที่ยังไม่สามารถตอบได้ตอนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบภูมิคุ้มกันแบบเซลล์นั้นศึกษายาก เนื่องจากวัดค่าและติดตามผลยาก
1
งานวิจัยส่วนใหญ่จึงมักวัดค่าระดับแอนติบอดี้ที่ถูกกระตุ้นหลังฉีดวัคซีนโควิด (NAb) ว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีหรือไม่ เพื่อบอกคร่าวๆว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ (% efficacy) เป็นอย่างไร เพราะสามารถติดตามวัดค่าได้ง่าย ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่าสำหรับโควิด ยังไม่มี Correlate of Protection (CoP) ที่เป็นมาตรฐาน ว่าระดับ NAb จะบอกถึงระดับการป้องกันของร่างกายต่อเชื้อได้จริงหรือเปล่า แต่ทางทฤษฎี ถ้าร่างกายกระตุ้นภูมิคุ้นกันได้สูง ก็อาจคาดได้ว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนั้นๆสูงด้วย
อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยจาก Nature ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่แสดงให้เห็นว่าระดับ NAb อาจจะพอบอกระดับการป้องกันต่อเชื้อสำหรับวัคซีนโควิดได้
งานวิจัยนี้นำข้อมูลระดับ NAb ของวัคซีนยี่ห้อต่างๆมาสร้างโมเดล เทียบกับ % efficacy ที่ได้จากห้องแล็บว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่
(* หมายเหตุ: การรายงาน % efficacy ของวัคซีนในเฟส 3 เป็นการทดลองเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ฉีดวัคซีนจริงและวัคซีนหลอก แล้วเปรียบเทียบว่ากลุ่มตัวอย่างในแต่ละกลุ่ม มีจำนวนผู้ติดเชื้อ/ป่วยหนัก/เสียชีวิตต่างกันอย่างไร จึงคำนวณออกมาเป็น % efficacy ว่าวัคซีนนั้นป้องกันการติดเชื้อ/ป่วยหนัก/เสียชีวิต ได้กี่เปอร์เซ็นต์)
แต่งานวิจัยนี้ใช้ค่า % efficacy ที่ได้จากการทดลองในห้องแล็บเฟส 2 เพราะการเก็บข้อมูลในห้องแล็บนี้ มักจะมีการวัดระดับ NAb ของกลุ่มตัวอย่างที่ติดเชื้อโควิดและหายแล้วนำมาเป็นค่าอ้างอิง เพื่อการเปรียบเทียบด้วยเสมอ ว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าหรือต่ำกว่าเมื่อเทียบกับระดับ NAb ที่ถูกกระตุ้นจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติ
ดังนั้นงานวิจัยนี้ จึงนำเอาค่าระดับ NAb จากห้องแล็บของวัคซีนยี่ห้อต่างๆ 7 ยี่ห้อ มาหารเทียบกับระดับ NAb ของกลุ่มตัวอย่างที่ติดเชื้อโดยธรรมชาติ (Convalescent) ซึ่งแต่ละยี่ห้อได้มีการเก็บค่าตอนทดลองไว้อยู่แล้ว ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นจำนวนเท่า แล้วจึงนำมาพล็อตกราฟสร้างโมเดล เพื่อดูว่า % efficacy ที่ได้จากห้องแล็บ จะสัมพันธ์กับค่าระดับ NAb ที่วัดค่าได้จริงจากการทดลองเฟส 3 หรือไม่
วัคซีนทั้ง 7 ยี่ห้อ ได้แก่
mRNA-1273 วัคซีนจาก Moderna*
NVX-CoV2373 วัคซีนจาก Novavax*
BNT162b2 วัคซีนจาก Pfizer/BioNTech*
rAd26-S+rAd5-S วัคซีนจาก Sputnik V*
ChAdOx1 nCoV-19 วัคซีนจาก AstraZeneca/Oxford University*
Ad26.COV2.S วัคซีนจาก Johnson & Johnson*
CoronaVac วัคซีนจาก Sinovac*
โดยเปรียบเทียบกับ Convalescent ซึ่งก็คือระดับ NAb ที่ได้จากการติดเชื้อและหายแล้ว
https://doi.org/10.1038/s41591-021-01377-8
🔺 จากกราฟ แกนสีฟ้า Convalescent คือ แกนของระดับ NAb ที่ได้จากการติดเชื้อ ใช้เป็นกลุ่มอ้างอิงซึ่งอยู่ที่เลข 1 พอดี
[ ผลการศึกษา ]
พบว่า Moderna, Novavax, Pfizer/BioNTech และ Sputnik V มีค่า % efficacy จากห้องแล็บที่สูง (อยู่ด้านบนของกราฟ) และ ยังเพิ่มระดับ NAb ได้ดีกว่าระดับ NAb ที่ได้จากการติดเชื้อ ดูได้จาก fold of convalescent มากกว่า 1 (ค่อนไปทางขวา)
ส่วน Johnson & Johnson, AstraZeneca/Oxford University และ Sinovac มี % efficacy ของวัคซีนรองลงมาตามลำดับ (อยู่ด้านล่างของกราฟ ลงมาตามลำดับ) และ กระตุ้นระดับ NAb ได้น้อยกว่าระดับ NAb ที่ได้จากการติดเชื้อ (ค่อนไปทางซ้าย) โดยประสิทธิภาพของ Sinovac เมื่อเทียบกับวัคซีนตัวอื่นถือว่าน้อยที่สุด (อยู่ล่างสุดและซ้ายสุด)
เพื่อทดสอบความแม่นยำของโมเดล ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2021 ได้มีข้อมูลในเฟสที่ 3 ของวัคซีนอีกยี่ห้อหนึ่งออกมา ซึ่งก็คือ BBV152 หรือ Covaxin (จุดกลมสีเขียว) เป็นวัคซีนจากภารตะไบโอเทคของอินเดีย พบว่า ค่า % efficacy ของวัคซีนที่ได้จากการเก็บข้อมูลในเฟส 3 โดยการวัดระดับ NAb หลังฉีด อยู่ที่ 79.2% เมื่อนำมาแทนค่าลงในโมเดล สามารถคำนวณย้อนกลับเพื่อทำนายได้ว่า % efficacy ของวัคซีนตั้งแต่เฟส 1 และ เฟส 2 จากห้องแล็บ ควรจะเป็น 79.6% ซึ่งข้อมูลที่มีการรายงานจริงคือ 80.6% แสดงว่าโมเดลมีความแม่นยำ
▪️ จากโมเดลนี้ จึงพอบอกได้ว่า % efficacy ของวัคซีนและระดับ NAb ที่เพิ่มขึ้นหลังฉีด มีความสัมพันธ์กัน เพราะวัคซีนที่มีค่า % efficacy จากห้องแล็บที่สูง ก็จะกระตุ้นระดับ NAb ได้สูงด้วย
🌸 ความเห็นส่วนตัว
งานวิจัยจาก Nature นี้เป็นงานวิจัยที่เคยเขียนเป็นบทความพรีเมี่ยมไว้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2021 และนำมาอธิบายเพิ่มเติมแค่ผลการทดลองแรกเท่านั้น ถ้าอยากอ่านฉบับเต็มสามารถอ่านได้ที่ลิงค์นี้ >>
https://www.blockdit.com/posts/60a74323f3fbfe135c05d930
ตอนนั้นที่เห็นผลการทดลองว่า Sinovac กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้น้อยสุด เมื่อเทียบกับ Moderna ที่กระตุ้นได้ดีสุด เป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังกระจายการฉีดวัคซีน Sinovac ให้กับบุคลากรการแพทย์ ซึ่งก็ได้เขียนเตือนไว้ท้ายบทความตั้งแต่ตอนนั้นว่า Sinovac อาจไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะถึงแม้จะฉีดวัคซีนครบแล้วก็ยังอาจติดเชื้อได้อีก พร้อมกับหวังว่าค่า % effectiveness จากการฉีดจริงให้กับประชากรจำนวนมาก (เฟส 4) ของ Sinovac จะดีกว่าค่า % efficacy ที่ได้จากการศึกษา (เฟส 2, เฟส 3) ตามรายงานของ WHO
1
แต่เวลาผ่านมาเดือนครึ่ง จนถึงวันนี้จากข้อมูลงานวิจัยที่มากขึ้น ประกอบกับข้อมูลการฉีดจริงในแต่ละประเทศ เริ่มแสดงให้เห็นว่า Sinovac นอกจากจะมีประสิทธิภาพน้อยเมื่อฉีดเข็มเดียวแล้ว ถึงฉีดครบโดสก็ยังติดเชื้อได้ ถึงแม้อาจจะพอป้องกันสายพันธุ์แอลฟ่าได้บ้าง แต่กับเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า วัคซีนลดประสิทธิภาพลงอย่างชัดเจน และประเทศไทยกำลังเผชิญกับเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า (ในอนาคตถ้ามีเชื้อกลายพันธุ์ใหม่มาครองพื้นที่การระบาดแทนเดลต้าได้ ก็แสดงว่าเชื้อนั้นแพร่ได้ดีกว่าขึ้นไปอีก) ดังนั้นดูเหมือนว่าในเวลานี้แค่ Sinovac จะไม่เพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์ระบาดในประเทศไทยขณะนี้เสียแล้ว
5
จึงตัดสินใจนำข้อมูลจากงานวิจัยมาเขียนบทความอีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะคิดไว้แล้วว่าเหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้น แต่ไม่คิดว่าเชื้อกลายพันธุ์จะมาบุกเร็วขนาดนี้ ตอนนั้นหวังว่าเชื้อกลายพันธุ์อาจจะมาหลังจากที่ประเทศไทยสามารถกระจายฉีดวัคซีนทั้ง Sinovac และ AstraZeneca ได้มากแล้ว ค่อยมาตอนนั้นก็คงพอรับมือได้ แต่จากระบบสาธารณสุขที่กำลังวิกฤติอยู่ขณะนี้ บ่งบอกชัดเจนแล้วว่าเรารับมือไม่ได้
1
2
ถ้ายังไม่ทำอะไรสักอย่าง เช่น เพิ่มการผลิต rapid test kit ตรวจเชิงรุกให้มากขึ้น รีบแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อ, ทำระบบรักษาผู้ติดเชื้อที่กักตัวอยู่ที่บ้าน, เพิ่มปริมาณวัคซีนและกระจายฉีดให้มากกว่านี้ เร็วกว่านี้, ใช้วัคซีนมีคุณภาพที่รับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ได้ ต่อไปนอกจากจะเจอเคสคนฉีดวัคซีนครบโดสติดเชื้อแล้ว ก็จะมีตัวเลขผู้ป่วยหนัก ผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น จากคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนด้วยเช่นกัน
1
References >>
Khoury, D.S., Cromer, D., Reynaldi, A. et al. Neutralizing antibody levels are highly predictive of immune protection from symptomatic SARS-CoV-2 infection. Nat Med (2021).
https://doi.org/10.1038/s41591-021-01377-8
https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/84288/WHO_IVB_13.01_eng.pdf;sequence=1
http://guruvaccine.com/elearn/1-4ภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะadaptive-or-acquired-immunity/
10 บันทึก
28
13
17
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Reading Corner
NEWS
10
28
13
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย