8 ก.ค. 2021 เวลา 13:00 • สุขภาพ
จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อฉีดวัคซีนโควิดประเภท mRNA เข้าสู่ร่างกาย
10
อีกไม่นานก็จะมีวัคซีนโควิดประเภท mRNA เข้ามาในประเทศไทย นอกจากค่า % efficacy หรือ % effectiveness ที่มีการศึกษาออกมาว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงแล้ว เรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนประเภทนี้มากน้อยแค่ไหน?
6
DNA คือ รหัสพันธุกรรมที่ถูกเก็บอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ดังนั้นจึงสามารถใช้การตรวจ DNA เพื่อระบุตัวตนหรือตรวจสอบความเกี่ยวข้องระหว่างพ่อแม่กับลูกได้ DNA มีลักษณะเป็นเกลียวพันกันสองเส้น ขดวนทบกันไปมาอย่างหนาแน่นอยู่ภายในนิวเคลียสของเซลล์อีกทีนึง ด้วยลักษณะโครงสร้างแบบนี้จึงทำให้ DNA นั้นแข็งแรง สามารถถูกเก็บอยู่ในร่างกายได้อย่างปลอดภัย
10
RNA ก็มีลักษณะเป็นเส้นเกลียวเหมือน DNA แต่มีเพียงเส้นเดียว โดยส่วนมากเป็นเส้นสั้นๆ ดังนั้น RNA จึงถูกย่อยสลายหายไปโดยง่ายด้วยเอนไซม์ต่างๆที่มีอยู่ทั้งภายในเซลล์และนอกเซลล์ RNA มีหลายประเภท ซึ่ง​ mRNA ก็คือ RNA ประเภทนึง ย่อมาจาก messenger RNA หรือ RNA ส่งสาร ทำหน้าที่ส่งต่อรหัสพันธุกรรม
12
เนื่องจาก RNA ถูกย่อยสลายง่าย การจะส่ง mRNA เข้าสู่ร่างกายจึงต้องมีตัวห่อหุ้ม (Coat) นี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนประเภท mRNA เพราะถ้าเลือกตัวห่อหุ้มไม่ดี ไม่เสถียรพอ mRNA ข้างในก็จะถูกทำลายก่อนที่จะเข้าสู่เซลล์ และเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่วัคซีน mRNA ต้องเก็บในที่เย็นจัด เพราะเอนไซม์ต่างๆจะไม่ทำงานในอุณหภูมิต่ำมาก ทำให้ mRNA รักษาสภาพไว้ได้
26
DOI: 10.1126/sciimmunol.abj9256
▪️[กรอบสี่เหลี่ยมสีเหลือง] - ตัวห่อหุ้ม ของวัคซีน mRNA มักเป็นชั้นไขมัน (Lipid coat) เพราะเยื่อหุ้มเซลล์ในร่างกายก็เป็นชั้นไขมันเช่นเดียวกัน ทำให้ตัวห่อหุ้มสามารถแทรกรวมตัวเข้ากับเยื่อหุ้มเซลล์และปล่อย mRNA เข้าสู่ภายในเซลล์ได้
11
▪️[กรอบสี่เหลี่ยมสีชมพู] - mRNA ที่อยู่ในวัคซีนไม่ใช่ mRNA ของไวรัสโดยตรงแต่เป็น mRNA ที่ถูกสังเคราหะห์ขึ้นจากรหัสพันธุกรรมส่วนหนามของไวรัส เพราะโคโรนาไวรัสใช้ส่วนหนามเป็นเหมือนกุญแจไขเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ ดังนั้นจึงถือว่าส่วนหนามเป็นตัวก่อโรค เมื่อ mRNA เข้าสู่ภายในเซลล์ ก็จะถูกถอดรหัสเป็นโปรตีนส่วนหนามของไวรัส
14
▪️(วงกลมสีฟ้า) - โดยปกติส่วนหนามของโคโรนาไวรัสจะอยู่บนพื้นผิวยื่นออกด้านนอก ดังนั้นโปรตีนส่วนหนามของไวรัส (Spike protein/S) ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาจึงเคลื่อนที่ไปยังผิวด้านนอกของเซลล์ เป็นการบอกร่างกายว่ามีไวรัส(ตัวปลอม)มาบุกรุกแล้ว
15
▪️<CD4+ T cell> - คือ ระบบหนึ่งของภูมิคุ้มกันในร่างกาย เมื่อเห็นว่ามีผู้บุกรุกยื่นหน้ายื่นตาออกมา จึงส่งกองทัพมาต่อสู้โดยการบอก B cells ให้สร้างแอนติบอดี้ที่จำเพาะเจาะจงกับไวรัสมาจัดการ ดังนั้นหลังการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อ ร่างกายจึงมีระดับแอนติบอดี้เพิ่มขึ้นสูง เพราะถูกสร้างขึ้นมาสู้กับไวรัส
9
▪️<CD8+ T cell> - ในขณะที่ CD4+ T cell เปรียบเหมือนกองทัพหน้า CD8+ T cell ก็เปรียบเหมือนกองทัพหลัง เป็นระบบภูมิคุ้มกันที่กระตุ้นผ่านเซลล์ต่างๆของร่างกายให้มาช่วยกันจับไวรัส ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันแบบเซลล์นี้เอง​ที่จะแข็งแรงและอยู่ในร่างกายยาวนานกว่า
8
▪️[กรอบสี่เหลี่ยมสีเขียวเข้ม] - mRNA ที่เข้าสู่ภายในเซลล์ก็เหมือนสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายต้องกำจัดทิ้ง จึงส่ง Endosome มาล้อมจับไว้ เมื่อเห็นว่าเป็นผู้บุกรุก จึงส่งสัญญาณ NF-kB เข้าสู่นิวเคลียสของเซลล์ เพื่อกระตุ้นให้ DNA ภายในนิวเคลียสถอดรหัสออกมาเป็น Type I IFNs และ Proinflammatory cytokines ต่างๆ เป็นการส่งสัญญาณบอกร่างกายว่ามีผู้บุกรุกมาเยือน
9
▪️[กรอบสี่เหลี่ยมสีเขียวอ่อน] - ขั้นตอนนี้จะพบเฉพาะวัคซีนประเภท mRNA เท่านั้น เพราะระบบตรวจจับ RNA ของร่างกายจะรับรู้ว่ามี mRNA แปลกปลอมเข้ามา จึงส่ง RIG-I และ MDA5 มาตรวจสอบ เมื่อเห็นว่าเป็นผู้บุกรุก จึงส่งสัญญาณ IRF3/7 เข้าสู่นิวเคลียสของเซลล์ เพื่อกระตุ้นให้ DNA ภายในนิวเคลียสถอดรหัสออกมาเป็น Type I IFNs และ Proinflammatory cytokines เช่นกัน
7
▪️(วงกลมสีน้ำเงิน) - Type I IFNs และ Proinflammatory cytokines ต่างๆที่ร่างกายสร้างขึ้นมานี่แหละที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการอักเสบภายในร่างกาย ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนแพ้มาก อาจเกิดอาการข้างเคียงบริเวณที่ฉีดร่วมด้วย เช่น บวม แดง เป็นผื่น แต่โดยส่วนใหญ่จะมีไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย เป็นสัญญาณว่าร่างกายรับรู้ถึงผู้บุกรุกและกำลังต่อสู้อยู่นั่นเอง ส่วนอาการข้างเคียงร้ายแรงอื่นๆ ก็อาจเกิดจาก cytokines ต่างๆเหล่านี้ไปส่งผลกระทบต่อระบบบางอย่าง แล้วบางอย่างก็ส่งผลต่อไปถึงอีกอย่าง จึงต้องทำการศึกษาเก็บข้อมูล ว่าวัคซีนแต่ละยี่ห้อที่ผลิตออกมา มีอาการข้างเคียงอย่างไร พบเยอะหรือน้อย ซึ่งต้องหาสาเหตุเป็นรายบุคคล เพราะสภาพร่างกายของแต่ละคนก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน
12
นอกจากนั้น Type I IFNs ยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทั้งโดยตรงและทางอ้อม เช่น สร้าง molecule บนผิวเซลล์ให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น หรือ ไปจับกับระบบภูมิคุ้มกันเพื่อกระตุ้นโดยตรง อีกทั้งยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันจดจำหน้าตาของไวรัสได้ เผื่อในอนาคตหากมีไวรัสตัวจริงบุกรุก จะได้เตรียมอาวุธไว้พร้อมสู้
4
▪️(วงกลมสีแดง) - คือ บริเวณนิวเคลียสของเซลล์ เป็นที่เก็บ DNA ของมนุษย์ จะเห็นว่าเส้น mRNA ไม่สามารถเข้าไปในนิวเคลียสได้ ดังนั้นหากใครกำลังกังวลว่า mRNA อาจทำให้มนุษย์กลายพันธุ์หรือเข้าไปเปลี่ยน DNA ของมนุษย์ ก็อย่าเพิ่งกังวล นอกจาก mRNA จะไม่สามารถเข้าไปได้โดยลำพังแล้ว น่าจะโดนย่อยก่อนที่จะเข้าไปในนิวเคลียสได้ด้วยซ้ำ
8
DOI: 10.1126/sciimmunol.abj9256
🔺 ถึงแม้ว่าวัคซีน mRNA จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ แต่ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ไม่มีใครรู้จัก เพราะนักวิทยาศาสตร์ศึกษาค้นคว้าเรื่องวัคซีน mRNA มานานแล้ว ก่อนที่จะมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือพิษสุนัขบ้าเสียอีก แต่ตอนนั้นด้วยเทคโนโลยีและความรู้ที่จำกัด จึงยังไม่ได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ จนเมื่อเกิดโรคระบาดโควิด หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์สามารถถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อโควิดได้หมด บางแล็บที่ศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีนี้อยู่แล้ว จึงตัดสินใจสร้างวัคซีนด้วยเทคโนโลยี mRNA ขึ้นมา ในอนาคต วัคซีน mRNA อาจจะเป็นก้าวใหม่ของการฉีดวัคซีนเข็มเดียวแต่ป้องกันได้หลายโรค เพื่อเป็นการลดจำนวนครั้งหากต้องฉีดวัคซีนบ่อยๆ
17
🔺 วัคซีน viral vector ก็กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน โดยใช้ไวรัสที่ไม่ก่อโรคในคน (Adenovirus ของลิงชิมแปนซี) เป็นตัวนำส่งแทนตัวห่อหุ้ม (Lipid coat) ที่ใช้ในวัคซีน mRNA และ ใช้ vector ซึ่งเป็น DNA ส่งสารในการสร้างโปรตีนหนามของไวรัส แทน mRNA
11
ส่วนวัคซีนเชื้อตาย ก็คือไวรัสทั้งตัวที่ตายแล้ว จึงสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้โดยตรงโดยการจับกับตัวไวรัส ไม่ต้องผ่านเข้าสู่เซลล์
6
🔺 อีกประเด็นคือ ยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงแน่ชัดว่า Type I IFNs (IFN-I) และ cytokines ที่ร่างกายสร้างขึ้นมา เกี่ยวข้องกับการเกิดอาการข้างเคียงต่างๆจริงหรือไม่ แต่จากการศึกษาเก็บข้อมูลที่ผ่านมา พบว่าอาการข้างเคียงจะเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และ กลุ่มวัยรุ่นมากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งสัมพันธ์กับการสร้าง IFN-I ในร่างกาย ที่โดยปกติผู้หญิงจะสร้างมากกว่าผู้ชาย และ วัยรุ่นจะสร้างมากกว่าผู้สูงอายุ
9
นอกจากนั้นยังพบว่าการติดเชื้อโควิดไม่ได้กระตุ้นให้ร่างกายสร้าง IFN-I มากนัก ถึงแม้จะเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยอาการหนัก ซึ่งไม่เหมือนกับการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ที่จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้าง IFN-I จำนวนมาก ดังนั้นอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนจึงไปคล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่ (Flu-like symptoms) มากกว่าอาการของโควิด และอาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเวลากลุ่มวัยรุ่นติดเชื้อโควิดมักจะเป็นแบบไม่แสดงอาการ แต่กลับมีอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนมากกว่า
15
🌸 ความเห็นส่วนตัว
1
ความจริงกรีนอ่านบทความนี้จาก Science Mag มานานหลายวันแล้วค่ะ ตอนแรกคิดว่ารูปสวยดีแต่ก็ไม่ได้อะไร จนวันนี้เห็นสเตตัสใน facebook ว่าด้วยการถอดรหัส mRNA เป็นคำว่า มรณะ ก็เลยนึกถึงบทความนี้ขึ้นมา คิดว่าถ้าเอามาเขียนอธิบายให้เข้าใจง่ายถึงความรู้พื้นฐานการทำงานของวัคซีน mRNA น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอ่าน จะได้ไม่เข้าใจผิดกันไปใหญ่ว่า mRNA คือ มรณะ
27
ในสถานการณ์แบบนี้ การมีความรู้ที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญนะคะ และจะเป็นเครื่องมืออย่างดีที่ทำให้เราตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและมีสติด้วยค่ะ
16
รักษาตัวเองให้ปลอดภัย รักษาใจให้แข็งแรงค่ะ :) 💐
6
facebook
References >>
1
DOI: 10.1126/sciimmunol.abj9256
3

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา