15 ก.ค. 2021 เวลา 05:00 • สิ่งแวดล้อม
#21 The Brain Club : Animal
" ชาวบ้านต่างกลัวการออกจากบ้าน กิจวัตรประจำวันของพวกเขาถูกทำลาย บรรดาผู้ปกครองต่างไม่เต็มใจที่จะให้บุตรหลานไปโรงเรียน "
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ณ พื้นที่เมืองเล็กๆ ส่วนหนึ่งในเขตหมู่เกาะโนวายา เซมเลีย (Novaya Zemlya) ของประเทศรัสเซีย
เมืองเบลุชยา กูบา (Belushya Guba) มีชาวบ้านอาศัยอยู่ราวๆ 3,000 ชีวิต ต้องพบกับปรากฏการณ์ " การบุกรุกจากมีหมีขั้วโลก " ที่สร้างความหายนะต่อการดำรงชีวิตของทั้งสองเผ่าพันธุ์
การบุกรุกที่เกิดขึ้น เป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศโลก ผลจากอุณหภูมิที่ร้อนสูงขึ้นทุกปีส่งผลกระทบต่อสัตว์บางชนิดอย่างหนักหน่วง
ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ " หมีขั้วโลก " เมื่อทุ่งน้ำแข็งที่เคยเป็นบ้านหลังใหญ่ในเขตอาร์กติกของพวกมันกำลังหายไปอย่างช้าๆ พร้อมกับพื้นที่ล่าสัตว์ที่ลดน้อยลงเช่นกัน พวกมันทั้งสับสนและหวาดกลัว จึงถูกธรรมชาติบังคับให้เอาชีวิตรอดโดยการเข้าไปในชุมชนที่มีมนุษย์อาศัยอยู่เพื่อค้นหาอาหาร
หมีขั้วโลกผู้น่าสงสารหลายตัวเดินทางจากบ้านระยะทางไกล 435 กิโลเมตร การมาของพวกมันทำให้ชาวบ้านเป็นอันตราย จึงได้มีประกาศภาวะฉุกเฉินให้คอยเฝ้าระวัง ทางกองทัพรัสเซียจึงต้องส่งทหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์ร่วมมือกับตำรวจอีกแรง
ในเวลานั้น เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงของประเทศรัสเซีย เพราะคุณอาจต้องเผชิญหน้ากับสัตว์นักล่าแห่งทุ่งน้ำแข็งได้ทุกเมื่อหากคุณเปิดประตูหน้าบ้าน และไม่มีใครการันตีได้ว่าคุณจะเป็นอาหารมื้อพิเศษของหมีผู้หิวโหยหรือเปล่า
พวกมันว่ายฝ่ากระแสน้ำอันหนาวเย็นขึ้นมาบนฝั่ง ผลจากการเดินทางที่แสนยาวนาน หมีส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพผอมแห้งอ่อนแรง แตกต่างจากภาพจำที่เราดูในสารคดี เนื่องจาการขาดสารอาหารอย่างหนัก พวกมันจึงเดินคุ้ยเขี่ยหาอาหารกินตามจุดต่างๆ ทั้งจากข้างถนน หลุมขยะ หรือเข้าไปตามอาคารบ้านเรือนที่โดนทิ้งร้าง
บทสรุปในช่วงนั้น หน่วยงานท้องถิ่นระบุว่ามีการพบเห็นหมีทั้งหมด 52 ตัว เชื่อว่าหลายตัวอาจผลัดหลงมาแบบไม่ได้ตั้งใจ เพราะแผ่นน้ำแข็งที่เป็นบ้านของพวกมันแตกออกล่องลอยไปกลางทะเลแบบไม่ทันรู้ตัว จึงเกิดการสับสนทิศทางกลับบ้านในท้ายที่สุด
ผู้ปกครองต่างไม่เต็มใจที่จะให้บุตรหลานไปโรงเรียน ทำให้หน่วยงานในท้องถิ่นจึงให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ในการป้องกันพื้นที่โรงเรียน โดยการสร้างรั้วล้อมรอบมิดชิด และส่งพลทหารเข้าไปประจำการดูแลตลอดเวลา
เมื่อเวลาผ่านไปเหมือนเจ้าหมีจะเริ่มผ่อนคลายลงบ้างแล้ว เจ้าหน้าที่จึงหวังจะส่งพวกมันกลับไปยังบ้านเกิดที่พวกมันจากมาไกล แต่การจะทำแบบนั้นได้ พวกเขาจะต้องทำให้พวกมันสงบลงมากกว่านี้ โดยตัวเลือกที่เกิดขึ้นคือการใช้ยากล่อมประสาท
ตลอดเวลาที่รัฐบาลเข้ามาดูแลชาวบ้านในพื้นตลอดหลายปีมานี้ พวกเขายังหวังเสมอว่า " การกำจัดทิ้ง " จะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ไม่อยากไม่ต้องเกิดขึ้นจะดีที่สุด
เพราะหมีขั้วโลกคือหนึ่งในสปีชีส์ที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก ทางรัสเซียได้จัดให้พวกมันเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ประจำชาติไปแล้ว จึงมีคำสั่งห้ามยิงหมีโดยเด็ดขาด
ในเวลาต่อมาจำนวนหมีลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากการควบขุมที่เข้มงวดมากขึ้นของเจ้าหน้าที่ซึ่งออกลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้หมีไม่กล้าเข้ามาวุ่นวายมากนัก หลายตัวล่าถ่อยออกไปจากพื้นที่จนสามารถปลดภาวะฉุกเฉินออกได้
ชาวบ้านจึงกลับมาใช้ชีวิตอย่างสงบสุขได้อีกครั้ง มีการพบเห็นหมีเดินหลงมาไม่กี่ตัวในเวลาต่อมา แต่ไม่ใช่สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด
ประกอบกับการจัดการหลุมขยะที่เป็นจุดดึงดูดหลักของหมี โดยการเปลี่ยนมาใช้เตาเผาที่มีคุณภาพมากขึ้น
ในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2021 จากส่วนหนึ่งของโครงการด้านสิ่งแวดล้อม " Master of the Arctic " ทางรัสเซียได้ทำการบินสำรวจจำนวนสัตว์ในเขตอาร์กติกผ่านเส้นทางบินไกลกว่า 1,000 กิโลเมตรจำนวนสิบเส้นทาง
เพื่อศึกษาทำความเข้าใจจำนวนประชากรของหมี พฤติกรรม การอพยพ ปัญหาของสภาพน้ำแข็ง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาสรุปผลเพื่อร่างกฎหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ในแถบนี้ และติดตามเฝ้าระวังภัยจากการใช้ปลอกคอ GPS สำหรับติดตาม
การมาเยือนของหมีขั้วโลกครั้งนี้ คงเปรียบเสมือนปัญหาช้างป่าบุกพื้นที่เทือกสวนไร่นาของบ้านเราครับ ส่วนตัวที่บ้านสวนแอดมินเองก็เคยเจอมากับตัว จึงเข้าใจว่าสถานการณ์ในลักษณะนี้มันอันตรายมากแค่ไหน
แต่ก็ต้องเข้าใจสัตว์ป่าที่พวกมันทำเช่นนี้เป็นเพราะสัญชาติญาณดิบในการอยู่รอด เพราะด้วยเหตุผลนานับประการทำให้พวกมันไม่มีแหล่งอาหารเดิมเพียงพอต่อการดำรงชีพ และผมเชื่อว่ามนุษย์คือหนึ่งในต้นเหตุนั้นนะครับ
ดังนั้นการจะบอกว่าหมีบุกรุกพื้นที่ก็คงพูดได้ไม่เต็มปากมากนัก อาจจะเป็นมนุษย์เองหรือเปล่าที่เป็นฝ่ายไปบุกรุกหรือทำลายธรรมชาติก่อน จนทำให้ห่วงโซ่ของความหายนะมันย้อนกลับมาทิ้มแทงเราในภายหลัง
📌 เรียบเรียงโดย : สโมสรสมอง
** กรุณาแชร์ต่อ ห้ามคัดลอกบทความไปเผยแพร่ซ้ำ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา