9 ก.ค. 2021 เวลา 09:06 • ประวัติศาสตร์
#39 The Brain Club : History
การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945 สำหรับคนทั่วไปอาจเป็นตอนจบของเรื่องราวหายนะที่เต็มไปด้วยรอยน้ำตาตลอดหกปี แต่ไม่ใช่สำหรับชาวยิวที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสงคราม
พวกเขาถูกฆ่าล้างเผ่าพันธ์ในค่ายกักกันนรกเยอรมัน จากการถูกยิงตายหรือการถูกรมแก๊สสังหารหมู่ ส่วนผู้ที่หนีรอดมาได้ก็ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวจากสูญเสียครอบครัวที่รักไปตลอดกาล การกลับไปใช้ชีวิตปกติคงเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก
ประกอบกับกฏหมายการพิจารณาคดีในค่ายเชลยศึกชั่วคราวของฝ่ายสัมพันธมิตรไม่สามารถลงโทษทหารเยอรมันให้ได้รับโทษสูงสุดตามที่ควรได้
อีกทั้งทางค่ายก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะกักขัง ทำให้มีนักโทษหลายรายถูกส่งตัวกลับบ้านไป
ชาวยิวหลายคนจึงรู้สึกไม่พอใจ เพราะการพิจารณาโทษทางกฏหมายนั้นไม่อาจลบล้างบาดแผล ที่เกิดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้
เมื่อเรื่องราวทั้งหมดมีตอนจบที่ไม่ยุติธรรมเช่นนี้ กลุ่มศาลเตี้ยจากการร่วมมือของชาวยิวผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อร่วมกันเขียนตอนจบของเรื่องใหม่ในแบบฉบับที่พวกเขาต้องการ
มีบันทึกคดีการฆาตกรรมทหารเยอรมันหลายกรณี ทั้งการถูกยิงตายในป่า บางรายถูกแขวนคอในโรงรถ หรือเสียชีวิตปริศนาในคูน้ำริมถนนจากอุบัติเหตุชนแล้วหนี
การตายลึกลับมีจุดร่วมที่น่าสงสัยคล้ายกัน ถูกใจคนบางกลุ่มที่ต้องการสนองความแค้นที่ตนเคยได้รับ
แต่สำหรับ " อับบา คอฟเนอร์ (Abba Kovner) " อดีตนักเขียน และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวอิสราเอลผู้รอดชีวิตจากสงคราม การลอบฆ่าที่เกิดขึ้นเพียงหยิบมือมันยังไม่น่าพึงพอใจ
เขามีความเชื่อฝังหัวว่าการล้างแค้นต้องทำแบบเท่าเทียม หากเยอรมันสังหารชาวยิวไปหกล้านคน ชาวเยอรมันหกล้านคนก็ควรพบจุดจบเช่นเดียวกับที่พวเขาเจอ
สมาชิกบางส่วนของนาคัม คนยืนตรงกลางคือคอฟเนอร์
คอฟเนอร์จึงได้ก่อตั้งกองกำลังติดอาวุธที่รู้จักกันในชื่อ " นาคัม (Nakam) " หรือในอีกชื่อ " Dam Yisrael Noter " ที่แปลว่าโลหิตแห่งการล้างแค้นของอิสราเอล
เขาได้ออกเดินทางไปยังสถานที่ซึ่งเคยเป็นจุดสังหารโหดชาวยิวหลายแห่ง จนได้พบกับผู้รอดชีวิตที่มีแนวคิดเดียวกัน เกิดเป็นการรวมกลุ่มที่มีสมาชิกชายหญิงวัยรุ่นกว่า 51 ชีวิต
พวกเขาได้ระดมสมองเขียนบทละครสำหรับแผนการใหญ่เพื่อการล้างแค้นทั้งหมด 2 เรื่อง
" Plan A " คือการปล่อยสารพิษมรณะลงในแหล่งน้ำสำคัญของเยอรมนีจำนวน 5 เมืองที่เคยเป็นฐานที่มันของกองทัพได้แก่ มิวนิก ฮัมบูร์ก ไวมาร์ แฟรงก์เฟิร์ต และนูเรมเบิร์ก
ภารกิจแรกคืองานใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูง อาจล่มได้ทุกเมื่อหากผิดพลาดเพียงนิดเดียว แต่พวกเขายังมีแผนสำรอง " Plan B " นั้นคือการลอบวางยาพิษนักโทษเยอรมันที่ถูกจับขังในค่ายกักกันเชลยศึกชั่วคราวที่นูเรมเบิร์ก
แผน A เริ่มต้นขึ้นในทันที โดยการวางแผนให้สมาชิกที่สามารถพูดภาษาเยอรมันได้บ้าง ปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ และพนักงานการประปาในเมืองเป้าหมาย พวกเขาเฝ้ารออย่างอดทน คอยเก็บรายละเอียดทุกเม็ด กระทั่งเรียนรู้ระบบปล่อยน้ำประปาไปยังบ้านเรือนของชาวเยอรมัน
ต่อมาคอฟเนอร์เดินทางด้วยเรือไปยังปาเลสไตน์ เพื่อรับสารพิษและหาแนวร่วมโดยการขอความเห็นชอบจากผู้นำชาวยิวแห่งลัทธิไซออนิสต์
ในระหว่างนี้เขาได้กำชับให้ " วิตกา เคมป์เนอร์ (Vitka Kempner) " หนึ่งในสมาชิกสาวของนาคัมที่จะมาเป็นภรรยาคู่ชีวิตในอนาคต ให้เป็นผู้ดูแลกลุ่มระหว่างที่เขาไม่อยู่
ในการเดินทางเข้าไปรับสารพิษ คอฟเนอร์ได้พบกับ " เอฟราอิม คัทซีร์ (Ephraim Katzir)" นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮิบรูแห่งเยรูซาเลมที่เห็นด้วยกับแผนการวางยานักโทษ
เห็นได้ชัดว่าคอฟเนอร์ไม่เคยบอกกลุ่มในปาเลสไตน์ถึงแผนการผสมสารพิษในแหล่งน้ำเลย
คัทซีร์ได้มอบอาวุธมรณะให้คอฟเนอร์ ซึ่งเป็นสารพิษที่ใช้เพียงหน่วยมิลลิกรัมก็เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อับบา โคฟเนอร์ ผู้นำนาคัมครั้งเดียวกับสมาชิกขององค์กรกึ่งทหารชาวยิว ฮากานาห์ ทางตอนใต้ของอิสราเอล พ.ศ. 2491
วันที่ 14 ธันวาคม 1945 คอฟเนอร์ถือเอกสารปลอมที่ระบุว่าเขาเป็นทหารกองพลชาวยิวที่เดินทางกลับจากการลาพัก พร้อมกับลักลอบขนสารพิษขึ้นไปบนเรือสัญชาติอังกฤษที่แล่นออกจากเมืองท่าอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ ที่กำลังมุ่งหน้าข้ามทะเลกลับไปยังทวีปยุโรป
เมื่อเรือมาถึงเมืองตูลง ประเทศฝรั่งเศส เหตุการณ์ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ แต่จากนั้นไม่นานเขากลับได้ยินเสียงประกาศตามสายจากลำโพงภายในเรือ ที่กำลังเรียกหาชื่อปลอมที่เขาใช้พร้อมกับเพื่อนสมาชิก
คอฟเนอร์เริ่มรู้ตัวทันทีว่าแผนการที่วางมากำลังจะพังสิ้นท่า เขาจึงได้โยนถังสารพิษทิ้งลงไปนอนก้นแม่น้ำก่อนจะช่วยให้สมาชิกอีกคนหลบหนีไป เพื่อนำกระเป๋าเอกสารลับส่งต่อไปให้คนรักที่เขานัดเจอในกรุงปารีส
สาเหตุที่แผนแตกไม่เป็นท่า คาดกันว่าเขาโดนสมาชิกในกลุ่มหักหลัง คอฟเนอร์ยอมมอบตัวในท้ายที่สุดกับตำรวจอังกฤษที่ประจำการบนเรือ เขาถูกส่งตัวไปจำคุกในอียิปต์นานสองเดือน นับเป็นการปิดฉากภารกิจในบทบาทหัวหน้ากลุ่มนาคัมโดยสมบูรณ์เอาไว้เพียงเท่านี้
อย่างไรก็ตามเหมือนจะเป็นโชคดีของเขา เพราะกระเป๋าเอกสารถูกส่งไปถึงมือคนรักถึงหน้าห้อง โดยระบุถึงรายละเอียดแผนการใหม่เพื่อให้เธอดำเนินการต่อไป
เมื่อแผนแรกไม่สำเร็จตามที่วาดฝัน สมาชิกที่เหลือของกลุ่มจึงได้เปลี่ยนมาใช้แผน B เพื่อสังหารนักโทษเยอรมันกว่า 12,000 คนให้สิ้นชีพอย่างทรมานจากสารหนู โดยการมุ่งเป้าไปที่ " Stalag XIII-D " ค่ายเชลยศึกชั่วคราวของฝ่ายพันธมิตรในนูเรมเบิร์ก
กลุ่มนาคัมได้ติดต่อกับร้านเบเกอรี่แห่งหนึ่ง เพื่อส่งสายลับปลอมตัวเป็นผู้ผลัดถิ่นชาวโปแลนด์ขอไปเข้าทำงานในร้าน พร้อมติดสินบนพนักงานในร้านคนอื่น เพื่อลักลอบนำสารหนูเข้าไปซ่อนใต้พื้นร้าน
จากนั้นจัดเตรียมขนมปังสำหรับเป็นอาหารประจำวันให้กับนักโทษในค่าย ก่อนจะมีสายลับปลอมตัวเป็นคนขับรถ และพนักงานในโกดังอาหารของเรือนจำ
ค่ายกักกัน  Stalag XIII-D
ช่วงเช้าของวันที่ 13 เมษายน 1946 มีขนมปังกว่า 3,000 ก้อนถูกเคลือบด้วยสารหนูเสิร์ฟถึงมือนักโทษ เมื่อพวกเขากลืนขนมปังแสนอร่อยลงท้อง อาการยังไม่แสดงในทันที
แต่พอตกเย็นมีนักโทษล้มป่วยราวๆ 2,238 คน และมีจำนวน 207 คน ต้องเข้ารับการรักษาด่วนในโรงหมอ แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีผู้เสียชีวิตกี่ราย
จากการสืบสวนพบเรื่องน่าแปลกตามมา เพราะหากเราดูจากปริมาณสารหนูที่พบใต้พื้นร้านเบเกอรี่ พวกเขาสามารถส่งนักโทษจำนวนหมื่นรายลงไปนอนก้นนรกได้สบายๆ แต่ผลลัพธ์ตอนลงมือจริงกลับตรงกันข้าม
จึงคาดกันว่ากลุ่มนาคัมอาจดำเนินแผนผิดพลาดจนพัง ทั้งการขนย้ายสารหนูเข้าเรือนจำ หรือการใส่สารพิษลงในขนมปังน้อยเกินกว่าจะปลิดชีพนักโทษได้
จากเรื่องจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่เคยมีภารกิจใดของนาคัมประสบความสำเร็จเลย ในบางมุมก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ไม่ต้องมีใครสังเวยชีวิตจากการล้างแค้นอีก
หลังจากนั้นกลุ่มนาคัมก็วางมือไป พวกเขาไม่เคยออกปฏิบัติการล้างแค้นแบบนี้อีกเลย ทุกคนแตกกระจายหายไปจากสายระบบโลก สมาชิกหลายคนหันไปเป็นกองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอลแทน ซึ่งคุณคอฟเนอร์ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในกลุ่ม " ฮากานาห์ (Haganah) "
เขาได้แต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกับวิตการ์นาน 40 ปี พร้อมกับการกลับเข้าสู่วงการนักประพันธ์ที่เขาชื่นชอบจนได้รับรางวัลมากมาย
บทสรุปสุดท้าย คอฟเนอร์และสมาชิกของกลุ่มนาคัม ไม่เคยถูกตั้งข้อหาจากการก่ออาชญากรรมจากแผนการร้ายทั้งหมดของพวกเขาขึ้นเลยแม้แต่น้อย
เรียบเรียงโดย : สโมสรสมอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา