9 ก.ค. 2021 เวลา 12:11 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
Pandora(2016) ระเบิดกลางเมือง อาสากู้ภัย และการหายไปของรัฐบาล
เรื่องราวของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อายุกว่า 40 ปี ที่ระเบิดขึ้นหลังจากแผ่นดินไหว เนื่องจากนายกรัฐมนตรีพยายามลัดขั้นตอนเผื่อผลักดันร่างกฎหมายส่งเสริมการพัฒนาโรงงานผลิตไฟฟ้า และย่นระยะการตรวจสอบข้อบกพร่องอุปกรณ์จำนวนมากจากหลายปีให้เหลือเพียงแค่ 2 เดือน เพื่อประหยัดงบประมาณ
PANDORA ระเบิดกลางเมือง อาสากู้ภัย และการหายไปของรัฐบาล
แรงระเบิดทำให้มีกัมมันตภาพรังสีจำนวนมากแผ่ออกมา ประชาชนกว่า 17,000 คน ในรัศมี 5 กิโลเมตร จึงถูกอพยพออกไปอย่างโกลาหลโดยอ้างว่าเป็นการซ้อมหนีภัย แต่เมื่อไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว รัฐบาลที่หายเงียบและปิดบังความจริงกับประชาชนระหว่างที่เกิดเรื่อง จึงได้ขออาสาสมัครเข้าไปซ่อมแซมเพื่อไม่ให้คลังเก็บเชื้อเพลิง 400 ตัน ระเบิดและปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีจำนวนมหาศาลออกมา
*** Spoiler Alert ***
คังแจฮยอก ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิศวกรซ่อมบำรุง พร้อมด้วยทีมงานกู้ภัย ได้อาสาเข้าไปปฏิบัติภารกิจนี้แม้รู้ดีว่าจะไม่มีใครมีชีวิตรอดกลับมา แต่เขายอมทำเพื่อปกป้องคนในครอบครัว และคนในประเทศ
คังแจฮยอก
ยอนจู
คุณนายคัง
เหล่าทีมวิศวกร
ความโกลาหลในเรื่องดูคล้ายกับเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตโฟมย่านกิ่งแก้ว เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แรงระเบิดจากถังบรรจุสารเคมีและเพลิงไหม้ได้สร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือนในบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างมาก เกิดควันพิษจากสารเคมีปกคลุมไปทั่วบริเวณ ประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตรต้องอพยพออกมา และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายคน รวมไปถึงอาสากู้ภัยวัยเพียง 18 ปี ที่ต้องมาจบชีวิตลงขณะที่พยายามระงับเพลิงไหม้
PANDORA
เหตุการณ์นี้ทำให้หลายคนเริ่มฉุกคิดถึงเรื่องการวางผังเมือง มาตรฐานความปลอดภัยของโรงงาน และทบทวนถึงความจำเป็นที่อาสาสมัครกู้ภัยควรจะได้รับการฝึกอบรม มีอุปกรณ์ เงินเดือน และสวัสดิการที่เหมาะสมกับความเสี่ยงในอาชีพนี้
เราต้องการเงินเท่าไหร่เพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่จะต้องเสียชีวิต?
1
เวลาถูกถามว่าชีวิตมีค่าแค่ไหน มันคงจะตอบยากอยู่เหมือนกัน แต่ในทางเศรษฐศาสตร์มีแนวทางประเมินมูลค่าของชีวิตเชิงสถิติ หรือที่เรียกว่า The value of statistical life (VSL) ซึ่งปรากฎอยู่ในงานวิจัยจาก Harvard Law School
2
มูลค่าชีวิตเชิงสถิติ (The Value of Standard Life : VSL)
วิธีการหามูลค่าของชีวิตเชิงสถิติ คือ การใช้เครื่องมือทางเศรษฐมิติเพื่อหาว่าเราจะยอมแลกโอกาสที่เราจะเสียชีวิตเพิ่มขึ้นกับค่าจ้างจำนวนเท่าไหร่ โดยนักเศรษฐศาสตร์เองได้ตั้งข้อสังเกตว่าแรงงานมักจะขอค่าชดเชยเพิ่มหากต้องไปทำงานที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ ซึ่งค่าจ้างส่วนที่เพิ่มขึ้นมานี้เองสามารถนำมาใช้ประเมินมูลค่าของชีวิตเชิงสถิติได้ หรือถ้ามองจากอีกด้านหนึ่ง คือ เราจะยอมจ่ายเงินเท่าไหร่ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
PANDORA
จากงานวิจัยนี้เองทำให้พบว่ามูลค่าชีวิตเชิงสถิติของแรงงานสหรัฐฯ อยู่ที่ 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และผลวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อคนมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว คนก็จะยอมเสียเงินเพื่อรักษาชีวิตมากขึ้น เราจึงเห็นว่าแรงงานรายได้ต่ำมีมูลค่าชีวิตเชิงสถิติน้อยกว่าแรงงานรายได้สูง ซึ่งผลในระดับประเทศก็สอดคล้องกัน สำหรับประเทศที่พัฒนาน้อย ก็จะมีระดับรายได้น้อย และมีมูลค่าของชีวิตเชิงสถิติน้อยกว่า
PANDORA
อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติแล้ว แรงงานที่ทำงานเสี่ยงอันตราย มักจะมีมูลค่าชีวิตเชิงสถิติน้อยกว่า เนื่องจากพวกเขาได้เลือกสละตนเข้าไปทำอาชีพเสี่ยงๆ นี้เอง นั่นแสดงให้เห็นถึงว่าเขายินดีที่จะเอาชีวิตเข้าไปเผชิญกับความเสี่ยงที่มากกว่า
แล้วอาชีพเจ้าหน้าที่กู้ภัยและดับเพลิงควรจะได้เงินเดือนเท่าไหร่?
สำหรับในประเทศไทยคนที่ทำอาชีพนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
(1) เจ้าหน้าที่ที่เป็นพนักงานของภาครัฐ ซึ่ง Bnomics ได้ลองไปหาข้อมูลรับสมัครเจ้าหน้าที่กู้ภัยและดับเพลิงของกรมท่าอากาศยาน เมื่อปี 2562 พบว่าได้เงินเดือนอยู่ที่ประมาณ 11,500 บาท ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความเสี่ยงในอาชีพนี้
(2) เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ซึ่งมักจะเป็นกำลังเสริมที่เข้าไปช่วยเหลือในเหตุการณ์ต่างๆ โดยไม่มีเงินเดือน ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีเงินสนับสนุนสำหรับอุปกรณ์เซฟตี้ เจ้าหน้าที่อาสาต้องซื้ออุปกรณ์ด้วยเงินส่วนตัว หรือได้รับผ่านการบริจาคจากบุคคลและมูลนิธิ ต่างจากหลายประเทศที่อาชีพนี้มีค่าตอบแทนสูง มีเกียรติ และมีอุปกรณ์เซฟตี้ในการทำงาน
โดยล่าสุดประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าจะขึ้นค่าจ้างให้นักดับเพลิงของรัฐบาลทั่วประเทศจาก 13 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง เป็นอย่างน้อย 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยระบุว่าเป็นอาชีพที่เสี่ยงสูง แต่รายได้ยังคงต่ำเกินไป
เปิดเงินเดือนนักผจญเพลิงในต่างประเทศ - โพสต์ทูเดย์ รอบโลก
จากภาพเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ผ่านมา เราคงได้เห็นเจ้าหน้าที่ทำงานโดยขาดแคลนอุปกรณ์เซฟตี้ มีเพียงหน้ากากอนามัยกระดาษบางๆ ที่ไม่สามารถกันควันพิษจำนวนมหาศาลที่ออกมาได้ ไหนจะความล่าช้าในการบริหารงานและออกคำสั่งของส่วนกลาง ที่ทำให้กว่าจะระงับเพลิงไหม้ได้ต้องใช้เวลาเกือบหนึ่งวัน จนต้องมีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้
PANDORA
ถ้าถามว่าอาชีพนี้ควรมีรายได้เท่าไหร่ ก็คงต้องถามว่า แล้วรัฐบาลเห็นคุณค่าของชีวิตพวกเขาเหล่านี้แค่ไหนกัน?
4
ภาพที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเสี่ยงชีวิตทำงานอย่างกล้าหาญแม้จะไม่มีอุปกรณ์เซฟตี้และเครื่องมือเพียงพอ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดสรรงบประมาณในเรื่องที่สำคัญอย่างการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็น และต้องใช้เจ้าหน้าที่อาสาเข้าไปช่วย ซึ่งบางกรณีควรจะใช้เจ้าหน้าที่มืออาชีพที่ชำนาญการจะปลอดภัยกว่า
(สำหรับท่านที่อยากดูรายละเอียดงบประมาณเพิ่มเติม https://bit.ly/3AG6Txc)
เจ้าหน้าที่กู้ภัยและดับเพลิงทุกท่าน สมควรที่จะได้รับการสรรเสริญในความกล้าหาญทั้งหมดนี้ตั้งแต่ตอนมีชีวิตอยู่ ผ่านการได้รับสวัสดิการ อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง และเงินเดือนดีๆ จากภาครัฐ ให้สมกับที่เป็นอาชีพที่ต้องเสี่ยงภัยเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก อย่ารอสรรเสริญยกย่องว่าเป็นฮีโร่ในตอนที่พวกเขาเสียชีวิตไปแล้วเลย
3
เพราะตอนจบของหนังเรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่า ในวินาทีสุดท้ายของชีวิตคังแจฮยอกและทีมอาสาทุกคน เขาไม่ได้หวังจะเป็นฮีโร่ ไม่ได้อยากมาเสียชีวิตแบบนี้เลยสักนิด เขาอยากกลับไปอยู่กับคนที่เขารักแม้เพียงอีกชั่วโมงก็ยังดี แต่เขากลับทำไม่ได้เพราะต้องทำหน้าที่นี้เพื่อให้ทุกคนปลอดภัย…
1
Bnomics ขอสรรเสริญในความกล้าหาญของ นายกรสิทธิ์ ลาวพันธ์ หรือพอส อาสามัครดับเพลิงที่เสียชีวิตจากเหตุไฟไหม้กิ่งแก้ว และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่กู้ภัยและดับเพลิงผู้กล้าหาญทุกท่านที่เสี่ยงชีวิตเพื่อความปลอดภัยของทุกคน
1
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา