16 ก.ค. 2021 เวลา 12:09 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
The Flu: ไข้หวัดมรณะ ค่ายกักกันผู้ติดเชื้อ กับสาธารณสุขที่ล่มสลาย
1
จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทุกวันๆ ทำให้ Bnomics นึกถึงหนังสัญชาติเกาหลีปี 2013 เรื่อง The Flu ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ที่จู่ๆ ก็มีเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ระบาดจากการลักลอบนำแรงงานข้ามชาติขนส่งมาทางตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อเปิดตู้คอนเทนเนอร์พบว่าแรงงานทุกคนเสียชีวิตหมดเหลือเพียงคนเดียวที่รอดชีวิตมาได้ ทั้งแรงงานที่รอดชีวิตและคนขับรถบรรทุกคอนเทนเนอร์จึงได้กลายเป็นผู้แพร่กระจายเชื้อโรคให้ระบาดไปทั่วเมือง
2
The Flu ไข้หวัดมรณะ ค่ายกักกันผู้ติดเชื้อ กับสาธารณสุขที่ล่มสลาย
เรื่องนี้เล่าผ่านตัวละครหลักๆ 3 ตัวคือ คังจีกู ซึ่งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัย คิมอินเฮ คุณหมอแม่เลี้ยงเดี่ยว และคิมมิเร ลูกสาววัยอนุบาลของเธอ โดยหลังจากที่เชื้อไวรัสที่ยังไม่มีวิธีรักษานี้แพร่กระจายไปทั่วเมืองจนคนไข้ล้นโรงพยาบาล จึงมีการปิดเมืองและนำประชาชนกว่า 472,000 คน ไปอยู่ในพื้นที่กักกัน เพื่อตรวจเชื้อโดยมีทหารเป็นผู้ดูแล แล้วความโกลาหลต่างๆ ก็เกิดขึ้นไปพร้อมกับการตีแผ่ด้านมืดของมนุษย์ นักการเมือง และสังคม
คังจีกู แสดงโดย จางฮยอก
คิมอินเฮ
คิมมิเร
วันนี้ Bnomics จึงอยากจะมาชวนทุกคนดูหนังเรื่องนี้ผ่านมุมมองของการรับมือกับสถานการณ์ในปัจจุบันโดยเล่าคู่ขนานไปกับการรับมือของรัฐบาลในหนัง
[Spoiler Alert!!!!!]
ในปัจจุบันประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อโควิดอยู่ที่ราวๆ 9,000 คนต่อวัน และอาจจะทะลุหมื่นในอีกไม่ช้า ความกังวลในตอนนี้จึงไม่ใช่แค่ว่าจะติดโควิดหรือยัง แต่อยู่ที่ว่าหากติดแล้วจะสามารถเข้าถึงการรักษาหรือไม่ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ในช่วงนี้เราจะเห็นภาพคนนอนรอคิวตรวจโควิดข้างถนนข้ามวันข้ามคืน และประกาศขอความช่วยเหลือในการหาเตียงทางโซเชียลมีเดีย
ในพื้นที่กรุงเทพฯ อาชีพที่มีผู้ติดเชื้ออันดับต้น ๆ ได้แก่ ค้าขาย (1,565 คน), พนักงานบริษัท (1,034 คน) และก่อสร้าง (962 คน)
อาชีพของผู้ป่วยที่รายงานต่อสำนักอนามัย กทม.
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมก่อสร้างมักจะมีความเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากเนื่องจากลักษณะของงานและที่พักคนงานที่มักจะอยู่รวมกัน รัฐบาลจึงได้ออกประกาศปิดแคมป์คนงาน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมไปถึง 4 จังหวัดภาคใต้ และตามมาด้วยประกาศล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงพร้อมทั้งขอให้ประชาชนงดออกจากบ้านหลัง 21.00 เพื่อหวังลดจำนวนผู้ติดเชื้อ เนื่องจากกังวลว่าหากมีผู้ติดเชื้อแพร่กระจายไปหลายจุดแล้วระบบสาธารณสุขจะรองรับไม่ไหว ประกอบกับความกังวลเรื่อง “ไวรัสสายพันธุ์เดลตา” ซึ่งมีความสามารถในการแพร่เชื้อได้มาก กำลังเข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดในช่วงเวลานี้
4
📌 “ผู้ป่วยหนัก” อาจล้นจน “หมอต้องเลือก”
1
ในปัจจุบันก็มีบุคลากรทางการแพทย์เริ่มติดโควิดกันอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลล่าสุดมีบุคลากรทางการแพทย์ติดโควิดกว่า 880 คน และเสียชีวิต 7 ราย โดย 80% ของผู้ที่ติดเชื้อได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ยิ่งเหลือน้อยลงสวนทางกับคนป่วยที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกวัน
บุคลากรทางการแพทย์ติดโควิด กว่า 880 คน และเสียชีวิต 7 ราย โดย 80%
สัดส่วนผู้ติดเชื้อโควิดของ บุคคลากรทางการแพทย์
เนื่องจากกระบวนการเข้าถึงการตรวจโควิดที่ล่าช้า ส่งผลให้หลายๆ คนกว่าจะได้รับการรักษาก็อาจสายจนกลายเป็นผู้ป่วยหนักเสียแล้ว หนำซ้ำยังนำพาเชื้อนี้ไปติดคนในครอบครัวและคนอื่นเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งการที่มีผู้ป่วยหนักล้นเกินจำนวนเตียงที่สามารถรองรับได้ อาจบีบคั้นให้ต้องมีการเลือกช่วยคนที่มีโอกาสรอดได้มากกว่าเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอินเดียมาแล้ว
รายงานสาธารณสุขฯ ถึงการบริหารจัดการทรัพยากรของเตียงทั่วประเทศ
สถานการณ์การใช้ทรัพยากรเตียงทั่วประเทศ
นอกจากนี้จุดตรวจโควิดฟรีในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่รับตรวจเฉพาะคนไทยเท่านั้น จึงเป็นที่น่ากังวลเพราะการระบาดในกรุงเทพฯ มักพบในพื้นที่พักแรงงานก่อสร้าง ตลาด และชุมชน ที่มักจะมีแรงงานข้ามชาติรวมกลุ่มกันอยู่มาก การที่คนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจได้ อาจทำให้มีผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาและแพร่กระจายเชื้อนี้ต่อไปในที่สุด
แคมป์คนงานก่อสร้าง
📌 ราคาที่ต้องจ่าย เพื่อป้องกันการระบาด
แต่ทุกมาตรการที่ออกมามีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ ซึ่งรัฐบาลคงเตรียมใจรับผลของการตัดสินใจนี้ไว้แล้ว ว่าการที่แรงงานต้องหยุดทำงานจากมาตรการล็อกดาวน์กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะส่งผลอะไรบ้างทั้งในมิติเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานก่อสร้าง
ภาคการก่อสร้าง เป็นภาคที่สร้างงานให้กับคนจำนวนมากและมักจะมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นงานที่ไม่ค่อยมั่นคง
แรงงานที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นลูกจ้างรายวัน โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่นอกระบบและแรงงานข้ามชาติมักจะได้รับผลกระทบหนักเนื่องจากคนกลุ่มนี้มักจะมีรายได้ต่ำ มีการออมต่ำ ทำให้เมื่อโดนกระทบจากวิกฤตทางเศรษฐกิจก็จะไม่สามารถกลับมาตั้งหลักได้ง่าย อีกทั้งพวกเขามักจะเป็นกลุ่มที่เข้าถึงมาตรการช่วยเหลือจากทางภาครัฐได้น้อยที่สุด แม้ว่าสำหรับรัฐบาลจะได้ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมหลายหมวดกิจการมากขึ้น แต่ก็ยังดูเหมือนจะไม่สามารถชดเชยรายได้ที่หายไปได้ทั้งหมด ลูกจ้างซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกระบบประกันสังคมก็ได้รับความช่วยเหลือน้อยกว่า
1
นอกจากนี้ยังมีเสียงจากแรงงานที่เปิดเผยถึงความเป็นอยู่ที่ไม่ค่อยถูกสุขลักษณะในพื้นที่กักกัน ไม่มีอาหารเพียงพอ ซ้ำร้ายกว่านั้นคือผู้ติดเชื้อบางคนยังไม่ได้รับการรักษาและยังคงปะปนอยู่ในพื้นที่กักกันอยู่
ดังนั้น การกักแรงงานก่อสร้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงไม่ให้แพร่เชื้อไปที่อื่นได้ จึงอาจเป็นดาบสองคมในเวลาเดียวกัน ในหนังเรื่องนี้เอง ก็ได้ชี้ให้เราเห็นถึงผลร้ายของ “การยอมเสียสละคนส่วนน้อย เพื่อรักษาคนทั้งประเทศไว้”
จริงอยู่ว่าวิธีนี้จะช่วยให้สามารถจำกัดเชื้อให้ไม่กระจายออกไปที่อื่นได้ แต่หากแรงงานเห็นว่าอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้ ก็อาจจะหาทางกลับไปต่างจังหวัด ซึ่งนั่นจะทำให้มีโอกาสที่เชื้อจะแพร่กระจายออกไปทั่วจนเกินกำลังที่สาธารณสุขจะรับไหว เร่งให้ระบบสาธารณสุขที่กำลังจะพังทลาย ให้ล่มสลายเร็วยิ่งขึ้นไปอีก
ในหนังเราจะเห็นว่าเมื่อเวลาผ่านไป ประชาชนในพื้นที่กักกันเริ่มหาทางออกไปจากที่นี่เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ที่แย่เกินกว่าที่มนุษย์จะอยู่ได้ ประกอบกับเริ่มเกิดความกังวลเมื่อเห็นจำนวนคนติดเชื้อที่เยอะขึ้นทุกวันและรับรู้ว่าหากติดเชื้ออาจจะไม่ได้รับการรักษา
สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากหนังเรื่องนี้คือความโปร่งใส กล้าพูดความจริงกับประชาชน และเห็นประชาชนทุกคนเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ผู้นำควรจะมีในการจัดการกับวิกฤตโรคระบาด
ความโกลาหลทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ขับเคลื่อนโดยความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ นักการเมืองที่ปกปิดข้อมูลเพราะกลัวเสียผลประโยชน์ และผู้มีอำนาจปกครองที่เห็นแก่ตัวจนนำมาสู่หายนะ
อย่างไรก็ดี วิกฤตในหนังก็จบลงได้เพราะความมุ่งมั่นของบุคลากรทางการแพทย์ในการหาทางรักษา ประชาชนที่ช่วยเหลือกันเอง และประธานาธิบดีที่ประกาศว่าจะไม่ทิ้งประชาชนทุกคน
ทุกคนที่ติดเชื้อ ทุกชีวิตที่ดับสูญเสียไป ล้วนแล้วแต่เป็นประชาชนของรัฐบาล หลายคนได้ให้ความร่วมมือกับรัฐอย่างถึงที่สุดแล้ว...แต่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่บางคนต้องเผชิญทำไม่สามารถป้องกันตัวเองจากโรคนี้ได้
2
ประเด็นที่สำคัญที่สุดตอนนี้ คือการฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพให้เร็วที่สุด...โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยให้เราเอาชนะโรคนี้ได้
1
อย่าลืมว่าแต่ละวินาทีที่ช้าไปคือชีวิตคน
1
ต่อให้วันนี้คุณจะไม่ใช่ผู้ถูกเลือกให้ติดเชื้อ แต่เชื้อไวรัสนี้สามารถมาเคาะประตูบ้านคุณได้เสมอ ไม่ว่าคุณจะร่ำรวยแค่ไหน
1
และในวันข้างหน้า หากสาธารณสุขล่มสลายลงไป ต่อให้มีเงินมากสักเพียงใด...ก็ไม่มีใครมารักษาชีวิตคุณ
1
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
════════════════
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#Bnomics #เศรษฐศาสตร์ #วิเคราะห์หนังดัง #ไข้หวัดมรณะ #โรคระบาด #ระบบสาธารณสุข #รัฐบาล
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา