23 ก.ค. 2021 เวลา 12:38 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
Kingdom: “ความอดอยาก" และ "เสียงร้องไห้” ความทุกข์ยากอันแสนสาหัสของประชาชน
1
#Ashin ตัวละคร “อาชิน” ก็เป็นตัวแทนของประชาชนในสมัยอดีตที่ยากจน อดอยาก และถูกกดขี่จากผู้มีอำนาจอย่างไม่เป็นธรรมมาตลอด ไม่เคยมีใครได้ยินเสียงร้องไห้และความทุกข์ในใจของเธอจากการสูญเสียครอบครัว จนก่อเกิดเป็นความแค้นที่รอวันต้องสะสาง
2
ซีรีส์ซอมบี้ที่ได้รับกระแสตอบรับอย่างดีเยี่ยมมาตลอด 2 ซีซั่น ได้ออกฉายมาเป็นภาคแยกตอนพิเศษในชื่อ Kingdom: Ashin of the North วันนี้
Kingdom: “ความอดอยาก" และ "ปัญหาปากท้อง” เสียงร้องไห้และความทุกข์ยากอันแสนสาหัสของประชาชน
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ซีรีส์ซอมบี้เรื่องนี้ครองใจผู้ชมทั่วโลก ก็มาจากการเล่าเรื่องซอมบี้ ซึ่งเป็นเส้นเรื่องหลัก คู่ขนานไปกับเส้นเรื่องหลักอีกเส้นหนึ่งคือ การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองของชนชั้นปกครอง ได้อย่างมีมิติ
เจ้าชายอีชาง
ซอบี
โจฮักจู
เนื้อเรื่องในซีซั่นแรกได้เปิดเผยให้เราเห็นว่าซอมบี้ที่น่าสยดสยองนี้เริ่มต้นขึ้นจากอัครมหาเสนาบดีคนหนึ่งที่ต้องการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จให้อยู่ในตระกูลของตนโดยไม่สนใจความเป็นอยู่ของประชาชนภายนอกรั้ววังว่าจะอดอยากแร้นแค้นแค่ไหน
แต่ความอดอยากนี้เองได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดของซอมบี้ไปทั่วอาณาจักร แทนที่ผู้มีอำนาจที่รู้เรื่องแต่แรกจะหยุดการแพร่ระบาด กลับปิดเรื่องและใช้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดนี้ในการกำจัดศัตรูของตน
วันนี้ Bnomics จึงอยากจะฉายภาพความเชื่อมโยงของความอดอยากกับการแพร่ระบาดให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งถ้าลองมองดี ๆ แล้ว การแพร่ระบาดของซอมบี้ในเรื่องก็ดูเหมือนจะเป็นภาพสะท้อนของการแพร่ระบาดโควิดในปัจจุบันอยู่เหมือนกัน
Kingdom ผีดับคลั่ง บัลลังก์เดือด
“ความอดอยาก” กับวิกฤตการระบาดโควิด
ทั้งซีซั่นแรกและซีซั่นสอง ผู้ที่ได้รับเคราะห์จากการแพร่ระบาดของซอมบี้มากที่สุด ก็หนีไม่พ้นประชาชนที่ยากจน ที่อยู่ในที่แร้นแค้นแออัด ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบกับการแพร่ระบาดโควิดก็คงจะไม่ผิดนัก ที่ประชากรที่ยากจนจะป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัสนี้ได้ยากกว่า
การระบาดที่แพร่ไปอย่างรวดเร็วจนเข้าขั้นวิกฤต สิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือ “ภาวะข้าวยากหมากแพง” “วิกฤตขาดแคลนอาหาร” และคนอดอยากล้มตายเป็นจำนวนมาก
ข้อมูลจาก Food and Agriculture Organization (FAO) ล่าสุดชี้ให้เห็นว่าประชากรที่เผชิญกับความหิวโหยในปี 2020 เพิ่มขึ้นจาก 8.4% ไปอยู่ที่เกือบ 10% ในเวลาเพียงปีเดียวภายใต้สถานการณ์โควิด ซึ่งคิดเป็นประชากรกว่าจำนวนกว่า 720 - 811 ล้านคน
จำนวนผู้คนทั่วโลกที่ตกอยู่ภายใต้ความหิวโหยในปี 2009
เทียบกับตอนที่เกิดวิกฤตการณ์การเงินโลกในช่วงปี 2008 ตอนนั้นมีประชากรกว่า 100 ล้านคนที่เผชิญกับความหิวโหยเพิ่มขึ้นในปี 2009 ทำให้โดยรวมมีประชากรทั้งหมดราวๆ 1 พันล้านคน ที่ต้องอยู่ในภาวะหิวโหย
โควิด 19 ทำให้ผู้หิวโหยเพิ่มขึ้นในปี 2020 และค่อยๆ ลดลงเล็กน้อยระหว่างปี 2021 ถึง 2030 ด้วยขนาดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค
ในช่วงที่ผ่านมา ความไม่มั่นคงทางอาหารระดับกลางหรือระดับรุนแรง (คิดจาก Food Insecurity Experience Scale) ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ มาตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเมื่อโลกเผชิญกับโควิด จำนวนผู้ที่เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 30% ซึ่งนั่นหมายถึงว่าคนกว่า 1 ใน 3 ของโลก ที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอในปี 2020 หรือคิดเป็นกว่า 2.37 พันล้านคน และซ้ำร้ายกว่านั้นคือ เกือบ 1 พันล้านคนตกอยู่ภายใต้ความไม่มั่นคงทางอาหารระดับรุนแรงเลยทีเดียว
คุณแม็กซิมา โทเรโร คุลเลน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ FAO ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าความอดอยากที่เกิดขึ้นนั้นไม่เพียงแต่เกิดจากการขาดแคลนอาหาร ข้อจำกัดทางด้านขนส่ง แต่เพราะผู้คนที่ตกงานและขาดรายได้ ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้อีกด้วย
สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่การล็อกดาวน์เมื่อปีก่อน ประชาชนกลุ่มที่เปราะบางต่อการขาดแคลนอาหารที่สุด ก็คือ คนรากหญ้า คนตัวเล็ก ที่ขาดแคลนเงินและบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ หลายคนจึงต้องรอประชาชนผู้ใจบุญที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกันเอง ไม่ว่าจะเป็นการแจกจ่ายเงิน สิ่งของ และอาหาร ทั้งที่เป็นสิทธิที่เขาพึงจะได้รับในฐานะประชาชนคนหนึ่งของรัฐ
1
ในการล็อกดาวน์ครั้งนี้ ภาพเหตุการณ์เก่าๆ ก็วนกลับมาอีกครั้งราวกับหนังฉายซ้ำ แต่ด้วยความรวดเร็วของการระบาดที่มากกว่าเดิมทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นทะลุหมื่นรายต่อวันติดต่อกันเป็นสัปดาห์แล้ว ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อต้องรอคิวเป็นเวลานานกว่าจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาล คนยากไร้หลายคนต้องรอความช่วยเหลือจนตาย และถึงแม้ตายก็ยังถูกปล่อยให้รอ...
แม้ว่าทุกคนจะตกอยู่ในมาตรการและแนวนโยบายเดียวกัน แต่ต้นทุนชีวิตของแต่ละคนไม่เท่ากัน สำหรับบางคนการล็อกดาวน์อาจจะเป็นเพียงมาตรการที่ทำให้เขาไม่สะดวกสบาย ไม่สามารถออกไปกินอาหารนอกบ้านได้ แต่ในขณะที่สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ มาตรการนี้หมายถึงความอดอยาก ไม่มีอะไรจะกินเลยด้วยซ้ำ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้หลายคนยังคงต้องออกไปทำงานข้างนอกแม้รู้ว่าจะต้องเสี่ยงกับการติดเชื้อก็ตาม
2
สิ่งนี้ทำให้ Bnomics นึกถึงประโยคหนึ่งในซีซั่นสองที่ได้ยินแล้วรู้สึกเจ็บปวดอย่างมาก คือ การที่ประชาชนคนหนึ่งพูดว่า “ไม่ว่าอย่างไรพวกเราก็ต้องตาย ถ้าไม่อดตาย ก็ตายเพราะถูกอสุรกายกัด” นั่นแสดงให้เห็นถึงความไม่มีทางเลือกของคนรากหญ้า ที่ต้องดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอดไปในแต่ละวันอย่างไร้ความหวัง
3
"ไม่ว่าอย่างไรพวกเรา ก็ต้องตาย ถ้าไม่อดตาย ก็ตายเพราะถูกอสุรกายกัด"
ซอมบี้ในซีรีส์ Kingdom จึงน่าจะเป็นสัญลักษณ์แทนความหิวโหยของประชาชนที่อดอยาก และความหิวโหยในอำนาจของชนชั้นปกครอง ที่ไม่เคยสนใจหรือรับรู้ถึงความอดอยากแร้นแค้นของประชาชน ไม่สนใจว่าจะมีประชาชนล้มตายข้างถนนมากมายเพียงใด มั่งคั่งอยู่บนซากศพของประชาชน ทั้งยังพยายามกดประชาชนให้ยอมศิโรราบ แต่ในซีรีส์ก็ยังโชคดีที่มีผู้นำอีกกลุ่มลุกขึ้นมาสู้เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้รอดพ้นจากความอดอยากและโรคระบาด
1
ท้ายที่สุด Bnomics อยากจะทิ้งท้ายบทความนี้ด้วยประโยคจากซีรีส์ที่ว่า
“จงเปิดหูเปิดตาของพวกเจ้า รับฟังเสียงของราษฎร มองภาพอันเศร้าสลดของแผ่นดินนี้ …. ถึงเวลาต้องเลือกหนทางที่ถูกต้องแล้ว”
5
"จงเปิดหูเปิดตาของพวกเจ้า รับฟังเสียงของราษฎร มองภาพอันเศร้าสลดของแผ่นดินนี้...ถึงเวลาต้องเลือกหนทางที่ถูกต้องแล้ว"
#Bnomics #เศรษฐศาสตร์ #วิเคราะห์หนังดัง #รากหญ้า #ยากจน #ความอดอยาก #หิวโหย #วิกฤตขาดแคลนอาหาร #ภาวะผู้นำ #นโยบายรัฐ #โรคระบาด #Kingdom #NetflixTH #KingdomAshinoftheNorth
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา