14 ก.ค. 2021 เวลา 04:06 • ครอบครัว & เด็ก
📖 บทที่ 3 เด็กน้อย "น่ารัก น่าชัง" (ตอน 2)
จากครั้งที่แล้ว ที่พูดถึงอาการ "น่าชัง" ของเด็กน้อย มีทั้ง ซน ดื้อ ร้องไห้ อาละวาด และยังมีอาการอื่นๆ อีกซึ่งได้แก่
💡ต่อต้านประโยค"คำสั่ง"
“อย่าทำ-ห้ามทำ” ฟังดูเหมือนเป็นคำสั่งอันเข้มข้นและจริงจังของคุณแม่ว่า จะถูกตีความจากหนูว่า “ให้ทำ” ซะเหลือเกิน หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ” นั่นเอง
ในทางตรงกันข้าม สิ่งไหนที่คุณแม่สั่งให้ทำ หนูจะทำเสมือนว่าไม่มีคำสั่งนี้ออกจากปากของคุณแม่ให้หนูได้ยินเลย หนูยังคงนั่งเล่นต่อไป หรือไม่ก็นึกสนุกวิ่งหนีไปที่อื่นเพื่อให้คุณแม่วิ่งไล่จับหนูแทน 😤
💡 ลองดี
หนูอยากรู้ว่า คำสั่งของคุณแม่มีน้ำหนักมากขนาดไหน หากคุณแม่ประกาศว่าจะลงโทษหนูด้วยวิธีการต่างๆ และถ้าหนูขัดคำสั่งของแม่จริงๆ คำพูดของแม่จะเป็นเพียงแค่ คำขู่ หรือ การลงมือจริงๆ กันแน่😛
💡ไม่แบ่งปัน
ทุกสิ่งที่เป็นของหนู ก็คือ ของหนู ของเล่นที่หนูกำลังเล่นอยู่หรือแม้ว่าจะเลิกเล่นไปแล้วก็ตาม ขนมที่คุณแม่ให้ แม้ว่าหนูจะมีมากจนหนูก็ไม่แน่ใจว่าหนูจะกินหมดหรือเปล่า หรือแม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่ใช่ของหนู แต่จับไป-จับมา ในที่สุดก็จะกลายเป็น “ของหนู” ไปโดยอัตโนมัติ ถ้ามีใครมาหยิบจับของๆ หนู เรื่องใหญ่เกิดขึ้นแน่นอน
💡 ไม่รอคอย
สิ่งที่หนูอยากได้ อยากกิน อยากหยิบจับ สัมผัส อยากเรียนรู้ อยากเห็นมากมายเต็มไปหมด และที่สำคัญหนูต้องการเดี๋ยวนี้ซะด้วย หนูไม่สามารถอดทนรอคอยได้นานนัก และหนูก็ไม่เข้าใจด้วยว่า คุณแม่กำลังยุ่งอยู่กับอะไร ถึงไม่ว่างหาสิ่งนั้นมาให้หนูได้ในเวลานี้😩
💡 ทำร้ายคนอื่น
หนูรู้สึกไม่พอใจที่มีคนเข้ามาอยู่ในโลกของหนู เข้ามาหยิบของเล่นของหนูไป เข้ามายืนในที่ๆ หนูกำลังยืนอยู่ มานั่งตักคุณแม่ของหนู ที่หนูทำไปก็เพียงเพราะต้องการปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัวของหนูก็เท่านั้นเอง
💡 พูดจาไม่เพราะ
หนูก็เพียงแค่เลียนแบบคำพูดของผู้ใหญ่ ที่มักจะพูดกับหนูหรือคุยกับคนอื่นๆ เท่านั้น แต่ดูเหมือนคำที่หนูพูดออกมา กลับทำให้คุณแม่หรือคนอื่นๆ ให้ความสนใจกับหนูมาก ไม่ว่าเขาจะทำอะไรอยู่ จะต้องหันมาดุ มาห้าม หนูทันที หนูจึงรู้สึกสนุกกับการพูดคำต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น🤓
💌 อาการเหล่านี้คุณแม่คงรู้สึกคุ้นเคยดี อยู่ที่ว่าลูกของคุณจะมีอาการมากหรือน้อยแค่ไหน คุณแม่มีวิธีการควบคุมพฤติกรรมนั้นกันอย่างไรบ้าง
เล่าสู่กันฟังหน่อยน๊า

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา