14 ก.ค. 2021 เวลา 08:21 • ประวัติศาสตร์
👑 โอรสนอกสมรสของกษัตริย์เฮนรีที่ 8
กษัตริย์เฮนรีที่ 8 แห่งราชวงศ์ทิวเดอร์ของอังกฤษ มีพระโอรสและพระธิดาที่เกิดกับมเหสี 3 พระองค์ ได้แก่
• เจ้าหญิงแมรี่ เกิดจากแคทเธอรีนแห่งอรากอน
• เจ้าหญิงอีลิซาเบธ เกิดจากแอนน์ โบลีน และ
• เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เกิดจากเจน ซีมัวร์
กษัตริย์เฮนรีที่ 8 ต้องการรัชทายาทที่เป็นชายมากเสียจนกระทั่งทรงพยายามยกเลิกชีวิตสมรสกับแคทเธอรีนแห่งอรากอนให้เป็นโมฆะ เพื่อมาอภิเษกสมรสใหม่กับแอนน์ โบลีน แต่นางก็ไม่สามารถผลิตทายาทที่เป็นชายให้แก่พระองค์ได้เช่นกัน จึงกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระองค์สั่งประหารชีวิตแอนน์ โบลีน ด้วยการตัดคอ จนกระทั่งมาสมพระทัยกับเจน ซีมัวร์ มเหสีคนที่ 3 ที่สามารถให้กำเนิดรัชทายาทที่เป็นชายให้แก่พระองค์ได้สำเร็จ
แต่แท้จริงแล้วกษัตริย์เฮนรีที่ 8 ทรงมิได้ขาดแคลนโอรสหรือธิดาขนาดนั้น ทรงมี ‘ลูกนอกสมรส’ ที่เกิดกับชู้รัก (ที่เป็นเมียของคนอื่น) มากมายหลายคนที่เกิดมาแล้วไม่ตายตอนคลอด แต่พระองค์มิได้ยอมรับว่าเป็นโอรสหรือธิดาของพระองค์ มีเพียงคนเดียวที่พระองค์รับรองว่าเป็นโอรสของพระองค์ คือเฮนรี ฟิตซ์รอย (Henry Fitzroy)
นอกจากเฮนรี ฟิตซ์รอย กษัตริย์เฮนรีที่ 8 ยังมีลูกนอกสมรสคนอื่น ๆ อีก ซึ่งเชื่อกันว่ามีเกือบสิบคน แต่ที่มีหลักฐานค่อนข้างแน่ชัดได้แก่ แคทเธอรีน แครีย์ (Catherine Carey) และเฮนรี แครีย์ (Henry Carey) ที่เกิดกับแมรี่ โบลีน (Mary Boleyn) ซึ่งเป็นพี่สาวของราชินีแอนน์ โบลีน แต่กษัตริย์เฮนรีที่ 8 ทรงไม่ได้รับรองว่าเป็นโอรสและธิดาของพระองค์ จึงไม่สามารถอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ได้ สาเหตุที่ทรงไม่เคยรับรองคงเป็นเพราะกษัตริย์เฮนรีที่ 8 มีความสัมพันธ์กับสตรีเหล่านั้นในขณะที่มีสถานะว่ามีสามีแล้ว
ภาพวาดของเฮนรี ฟิตซ์รอยและกษัตริย์เฮนรีที่ 8 (Images: Royal Collection Trust)
👑 กำเนิดของโอรสนอกสมรส
เฮนรี ฟิตซ์รอย เกิดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ปี 1519 (ตามการบันทึก) มารดาของเขาคืออีลิซาเบธ เบลาท์ (Elizabeth Blount) หรือเบสซี่ ซึ่งก็มิใช่ใครที่ไหนอื่นไกล แต่เป็นนางกำนัลของแคทเธอรีนแห่งอรากอน (Catherine of Aragon) มเหสีองค์แรกของพระองค์
ความงามของเบสซี่เป็นที่ลือเลื่อง จึงไปสะดุดตาสะดุดใจกษัตริย์เฮนรีที่ 8 เข้า และกลายเป็นชู้รักของพระองค์ ซึ่งตอนนั้นเธอยังโสดอยู่ ความสัมพันธ์นี้ดำเนินไปจนเบสซี่ตั้งท้องในระหว่างที่ราชินีแคทเธอรีนแห่งอรากอนกำลังท้องแก่และอยู่ในระหว่างการกักตัวเพื่อเตรียมการคลอด ซึ่งท้องนี้ขององค์ราชินีผลคือคลอดพระธิดาออกมาแต่เสียชีวิต
ด้วยความที่ตอนนั้นยังโสดไม่ได้แต่งงาน เมื่อใกล้คลอดเบสซี่จึงต้องถูกนำตัวออกไปจากราชสำนักเพื่อแอบหลบไปคลอดลูกแบบเงียบ ๆ ที่อื่น
พอสดับรับทราบข่าวว่าพระองค์ได้โอรส กษัตริย์เฮนรีที่ 8 ทรงยินดีปรีดาเป็นอย่างยิ่ง การที่พระองค์ทรงมีโอรสได้ในที่สุดเป็นการเพิ่มความภาคภูมิใจแก่พระองค์ที่สามารถพิสูจน์ความเป็นบุรุษเพศ และการปราศจากโอรสรัชทายาทนั้นสั่นคลอนเสถียรภาพของราชวง์ทิวเดอร์ของพระองค์เป็นอย่างมาก ซึ่ง ณ ตอนนั้นมเหสีของพระองค์คือราชินีแคทเธอรีนแห่งอรากอนเองก็มีอายุล่วงเลยนับสามสิบกว่าปีแล้ว โอกาสที่จะมีโอรสจึงค่อนข้างยาก การเกิดมาของเฮนรี ฟิตซ์รอย จึงนับว่าเป็นเวลาที่ประจวบเหมาะพอดี
1
เมื่อเกิดมา เฮนรี ฟิตซ์รอย เป็นทารกชายที่สุขภาพอนามัยสมบูรณ์ดีและหน้าตาดี กษัตริย์เฮนรีที่ 8 ทรงเฉลิมฉลองการเกิดครั้งนี้อย่างเปิดเผย แถมยังรับรองว่าเฮนรี ฟิตซ์รอย เป็นโอรสของพระองค์อย่างเป็นทางการ และพระองค์ยังพระราชทานนามสกุลให้เด็กน้อยผู้เพิ่งเกิดนี้ว่า ‘ฟิตซ์รอย’ ที่แปลว่า ‘โอรสของกษัตริย์’ เพื่อเป็นการประกาศให้ทุกคนรู้ถึงสถานะของเด็กคนนี้ ซึ่งสร้างความทุกข์โศกให้แก่แคทเธอรีนแห่งอรากอนเป็นอย่างยิ่ง เท่ากับว่าความผิดที่มีรัชทายาทชายไม่ได้อยู่ที่พระนาง เพราะกษัตริย์เฮนรีที่ 8 สามารถมีโอรสกับหญิงอื่นได้ แถมยังรับรองออกนอกหน้านอกตาให้บาดใจด้วย
กษัตริย์เฮนรีที่ 8 ทรงโปรดให้คาร์ดินัลโทมัส วูลซี (Thomas Wolsey) เป็นพ่อทูลหัวให้แก่เฮนรี ฟิตซ์รอย ในพิธีศีลจุ่ม และมอบให้เขาเป็นผู้ควบคุมการดูแลแก่โอรสนอกสมรสคนนี้นับตั้งแต่บัดนั้น เชื่อกันว่าเฮนรี ฟิตซ์รอย น่าจะถูกเลี้ยงดูขึ้นมาภายใต้การดูแลของสำนักพระราชวัง ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้านคือโตมาในโรงเลี้ยงเด็กสำหรับลูกหลานของกษัตริย์
ส่วนเบสซี่ เบลาท์ พอหลังจากที่คลอดลูกแล้วก็ตกกระป๋องไป กษัตริย์เฮนรีที่ 8 ไปโปรดสตรีคนอื่นในราชสำนักแทนนั่นก็คือแมรี่ โบลีน พอมาในปี 1522 เบสซี่ เบลาท์ ก็ถูกจับให้ออกเรือนแต่งงานแต่งการไปกับขุนนางผู้หนึ่ง ก็เป็นอันว่าไม่ได้มีบทบาทอะไรในการเป็นคู่ชู้ชื่นกับกษัตริย์เฮนรีที่ 8 อีก
ตราประจำตัวของเฮนรี ฟิตซ์รอย (Image: Wikimedia)
👑 เมื่อเติบใหญ่
ในปี 1525 เมื่อเฮนรี ฟิตซ์รอย มีอายุได้ 6 ขวบ มีการจัดพิธีใหญ่โตเพื่อสถาปนายศศักดิ์ให้แก่เด็กชายผู้นี้ โดยกษัตริย์เฮนรีที่ 8 ทรงแต่งตั้งให้เฮนรี ฟิตซ์รอยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ซึ่งเป็นยศอัศวินที่มีศักดิ์ที่สูงสุดของอังกฤษ พร้อมกับพระราชทานตำแหน่งดยุกแห่งริชมอนด์และซอมเมอร์เซ็ต (Duke of Richmond and Somerset) ให้แก่เฮนรี ฟิตซ์รอย อีกทั้งยังพระราชทานที่พำนักส่วนตัวให้ เรียกว่า Durham House ในกรุงลอนดอน
สาเหตุของการติดยศใหญ่โตให้ขนาดนี้คงเป็นเพราะราชินีแคทเธอรีนมีอายุได้ 40 แล้ว และราชวงศ์ทิวเดอร์ครองบัลลังก์อังกฤษมาได้ 40 ปี แต่กษัตริย์เฮนรีที่ 8 ไม่มีทายาทที่เป็นชายเลยแม้แต่คนเดียว พระองค์ไม่ต้องการให้ราชวงศ์ทิวเดอร์ที่เฮนรีที่ 7 พระบิดาก่อตั้งมาด้วยความยากลำบากมาถึงจุดสิ้นสุดในรัชสมัยของพระองค์ เฮนรี ฟิตซ์รอย แม้จะเป็นโอรสนอกกฎหมายแต่ก็เป็นทายาทชายเพียงผู้เดียวที่พระองค์มี ดังนั้นกษัตริย์เฮนรีที่ 8 คงจะเตรียมการเผื่อไว้ในกรณีที่ทรงไร้ซึ่งทายาทที่ถูกกฎหมาย เฮนรี ฟิตซ์รอย ก็สามารถเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่พระองค์มี
เป็นครั้งแรกในรอบหลายร้อยปีที่โอรสนอกกฎหมายของกษัตริย์ได้รับตำแหน่งดยุก ซึ่งเป็นยศขุนนางที่สูงสุดในแผ่นดิน ครั้งล่าสุดที่มีการมอบตำแหน่งเช่นนี้ให้กับโอรสนอกกฎหมายเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 12 ในสมัยกษัตริย์เฮนรีที่ 2 แถมเฮนรี ฟิตซ์รอย ยังได้ตำแหน่งดยุกซ้อนกัน 2 ตำแหน่ง คือดยุกแห่งริชมอนด์และดยุกแห่งซอมเมอร์เซ็ต ซึ่งไม่ใช่จะให้กันได้ง่าย ๆ และกษัตริย์เฮนรีที่ 8 พระราชทานเงินต่อปีให้อีก 4,845 ปอนด์
ดังนั้นตลอดช่วงชีวิตที่มีชีวิตอยู่ เฮนรี ฟิตซ์รอย จึงใช้ชีวิตเยี่ยงเจ้าชาย มีตำแหน่งแห่งที่ใหญ่โต ถูกเลี้ยงดูมาในปราสาทหรูหรา ได้รับการเชิดชูออกหน้าออกตา (ไม่ใช่แบบลูกเมียน้อยที่หลบ ๆ ซ่อน ๆ อยู่อย่างอัตคัดขัดสนไม่ได้รับการเหลียวแล) และคนที่ระทมทุกข์ที่สุดในเรื่องนี้ก็คงหนีไม่พ้นราชินีแคทเธอรีนแห่งอรากอน แต่ต่อไปพระนางจะทุกข์ระทมขมขื่นยิ่งกว่านี้เมื่อประสบชะตากรรมถูกแย่งชิงตำแหน่งราชินีไปโดยแอนน์ โบลีน
แม้ว่ากฎมณเฑียรบาลจะไม่ให้ลูกนอกสมรสได้รับตำแหน่งรัชทายาทสืบบังลังก์ แต่ทุกคนในราชสำนักของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 ก็ประจักษ์แจ้งแก่สายตาว่าเฮนรี ฟิตซ์รอย ถูกเลี้ยงดูเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นกษัตริย์ และมีโอกาสอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์อังกฤษได้
กษัตริย์เฮนรีที่ 8 มีความรักให้แก่โอรสนอกสมรสคนนี้อย่างท้วมท้น ทรงเรียกเขาว่า ‘ดวงแก้วของพ่อ’ เขามีผมสีแดงเหมือนพระองค์ ทรงใส่พระทัยในการเลี้ยงดูโอรสนอกสมรสคนนี้ให้เติบใหญ่ขึ้นมา
นอกจากนี้ยังมีการวางแผนที่จะให้เฮนรี ฟิตซ์รอย ได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์แห่งไอร์แลนด์ต่อไป แต่บรรดาที่ปรึกษาของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 เกรงว่าหากให้มีผู้ปกครองแยกต่างหากจะกลายเป็นภัยคุกคามต่ออังกฤษดังเช่นเหมือนสก็อตแลนด์ (สุดท้ายในปี 1542 มีการออกกฎให้ผู้ครองตำแหน่งกษัตริย์แห่งไอร์แลนด์เป็นบุคคลเดียวกันกับผู้ที่เป็นกษัตริย์อังกฤษ ดังนั้นเฮนรีที่ 8 จึงเป็นคนแรกที่ได้เป็นทั้งกษัตริย์แห่งอังกฤษและกษัตริย์แห่งไอร์แลนด์ควบกัน)
ภาพวาดขบวนพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ กษัตริย์เฮนรีที่ 8 อยู่ขวามือสุด ส่วนเฮนรี ฟิตซ์รอยอยู่ซ้ายมือสุด สังเกตได้จากผมสีแดง (Image: Stgeorges-windsor.org)
👑 ชีวิตช่วงสุดท้าย
3
ส่วนความสัมพันธ์กับแม่เลี้ยงคนใหม่ดูเหมือนจะเป็นไปในทางที่ไม่ดีนัก ในปี 1531 ราชินีแอนน์ โบลีน มอบม้าพยศอารมณ์ร้ายขี่ยากตัวหนึ่งให้กับเฮนรี ฟิตซ์รอย ซึ่งของขวัญชิ้นนี้ก็ถูกส่งต่อให้คนอื่นทันควันเช่นกัน
พอเมื่อมีอายุได้ 14 ปี เฮนรี ฟิตซ์รอย ก็ถูกจับให้แต่งงานกับเลดี้แมรี่ ฮาวเวิร์ด (Lady Mary Howard) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ปี 1533 เธอเป็นลูกสาวของโทมัส ฮาวเวิร์ด ดยุกแห่งนอร์ฟอล์ก (Thomas Howard, Duke of Norfolk) ซึ่งเป็นลุงของทั้งแอนน์ โบลีน และแคทเธอรีน ฮาวเวิร์ด มเหสีคนที่ 2 และมเหสีคนที่ 5 ของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 แต่การสมรสครั้งนี้ไม่เคยสมบูรณ์โดยทางพฤตินัย
ตลอดรัชกาลกษัตริย์เฮนรีที่ 8 พระองค์ไม่เคยแต่งตั้งให้ลูกนอกสมรสคนนี้เป็นทายาทสืบทอดราชบัลลังก์ของอังกฤษอย่างเป็นทางการ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะพระองค์ยังหวังเสมอว่าจะมีพระโอรสที่เกิดมาโดยชอบทางกฎหมายได้
ช่วงเวลาที่ใกล้เคียงที่สุดที่เฮนรี ฟิตซ์รอย เกือบจะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาทคือเดือนมิถุนายน ปี 1536 ในตอนนั้นกำลังมีการออกกฎผ่านรัฐสภาปลดทั้งเจ้าหญิงแมรี่และเจ้าหญิงอีลิซาเบธออกจากการเป็นรัชทายาทและให้กษัตริย์สามารถกำหนดรัชทายาทเองได้ไม่ว่าจะเป็นบุตรในสมรสหรือนอกสมรสก็ตาม แต่เฮนรี ฟิตซ์รอย ชิงด่วนตายเสียก่อนหลังจากนั้นไม่นาน
ที่ผ่านมาเฮนรี ฟิตซ์รอย เป็นเด็กที่สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดีมาโดยตลอด แต่พอมาต้นเดือนกรกฎาคม ปี 1536 เขาเริ่มป่วย ซึ่งพอตรวจแล้วพบว่าเป็นโรคที่ ‘รักษาไม่ได้’ เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 เดือนกรกฎาคม ปี 1536 ที่พระราชวังเซนต์เจมส์ ด้วยวัยเพียง 17 ปี สาเหตุมาจากวัณโรค
1
พอเสียชีวิตเฮนรี ฟิตซ์รอย ดูจะไม่ได้รับการเหลียวแลต่างจากตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ พ่อตาของเขาห่อศพเขาด้วยตะกั่ว แล้วหลังจากเสียได้ 8 วันก็นำศพเขาใส่รถม้าคลุมศพด้วยฟางเพื่อขนไปยังนอร์ฟอล์กอย่างลับ ๆ มีการฝังศพเขาไว้ที่ Thetford Priory โบสถ์อันเป็นที่ฝังศพของตระกูลฮาวเวิร์ดหลายคน โดยมีผู้มาร่วมพิธีศพเพียงแค่ไม่กี่คน หลังจากที่ Thetford Priory ถูกทำลาย ศพของเฮนรี ฟิตซ์รอย ก็ถูกย้ายไปฝังที่โบสถ์ St Michael’s ที่ซัฟฟอล์ก
คนจัดการเรื่องศพคือดยุกแห่งนอร์ฟอล์ก ซึ่งทำตามคำสั่งของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 ซึ่งหลังจากนั้นพระองค์ก็เสียพระทัยเองที่สั่งการไปเช่นนั้น แล้วก็กริ้วดยุกแห่งนอร์ฟอล์กมากที่ไม่จัดงานศพให้สมเกียรติ จนเขาอกสั่นขวัญแขวนว่าจะส่งเขาไปประหารที่หอคอยแห่งกรุงลอนดอน (ซึ่งหลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงไม่โปรดเขาจริง ๆ โดยในปี 1546 ทรงริบตำแหน่งดยุกแล้วส่งเขาไปขังไว้ที่หอคอยแห่งกรุงลอนดอน แต่รอดตายจากการถูกสั่งประหารไปอย่างฉิวเฉียดเพราะกษัตริย์เฮนรีที่ 8 สิ้นพระชนม์ก่อน)
หากเฮนรี ฟิตซ์รอย ไม่ได้จากโลกนี้ไปเสียก่อน และหากกษัตริย์เฮนรีที่ 8 ทรงไม่มีโอรสที่เกิดจากการสมรสอย่างถูกกฎหมาย เขาอาจจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์เฮนรีที่ 9 ก็เป็นได้ แต่ในปีถัดมาหลังจากที่เฮนรี ฟิตซ์รอยเสียชีวิต กษัตริย์เฮนรีที่ 8 ก็ทรงได้พระโอรสจากเจน ซีมัวร์ ในที่สุด แต่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดผู้กลายเป็นยุวกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 6 นี้ก็สิ้นพระชนม์ด้วยในวัยเพียง 15 ปีด้วยโรคเดียวกับเฮนรี ฟิตซ์รอย
ที่ฝังศพของเฮนรี ฟิตซ์รอย (Image: Kirsten Claiden-Yardley)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา