25 ก.ค. 2021 เวลา 13:04 • ประวัติศาสตร์
• ชะตากรรมของเจ้าหญิงใหญ่
พระธิดาองค์โตที่ถูกลืมของกษัตริย์ธีบอ
26
ในรูปนี้คือพระธิดาทั้ง 4 ของกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า คือกษัตริย์ธีบอและพระนางศุภยาลัต รูปนี้ถ่ายขึ้นเมื่อปี 1914 ที่บ้านพักในเมืองรัตนคีรี สถานที่ที่ครอบครัวอดีตกษัตริย์ของพม่าถูกเนรเทศ ในวาระสำคัญของครอบครัวคือพิธีเจาะหู
3
หากดูจากรูปนี้แล้วเราสามารถบอกได้หรือไม่ว่าชีวิตของพระธิดาของอดีตกษัตริย์แห่งพม่าจะสดสวยงดงามมากขนาดไหน แต่การเป็นเจ้าหญิงไม่ได้เป็นสิ่งรับประกันว่าเจ้าหญิงทุกคนจะมีชีวิตที่ดี โดยเฉพาะเจ้าหญิงที่เป็นพระธิดาของอดีตกษัตริย์ที่ถูกเนรเทศออกนอกประเทศให้ไปอาศัยอยู่ยังต่างแดน นอกจากนี้ชีวิตที่ดียังขึ้นอยู่กับการประพฤติตนและการเลือกทางเดินของชีวิตอีกด้วย
3
ถ้าได้อ่านเรื่อง “ทับทิมล้ำค่าที่หายไปของราชวงศ์พม่า” ที่เขียนไปก่อนหน้านี้ก็พอจะทราบถึงชะตากรรมการถูกเนรเทศกษัตริย์ธีบอบ้างคร่าว ๆ ในคราวนี้จะมาเล่าถึงชีวิตอันผกผันของพระธิดาองค์โตของกษัตริย์ธีบอกับพระนางศุภยาลัต ซึ่งก็คือคนที่ 2 นับจากทางซ้ายมือของรูป
6
พระธิดาทั้ง 4 ของกษัตริย์ธีบอและพระนางศุภยาลัต (Image: The Irrawaddy)
• พระธิดาองค์โตของกษัตริย์ผู้ถูกเนรเทศ
1
กษัตริย์ธีบอมีพระโอรสและพระธิดากับพระนางศุภยาลัตทั้งหมด 7 องค์ แต่มีเพียงพระธิดา 4 องค์เท่านั้นที่รอดชีวิตจนเติบใหญ่ ได้แก่ อะชิ่นไท้ซุเมี้ยตพญาจี อะชิ่นไท้ซุเมี้ยตพญาลัต อะชิ่นไท้ซุเมี้ยตพญา และอะชิ่นไท้ซุเมี้ยตพญากะเล
4
พระธิดาองค์แรก อะชิ่นไท้ซุเมี้ยตพญาจี หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่าเจ้าหญิงใหญ่ ประสูติที่พระราชวังมัณฑะเลย์เมื่อปี 1880 อันเป็นปีที่กษัตริย์ธีบอยังคงปกครองดินแดนพม่าอยู่
2
แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปเมื่อพม่าทำสงครามครั้งที่ 3 กับอังกฤษและพ่ายแพ้ กษัตริย์ธีบอพร้อมครอบครัวถูกเนรเทศไปยังเมืองรัตนคีรีในอินเดียเมื่อปี 1885 เจ้าหญิงใหญ่พร้อมพี่น้องคนอื่น ๆ จึงต้องติดตามพระราชบิดาและพระราชมารดาออกนอกประเทศไปด้วยกัน
5
ชีวิตที่เมืองรัตนคีรีไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะครอบครัวนี้เป็นเสมือนนักโทษที่ถูกจองจำในบ้านพักไม่ให้ออกไปไหนได้อย่างอิสระ มีคนคอยเฝ้าดูและเขียนรายงานต่อรัฐบาลอังกฤษ และไม่สามารถใช้ชีวิตได้เฉกเช่นในอดีต ซึ่งอดีตกษัตริย์แห่งพม่าปรับตัวกับสภาพนี้ไม่ได้ ผลสุดท้ายจึงลงเอยด้วยการที่พระองค์กู้หนี้ยืมสินมาเพื่อดำรงพระเกียรติยศนี้ไว้
5
แม้รัฐบาลอังกฤษจะจัดสรรค่าใช้จ่ายให้พระองค์และครอบครัวให้อยู่ได้อย่างสุขสบาย มีข้ารับใช้ และมีตำรวจรักษาความปลอดภัย แต่มันก็ไม่เคยพอสำหรับกษัตริย์ที่เคยมีอำนาจและใช้เงินได้ตามอำเภอใจโดยไม่มีขอบเขตบนความทุกข์ยากของประชากรพม่า ทรัพย์สินที่ขนมาจากพม่าก็ถูกใช้ไปอย่างไม่รู้คุณค่าและถูกโกงไปบ้าง พอถูกเนรเทศและสิ้นไร้บัลลังก์พระองค์ทรงกู้เงินจากทุกคนแม้กระทั่งพ่อค้าขายของชำ
7
แผนที่มัณฑะเลย์กับรัตนคีรี (Image: BBC)
• ชีวิตที่เมืองรัตนคีรี
เจ้าหญิงใหญ่และพี่น้องไม่เคยถูกส่งเข้าโรงเรียน ผู้ทำหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือให้แก่เจ้าหญิงทั้งสี่คือพระนางศุภยาลัต พระนางเป็นแม่ที่เข้มงวดและเจ้าระเบียบมากจึงทำให้พระธิดากลัวเกรง เหล่าเจ้าหญิงเคยถูกตีด้วยไม้บรรทัดพันริบบิ้นผ้าไหม นอกจากนี้พระนางยังสอนให้พระธิดารู้จักทำอาหารเป็นและเรียนธรรมะด้วย
3
เหล่าเจ้าหญิงต้องได้เรียนรู้พิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ ด้วย เพราะกษัตริย์ธีบอและพระนางศุภยาลัตโปรดและเคร่งในเรื่องพิธีกรรมตามประเพณีมาก แม้จะมาพลัดถิ่นมาอยู่ที่อินเดียแต่โปรดให้จัดพิธีเฉลิมฉลองตามเทศกาลอยู่เสมอแถมยังเชิญชาวเมืองรัตนคีรีมาร่วมงานด้วย โดยองค์กษัตริย์ใช้จ่ายเงินมหาศาลไปกับพิธีกรรมการเฉลิมฉลองตามเทศกาลตามแบบพม่า ซึ่งก็ทำให้วัยเด็กของเจ้าหญิงทั้งสี่พอมีเรื่องสนุกสนานบ้างไม่ได้แห้งแล้งไปเสียทีเดียว
3
เจ้าหญิงทั้งสี่ได้รับอนุญาตให้เรียนดนตรี แต่ห้ามผิวปากหรือร้องเพลง กษัตริย์ธีบอผู้พอมีความเป็นศิลปินก็จะทรงเล่นเปียโน พิณ และหีบเพลงให้พระธิดาฟังบ้าง ไม่ก็อ่านบทกวีพม่าให้กับเหล่าเจ้าหญิงฟัง เจ้าหญิงจึงไม่กลัวพระบิดาเฉกเช่นพระมารดา เพราะพระบิดาอ่อนโยนใจดีมาก และคอยปลอบพระธิดาเวลาที่ถูกพระนางศุภยาลัตลงโทษ
3
เจ้าหญิงต้องนอนอยู่ปลายเตียงของพระนางศุภยาลัต และไม่เคยถูกปล่อยให้คลุกคลีกับเด็กชาวบ้านเพราะต้องการให้เจ้าหญิงยังคงเป็น ‘เจ้า’ อยู่ จึงทำให้เจ้าหญิงทั้งสี่เล่นกันเองและมีชีวิตอย่างเหงาหงอย และแม้จะถูกกันไม่ให้เล่นกับเด็กชาวบ้านแต่พระนางศุภยาลัตก็ยังไม่พึงพอพระทัย ทรงเห็นว่าพระธิดาไม่ได้มีกิริยามารยาทแบบพระธิดาของกษัตริย์และกลายเป็นเด็กชาวบ้านอินเดียไปแล้ว
2
ในครอบครัวกษัตริย์ผู้ถูกเนรเทศสื่อสารกันด้วยภาษาพม่า แต่การที่เติบโตมาท่ามกลางข้ารับใช้ชาวอินเดียจึงทำให้เจ้าหญิงพูดภาษาพม่าด้วยสำเนียงอินเดีย และยังสามารถพูดภาษาถิ่นของอินเดียได้หลายภาษาเพราะได้เรียนรู้จากคนรับใช้ เช่น ภาษาฮินดี ภาษามราธี
9
การที่กษัตริย์ธีบอและพระนางศุภยาลัตไม่ได้ส่งพระธิดาไปโรงเรียนจึงทำให้ทางอังกฤษต้องเข้ามาแทรกแซงในเรื่องให้การศึกษาตามแบบแผนที่ควรจะเป็นเมื่อถึงวัยควรแก่การได้รับการศึกษา ในปี 1892 ตอนที่เจ้าหญิงใหญ่มีอายุได้ 12 ปี รัฐบาลอังกฤษก็จ้างครูชาวอังกฤษมาสอนหนังสือให้แก่พระธิดาของกษัตริย์ธีบอทั้งสี่องค์ แต่กิจกรรมนี้ดำเนินไปถึงกลางปี 1894 ก็ยุติลง
4
ในช่วงปี 1894 เกิดโรคระบาดคือกาฬโรคระบาดทั่วเมือง และข้ารับใช้ของครอบครัวนี้ก็ตายลงไป 2-3 คนซึ่งทำให้ครอบครัวกษัตริย์พลัดถิ่นตื่นกลัวกันมาก แม้กระทั่งเจ้าหญิงทั้งสี่ก็ยังหวาดกลัว กาฬโรคระบาดที่เมืองนี้หลายปี และครอบครัวกษัตริย์ต้องย้ายบ้านพักเพื่อหนีโรคระบาดถึงสองครั้ง
6
บ้านพักหรือวังของกษัตริย์ธีบอและครอบครัวที่เมืองรัตนคีรี ในรูปนี้คือภาพก่อนมีการบูรณะ (Image: Wikimedia)
• ชีวิตเจ้าหญิงในกรงทองอันผุพัง
แม้จะพลัดถิ่น แต่ครอบครัวนี้ยังใช้ชีวิตตามธรรมเนียมราชวงศ์พม่าอย่างเคร่งครัด เจ้าหญิงทั้งสี่ต้องทาแป้งทานาคาเพียงอย่างเดียว แป้งผัดหน้าอย่างอื่นห้ามใช้เด็ดขาด การแต่งกายของเจ้าหญิงก็ต้องเป็นแบบพม่า ที่ถูกส่งมาจากย่างกุ้ง และเจ้าหญิงจะต้องสวมผ้าแถบรัดหน้าอกตลอดเวลาแม้จะอึดอัดมากขนาดไหนก็ตามเพราะพระนางศุภยาลัตไม่โปรดการเปิดเผยสัดส่วนหรือเนื้อหนังมังสา
พอสภาพการเงินในครอบครัวขัดสนเจ้าหญิงทั้งสี่ก็ถูกเลี้ยงดูโดยไม่มีของฟุ่มเฟือยใด ๆ ใช้อีกต่อไปแม้กระทั่งเสื้อผ้าที่สวมใส่ก็ตัดมาจากผ้าฝ้ายธรรมดาจากตลาดในเมืองรัตนคีรี
4
เจ้าหญิงทั้งสี่ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินเตร็ดเตร่ไปไหนตามลำพังโดยไม่มีข้ารับใช้ติดตามไปด้วยเด็ดขาด พระพฤติกรรมเยี่ยงนี้จัดว่า ‘เป็นไพร่’ ถ้าถูกจับได้เจ้าหญิงจะต้องถูกเฆี่ยนอย่างหนัก โดยพระนางศุภยาลัตจะให้รางวัลแก่คนรับใช้อย่างงามในการจับตาดูพฤติกรรมของพระธิดาทั้งสี่และมารายงานแก่พระนาง
4
ผู้ที่ใกล้ชิดกับเจ้าหญิงทั้งสี่มากที่สุดคือพระนางศุภยากะเล มเหสีอีกองค์ของกษัตริย์ธีบอและเป็นน้องสาวของพระนางศุภยาลัตด้วย (กษัตริย์ธีบอเองก็เป็นพี่ชายคนละแม่กับพระนางศุภยาลัต) น้าสาวของเจ้าหญิงไม่มีพระโอรสหรือธิดา จึงเป็นผู้ทำหน้าที่เลี้ยงดูเจ้าหญิงทั้งสี่ให้เติบโตขึ้นมา เจ้าหญิงเรียกพระนางศุภยากะเลว่า “แม่เล็ก” ซึ่งสนิทกับเจ้าหญิงทั้งสี่มากกว่าพระนางศุภยาลัตที่เป็นพระมารดาเสียอีก พระนางศุภยาลัตปฏิบัติต่อพระธิดาทั้งสี่ในฐานะราชินีมากกว่าแม่ ซึ่งเต็มไปด้วยระเบียบแบบแผนและความเข้มงวด
8
สิ่งเหล่านี้อาจจะส่งผลต่อพระธิดาองค์โตในเวลาต่อมาที่ “แหก” ธรรมเนียมจนสร้างความอัปยศให้แก่ครอบครัว อีกทั้งการรับสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้จึงทำให้พระนางศุภยาลัตเริ่มประชวรทั้งทางร่างกายและจิตใจจนไม่นำพาต่อสิ่งรอบตัวใด ๆ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1900 เป็นต้นมา จึงกลายเป็นช่องให้เจ้าหญิงใหญ่ออกนอกลู่นอกทาง
1
กษัตริย์ธีบอและมเหสีทั้งสองคือพระนางศุภยากะเล กับพระนางศุภยาลัต (Image: Wikimedia)
• เมื่อเจ้าหญิงใหญ่เริ่มโตเป็นสาว
เจ้าหญิงใหญ่มีบุคลิกเป็นสุภาพสตรี ทั้งสุภาพอ่อนโยนและมีความเมตตา อีกทั้งยังใจกว้างด้วย แต่พอเริ่มจะเป็นสาวอายุเกือบ 20 ปีด้วยสภาพครอบครัวที่หนี้สินล้นพ้นและพระมารดาที่ไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะมากวดขันสิ่งใดได้อีกต่อไป เจ้าหญิงจึงโตขึ้นมาด้วยสภาพไม่เหมาะสม เจ้าหญิงทั้งสี่ไม่ได้ออกไปไหน ไม่มีข้าวของอะไร เพราะไร้ซึ่งเงินทองที่จะมาจับจ่ายใช้สอย
7
รัฐบาลอังกฤษเวทนาครอบครัวนี้จึงเพิ่มค่าใช้จ่ายขึ้นให้ จนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่กษัตริย์ธีบอก็หนีไม่พ้นวังวนการไม่รู้จักใช้จ่ายและกู้หนี้ยืมสินเช่นเดิม ส่วนเจ้าหญิงทั้งสี่ก็มีชีวิตอันน่าเบื่อหน่ายที่ไม่ค่อยได้พบเจอใครและไม่เคยย่างเท้าออกไปจากเมืองรัตนคีรีเลย
2
เมื่อเจ้าหญิงใหญ่โตเป็นสาว ทางรัฐบาลอังกฤษในอินเดียและพม่าก็หยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณา ส่วนกษัตริย์ธีบอไม่เคยสนใจเรื่องการหาคู่ครองให้กับพระธิดา สิ่งที่พระองค์ต้องการทำคือพิธีเจาะหูที่ทรงเห็นว่าจำเป็นมากกว่า เพราะการไม่ทำพิธีฉลองการเจาะหูให้จะถือเป็นเรื่องน่าอับอายมาก แล้วโดยธรรมเนียมต้องเจาะหูตั้งแต่อายุ 13 ปีแล้ว
10
ส่วนเรื่องคู่ครองพระองค์ยืนยันว่าพระธิดาต้องแต่งงานกับเชื้อพระวงศ์พม่า(ระดับสูง)เท่านั้น เจ้าชายพม่าที่มีอยู่ในเวลานั้นก็ต่ำศักดิ์กว่าพระธิดาของพระองค์ (ที่ระดับเดียวกันก็ถูกสังหารหมู่จนแทบไม่เหลือไปในเหตุการณ์อันอื้อฉาวเมื่อปี 1879 จนหมดในพระราชวังมัณฑะเลย์ตามที่คนไทยรู้จักกันดี-อย่างน้อยก็มาจากละครที่สร้างอิงประวัติศาสตร์ตอนนั้น) ถ้าไม่มีผู้คู่ควรพระองค์ก็จะให้พระธิดาครองตนเป็นโสดตลอดไป
แต่ฮอร์โมนในวัยแตกเนื้อสาวของเจ้าหญิงใหญ่ก็พาเจ้าหญิงไปสู่ความพยายามจะมีเพื่อนชาย เจ้าหญิงใหญ่แอบลักลอบส่งจดหมายนัดชายหนุ่มพม่าให้มาพบกันใต้ต้นไม้ในบ้านพักตอนเที่ยงคืน แต่จดหมายฉบับนี้ถูกเจ้าหน้าที่ที่ดูแลครอบครัวนี้จับได้เสียก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะป้องกันอะไรได้ พอรักกับคนข้างนอกไม่ได้เจ้าหญิงใหญ่ก็รักกับคนในบ้านเสียเลย
6
ปี 1906 เจ้าหญิงใหญ่วัย 26 ปีเริ่มมีความสัมพันธ์กับยามประจำบ้านที่เป็นฮินดู ชายคนนั้นเป็นชาวอินเดียเชื้อสายมราธาชื่อว่าโกปาล บาหุเรา ซาวันท์ จุดเริ่มต้นมาจากการที่เจ้าหญิงใหญ่มีหน้าที่เจียดเงินซื้ออาหารให้สุนัขในบ้าน และโกปาลรับหน้าที่ไปซื้ออาหารสุนัขมาให้
10
ดังนั้นในทุกเช้าเขาจะมารับเงินจากเจ้าหญิงใหญ่เพื่อไปซื้ออาหาร จากนั้นเจ้าหญิงใหญ่ก็เริ่มแอบลักลอบไปหาโกปาลที่ที่พักของเขาใกล้ ๆ กับประตูทางเข้าบ้านพักของครอบครัวนี้โดยที่ไม่มีใครรู้ เชื่อกันว่าน้อง ๆ ของเจ้าหญิงใหญ่น่าจะรับรู้ถึงความผิดปกตินี้แต่ก็ไม่สามารถที่จะเอ่ยปากบอกพระบิดาหรือพระมารดาได้
สุดท้ายเจ้าหญิงใหญ่ผู้ที่พระบิดาต้องการให้มีคู่ครองจะต้องเป็นเจ้าชายสายเลือดบริสุทธิ์คือต้องมีสายเลือดจากกษัตริย์ระดับเดียวกันเท่านั้นก็ลงเอยกับยามเฝ้าประตูประจำบ้านชาวอินเดียผู้ต่ำต้อย แถมที่ร้ายไปกว่านั้นคือโกปาลมีครอบครัวอยู่แล้วด้วย
4
เจ้าหญิงใหญ่ในพิธีเจาะหู (Image: The Irrawaddy)
• ความอัปยศอดสูของครอบครัว
พอกษัตริย์ธีบอและพระนางศุภยาลัตรู้เรื่องนี้มันก็สายไปเสียแล้ว เพราะมารู้เอาก็ตอนที่เจ้าหญิงใหญ่คลอดลูก ทั้งสองพระองค์แม้กระทั่งน้าสาวไม่เคยระแคะระคายเลยว่าเจ้าหญิงใหญ่ตั้งท้อง
เจ้าหญิงใหญ่คลอดลูกสาวเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ปี 1906 โดยตั้งชื่อว่า “ตูตู” พอพระนางศุภยาลัตทราบเรื่องก็แทบจะล้มตายเสียให้ได้จากที่ป่วยอยู่แล้ว พระนางเอาแต่เก็บตัวในห้องไม่ออกมาให้ใครได้เห็น ครอบครัวนี้พยายามปิดเรื่องนี้เป็นความลับทั้งจากคนภายนอกและจากรัฐบาลอังกฤษ แต่ก็ปิดได้เพียงระยะหนึ่ง
กษัตริย์ธีบอทำใจได้เร็วกว่าพระนางศุภยาลัต อาจจะเป็นเพราะศาสนาที่ทำให้ทั้งสองพระองค์ปลงได้ หรือมิฉะนั้นก็เป็นเพราะกษัตริย์ธีบอทรงหมกมุ่นกับการสร้างบ้านใหม่ที่หรูหรากว่าเดิมที่รัฐบาลยอมทำตามพระประสงค์ของพระองค์
3
แม้จะไม่เคยยอมรับในตัวโกปาลว่าเป็นลูกเขย แต่ก็ไม่ได้ไล่โกปาลออก โดยเจ้าหญิงใหญ่ยังคงอยู่กับครอบครัวต่อไป และไปนอนที่ที่พักของโกปาลเป็นบางครั้งบางคราว ส่วนลูกสาวของทั้งคู่ก็เลี้ยงดูในบ้านพักของครอบครัวนี้ โดยที่โกปาลไม่ได้รับอนุญาตให้มาเหยียบในบ้านหลังนี้ ซึ่งพระนางศุภยาลัตก็รักหลานคนนี้ พระนางคอยเล่นกับตูตูและเล่านิทานให้ตูตูฟัง
5
แม่เล็กสิ้นพระชนม์ในปี 1912 พอล่วงมาปี 1916 กษัตริย์ธีบอก็สิ้นพระชนม์ในวัย 57 ปี หลังจากที่ถูกเนรเทศมา 31 ปี ซึ่งพอหลังจากที่กษัตริย์ธีบอจากไปก็มีการหยิบยกความเป็นไปได้ในการกลับพม่า แต่เจ้าหญิงใหญ่ไม่ปรารถนาที่จะกลับไป พระองค์ต้องการอยู่รัตนคีรีต่อไปและแต่งงานกับโกปาล ซึ่งในเวลานั้นผันตัวมาเป็นคนขับรถให้กับครอบครัวนี้แทนหน้าที่ยาม ส่วนเจ้าหญิงใหญ่ก็มีอายุล่วงเข้า 37 ปี และตูตูก็โตจนอายุ 11 ขวบแล้ว
11
เจ้าหญิงใหญ่แสดงความต้องการให้รัฐบาลชักจูงให้โกปาลแต่งงานกับเธอให้ได้ หากไม่ได้แต่งงานกับโกปาลพระองค์ก็จะอยู่ที่นี่ต่อไปเพราะไม่ต้องการอยู่อย่างไร้สุขกับครอบครัวที่แตกแยกวุ่นวายในบรรดาพี่น้องที่มองว่าพระองค์นั้นฉาวโฉ่ และถ้ากลับไปพระองค์ต้องอับอายกับการที่ถูกชาวพม่าดูถูกเธอกับลูก
ซึ่งความต้องการนี้สร้างความอึดอัดใจให้แก่รัฐบาลอังกฤษในอินเดีย เพราะการกระทำการใด ๆ ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนให้เจ้าหญิงใหญ่แต่งงานก็ล้วนแต่สร้างปัญหาทั้งนั้น เพราะถ้าเธอไม่ได้แต่งงานพระนางศุภยาลัตก็จะไม่เสด็จกลับพม่าเพื่อรักษาหน้าเอาไว้ แต่ถ้าจัดแจงให้เกิดการแต่งงานตามความต้องการเดี๋ยวก็จะถูกมองว่าเป็นการทำลายเกียรติยศของเจ้าหญิง แถมโกปาลเองก็ยังมีลูกมีภรรยาตามปกติ (ซึ่งข้อมูลจากฝ่ายพม่าบอกว่าเจ้าหญิงใหญ่จำเป็นต้องแต่งงานกับโกปาลเพราะทางอังกฤษเป็นคนกระตุ้น)
9
สุสานของกษัตริย์ธีบอกับพระนางศุภยากะเล (Image: Wikimedia)
• เจ้าหญิงใหญ่ไม่อยากหวนคืน
1
สุดท้าย ในปี 1917 รัฐบาลแจ้งว่าการแต่งงานกับโกปาลเป็นไปไม่ได้ และให้เจ้าหญิงใหญ่ยุติความสัมพันธ์ทันที เพราะรัฐบาลเชื่อว่าแรงจูงใจของโกปาลในการมีความสัมพันธ์กับเจ้าหญิงใหญ่ก็เพราะรายได้ที่พระองค์ได้รับจากรัฐบาล ส่วนโกปาลนั้นก็ถูกเจ้าหญิงสี่ผู้กลายเป็นใหญ่ในบ้านไล่ออกไปแล้วและห้ามมาเหยียบที่บ้านของครอบครัวนี้อีก
6
แต่หลังจากนั้นก็พบว่าเจ้าหญิงใหญ่ตั้งท้องกับโกปาลอีกครั้ง พระองค์จึงถูกอัปเปหิจากครอบครัวโดยสมบูรณ์ พระนางศุภยาลัตไม่ยอมให้เจ้าหญิงใหญ่มาพบหน้าและไม่ยอมตรัสกับพระธิดาองค์โตอีกเลย และเจ้าหญิงใหญ่ก็คลอดลูกในเดือนกุมภาพันธ์ปีต่อมา แต่ลูกก็ตายไปในเดือนมีนาคมในปีนั้นเอง
3
การเสียลูกไปทำให้เจ้าหญิงใหญ่ล้มป่วย และพอรัฐบาลแจ้งว่าพระองค์สามารถเดินทางกลับพม่าได้ก็ได้รับการตอบรับด้วยคำตอบว่าพระองค์ยอมฆ่าตัวตายเสียดีกว่าจะกลับไปพม่า เหตุเพราะได้กลับมาสานสัมพันธ์กับโกปาลอีกครั้ง
4
ในขณะที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวเก็บข้าวของเตรียมตัวจะกลับพม่า เจ้าหญิงใหญ่ขายเครื่องเรือนของเธอและนำเงินทั้งหมดไปบริจาคให้วัดฮินดูในเมืองรัตนคีรี พอมาต้นปี 1919 เจ้าหญิงใหญ่ก็ท้องเป็นครั้งที่สามกับโกปาล แน่นอนว่าสมาชิกในครอบครัวรังเกียจพระองค์มาก และเตรียมแผนการให้เจ้าหญิงใหญ่แยกเดินทางกลับพม่าและให้แยกบ้านอยู่ การกลับพม่าอย่างยิ่งใหญ่จะต้องไม่มีเรื่องฉาวโฉ่มาทำให้มัวหมอง
6
สุดท้ายเจ้าหญิงใหญ่ก็เดินทางกลับพม่าพร้อมครอบครัวเมื่อปี 1919 โดยถูกกำหนดให้อาศัยอยู่ที่เมืองย่างกุ้งและอยู่บ้านเดียวกัน เจ้าหญิงใหญ่คลอดลูกที่นั่นแต่ลูกตายตอนคลอด ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวดีขึ้นมา แต่เจ้าหญิงใหญ่ต้องการกลับไปรัตนคีรีเสมอ โดยเขียนจดหมายไปวิงวอนรัฐบาลให้เธอเดินทางกลับไปที่นั่น
5
สุสานของพระนางศุภยาลัตในย่างกุ้ง พระนางสิ้นพระชนม์เมื่อปี 1925 อายุ 65 ปี (Image: Wikimedia)
• กลับรัตนคีรี
1
โกปาลไม่ต้องการแต่งงานกับเจ้าหญิงใหญ่ เพราะจะทำให้เขากลายเป็นจัณฑาล ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงที่สุดในชีวิตของชาวฮินดู เจ้าหญิงใหญ่ไม่สามารถเป็นภรรยาของเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นอันดับสองหรือสามก็ตาม และไม่สามารถมาอยู่ร่วมบ้านเขาได้ แต่เขาไม่ติดขัดที่เจ้าหญิงใหญ่จะกลับมาอยู่บ้านของตัวเองโดยที่เขาสามารถแวะเวียนไปหาได้เสมอ
2
รัฐบาลคงน่าจะปวดหัวกับครอบครัวนี้เป็นอย่างยิ่ง เรื่องการอนุญาตให้เจ้าหญิงใหญ่กลับไปรัตนคีรีถูกหยิบยกมาหารือกับหลายฝ่ายทั้งกับชนชั้นสูงของพม่า ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครเห็นด้วย แต่เจ้าหญิงใหญ่ไม่ยอมแพ้ ระดมส่งจดหมายไปนับไม่ถ้วนและขู่ว่าจะฆ่าตัวตายถ้าไม่ได้กลับไป ซึ่งทางรัฐบาลมองว่าเจ้าหญิงใหญ่นั้นเกินจะเยียวยา
6
สุดท้ายด้วยความระอาหรืออะไรก็แล้วแต่ รัฐบาลอนุญาตให้เจ้าหญิงใหญ่กลับไปได้ แต่เงินค่าครองชีพของเธอจะถูกปรับลดลง และลงนามยินยอมสละตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ใด ๆ และทายาทของเธอจะไม่เรียกร้องเงินค่าครองชีพจากรัฐบาลด้วย ซึ่งเจ้าหญิงใหญ่ยินยอมทั้งหมด
4
เจ้าหญิงใหญ่จึงได้กลับไปรัตนคีรีเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1920 ในฐานะคนธรรมดาที่รัฐบาลไม่ได้รับผิดชอบอะไรในชีวิตเธอดังเช่นเคย และตัดขาดกับครอบครัวนับตั้งแต่บัดนั้น พระนางศุภยาลัตโกรธเกรี้ยวมากและไม่ยอมพูดถึงหรือเอ่ยชื่อถึงพระธิดาคนนี้อีกเลย
5
ชีวิตเจ้าหญิงใหญ่เมื่อกลับไปที่รัตนคีรีอยู่ในสภาพที่น่าเวทนาเป็นอย่างยิ่งถ้ามองจากสายตาคนทั่วไป ที่น่าเวทนาเพราะความด้อยสติปัญญาของเธอเอง โกปาลเช่าบ้านให้เธอกับลูกอยู่ แต่บ้านนั้นมีสภาพเป็นกระท่อมดี ๆ นี่เอง เธอรับสภาพไม่ได้จึงเดินทางไปติดต่อขอให้เธอได้กลับไปอยู่บ้านเก่าซึ่งก็คือวังดี ๆ นี่เอง ซึ่งแน่นอนว่าได้รับการตอบกลับจากเจ้าหน้าที่ว่าไม่ได้
7
เธอได้ค่าครองชีพตามที่ตกลง คือ 200 รูปี และหักภาษีออกไปอีก 5 รูปี เธอจึงเขียนจดหมายไปยังรัฐบาลเพื่อขอค่าครองชีพเพิ่มจากเดิมเป็น 400 รูปีหรือมากกว่าเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรวมถึงค่าเสื้อผ้า โดยในจดหมายยังเรียกตัวเองว่า “เจ้าหญิง” อยู่ ซึ่งได้รับการตอบกลับอย่างสุภาพ (แต่เจ็บแสบ) ว่าเป็นความต้องการของเธอเองทั้งสิ้นที่อยากจะกลับมาที่รัตนคีรีอีกทั้งยังลงนามยินยอมสละทุกอย่างเอง
2
แต่อีกหนึ่งปีต่อมาเธอก็ส่งจดหมายไปขอเพิ่มค่าครองชีพใหม่ โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา หนึ่งในนั้นคือเพื่อให้เหมาะสมกับฐานันดรเจ้าหญิง รวมถึงเงินพิเศษสำหรับเทศกาลต่าง ๆ ถ้าไม่ให้ก็รอให้เธอได้รับสิทธิ์จากผลประโยชน์ของบ้านเก่าหลังที่เคยอยู่ ดูเหมือนว่าเธอจะได้รับมรดกตกทอดมาจากพระบิดาในการขาดความเข้าใจในสถานะของตนเองที่เปลี่ยนแปลงไปและความเข้าใจเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ จนเข้าใจว่าบ้านหลังนั้นเป็นของกษัตริย์ธีบอ หรือไม่ก็พยายามหาทางเรียกร้องเอาทุกอย่างเท่าที่จะคิดได้
2
เมื่อได้รับการปฏิเสธ จากนั้นเธอก็ไม่เคยติดต่อกับรัฐบาลอีกเลย
2
ภาพสามีของตูตู ตูตู โกปาล และกษัตริย์ธีบอ (Image: Gurinder Osan/HT PHOTO)
• จุดจบอันน่าเวทนา
1
เจ้าหญิงใหญ่อาศัยอยู่ที่รัตนคีรีอย่างโดดเดี่ยวยิ่งกว่าตอนที่เคยอยู่กับครอบครัวเดิม เพราะครอบครัวโกปาลไม่เคยติดต่อสัมพันธ์กับเธอแม้กระทั่งกับตูตู ไม่มีใครยินดีกับการกลับมาของเธอ ชาวเมืองก็ไม่ได้ชื่นชมยินดีกับผู้หญิงที่ไร้ศีลธรรมเช่นเธอ
3
โกปาลยังอยู่กับครอบครัวเช่นเดิม แต่จะแวะเวียนไปหาเจ้าหญิงใหญ่บ้างแต่อยู่ไม่นานก็กลับ แถมยังเอาเงินจากเธอไว้สำหรับตัวเอง (ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เป็นเช่นนั้น แต่ตอนนั้นเจ้าหญิงใหญ่ไม่ได้มีสภาพดังเช่นในตอนนี้) ดังนั้นเธอจึงกลายสภาพเป็นคนยากจนโดยสมบูรณ์แบบ เงินเกือบ 200 รูปีก็พอทำให้เธออยู่ได้อย่างไม่ติดขัดแม้จะไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้ แต่ก็ไม่ได้มากพอให้โกปาลยักเอาไปใช้แล้วเหลือให้เธอเพียงน้อยนิด
4
เธอจึงหันไปพึ่งศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับพระบิดาของเธอเลย เธอใช้เวลาไปกับการสวดมนต์ และบริจาคทานทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็มีเพียงน้อยนิด และแถมต้องไปกู้หนี้ยืมสินเฉกเช่นที่พระบิดาของเธอเคยทำ ทรงทำบุญบริจาคทานอย่างมหาศาลทุกครั้งที่มีโอกาสแต่ก็กู้หนี้ยืมสิน
6
เมื่อกลับมารัตนคีรี เจ้าหญิงใหญ่เขียนจดหมายติดต่อกับพี่น้องอยู่ยกเว้นพระมารดา และขอเงินช่วยเหลือจากเจ้าหญิงสอง แต่ก็เคยส่งเงิน 200 รูปีที่ตัวเองมีให้เจ้าหญิงสี่ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะต้องการให้น้องสาวคิดว่าเธอมีความเป็นอยู่ที่ดีหรือเป็นคนที่มีนิสัยเป็นผู้มอบให้แม้จะไม่เหลืออะไรเลยก็ตาม ขนาดใส่เสื้อผ้าขาดหวิ่นและอดมื้อกินมื้อ
4
ส่วนลูกสาวแม้จะมีความรักใคร่ให้แต่เธอก็ทำได้เพียงแค่สอนตูตูทำกับข้าวและงานฝีมือเล็ก ๆ น้อย ๆ เธอไม่ได้มีความรู้ใดที่จะสอนให้ลูกเล่าเรียนเขียนอ่านได้ ตูตูจึงได้รับการศึกษาเพียงแค่เข้าโรงเรียนมิชชันนารีแค่ปีสองปี ส่วนโกปาลคนเป็นพ่อก็ไม่เคยให้ความช่วยเหลือใด ๆ ตูตูจึงกลายเป็นคนไม่รู้หนังสือ โกปาลมีความเป็นอยู่ที่ดีทีเดียว แต่ก็ไม่เคยยอมรับตูตูเป็นลูกโดยชอบด้วยกฎหมาย
5
ปี 1930 พอมีอายุได้ 24 ปีตูตูก็แต่งงานไปแล้วย้ายไปอยู่กับสามี เธอมาเยี่ยมแม่บ้าง เจ้าหญิงใหญ่จึงใช้ชีวิตตามลำพังโดยมีเด็กชาวบ้านเป็นเพื่อนคลายเหงา โดยให้ขนมเด็ก ๆ กินและให้เข้ามาเล่นในบ้านได้ เจ้าหญิงใหญ่มีชีวิตต่อมาจนได้เห็นหลานหลายคน โดยตูตูมีลูกทั้งหมด 11 คน และบั้นปลายเจ้าหญิงใหญ่มีอาการเสียสติ อารมณ์แปรปรวนโกรธเกรี้ยวไล่ผู้คนที่ผ่านไปมา
7
เจ้าหญิงใหญ่เสียชีวิตในปี 1947 ด้วยวัย 67 ปี ที่บ้านโกโรโกโสที่พอเธอตายแล้วโกปาลก็ทำเป็นคอกวัวต่อ พิธีศพของเธอมีเกียรติมากกว่าชีวิตอันยากไร้ตลอดเวลา 27 ปีที่กลับมาใช้ชีวิตที่รัตนคีรี
6
หลานและเหลนของเจ้าหญิงใหญ่ในอินเดีย (Image: Gurinder Osan/HT PHOTO)
อ้างอิง
1. ชาห์, สุดาห์. ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558.
2

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา