15 ก.ค. 2021 เวลา 06:18 • สุขภาพ
โรคอัลไซเมอร์ Alzheimer
อัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมองซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ โดยไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติเพราะผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์ทุกคน แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ
โรคอัลไซเมอร์ Alzheimer
อาการของโรคอัลไซเมอร์
อาการแรกเริ่มที่สำคัญของผู้ป่วยอัลไซเมอร์คือการสูญเสียความจำระยะสั้น ซึ่งเป็นอาการที่ใกล้เคียงกับภาวะความจำเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุ แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ป่วยร้อยละ 80-90 จะมีอาการทางพฤติกรรมหรือทางจิตเวชร่วมด้วย ซึ่งอาการทางพฤติกรรมนี่เองที่ทำให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะรายที่มีอาการก้าวร้าว ผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านความจำเป็นอาการหลัก ผู้ป่วยจะไม่สามารถจดจำ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ จึงมักจะลืมว่าวางของไว้ที่ไหนทั้งที่พยายามจำ ถามซ้ำ ๆ พูดซ้ำ ๆ เป็นต้น
1
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์
1. อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด โดยพบว่าหลังอายุ 65 ปี ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มเป็น 2 เท่าในทุก ๆ 5 ปีที่อายุมากขึ้น อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปีด้วยเช่นกัน
2. พันธุกรรม เช่น มีญาติสายตรงในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคนี้หลายคน , มียีนบางอย่างเช่น ApoE4 เป็นต้น
3. โรคดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) ผู้ป่วยถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยโรคนี้มีความผิดปกติของการสะสมของโปรตีนบางชนิดที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์เช่นกัน
4. การได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ มีรายงานการศึกษาทางระบาดวิทยาหลายรายงานพบว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมจากสาเหตุอื่น ๆ มีประวัติเคยได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะมากกว่าคนที่ไม่มีสมองเสื่อม อย่างไรก็ตามในบางการศึกษาไม่พบว่าการได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะมาก่อนเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อม
5. พบว่าโรคอัลไซเมอร์มีส่วนที่เกิดจากโรคของหลอดเลือด รวมถึงพบร่วมกับโรคหลอดเลือดในสมองได้บ่อย ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองจึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ด้วย ดังนี้ น้ำหนักเกินมาตรฐาน การขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน
การดูแลรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์
การรักษาแบบไม่ใช้ยา (Non-Pharmacological Management)
1. การดูแลเรื่องกิจวัตรประจำวันและการฝึกทักษะการเข้าสังคม
2. การดูแลปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ลดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการแย่ลง เช่น เสียงรบกวน รวมถึงการปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัยง่ายต่อการใช้งาน
3. การให้ความรู้กับผู้ดูแลผู้ป่วย ผู้ดูแลเป็นบุคคลสำคัญที่สุดที่ต้องเข้าใจการดำเนินของโรค และความรู้เกี่ยวการดูแลผู้ป่วยในแต่ละระยะของโรค
4. การฟื้นฟูผู้ป่วยสมองเสื่อมด้านกายภาพ
5. การดูแลด้านพฤติกรรมและจิตบำบัด
การรักษาโดยใช้ยา (Pharmacological Management)
1. ยาที่ใช้รักษาตามอาการด้านการรู้คิด
2. ยาที่ใช้รักษาปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และความผิดปกติทางจิต
#สาระจี๊ดจี๊ด
หากเป็นการหลงลืมตามวัยแบบทั่วไปแล้ว โดยปกติเมื่ออายุมากกว่า 60 ปี สมองของเรามักจะถดถอยตามวัย อาจมีการคิดช้า ใช้เวลาในการนึก ตัดสินใจแย่ลง อาจจะเริ่มมีหลงลืม เช่น หากุญแจไม่เจอ จำที่จอดรถไม่ได้ หรืออาจจะนึกชื่อเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนาน ๆ ไม่ออก แต่เมื่อมีการบอกใบ้ ก็จะสามารถดึงข้อมูลนั้นออกมาได้ ที่สำคัญ คือ ยังช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวันได้
หากมีอาการหลงลืมแบบเข้าข่ายโรคอัลไซเมอร์ มักจะจำไม่ได้เลยว่ามีเหตุการณ์นั้น ๆ เกิดขึ้น นึกอย่างไรก็นึกไม่ออก หรือลืมแล้วลืมเลย ลืมแม้กระทั่งทักษาการใช้เครื่องมือในชีวิตประจำวัน หรืออาจจะถึงกับลืมชื่อคนในครอบครัว เช่น เปิดฝักบัวไม่เป็น ลืมวิธีกดรีโมท ซึ่งการเสื่อมของสมองจะค่อยเป็นค่อยไปและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
1
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา