15 ก.ค. 2021 เวลา 14:05 • สิ่งแวดล้อม
ลดโลกร้อนด้วย Net Zero Carbon
ภาวะโลกร้อนมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases; GHGs) ซึ่งไปสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก ปิดกั้นการสะท้อนกลับของความร้อนจากดวงอาทิตย์ทำให้อุณหภูมิบรรยากาศโลกร้อนขึ้น นานาประเทศได้ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้มีการลงนามข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ปี 2015
ลดโลกร้อนด้วย Net Zero Carbon
โดยดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด หรือทำการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions หรือ Net Zero Carbon Emission) ซึ่งคือการที่ประเทศ องค์กร หรือบริษัท กำจัดก๊าซเรือนกระจกออกจากสิ่งแวดล้อมในปริมาณเทียบเท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ตนเองได้ปล่อยออกไป รวมถึงอาจหันมาใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น
ก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วย คาร์บอนไดออกไซด์, มีเทน, ไนตรัสออกไซด์, ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน, และ ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกจากมนุษย์ที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์มากที่สุด ดังนั้นกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกจึงมีการใช้คาร์บอนมาเป็นหน่วยวัดพื้นฐาน
ผลกระทบของธรรมชาติ Vs ผลกระทบของมนุษย์ ต่อปรากฎการณ์ก๊าซเรือนกระจก
ไฟป่าออสเตรเลีย หนึ่งในสัญญาณเตือน ถึงวิกฤตโลกร้อนและการสูญพันธ์ของสัตว์ป่า
Race To Zero
ประเทศต่าง ๆ จึงตั้งเป้าหมายในการเข้าสู่ Net Zero Carbon Emission ให้สำเร็จภายในปี 2050 ตามที่ UN กำหนดไว้ ซึ่งตอนนี้ก็มี 2 ประเทศ ที่ทำสำเร็จแล้ว คือ ประเทศเล็ก ๆ อย่างภูฏาน และ ซูรินาเม ในลาตินอเมริกา ขณะที่อีกหลายประเทศกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้ถึงเป้าหมาย โดยแต่ละประเทศตั้งปีเป้าหมายแตกต่างกันตามความพร้อมของตน
เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก สุทธิให้เป็นศูนย์ของแต่ละประเทศ
นโยบายและเป้าหมายของแต่ละประเทศ
1
สหราชอาณาจักร
ในปี 2019 สหราชอาณาจักร โดยนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้ออกกฎหมายตั้งเป้าหมายที่จะเข้าสู่ Net Zero Carbon ให้ได้ในปี 2050 เป็นประเทศแรกในกลุ่ม G7
นโยบายที่สำคัญ ได้แก่ การยอมรับข้อตกลง North Sea Transition Deal เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ สู่พลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน, การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยวางแผนห้ามขายรถยนต์ใช้น้ำมันตั้งแต่ปี 2030 เป็นต้นไป ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน แล้วหันไปซื้อไฟฟ้าจากเดนมาร์กแทน ตลอดจนการระดมทุนของรัฐบาลกว่า 1 พันล้านปอนด์ เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม โรงเรียน และ โรงพยาบาล โดยนำเงินจากการระดมทุนไปลงทุนสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ใน 10 โครงการสำคัญ ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่ง, การผลิตพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์, เทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงาน, การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ, การผลิตพลังงานไฮโดรเจน, การสร้างอาคารประหยัดพลังงาน, เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอนและกำจัดก๊าซเรือนกระจก, การเปลี่ยนเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ และ disruptive technology ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุด 1 ล้านปอนด์ต่อหนึ่งโครงการ ตั้งแต่เริ่มการสนับสนุนในปี 2012 จนถึงปัจจุบัน มีโครงการที่ได้รับเงินอุดหนุนไปแล้ว 156 โครงการ
2
จากความพยายาม การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหราชอาณาจักรลดลง 29% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะลดลง 78% จากปี 1990 ภายในปี 2035
1
สวีเดน
ประเทศบ้านเกิดของ เกรต้า ธุนเบิร์ก สาวน้อยนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2017 สวีเดนเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายให้ประเทศมี Net Zero Carbon ภายในปี 2045 โดยมีแผนจะลดการปล่อยมลพิษลง 85% จากปีฐาน 1990 โดยส่วนที่เหลืออีก 15% จะถูกกำจัดให้หมดไปผ่านการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยลดมลพิษในสวีเดนและที่อื่น ๆ ทั่วโลก
ในส่วนของภายในประเทศเอง เป็นเวลาหลายปีที่สวีเดนมีการดำเนินนโยบายกำจัดคาร์บอนจากอุตสาหกรรมพลังงาน โดยเพิ่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และลงทุนในแหล่งไฟฟ้าพลังน้ำ พร้อมกับมีการเก็บภาษีคาร์บอนตั้งแต่ปี 1990 เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด
ภูฏาน
ภูฏานเป็นประเทศที่นอกจากจะประสบความสำเร็จในการทำ Net Zero Carbon แล้ว ยังเป็นประเทศเดียวในโลกที่ทำ Carbon-Negative สำเร็จอีกด้วย หมายความว่าภูฏานสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าการปล่อยก๊าซ ด้วยการที่ประเทศมีพื้นที่กว่า 70% เป็นป่าไม้ซึ่งเป็นอ่างกักเก็บคาร์บอน (Carbon Sink) ซึ่งดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าการผลิตที่มาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลัก นอกจากนี้ยังออกกฎหมายห้ามการตัดไม้และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กำหนดให้พื้นที่ป่าไม่ลดลงต่ำกว่า 60% อีกทั้ง ภูฏานยังผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำใช้แทนเชื้อเพลิงฟอสซิลและส่งออกให้กับอินเดียและบังกลาเทศ
4
การปรับตัวของภาคธุรกิจ
ปัจจุบันบริษัทและองค์กรชั้นนำทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้เกิดการผลิตและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมาใช้งาน ตัวอย่างเช่น
BP
บริษัทน้ำมันรายใหญ่นี้ตั้งเป้าหมายให้เกิด Net Zero ภายในปี 2050 แม้ว่าธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลจะเป็นธุรกิจที่ปล่อยมลพิษออกมามากที่สุด โดย BP เริ่มพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน เร่งพัฒนาการเติบโตของพลังงานไฟฟ้าจากลมนอกชายฝั่งบริเวณแท่นขุดเจาะของ bp ขายให้กับอังกฤษ สรรหาเทคโนโลยี zero waste ในการผลิตเชื้อเพลิง รวมถึงร่วมมือกับ Volkswagen Group และ BMW Group เพื่อขยายและเร่งการติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าให้กับรถ EV
1
AstraZeneca
บริษัทเวชภัณฑ์เจ้าของวัคซีน COVID-19 จะลงทุนสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้บริษัทเข้าถึงเป้าหมาย Net Zero Carbon Emission ในปี 2025 และเป็น Negative Carbon ในปี 2030 ด้วยการใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต ใช้รถ EV 100% ในการขนส่ง พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ใช้พลังงานน้อยลง รวมถึงเริ่มโครงการปลูกป่าขนาด 50 ล้านต้น
Apple
ปัจจุบัน Apple ได้ดำเนินการลดคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการทั้งหมดขององค์กรแล้ว โดยตั้งเป้าว่าภายใน 20 ปีข้างหน้า Apple จะไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเลย (Net Zero) แนวทางของ Apple คือ การลงทุนในพลังงานทางเลือกจากลมและแสงอาทิตย์ การใช้วัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ การออกแบบสินค้าให้มีการใช้พลังงานให้น้อยที่สุด และการร่วมลงทุน 100 ล้านดอลลาร์กับ US-China Green Fund ในโครงการเร่งประสิทธิภาพพลังงานสำหรับ supplier ของ Apple นอกจากนี้ในส่วนของอาคารสำนักงาน Apple ทำการอัพเกรดประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคารที่มีอยู่แล้วกว่า 6.4 ล้านตารางฟุต ลดความต้องการไฟฟ้าลงเกือบหนึ่งในห้าและช่วยบริษัทประหยัดเงิน 27 ล้านดอลลาร์
บริษัทขนาดใหญ่ที่สำคัญมีเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์
ตอนต่อไปเราจะมาดูว่าประเทศไทยดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง มีการวางนโยบายหรือเป้าหมาย ในการจะเป็นประเทศ Net Zero Carbon Emission รวมถึงภาคเอกชนและองค์กรที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยมีส่วนร่วมอย่างไร ติดตามกันด้วยนะคะ
ผู้เขียน : ปรียา ชัชอานนท์ Economist, Bnomics
════════════════
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#Bnomics #เศรษฐศาสตร์ #net_zero_carbon #ลดโลกร้อน #zero_waste #วิกฤตการณ์โลกร้อน #ก๊าซเรือนกระจก #
1
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา