8 ก.ค. 2021 เวลา 14:16 • เกม
eSports หนทางสู่การเป็นเศรษฐีของเด็กติดเกม
E-SPORT หนทางสู่การเป็นเศรษฐีของเด็กติดเกม
📌 eSports คืออะไร?
eSports (Electronic sports) คือการแข่งขันกีฬารูปแบบหนึ่งที่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เมาส์ หรือหูฟังในการแข่งขันแทนที่จะใช้อุปกรณ์ด้านกีฬาอย่าง ลูกบอล ไม้เทนนิส หรือไม้กอล์ฟ ดังเช่น กีฬาทั่ว ๆ ไป สามารถแข่งขันได้ทั้งรูปแบบบุคคลและแบบทีม
โดยประเภทของเกมที่ใช้จัดการแข่งขันนั้นมีได้หลากหลาย แต่ที่เรามักจะคุ้นตากันจะอยู่ในรูปแบบของเกมยิงปืนอย่าง Counter Strike เกมตีป้อมอย่าง Dota 2 หรือเกมเอาชีวิตรอด (Battle Royale) อย่าง Fortnite โดยถ้าหากชนะการแข่งขันก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินรางวัล ซึ่งมูลค่าก็จะแตกต่างกันไปตามประเภทของเกมและขนาดของการแข่งขัน
เกมยอดนิยมสำหรับการแข่งขัน E-Sport
📌 ยุคบุกเบิกของ eSports
จุดเริ่มต้นของวงการ eSports นั้นเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1972 ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ชื่นชอบในการเล่นเกมที่มีชื่อว่า “Space War”
และจับกลุ่มกันเพื่อจัดการแข่งขันขึ้นชื่อว่า “The Intergalactic Spacewar Olympics” ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้เปรียบเสมือนการแข่งขันครั้งแรกในวงการ eSports เลยก็ว่าได้ แต่ย้อนไปในสมัยนั้น
วงการเกมยังไม่ได้มีชื่อเสียงและไม่ได้มีคนสนใจมากเหมือนในปัจจุบันนี้ จึงทำให้เงินรางวัลจากการแข่งขันในครั้งนั้นเป็นแค่การได้เป็นสมาชิกของนิตยสาร Rolling Stone แต่เพียงเท่านั้น
การแข่งขัน E-Sport ครั้งแรกของโลกปี 1972
📌 กระแสความนิยม eSports
eSports เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น นับตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา เนื่องจากวิดีโอเกมและเกมออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และผู้เล่นหลายรายสามารถเข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้นเพราะมีราคาที่ถูกลง
นอกจากนั้นในปีดังกล่าวยังมีการจัดมหกรรมแข่งเกมออนไลน์ระดับโลกอย่าง “World Cyber Games” หรือ “WCG” ที่มีนักกีฬา eSports กว่า 174 คน จาก 17 ประเทศเข้าร่วมเพื่อแย่งชิงเงินรางวัลมูลค่ารวม 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7 ล้านบาทในขณะนั้น
ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวก็ได้ดึงดูดความสนใจเหล่าผู้ที่ชื่นชอบในการเล่นเกมให้มาสนใจเข้าร่วมในการแข่งกันเพิ่มขึ้น
ดังจะเห็นได้จากผู้เข้าร่วมงาน “WCG 2001 SEOUL” นั้นมีจำนวนทั้งสิ้น 389 คน จาก 37 ประเทศทั่วโลก และมีการปรับเงินรางวัลเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวมาอยู่ที่ราว 3 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือ 11 ล้านบาทเลยทีเดียว
การแข่งขัน WCG ครั้งแรกในปี 2001 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
บรรยากาศการแข่งขัน WCG 2001 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
บรรยากาศการแข่งขัน WCG 2001 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
📌 การเติบโตอย่างก้าวกระโดด
กระแสความนิยมของ eSports ไม่หยุดแต่เพียงเท่านั้น ต่อมาในปี ค.ศ. 2011 เกม Dota 2 ที่โด่งดังอย่างมากในปัจจุบัน ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก
ผ่านบริษัทพัฒนาเกมที่มีชื่อว่า Valve Corporation ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ถูกก่อตั้งโดย Gabe Newell เจ้าของแพลตฟอร์มขายเกมรายใหญ่อย่าง Steam
โดยรูปแบบการเล่นของเกม Dota 2 นั้นมีชื่อเรียกว่า MOBA (Multiplayer online battle arena) ซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างรูปแบบเกมวางแผนแบบเรียลไทม์ (RTS: Real-time Strategy) และการสวมบทบาทเป็นตัวละคร (RPG: Role-Playing Game)
เกม DOTA 2 หนึ่งในเกมฮิต ของ E-Sport
เริ่มต้นเกมผู้เล่นจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ทีม ทีมละ 5 คน ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องเลือกตัวละคร หรือที่มักเรียกกันว่า “ฮีโร่” (Hero) ที่ตนเองต้องการที่จะสวมบทบาทเป็น
จากนั้นเกมก็จะถูกเริ่มต้นขึ้น ผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องฆ่าศัตรูเพื่อที่จะหาเงินไปซื้อไอเทม (Item) พัฒนาตัวละครให้มีค่าสถานะเก่งกว่าฝ่ายตรงข้าม
โดยหัวใจหลักในการเอาชนะเกมนี้ คือ การป้องกันหอคอยฝั่งตนเองไม่ให้ถูกทำลาย และในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามทำลายหอคอยฝั่งตรงข้ามให้ได้จึงจะชัยชนะ
ด้วยรูปแบบการเล่นของเกม Dota 2 ที่มีความยืดหยุ่นสูง ผู้เล่นทั้ง 10 คนอยากจะเลือกองค์ประกอบฮีโร่ของทีมตนเองให้เป็นอย่างไรก็ได้ในแต่ละเกม
ประกอบกับไอเทมในเกมก็มีให้เลือกซื้อหลากหลาย ทำให้ประสบการณ์การเล่นเกม Dota 2 นั้นไม่จำเจซ้ำซาก ส่งผลให้ยังมีจำนวนผู้เล่นที่เล่นผ่านแพลตฟอร์ม Steam กว่า 4 แสนคนในปัจจุบัน (อ้างอิงจากเว็บไซต์ Steamcharts) แม้ตัวเกมจะเปิดให้เล่นมาแล้วกว่า 10 ปีก็ตาม
หลังจากที่ได้แนะนำรูปแบบการเล่นเกมกันไปแล้ว หากใครเป็นแฟนของเกม Dota 2 คงจะไม่มีใครไม่รู้จักการแข่งขัน eSports ที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่าง “The International” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “TI”
โดยการแข่งขันนี้ได้เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปีเดียวกันกับที่ตัวเกม Dota 2 ได้เปิดให้บริการ (ค.ศ. 2011) ซึ่งผู้จัดได้ให้ชื่อไว้ว่า “The International Dota 2 Championships” แต่แฟนเกม Dota 2 มักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า TI1
ในทัวร์นาเมนท์นี้ ทางผู้พัฒนาได้เชิญทีม eSports ชั้นนำทั่วโลกมาทั้งหมด 16 ทีม เพื่อแข่งขันกันชิงเงินรางวัลรวมกันทั้งสิ้น 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 48 ล้านบาท ณ เวลานั้น
ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวถือว่าเยอะมาก หากเทียบกับมูลค่าเงินรางวัลของการแข่งขันต่างๆ ในอดีต
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 เป็นต้นมา เกม Dota 2 ก็ได้มีการจัดทัวร์นาเมนท์ TI มาอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ ปี และเงินรางวัลในแต่ละปีก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี ค.ศ. 2019 ทางเกมก็ได้จัดเกมการแข่งขัน TI 9 ขึ้นที่ Mercedes-Benz Arena ในนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยถือว่าเป็นการแข่งขัน TI ครั้งแรกที่จัดขึ้นในทวีปเอเชียด้วย ผลการแข่งขันในครั้งนั้น
ทีม eSports ชื่อดังจากทวีปยุโรปอย่าง OG ก็ได้คว้าชัยไปได้ในที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นทีมแรกที่สามารถสร้างสถิติเป็นแชมป์ 2 สมัยซ้อน โดยกวาดเงินรางวัลไปกว่า 15.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 468 ล้านบาท เฉลี่ยต่อคนสูงถึง 3.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 93 ล้านบาทเลยทีเดียว
นอกจากนั้นแล้ว สมาชิกทีม OG ทุกคนล้วนเป็น Top 5 ของผู้เล่น eSports ที่ทำเงินได้มากที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน
1.Johan Sundstein (N0tail) 6.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 220 ล้านบาท
2.Jesse Vainikka (JerAx) 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 208 ล้านบาท
3.Anathan Pham (ana) 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 192 ล้านบาท
4.Sebastien Debs (Ceb) 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 179 ล้านบาท
5.Topias Taavitsainen (Topson) 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 176 ล้านบาท
การแข่งขัน DOTA 2 - The International 9 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
Dota 2 - The International 10 ที่จะจัดขึ้น มีเงินรางวัลรวมกว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนในตอนนี้การแข่งขัน TI 10 ที่มีเงินรางวัลรวมกว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.28 พันล้านบาท ก็กำลังดำเนินอยู่ในรอบคัดเลือก หลังจากที่ถูกเลื่อนในปีที่แล้วมาจัดในปีนี้แทน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ตามแผนเดิม TI 10 จะถูกจัดขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน แต่แผนดังกล่าวต้องล่มไป เพราะทางสหพันธ์กีฬาสวีเดนได้มีการโหวตออกมาว่า eSports ไม่ถือเป็นกีฬา และปฏิเสธไม่ให้มีการจัดงานแข่งขันขึ้น
อย่างไรก็ตามล่าสุดทาง Valve ก็หาที่สำหรับจัดการแข่งขันใหม่ได้แล้ว โดยจะจัดขึ้นประมาณเดือนตุลาคม ที่สนาม Arena Nationala เมืองบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย โดยสนามแห่งนี้พึ่งจะมีการใช้ในการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 ไปหมาด ๆ อีกด้วย
เงินรางวัลของงาน The International (TI's Prize Pool)
📌 อุตสาหกรรม eSports ในปัจจุบันและอนาคต
eSports เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาดังจะเห็นได้จากเงินรางวัลที่เพิ่มสูงขึ้นมาก
1
โดยข้อมูลล่าสุดจาก Statista ระบุว่าปี 2021 นี้ eSports จะมีรายได้ทั่วโลกรวมกันสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท
ส่วนในแง่ของผู้ชมก็พบว่ามีมากกว่า 470 ล้านคน และภายในอีก 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5 หมื่นล้านบาท และมีผู้ชมอยู่ที่ 577 ล้านคน
ล่าสุดเกม PlayerUnknown’s Battlegrounds หรือที่เรารู้จักกันในนาม PUBG กำลังวางแผนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งทางบริษัทคาดว่าจะทำมูลค่าจากหุ้น IPO ได้กว่า 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.57 แสนล้านบาท
ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ การทำ IPO ในครั้งนี้จะถือว่าเป็นการทำ IPO ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย
ตามที่ได้เล่ามาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าอนาคต eSports ทั่วโลกนั้นมีแนวโน้มสดใสมาก อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทย วงการ eSports ยังคงเผชิญอุปสรรคอยู่บ้างจากแนวความคิดเดิมของสังคมที่มองว่าเกมเป็นสิ่งที่เด็กๆ เล่นกัน ไม่มีประโยชน์ และไม่สามารถสร้างรายได้จากมันได้
1
แต่แท้ที่จริงแล้วธุรกิจเกมนั้นสามารถสร้างเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลให้แก่ระบบเศรษฐกิจได้ และส่งเสริมการจ้างงานในหลายๆ รูปแบบ เช่น นักกีฬา eSports, เกมดีเวลลอปเปอร์ (Game Developer) หรือว่าจะเป็นนักพากย์เกม ที่คนไทยมักเรียกกันว่า สตรีมเมอร์ (Streamer) ดังนั้น eSports จึงเป็นอีกหนึ่งที่ธุรกิจที่น่าจับตามองต่อไปอย่างยิ่งสำหรับทุก ๆ คน
รายได้ของอุตสาหกรรมและจำนวนผู้ชม E-Sports ทั่วโลก
ผู้เขียน : ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
2
ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา