21 ก.ค. 2021 เวลา 00:30 • สุขภาพ
🦠 5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์เดลต้า
1
ไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้ากำลังจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดในประเทศไทย โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2021 นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าภาพรวมของประเทศไทย พบสายพันธุ์เดลต้าระบาดเป็นสัดส่วน 32.2% ส่วนในกรุงเทพฯพบ 52.2% มากกว่าสายพันธุ์แอลฟ่าเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือว่าเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
1
จนถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 16 วัน เปอร์เซนต์การระบาดคงมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นมีข้อมูลอะไรที่ควรรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์นี้บ้าง?
1. สายพันธุ์เดลต้าแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น 🦠
สายพันธุ์เดลต้า หรือ B.167.2 ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2020 ที่ประเทศอินเดีย และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้อินเดียเกิดการระบาดครั้งใหญ่ และเพราะมีอัตราการแพร่เชื้อเร็ว ขณะนี้เดลต้าได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ก่อให้เกิดการระบาดระลอกใหม่มากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก
เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา WHO จัดให้สายพันธุ์เดลต้าเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern/VOC) เหมือนกับสายพันธุ์แอลฟ่าที่ถูกจัดให้เป็น VOC ไปก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าสายพันธุ์เดลต้าสามารถแพร่เชื้อได้ดีกว่าสายพันธุ์แอลฟ่าถึง 60% ทั้งที่สายพันธุ์แอลฟ่าก็สามารถแพร่เชื้อได้ดีกว่าสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิม 50% ด้วยกัน ดังนั้นในขณะที่สายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิมสามารถแพร่เชื้อจากผู้ติดเชื้อ 1 คน ไปสู่คนอื่นได้ 2 คน สายพันธุ์เดลต้าจะสามารถแพร่ได้ประมาณ 3-4 คน
2. คนที่เสี่ยง คือ คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน 🦠
สายพันธุ์เดลต้ามีการกลายพันธุ์บริเวณหนามที่สำคัญหลายตำแหน่ง เช่น ตำแหน่ง 452, 681, 478 ซึ่งล้วนแต่ส่งผลให้ติดเชื้อง่ายขึ้น, เชื้อเข้าสู่เซลล์มนุษย์ง่ายขึ้น และ ภูมิคุ้มกันจับได้ยากขึ้น นักวิชาการจึงเรียกสายพันธุ์นี้ว่า ‘fast and fitness’ คือเป็นสายพันธุ์ที่ประสบความสำเร็จในการกลายพันธ์ุเพื่อการอยู่รอดและก่อโรคได้ในวงกว้าง
2
ความน่ากลัวคือนอกจากจะแพร่เชื้อเร็วแล้ว ยังสามารถหลบหนีภูมิคุ้มกันได้ดี ทำให้อาการป่วยหนักขึ้น มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น การศึกษาจากสก็อตแลนด์พบว่าสายพันธุ์เดลต้าทำให้มีจำนวนผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่าสายพันธุ์แอลฟ่าสองเท่า
จากข้อมูลของประเทศอังกฤษ พบว่าผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มจะเป็นกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 50 ปีและเด็ก มากกว่าผู้สูงอายุ แสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์เดลต้าติดเชื้อในกลุ่มคนอายุน้อยมากกว่าสายพันธุ์แอลฟ่า 2.5 เท่า ซึ่งอาจจะมาจากสัดส่วนการฉีดวัคซีนด้วย เพราะทุกประเทศได้เริ่มฉีดให้ผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงก่อน ประชากรกลุ่มอายุน้อยและเด็กที่ยังไม่มีวัคซีน จึงกลายเป็นกลุ่มที่มีรายงานการติดเชื้อมากขึ้น
3. อาจก่อให้เกิดการระบาดหนักเฉพาะบางพื้นที่ 🦠
ขึ้นอยู่กับว่าเกิดการระบาดที่ไหน และมีคนในพื้นที่นั้นฉีดวัคซีนแล้วกี่คน อย่างเช่น ประเทศอเมริกา พบว่าพื้นที่ที่กระจายการฉีดวัคซีนได้น้อยอย่างแถบกลางค่อนมาทางตะวันตกซึ่งเป็นภูเขาและพื้นที่ทางใต้ จะพบการติดเชื้อมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ถึงแม้บางรัฐที่ฉีดวัคซีนได้เยอะจะ สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้แล้ว แต่บางรัฐยังพบผู้ติดเชื้อสูงอยู่ ซึ่งคล้ายกับประเทศอินเดียช่วงที่กราฟเริ่มต่ำลง ที่ถึงแม้ภาพรวมประเทศจะมีผู้ติดเชื้อลดลง แต่ในบางพื้นที่กลับมีรายงานพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น
ปัจจัยหนึ่งอาจเกิดจากการระดมฉีดวัคซีนเฉพาะบางพื้นที่ จึงทำให้เกิดการระบาดเฉพาะบางพื้นที่ด้วยเช่นกัน ยิ่งถ้าพื้นที่ที่อัตราส่วนการฉีดวัคซีนน้อยถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่ที่อัตราส่วนการฉีดวัคซีนมาก ก็จะถูกปิดวงระบาดให้อยู่เฉพาะจุด และจะเกิดการระบาดหนักแค่ในบริเวณนั้นได้เนื่องจากเสายพันธุ์เดลต้าทำให้เกิดการระบาดเร็ว
ดังนั้นแผนการรับมืออาจจะต่างออกไป เช่น ปิดพื้นที่ควบคุมเฉพาะจุด, เร่งกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงทุกพื้นที่, พื้นที่ที่มีการฉีดวัคซีนน้อยควรเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับการระบาดหนักที่อาจเกิดขึ้น
4. ยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมาก 🦠
สายพันธุ์เดลต้าดูเหมือนจะก่อให้เกิดอาการป่วยต่างออกไปจากสายพันธุ์อื่น โดยอาการที่พบส่วนใหญ่จะคล้ายไข้หวัด เช่น ปวดหัว เจ็บคอ น้ำมูกไหล ส่วนอาการเฉพาะของโควิดสายพันธุ์ก่อนหน้าอย่าง ไอ จาม สูญเสียการได้กลิ่น/รับรส นั้นพบน้อยลง
ซึ่งยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำการศึกษาเก็บข้อมูลต่อไป เนื่องจากเชื้อกลายพันธุ์เร็ว จึงต้องพยายามตามให้ทันเช่นกัน
5. วัคซีนครบโดสคืออาวุธที่ดีที่สุดในการสู้กับสายพันธุ์เดลต้า 🦠
ถึงแม้สายพันธุ์นี้จะน่ากลัวตามที่กล่าวมาข้างต้น แต่พบว่ายังเป็นสายพันธุ์ที่วัคซีนสามารถรับมือได้ถึงแม้ประสิทธิภาพจะน้อยลง ข้อสำคัญคือต้องฉีดวัคซีนให้ครบโดส
มีการศึกษาจากอังกฤษ รายงานว่า AstraZeneca สองเข็มสามารถป้องกันการติดเชื้อเดลต้าแบบแสดงอาการได้ 60% Pfizer สองเข็มสามารถป้องกันการติดเชื้อเดลต้าแบบแสดงอาการได้ 88% และมีงานวิจัยว่า Johnson and Johnson เข็มเดียว ยังพอป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้
แต่ที่ต้องระวังคือสายพันธุ์นี้อาจทำให้เกิด Breakthrough infections อย่างในประเทศอินเดีย กล่าวคือยังสามารถเกิดการระบาดได้แม้จะฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สายพันธุ์เชื้อ, ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ฉีด, สภาพร่างกายของแต่ละบุคคล ว่าจะมีโอกาสติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน ถ้าติดเชื้อแล้วจะมีอาการป่วยมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น
ทั้งนี้ เนื่องจากประสิทธิภาพของวัคซีนที่ลดลง ทำให้ Pfizer ประกาศเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ว่าจะยื่นเรื่องเพื่อขอให้องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอนุมัติการฉีดเข็มสามเพื่อเป็นเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนเพิ่มเติม ในเดือนสิงหาคมนี้
References >>
3

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา