23 ก.ค. 2021 เวลา 00:30 • สุขภาพ
#ประสิทธิผลของเราไม่เท่ากัน เปรียบเทียบผลซิโนแวคของ สธ. ไทย กับ ชิลี
วันที่ 19 กรกฎาคม 2021 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยผลศึกษาของวัคซีนซิโนแวคว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์แอลฟ่าได้ 90% และ สายพันธุ์เดลต้าได้ 75% ซึ่งเป็นที่สงสัยของใครหลายคนว่าทำไมเปอร์เซนต์ประสิทธิผลที่รายงานถึงมีค่าสูงกว่าเปอร์เซนต์ในงานวิจัยอื่น
2
โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งสามารถป้องกันได้ถึง 75% มากกว่า AstraZeneca ที่อังกฤษเพิ่งมีงานวิจัยออกมาว่าสามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ 60% ซะอีก
ดังนั้นบทความนี้จะมาเขียนถึงข้อสงสัยต่างๆ รวมถึงเปรียบเทียบกับงานวิจัยประสิทธิผลของซิโนแวคจากประเทศชิลีว่าแตกต่างกันอย่างไร
Facebook @ไทยรู้สู้โควิด
Facebook @ไทยรู้สู้โควิด
🔺 ทำไมต้องเปรียบงานวิจัยจากประเทศชิลี
เพราะ สธ. ไทย รายงานเป็นค่าเปอร์เซนต์ประสิทธิผล หรือ % Effectiveness ของวัคซีนซิโนแวค ซึ่งเป็นค่าที่เก็บข้อมูลจากการฉีดจริง (Real world data) ไม่ได้เก็บข้อมูลเป็นกลุ่มตัวอย่างแบบในงานทดลองทั่วไป
ซึ่งสำหรับซิโนแวค เพิ่งมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ผลศึกษาจากการฉีดจริง (Real wold data) จากประเทศชิลีออกมาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2021 ถือเป็นงานวิจัยแรกและงานวิจัยเดียว ที่รายงานค่า % Effectiveness ของซิโนแวค และได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีมาตรฐานสากลอย่าง NEJM
2
[ อ่านงานวิจัยของประเทศชิลีได้ที่ >> https://www.blockdit.com/posts/60ec0dd68264be0c8598778e? ]
ดังนั้นเมื่อ สธ. ไทย รายงานข้อมูลเป็นค่าประสิทธิผลของซิโนแวค จึงควรเปรียบเทียบกับงานวิจัยที่รายงานเป็นค่าประสิทธิผลของซิโนแวคอย่างประเทศชิลีเช่นกัน
🔺 ประเทศชิลีรายงานค่าประสิทธิผลของซิโนแวคอยู่ที่เท่าไหร่?
💉💉 เมื่อฉีดซิโนแวคครบสองเข็ม สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดได้ 65.9%
1
โดยที่ในงานวิจัยไม่ได้ระบุว่าต่อสายพันธุ์ใด เพราะช่วงที่เก็บข้อมูลเดือน กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2021 เป็นช่วงที่ประเทศชิลีมีการระบาดของ 2 สายพันธุ์ คือ แอลฟ่า และ แกมม่า ไม่สามารถระบุได้ว่าสายพันธุ์ไหนครองพื้นที่ระบาดมากกว่ากัน (Predominant) ข้อมูลการศึกษาจึงไม่เพียงพอที่จะระบุแน่ชัดว่าป้องกันต่อสายพันธุ์ใด
1
🔺 จังหวัดสมุทรสาคร พบติดเชื้อ 116 ราย จากผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 500 ราย ทำไมประสิทธิผลอยู่ที่ 90.5%? ข้อมูลนี้หลอกลวงหรือไม่?
เกิดเป็นกระแสข่าวปลอมขึ้นมา เมื่อมีคนพบว่าข้อมูลที่รายงานอาจมีความผิดพลาด ในส่วนนี้ขออธิบายว่าเปอร์เซนต์ประสิทธิผลที่ สธ. รายงานนั้น ไม่ได้คิดเทียบเป็นเปอร์เซนต์โดยตรงระหว่างตัวเลข 500 และ 116 แต่เป็นเปอร์เซนต์ที่คิดด้วยวิธี OR หรือ Odds Ratio
2
Odds Ratio เป็นการเปรียบเทียบอัตราส่วนของการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนและไม่ได้ฉีดวัคซีน แบ่งออกเป็นปัจจัยตั้งต้น 2 กลุ่ม และ ผลลัพธ์ 2 กลุ่ม คิดออกมาเป็นสัดส่วนตามสูตร
doh.hpc.go.th
โดย สธ. ได้เผยรายละเอียดสำหรับจังหวัดสมุทรสาครว่า จำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 490 ราย แบ่งเป็น พบผู้ติดเชื้อ 1 คน (ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม) และ 105 คน (ไม่ได้ฉีดวัคซีน) กับ พบผู้ไม่ติดเชื้อ 35 คน (ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม) และ 349 คน (ไม่ได้ฉีดวัคซีน)
จึงเขียนเป็นตารางและคิดค่า Odds Ratio ออกมาได้ตามภาพด้านล่าง
pr.moph.go.th
🔺 ถ้าการคิดเปอร์เซนต์ถูกต้อง แล้วมีอะไรที่แตกต่างจากประเทศชิลีถึงได้ค่าประสิทธิผลสูงกว่า? ควรเชื่ออันไหน?
▪️ ความน่าเชื่อถือของข้อมูล
ถ้าพูดถึงความน่าเชื่อถือ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าผลการศึกษาจากประเทศชิลี ซึ่งมีการตีพิมพ์ในวารสารการระดับโลก มีการชี้แจงรายละเอียดทุกอย่าง การคำนวณข้อมูล ข้อดี-ข้อเสียของงานวิจัย ผลการศึกษาจึงน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับมากกว่า
1
แต่ของ สธ. ไทย ที่ออกมา น่าจะเรียกว่าเป็นข้อมูลที่ได้จากการสำรวจมากกว่าการศึกษา ไม่มีการรายงาน เพศ อายุ โรคประจำตัว ต่างกับของประเทศชิลี ที่มีแม้กระทั่งเอารายได้และสัญชาติที่บ่งบอกถึงสถานะทางสังคม (socioeconomic status) มาเป็นตัวแปรเพื่อปรับการคำนวณสัดส่วนการติดเชื้อร่วมด้วย เพราะสถานะทางสังคมมักจะบ่งบอกไปถึงสถานะการเข้าถึงการแพทย์/โอกาสการติดเชื้อต่างๆ
3
เช่น คนที่ไม่ติดเชื้อ (ถึงแม้จะฉีดวัคซีน) แต่สาเหตุจริงๆอาจไม่ได้เป็นเพราะวัคซีน แต่เป็นเพราะอยู่แต่บ้านเลยไม่มีความเสี่ยง คนกลุ่มนี้อาจจะมีสถานะทางสังคมดี อยู่แต่บ้านก็ไม่เดือดร้อนเรื่องรายได้ ในขณะที่ คนติดเชื้อ (ถึงแม้จะไม่ได้ฉีดวัคซีน) แต่สาเหตุจริงๆอาจไม่ใช่เพราะไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่เป็นเพราะต้องออกจากบ้านทุกวัน เลยมีความเสี่ยงสูงกว่าคนอื่น (ถ้าต้องออกจากบ้านทุกวัน ดังนั้นถึงฉีดวัคซีนก็เสี่ยงติดเชื้อได้เหมือนกัน) เป็นต้น
2
▪️ จำนวนประชากรกลุ่มตัวอย่างแตกต่างกันมาก (มาก)
จากเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูล จะเห็นได้ว่าการเก็บข้อมูลแบบ Real world data หรือ ผลจากการฉีดจริง นั้นมีตัวแปรเกี่ยวข้องหลายอย่างที่ไม่สามารถควบคุมหรือเลือกจำกัดตัวแปรได้ ไม่เหมือนการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยแบบ cohort study
1
ดังนั้นสิ่งที่เป็นข้อได้เปรียบมากๆของการเก็บข้อมูลจากการฉีดจริงคือต้องมีกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่มากๆ จนไม่สามารถทำแบบ cohort study ได้ (คือไม่สามารถควบคุมข้อจำกัดต่างๆได้) ซึ่งผลจากประเทศชิลี เป็นการเก็บข้อมูลจากผู้ฉีด/ไม่ฉีดวัคซีนรวมกันประมาณ 10 ล้านคน แตกต่างจากของไทยที่แยกคิดเปอร์เซนต์ออกเป็น 3 จังหวัด แต่กลุ่มตัวอย่างรวมกัน 3 จังหวัดยังไม่ถึง 3,000 คน ได้ข้อมูลออกมาเป็น 90% โดยเฉลี่ย จึงรายงานว่าป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์แอลฟ่าได้ 90%
1
ส่วนข้อมูลของกรมควบคุมโรค ได้จากฐานข้อมูลติดตามบุคลากรการแพทย์ทั้งประเทศ ซึ่งคิดเป็นตัวเลขโดยประมาณ 700,000 คน นับผู้ติดเชื้อในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ที่สายพันธุ์เดลต้าเริ่มระบาด จึงรายงานว่าป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ 75%
1
ด้วยกลุ่มตัวอย่างที่น้อยกว่าประเทศชิลีมากๆ อาจส่งผลให้ค่าประสิทธิผลของไทยสูงกว่า ซึ่งต่อไปถ้า สธ. ไทย เก็บข้อมูลเพิ่มจนมีกลุ่มตัวอย่างมากขึ้นแบบของประเทศชิลี ถึงจะได้เห็นค่าประสิทธิผลที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น เพราะในเมื่อตัวแปรที่ส่งผลต่อการติดเชื้อมีหลากหลาย จึงต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก มากลบข้อเสียนั่นเอง
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค
▪️ การคิดเปอร์เซนต์ประสิทธิผล
สธ. ไทย เลือกใช้ Odds Ratio งานวิจัยจากชิลีเลือกใช้ Hazard Ratio คำนวณโดยใช้โมเดล Cox proportional-hazards โดยจะมี ‘เวลา’ ของการได้รับวัคซีนในกลุ่มตัวอย่างที่สัมพันธ์กับการติด/ไม่ติดเชื้อมาเกี่ยวข้องด้วย แต่ Odds Ratio ไม่มีปัจจัยเรื่องเวลามาเกี่ยวข้อง
1
🔺 สรุป (แบบมีความเห็นส่วนตัว 🌸)
- สำหรับค่าประสิทธิผลของซิโนแวคตามรายงานของ สธ. ไทย นั้น ให้เก็บไว้เป็นอีกข้อมูลหนึ่งแบบฟังหูไว้หู แต่ไม่ควรเอามายึดมั่นถือมั่น ว่าฉีดซิโนแวคครบสองเข็มแล้วสามารถออกไปฝ่าดงแอลฟ่าได้อย่างสบายเพราะกันการติดเชื้อได้ถึง 90% (เพราะผลนี้นอกจากจะได้มาเพราะกลุ่มตัวอย่างน้อย ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเพราะวัคซีนจริง หรือ เพราะคนอยู่แต่บ้าน)
1
- ถึงแม้ตัวเลข 90% ต่อแอลฟ่า และ 75% ต่อเดลต้า ของ สธ. ไทย จะมีความน่าเชื่อถือน้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเลย เพราะจากการศึกษาของชิลี ก็บอกว่าซิโนแวคสามารถป้องกันการติดเชื้อแอลฟ่ากับแกมม่าได้ 69.5% (แม้ในเดลต้าจะน้อยลงไปอีก) แต่ก็ใช่ว่าจะกันไม่ได้เลย ดังนั้นซิโนแวคก็ยังพอใช้ได้ในกรณีที่ไม่มีวัคซีนอื่น(ที่จะได้เร็วๆ)แล้วจริงๆ (พยายามหาวัคซีนอื่นอย่างสุดความสามารถแล้วจริงๆ) ก็ยังสามารถใช้ซิโนแวคป้องกันไปก่อนได้
1
- ควรยอมรับกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา อย่าคิดว่าประชาชนจะไม่รู้ และเอาตัวเลขสวยๆดีๆมารายงานให้เชื่อกันได้ทุกครั้งไป ในเมื่อสถานการณ์วิกฤติขนาดนี้แล้ว หันมองรอบตัวโดยไม่ต้องเอาข้อมูลที่ไหนมารายงานก็รู้ว่าผู้ติดเชื้อผู้เสียชีวิตสูงขึ้นทุกวัน ถ้ายังยืนยันต่อไปว่า #ของที่ดีคือของที่มี คนที่จะทำให้ประชาชนยิ่งไม่เชื่อในซิโนแวคก็ไม่ใช่ใครอื่น คือคนที่ให้ข้อมูลสวนทางกับความจริงที่เห็นนั่นแหละ
2
ถ้า AstraZeneca ได้น้อยกว่ากำหนดและล่าช้ากว่ากำหนด วัคซีนอื่นก็ต้องรอ แล้วต้องสั่งซิโนแวคมาฉีดเพิ่มจริงๆ (พยายามหาวัคซีนอื่นอย่างสุดความสามารถแล้วจริงๆ) ก็ควรออกมายอมรับและบอกประชาชนตามตรง ซึ่งซิโนแวคก็ไม่ได้แย่ แค่อาจไม่ดีมาก แต่ก็ไม่ได้แย่ ยิ่งในเวลาแบบนี้ใครเข้าถึงวัคซีนได้ มีโอกาสฉีดก็ควรฉีดไปก่อน เพราะถ้าติดเชื้อแล้วอาการหนัก อาจไม่มีที่รักษาแล้ว
2
References >>

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา