26 ก.ค. 2021 เวลา 00:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รู้ไว้ดีกว่าไม่รู้ จะได้ไม่ดอย กับเรื่อง “วัฏจักรตลาด” (Market Cycle) 🧐
4
ตลาดก็มีวัฏจักรนะ มีขึ้นก็ต้องมีลง เป็นเรื่องธรรมดา จะดีกว่าไหมถ้าเรารู้ว่าตลาดกำลังอยู่ในช่วงไหนของวัฏจักร เพราะเราสามารถใช้เป็นตัวตัดสินใจในการลงทุน และวางแผนการลงทุนได้ ประกอบกับการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ต่างๆประกอบ เรียกได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่นักลงทุนต้องรู้
🎯 วัฏจักรตลาดคืออะไร?
วัฎจักรตลาด (Market Cycle) คือธรรมชาติของการซื้อขายบนความคาดหวัง อย่างเช่น บางคนคิดว่าทรัพย์สินนี้จะมีอนาคต ก็จะเริ่มทำการซื้อกักตุนเก็บไว้ พอเวลาผ่านไปจนช่วงที่คิดว่าตลาดเริ่มเป็นขาลง หรือราคาขึ้นมาจนสุดแรงแล้วก็จะเริ่มขาย เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยมีปัจจัยอื่นๆประกอบ เช่น การวิเคราะห์เชิงเทคนิค และข่าวสารที่ส่งผลต่อทรัพย์สินนั้นๆ
2
โดยวัฎจักรตลาด เราสามารถใช้ทฤษฎีที่หลายคนนิยมใช้กันได้อยู่ 2 ทฤษฎี คือ ทฤษฎีดาว (Dow Theory) และ ทฤษฎี Wyckoff (Wyckoff Logic) ซึ่งทั้งสองนี้มีความคล้ายคลึงกันอยู่ แต่แตกต่างกันตรงที่การแบ่งแยกช่วงต่างๆของวัฏจักร
1
ในบทความนี้เราจะไม่ลงลึกถึงการแบ่งแยกมากนัก แต่จะเกริ่นคร่าวๆเพื่อให้รู้ถึงวิธีการเบื้องต้น จะได้ไม่เบื่อกัน เพื่อปูทางให้ผู้ที่สนใจได้นำไปศึกษาต่อ
🎯 ทฤษฎีดาว (Dow Theory)
ทฤษฎีดาว หรือ “Dow Theory” เป็นทฤษฎีการวิเคราะห์ตลาด ที่ถูกคิดค้นมายาวนานกว่า 100 ปี และเป็นต้นแบบของการวิเคราะห์ราคาด้วยปัจจัยทางเทคนิค
มีอยู่ 4 ช่วงที่สำคัญคือ
🟠 1. ช่วงเก็บของ (The accumulation phase)
เมื่อราคาหุ้นตกลงมากๆ และมีระยะเวลาที่ติดต่อกันนาน จะทำให้มูลค่าการซื้อ-ขาย น้อยลง เป็นช่วงรายใหญ่เก็บหุ้น ช่วงนี้ราคาจะไม่ขึ้นจนกว่าจะเก็บของเสร็จ
🟠 2. ช่วงราคาพุ่งขึ้น/ผู้คนเริ่มรับรู้ตลาดขาขึ้น (Uptrend)
หุ้นในช่วงนี้นักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มสนใจ เพราะเห็นว่ามันมีแนวโน้มที่ชัดเจน ข่าวที่ส่งผลต่อราคาอาจยังออกมาไม่มากนัก
🟠 3. ช่วงเลิกเล่น (The distribution phase)
ช่วงที่หุ้นขึ้นมาอย่างร้อนแรง เราอาจจะเห็นข่าวดีมากมาย จนนักลงทุนส่วนใหญ่กระโดดเข้าไปตาม ซึ่งมักจะเป็นช่วงที่ตลาดขึ้นไปสุดแล้ว และเป็นจุดเริ่มต้นของขาลงในที่สุด
🟠 4. ช่วงราคาร่วงหนัก/ผู้คนเริ่มรับรู้ตลาดขาลง (Downtrend)
หุ้นในช่วงนี้นักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มตกใจและหดหู่จากตลาดร่วงอย่างหนัก เพราะเห็นว่ามันมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าราคาจะทำท่าลงต่อ
🎯 ทฤษฎี Wyckoff (Wyckoff Logic)
หลักการ Wyckoff สามารถคาดการณ์ และ ดูทิศทางการเคลื่อนไหว ภายในกรอบซื้อขาย (Trading Range) โดยมีเทคนิคในการจับจังหวะการซื้อขายภายในกรอบ และอาศัยความเป็นเหตุเป็นผลที่จับต้องได้ และเกิดซ้ำ ๆ จนเป็นวัฏจักรตลาด
Wyckoff Logic มีอยู่ 4 ช่วงที่สำคัญ
🟠 1. ระยะสะสม (Accumulation)
ในระยะสะสมจะมีการแบ่งช่วงย่อยเป็น Phase มีด้วยกัน 5 Phase
🔹 Phase A
เป็นช่วงจังหวะของการร่วงลงระยะสุดท้าย
💡 Preliminary Support (PS) คือจุดที่เริ่มมีแรงซื้อกลับคืนเพราะคาดว่าราคาลงมาจุดต่ำสุดแล้ว
💡 Selling Climax (SC) คือจุดที่ราคาร่วงหนักอีกครั้ง จะเป็นแท่งแดงใหญ่ และมีปริมาณซื้อขายที่มาก
💡 Automatic Rally (AR) หลังจากที่มีการเทขายรอบใหญ่กันแล้ว แรงซื้อกลับคืนก็เริ่มมีมากขึ้น และราคาก็พุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง
💡 Secondary Test (ST) คือจุดที่ราคาพุ่งขึ้นมาจนอ่อนแรงอีกครั้ง และร่วงลงมาทดสอบจุด SC หากราคาร่วงต่ำกว่าจุด SC ระยะสะสมนี้อาจต้องยืดเวลาออกไปอีก เนื่องจากแรงเทขายยังมีอยู่
💡 Trading Range คือ ช่วงราคาระหว่างจุด AR มาถึงจุด SC หรือ ST
🔹 Phase B
เป็นจังหวะที่มีการซื้อสะสมเพื่อรอแนวโน้มขาขึ้นรอบใหม่ เกิด Sideway ระยะหนึ่ง และแกว่งตัวค่อนข้างรุนแรง พร้อมปริมาณการซื้อขายที่มหาศาลเพราะนักลงทุนรายใหญ่ต้องการเขย่าราคาให้นักลงทุนรายย่อยขายสินทรัพย์ออกมาเพื่อที่จะซื้อสะสมในราคาถูก
🔹 Phase C
หลังจากที่สะสมสินทรัพย์ราคาถูกกันไปเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นช่วงทดสอบแรงเทขายอีกครั้งว่าจะมีราคาถูกกว่านี้หรือไม่ ซึ่งอาจมีนักลงทุนบางส่วนที่ยังอยากขายอยู่ ราคาก็จะร่วงทะลุแนวรับเดิม แล้วเด้งกลับขึ้นมาอยู่ในกรอบ TR ในเวลาอันสั้น แบบนี้เรียกว่า “Spring”
จุด Test คือจุดที่นักลงทุนรายใหญ่ทดสอบตลาด ด้วยการเทขายตลอดเวลาที่ราคาเคลื่อนไหวภายในกรอบการซื้อขาย
🔹 Phase D
เกิดแท่งเทียนสีเขียวยาว พร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูงมาก และจากนั้นราคาจะพุ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง แม้ระหว่างทางจะมีแรงเทขายทำกำไรออกมากดดันราคาให้ร่วงลงมาเป็นระยะ ๆ ดังนี้
💡 Back-up (BU) คือจุดที่ราคาจะต้องพุ่งทะยานทะลุผ่านกรอบแนวต้าน (Trading Range) ขึ้นไปได้สำเร็จ พร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูงมาก แม้ราคาจะพุ่งขึ้นไปได้อย่างร้อนแรง และมีการเทขาย ก็ไม่ต้องตกใจ เนื่องจากเป็นธรรมชาติของการลงทุน (เมื่อราคาวิ่งขึ้นไปมาก การถูกเทขายเพื่อทำกำไรถือเป็นเรื่องปกติ) และปริมาณการซื้อขายอาจลดน้อยจากช่วงที่ Breakout กรอบแนวต้าน
💡 Last point of support (LPS) เป็นช่วงที่ราคาฟื้นตัวจากจุด Low ก่อนหน้านี้ และเป็นการพุ่งทะยานขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง จนถึงจุด ๆ หนึ่งที่อาจเป็นจุดสูงสุดของรอบนี้ และกลายเป็นจุด SOS
💡 Sign of Strength (SOS) จะเกิดขึ้นหลังจากที่ราคาขึ้นมาถึงจุดสูงสุด และร่วงลงไปเพื่อทดสอบแรงขาย แล้วถ้าราคาก็สามารถยืนเหนือแนวรับได้ ก็จะเป็นสัญญาณของขาขึ้น
🔹 Phase E
หลังจากที่ราคาสามารถ Breakout แนวต้านของ Trading Range ขึ้นไปได้แล้ว จากนั้นจะเกิดการไล่ราคา โดยราคาจะวิ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง (Rally) แม้จะมีบางช่วงที่มีแรงเทขายออกมา แต่เป็นเพียงแค่ระยะสั้น ๆ สุดท้ายราคาก็วิ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่
1
🟠 2. ระยะไล่ราคา (Mark Up / Uptrend)
ราคาจะมีทิศทางขาขึ้นค่อนข้างชัดเจน ซึ่งจะดูได้ง่าย มีการไล่ราคากันอยู่เรื่อย ๆ สลับกับทยอยขายทำกำไร แต่เมื่อใดที่ราคาเคลื่อนไหว Sideway นาน ๆ หรือมีสัญญาณที่แนวโน้มขาขึ้นจะเปลี่ยนเป็นขาลง จุดนี้อาจเป็นจุดสูงสุดของขาขึ้น
🟠 3. ระยะแจกจ่าย (Distribution)
ในระยะสะสมจะมีการแบ่งช่วงย่อยเป็น Phase มีด้วยกัน 5 Phase
🔹 Phase A
เป็นช่วงของการขึ้นระยะสุดท้าย
1
💡 Preliminary Supply (PSY) คือจุดที่ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง จากการเข้ามาของนักลงทุนที่เห็นแนวโน้มขาขึ้นและไล่ราคากัน
💡 Buying Climax (BC) คือจุดที่ราคาพุ่งสูงขึ้นไปอีกครั้ง จะเป็นแท่งเขียวใหญ่ สำหรับจุดนี้นักลงทุนรายใหญ่ และนักลงทุนที่เชี่ยวชาญจะเริ่มทยอยขายทรัพย์สินออกเพื่อทำกำไร
💡 Automatic Reaction (AR) หลังจากที่มีการเข้าซื้อกันจนราคาพุ่งไปสูงมากแล้ว ก็เริ่มมีการทยอยขาย หรือเทขายกันเกิดขึ้น ทำให้ราคาร่วงลงมา ซึ่งเราจะใช้จุดนี้เป็นแนวรับสำคัญสำหรับการดูกรอบซื้อขาย
💡 Secondary Test (ST) คือจุดที่ราคาร่วงจนแรงขายอ่อนแรง และมีแรงซื้อกลับมาทดสอบที่จุด SC หรือใกล้เคียงจุด BC อีกครั้ง
🔹 Phase B
ทุกอย่างจะคล้ายกับ Phase B ในระยะสะสม (Accumulation) แต่ในทางกลับกัน เป็นจุดที่นักลงทุนรายใหญ่จะเริ่มทยอยเทขายทำกำไรออกมา แต่จะยังไม่เทขายออกมาอย่างหนัก
จากนั้นจะเกิดจุด Upthrust (UT) คือการร่วงลงของราคา เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนเห็นว่าราคาขึ้นมาอยู่ในจุดที่สูงมากแล้ว ซึ่งระยะนี้จะคล้ายกับ “Spring” ในระยะสะสม (Accumulation) หลังจากนั้นราคาจะร่วงลงมา
🔹 Phase C
หลังจากที่ราคาร่วงลงมา ก็จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกครั้งคือ มีการเข้าซื้อของนักลงทุน แต่รอบนี้อาจมีนักลงทุนรายใหญ่ทดสอบแรงซื้ออีกครั้ง โดยการผลักดันราคาให้พุ่งสูงขึ้นไปอีก ทำให้เกิด Upthrust after distribution (UTAD) ซึ่งก็คือการที่ราคาพุ่งขึ้นไปจนสุดแล้ว แรงซื้อก็ลดลง นักลงทุนส่วนใหญ่ก็เริ่มขายเพื่อทำกำไร
🔹 Phase D
ช่วงนี้จะเกิดจุด Last point of supply (LPSY) คือจุดที่ราคามีการฟื้นตัวกลับขึ้นมาเล็กน้อย เพราะสู้แรงเทขายไม่ได้ ยิ่งเป็นสัญญาณให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอย่างแท้จริง
🔹 Phase E
ตลาดได้เข้าสู่ขาลงอย่างเต็มตัวแล้ว อาจจะมีการฟื้นตัวกลับขึ้นมาอีกเป็นระยะสั้นๆ สุดท้ายต้องรอจนกว่า ขาลง จบสิ้น แล้วราคาเปลี่ยนเทรนแนวโน้มเพื่อที่จะเข้าสู่ ระยะสะสมครั้งใหม่
🟠 4. ระยะดิ่งเหว (Mark Down / Downtrend)
หลังจากผ่านช่วงแจกจ่ายไปแล้ว ตลาดก็เข้าสู่ขาลง ในช่วงนี้เราอาจจะเจอการเด้งกลับของราคาอยู่เป็นช่วงๆ หรือที่เรียกว่า “Rebound” ซึ่งในตลาดขาลงนี้ จะสามารถทำกำไรได้ในระยะสั้นๆ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากหากเข้าซื้อ-ขายออกช้าเกินไป และหลังจากที่ระยะนี้จบลง ก็จะเริ่มเข้าสู่ระยะสะสม วนเป็นวัฏจักรแบบนี้ต่อไป
นอกจากนี้ในทฤษฎีต่างๆยังมีหลักการที่ต้องดู ซึ่งหากท่านสนใจก็ลองศึกษาการเพิ่มเติมได้ และที่สำคัญ ไม่มีอะไรแน่นอน 100% นักลงทุนควรลงทุนอย่างมีสติและวางแผนก่อนทุกครั้ง
โฆษณา