Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Story Thailand
•
ติดตาม
26 ก.ค. 2021 เวลา 14:56 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ถึงเวลาพาเที่ยวอวกาศ
ค่ำวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เวลา 20.12 น. ตามเวลาประเทศไทย จรวด New Shepard ของบลูออริจิน (Blue Origin) บริษัทเทคโนโลยีอวกาศของ เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้งอเมซอนดอทคอม ได้พาผู้โดยสาร 4 คนขึ้นไปท่องอวกาศกับเที่ยวบินพาณิชย์เป็นครั้งแรก
เที่ยวบินปฐมฤกษ์นี้รวมเอาสถิติที่สุดของการบินอวกาศไว้หลายอย่าง นอกจากผู้ร่ำรวยที่สุด คือตัว Jeff Bezos มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกชาวอเมริกัน ยังมีผู้อายุมากที่สุด คือ Wally Funk อดีตนักบินอวกาศหญิงยุคบุกเบิกวัย 82 ปี และอายุน้อยที่สุดคือ Oliver Daemen นักศึกษาหนุ่มวัย 18 ปี มาแทนคุณพ่อนักธุรกิจบริษัทด้านการลงทุนที่ประมูลมาด้วยราคา 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีกคน คือ Mark Bezos น้องชายของเจ้าของ
พวกเขาเดินทางไปสัมผัสอวกาศที่ความสูง 107 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก โดยใช้เวลาไปกลับทั้งสิ้น 10 นาที 10 วินาที และอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักราว 3 นาที จึงกลับสู่พื้นโลก
บลูออริจินใช้จรวดแบบ Sub-orbital พากระสวย (capsule) บินตรงขึ้นสู่ท้องฟ้าระดับความสูง 76 กิโลเมตร ด้วยเวลา 2 นาที แล้วก็แยกตัวบินกลับฐาน ปล่อยกระสวยพุ่งทะยานต่อไปเหนือ Karman Line ซึ่งเป็นเขตเส้นแบ่งระหว่างชั้นบรรยากาศโลกกับอวกาศ หรือความสูงราว 100 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลก
กระสวยที่ออกแบบให้บรรทุกผู้โดยสารได้ 6 คน ลอยในอวกาศชั่วขณะ ทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับสภาวะไร้น้ำหนัก และชมบรรยากาศโดยรอบด้วยช่องหน้าต่างบานใหญ่ที่ออกแบบเพื่อเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของอวกาศและโลกได้อย่างเต็มตา ก่อนลงสู่พื้นโลกโดยมีชูชีพประคอง
หลังกลับมาอย่างปลอดภัย เจฟฟ์ เบซอส ได้กล่าวว่า “มันเป็นวันที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมี” ทั้งเปิดเผยว่าในปีนี้บลูออริจินมีแผนจะบินท่องอวกาศอีก 2 เที่ยว ซึ่งขณะนี้ขายตั๋วล่วงหน้าไปแล้วคิดเป็นมูลค่าราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เดิมเที่ยวบินนี้ถูกประกาศแต่เนิ่น ๆ ว่าจะเป็นเที่ยวบินท่องอวกาศเชิงพาณิชย์ครั้งแรกของโลก แต่ถูกชิงตัดหน้าโดย ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ เจ้าของเวอร์จินกรุ๊ป และผู้ก่อตั้งกิจการบินอวกาศ “เวอร์จิน แกแลกติก” (Virgin Galactic) ได้เดินทางไปสัมผัสอวกาศกับเที่ยวบินแรกของเขาตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564
เที่ยวบินปฐมฤกษ์ของเวอร์จิน แกแลกติก มีผู้โดยสาร 4 คน คือ ริชาร์ด แบรนสัน กับทีมผู้บริหาร 3 คน และนักบิน 2 คน ออกเดินทางไปกับจรวด VSS Unity และ SpaceShipTwo (SS2) ซึ่งเป็นเครื่องบินเพื่อการท่องเที่ยวอวกาศ เมื่อบินขึ้นสู่ระดับความสูง 85 กิโลเมตรเหนือพื้นโลกที่ทะเลทรายนิวเม็กซิโก ก็ปล่อย SS2 ให้บินไปยังชั้นบรรยากาศส่วนบนด้วยเครื่องยนต์จรวด และร่อนกลับมาจอดบนรันเวย์อย่างปลอดภัย ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 1 ชั่วโมง
เบื้องหลังจริง ๆ แล้วครั้งนี้เป็นเที่ยวบินทดสอบที่ 22 เพื่อประเมินความพร้อมการให้บริการท่องอวกาศเชิงพาณิชย์ ทั้งสภาพภายในห้องโดยสารและประสบการณ์จากสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง
หลังผ่านประสบการณ์อันตื่นเต้นในอวกาศ เขากล่าวว่าการเดินทางครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าใคร ๆ ก็สามารถเดินทางสู่อวกาศได้ ทั้งกล่าวว่า “ยินดีต้อนรับสู่ยุคอวกาศครั้งใหม่”
เที่ยวบินสู่อวกาศของเวอร์จิน แกแลกติก มีค่าโดยสาร 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.1 ล้านบาทต่อหนึ่งที่นั่ง โดยก่อนการเดินทางสู่อวกาศ เขาเปิดเผยว่าในปีนี้มีแผนจะทดสอบเที่ยวบินอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ก่อนเริ่มเปิดให้บริการเดินทางท่องอวกาศเชิงพาณิชย์จริงในปี 2565
อีลอน มัสก์ (Elon Musk) วิศวกรและนักธุรกิจชั้นนำชาวอเมริกัน เจ้าพ่อวงการรถยนต์ไฟฟ้า และผู้ก่อตั้งบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ก็มีแผนจะขึ้นบินสู่ห้วงอวกาศเหมือนกัน โดยจะเป็นอีกหนึ่งบริษัทเอกชนที่เปิดให้บริการท่องอวกาศแก่บุคคลทั่วไป แต่จะแตกต่างกับคู่แข่งตรงที่ไม่ใช่แค่การไป-กลับช่วงเวลาสั้น ๆ เขาจะพาผู้โดยสารจำนวน 7 คน ไปดื่มด่ำสัมผัสอวกาศเป็นเวลาหลายวัน
วันนี้โลกกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของการเดินทางในอวกาศ ความสำเร็จของทั้งสองบริษัทถือเป็นก้าวย่างสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ ที่ต้องจับตามองว่าพวกเขาจะทำให้เศรษฐีผู้มีความฝันอยากมีประสบการณ์เดินทางสู่ห้วงอวกาศยอมควักกระเป๋าลงทุนได้แค่ไหน
ติดตามสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
website:
www.thestorythailand.com
Facebook:
facebook.com/TheStoryThailand
Twitter:
twitter.com/TheStoryThai
Youtube:
youtube.com/TheStoryThailand
Blockdit:
blockdit.com/TheStoryThailand
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ที่มาที่ไป
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย