30 ก.ค. 2021 เวลา 02:35 • ปรัชญา
"ทุกอย่างเป็นเพียงความรู้สึกของจิต"
" ... ข้อความดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
ในครั้งแรก ๆ นั้น
เป็นสิ่งที่จะต้องสังเกตดูให้ดี
ว่ามันมีลักษณะพิเศษกว่าธรรมดา
หรือว่ามันซ่อนเร้น
อย่างที่เรียกว่าถ้าไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่เห็น
เหมือนที่เรียกกันว่าเส้นผมบังภูเขา
เป็นข้อความที่ดูราวกับว่ามันจะตรงกันข้าม
จากความรู้สึกของคนธรรมดาสามัญ
ที่จริงมันก็เป็นอย่างนั้น
เพราะคนธรรมดาสามัญ
ย่อมมองเห็นและรู้สึกไปอย่างนึง
ส่วนความจริงของเรื่องนั้นมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง
มันต่างกันมากและมันไขว้กันอยู่
ในลักษณะที่ว่าเหมือนเส้นผมบังภูเขา
ตามธรรมดายากที่จะมองเห็น
ถ้ายังมองไม่เห็น
ก็ไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้นถึงที่สุด
ถ้ามองเห็นก็จะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง
ถึงที่สุดแห่งความจริงของเรื่องนั้น ๆ
และว่าโดยที่แท้แล้ว
มันก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องรู้ถึงขนาดนั้น
ต้องเข้าถึงความจริงขนาดนั้น
ครั้งแรกที่สุดเราได้พูดกัน
ด้วยหัวข้อว่า หลุดพ้นเสียจากความหลุดพ้น
ท่านทั้งหลาย บางคนอาจจะลืมแล้วก็ได้
จงหลุดพ้นเสียจากความหลุดพ้น
อย่าไปติดอยู่ที่ความหลุดพ้น
1
บางคนมีความยึดมั่นถือมั่นในความหลุดพ้น
ว่าความหลุดพ้นของเรา
มีเราเป็นผู้หลุดพ้น
ถ้าอย่างนี้แล้ว ไม่หลุดพ้น
เพราะมันยังมีตัวคนผู้หลุดพ้น ... ไม่หลุดพ้น
ไม่หลุดพ้นไปจากความยึดมั่นถือมั่น
ว่าตนหลุดพ้น หรือความหลุดพ้นของตน
ต่อเมื่อเห็นว่าไม่มีคนที่หลุดพ้น
ไม่ได้ติดอยู่ที่ความหลุดพ้นของอะไร
นั่นแหละ คือการที่จิตมันหลุดพ้น
ถ้าจิตมันยังไปยึดมั่นถือมั่น
ที่ความหลุดพ้น
ก็เรียกว่า จิตนั้นไม่หลุดพ้น
นี่เป็นตัวอย่าง ที่จะต้องนึกถึงอยู่เสมอว่า
เรา มองกันแต่ชั้นไหน
ไม่ตลอด ไม่ลึก ไม่ถึงที่สุด
1
...
และครั้งต่อมาว่า
ความสุขนั้น ... มีเมื่อสิ้นสุดแห่งความสุข
แต่ถ้ายังรู้สึกว่าเป็นสุขอยู่
มันก็มีตัวกูผู้มีความสุขอยู่
มีตัวกูผู้มีความสุขอยู่
มันก็ไม่มีความสุข
เพราะมันต้องยึดถือตัวตนและความสุขของตน
จึงบอกว่าความสุขนั้น
จะเป็นความสุขที่แท้จริงได้
ก็ต่อเมื่อสิ้นสุดแห่งความสุข
คือไม่มีใครรู้สึกนึกคิดว่า
"กูมีความสุข"
...
แม้ที่สุดแต่ที่เรียกว่าเป็นบุญ
ถ้ายังต้องการบุญอยู่
มันก็ยังหิว ยังกระหาย กระหืดกระหอบอยู่
เมื่อหมดความรู้สึกว่าต้องการบุญ
มันจึงจะเป็นบุญอันสูงสุด
ก็คือเป็นเครื่องจะให้ความสุขได้โดยแท้จริง
อย่างนี้เป็นต้น
และว่าเราจะเห็นตนที่แท้จริง
ก็ต่อเมื่อ เห็นความไม่มีตน ในสิ่งทั้งปวง
เห็นความไม่มีตนในสิ่งทั้งปวง
ทั้งที่เป็นภายนอก และทั้งที่เป็นภายใน
คือตน ที่ตนยึดถือว่าเป็นของตน
เมื่อเห็นว่ามันไม่มีตนในสิ่งใด
ทั้งที่เป็นภายนอกและภายใน
ก็จะรู้สึกว่าตนที่แท้จริงนั้น ไม่มี
เราไม่เคยคิดอย่างนี้
เราเอาอะไรมาเป็นตนไว้เสมอ
รู้จักตนที่แท้จริงว่ามันไม่มี ...
ในข้อต่อมาที่ว่า
ให้ออกทางประตูที่ไม่มีช่อง
ออกทางช่องที่ไม่มีรู
ก็หมายความว่าไม่มีตัวตนที่จะออกนั่นเอง
หรือจะให้ต่ำลงมาก็ว่า
ข้อปฏิบัติที่ไม่บกพร่อง
นั่นแหละเป็นช่องที่ไม่มีรู
นี่จะช่วยให้ออกได้
แต่ที่ละเอียดกว่านั้น
ก็คือว่า มันไม่มีตัวตนสำหรับจะออกไปจากช่อง
หรือมีช่องให้ตัวตนออกไป
เพราะมันไม่มีตัวตนออก
มันจึงมีแต่จิตที่หลุดพ้น
นี่จึงว่าออก ทางประตูที่ไม่มีช่อง
ตัวตนที่จะเรียกว่าเป็นตัวกูของกูนั้น
มันไม่มี
ที่เรารู้สึกว่าเป็นตัวกูของกูนั้น
มันก็ไม่ใช่ตน
ความหลุดพ้นที่แท้จริง
ไม่มีตัวผู้ที่จะหลุดพ้น
ฟังดูแล้วเหมือนกับคนบ้าพูด
ว่าความหลุดพ้นที่แท้จริงนั้น
"ไม่มีตัวผู้หลุดพ้น"
ไม่มีตัวผู้หลุดพ้น แล้วจะหลุดพ้นได้อย่างไร
ก็คือจิตหลุดพ้นได้จากความยึดมั่นถือมั่น
ว่ามีตัวมีตน ที่เคยยึดมั่นถือมั่นมาแต่ก่อน
จิต เป็นเพียงจิต ไม่ใช่ตัวตน
จิตหมดความโง่ ความหลงว่าตัวตน
นี่เรียกว่า หลุดพ้นโดยที่ไม่ต้องมี "ตัว" ผู้หลุดพ้น
เพราะว่าจิตก็สักว่าจิต
จิตจะเป็นตัวเป็นตนไม่ได้
ทีนี้ จึงพูดว่าการหลุดพ้นที่แท้จริงนั้น
ไม่มีใคร เป็นผู้หลุดพ้น
...
มาวันนี้ก็มาถึงหัวข้อที่ว่า
ทุกอย่างเป็นเพียงความรู้สึกของจิต
เพื่ออธิบายให้มาก ให้ยิ่งขึ้น ให้ชัดเจน
ว่าทุกอย่าง ๆ ที่พูดมานั้น
เป็นความรู้สึกของจิต
ทุกอย่างเป็นเพียงความรู้สึกของจิต
ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจที่จะฟัง
หรือกำหนดให้ได้หัวข้อ เข้าเงื่อนของเรื่อง
ทุกอย่างเป็นเพียงความรู้สึกของจิต
ตามที่สัมผัสได้โดยอายตนะ
บางคนนี่คิดว่าถ้าอย่างนั้น
ทั้งโลกนี้ก็เป็นเพียงความรู้สึกของจิต
อย่างนั้นหรือ
ก็ตอบว่า ... อย่างนั้นแหละ
โลกนี้ทั้งหมดนี่
ถ้าจิตไม่สัมผัส ไม่รู้สึกได้ มันก็ไม่มี
มันมีเพราะความรู้สึกของจิตต่างหาก
ถ้าไม่มีความรู้สึกของจิต
โลกนี้ก็เท่ากับว่าไม่มี
หรือสิ่งที่เป็นการกระทบในภายใน
ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ถ้าจิตไม่มีความรู้สึกในสิ่งนั้น
มันก็เท่ากับไม่มี
เพราะจิตมันไปรู้สึกได้ มันจึงเท่ากับมี
หรือเป็นเหตุให้เกิดการปรุงแต่ง
ไปตามความรู้สึกจนมีเรื่องอื่น ๆ เพิ่มขึ้น
อีกมากมาย
แต่ตัวตนที่แท้จริงของสิ่งหล่านั้น
มิได้มี เป็นเพียงแค่ความรู้สึกของจิต
เช่น ความเจ็บ
ถ้าจิตไม่รู้สึก มันก็ไม่มี
เจ็บปวดที่เนื้อที่ตัวนั่นแหละ
ถ้าว่าจิตมันไม่รู้สึก มันก็เท่ากับไม่มี
ทุกอย่างที่มันมี
เรียกว่ามี ก็เพียงความรู้สึกของจิต
ความรู้สึกของจิต
มันจะเป็นตัวเป็นตนอันแท้จริง อย่างไรได้
มันเป็นไม่ได้
นี่เรียกว่ามันมีแต่ความรู้สึกของจิต
เพราะว่ามีระบบประสาทที่ทำให้จิตรู้สึกได้
จิตก็รู้สึกได้โดยระบบประสาท
ไปตามกฎของธรรมชาติ
ถ้าอย่ามีระบบประสาท
มันก็รู้สึกอะไรไม่ได้
มันก็เหมือนกับไม่มีอะไร
ฉะนั้น ถ้าที่รู้สึกได้โดยระบบประสาท
นั่นมันไม่ได้มีตัวตนอันแท้จริง
มันเป็นแต่เพียงความรู้สึก
มันอยู่ที่ตัวความรู้สึกนั้น เท่านั้น
ทีนี้ ความรู้สึกนั้นมันถือว่าเป็นมายา
มันเป็นเพียงตัวความรู้สึก
ไม่ได้มีตัวตนอะไรอันแท้จริง
จึงเรียกว่ามันเป็นเพียงมายา
ปราศจากตัวตน ปราศจากของตน
โดยประการทั้งปวง
แต่ว่า แม้ว่ามันจะเป็นมายา
มันก็เป็นสิ่งที่จิตรู้สึก
และจิตที่ประกอบด้วยอวิชชา
ก็ถือเอาสิ่งที่เป็นมายานั้น
ว่าเป็นตัวตนอันแท้จริง
จิตนั้นจึงได้ถือเอาสิ่งที่เป็นมายานั้น
ว่าเป็นตัวเป็นตน สิ่งที่เป็นตน
มันก็เกิดขึ้นมาโดยความโง่ หลง ของจิต
เช่น รูปนี่ สิ่งที่เป็นวัตถุมีรูปเป็นตัวรูปร่างกายนี้
จิตรู้สึกได้ว่าเป็นอย่างไร
ก็เอารูป หรือ ร่างกายนี้เป็นตัวตน
ที่เป็นเวทนา รู้สึกได้
เป็นสุข เป็นทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์
มันก็เป็นเพียงความรู้สึกของจิตเท่านั้นแหละ
ความรู้สึกของจิตเท่านั้นแหละ ฟังดูให้ดี
ถูกเอามายึดถือด้วยความโง่ ความหลง
ว่ามันเป็นตัวตน
จึงรู้สึกว่าเวทนาเป็นตน
หรือเวทนาเป็นของ ของตน
เรื่องสัญญาก็เหมือนกัน
เป็นความรู้สึกระลึกได้ของจิต
สำคัญมั่นหมายของจิตด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา
ว่าสิ่งนี้เป็นตัวตน
เอาความรู้สึกนั่นเป็นของตน
หรือว่าจะเอาความรู้สึกนั้นเป็นตัวตน ผู้รู้สึก ก็ได้ทั้งนั้น
จึงเกิดมีความโง่หลงให้สัญญาเป็นตัวตนขึ้นมา
สังขารเรียกว่าความคิดนึก
ก็เป็นกิริยาอาการของจิตตามความรู้สึกของจิต
ไม่มีตัวตนอะไรมากไปกว่าการปรุงแต่งทางจิต
เป็นความรู้สึกประเภทคิดนึก
มันก็หลงไปว่ามีตัวจริง
ก็เอาสังขาร หรือความคิดนั่น ว่าเป็นตัวตน
เพราะคิดได้ จึงชื่อว่า จึงถือว่า
จึงเชื่อว่ามีตัวตน เพราะมันคิดได้
เพราะมันมีสิ่งที่คิดได้
แล้วก็เอาตัวนั้นมาเป็นกู กูคิดได้
มันก็เลยมีตัวตนของกู กูคิด
นี่เรียกว่าเอาสังขารเป็นตัวตน
วิญญาน รู้แจ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจด้วย
มันรู้แจ้งตามธรรมชาติ
เพราะมันมีระบบประสาท
ที่จะรู้แจ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
ความรู้แจ้งนั้นมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ
ตามธรรมชาติแท้ ๆ
แต่ก็เอามาเป็นตัวตน
เพราะมันรู้แจ้งได้ มันเลยยึดถือเอาว่าเป็นตัวตน
ทั้งหมดนี้ เพราะไม่รู้ตามที่เป็นจริง
เอาสิ่งที่เป็นความรู้สึก
ตามธรรมชาติของจิต
มาเป็นตัวตน
มันก็เป็นที่ตั้งแห่งตัณหา อุปาทาน
เมื่อเกิดความรู้สึกว่าตน
มันก็ต้องมีความยึดถือตน
ยึดถือของ ของตน เป็นอุปาทาน
มันก็มีความหนัก
เพราะความยึดถือ มันก็เป็นทุกข์
นี่เรียกว่าเรามันโง่ให้เป็นทุกข์
ถ้าอย่าไปยึดถือ
มันก็ไม่หนัก ไม่หนักก็ไม่เป็นทุกข์
ที่ไปยึดถือ
ก็เพราะเข้าใจว่าเป็นตัวตน
ไม่เห็นว่าเป็นเพียงความรู้สึกของจิตทางระบบประสาท
ตามที่มันมีอยู่ตามธรรมชาติ เท่านั้นเอง
จึงมีอุปาทานในทุกสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
ว่าเป็นตัวตน ตัวตนของตน
หรือเป็นของ ของตน
หรือตัวตนของคนอื่น
ล้วนแต่เป็นตัวตนกันเต็มไปหมด
นี่จึงได้มีจิตใจชนิดที่จมอยู่ในกองทุกข์
มันไม่ใช่ตัวตนจมอยู่ในกองทุกข์
ตัวตนมันไม่มี
แต่มีจิตใจที่มันโง่ มันหลงใหล มันเอาอะไรเป็นตัวตน
กระทั่งเอาตัวมันเองเป็นตัวตน
นั่นแหละ เป็นผู้ที่จมอยู่ในกองทุกข์
มีการจมอยู่ได้ในกองทุกข์
โดยที่ไม่ต้องมีตัวตน
มีแต่จิตที่โง่เขลา
เรื่องเหล่านี้ไม่อาจจะเข้าใจได้
โดยการฟัง หรือ การอ่าน
มีอยู่ทางเดียวเท่านั้น
คือไปสนใจสังเกต
จิตของตนเองให้ดี ๆ
ว่ามันเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ?
มันรู้สึกในอะไร
แล้วมันก็เอาเป็นตัวตนไปหมด
ไม่มีความรู้อันแท้จริงว่า
มันเป็นเพียงความรู้สึกของจิต
เป็นเพียงความรู้สึกของจิต
นั่นมากลายเป็นตัวตน
เพราะยึดถือให้เป็นตัวตน
ยึดถือก็เพราะว่าโง่ หลง ด้วยอวิชชา
นี่เป็นใจความสำคัญของเรื่องทั้งปวง
คือความโง่ หลง ด้วยอวิชชา
แล้วก็ยึดถืออะไร
ที่เป็นความรู้สึกของจิตนั้น
เป็นตัวตนไปเสียหมด
2
จึงตั้งหัวข้อสำหรับศึกษาขึ้นมาว่า
ทุกอย่างเป็นเพียงความรู้สึกของจิต
ไม่ใช่ตัวตนอะไรแต่สักนิด
ทุกอย่างที่เราสัมผัสได้ หรือรู้สึกได้
มันเป็นเพียงความรู้สึกของจิต
แต่เราเอามาเป็นตัวตนสำหรับยึดมั่นถือมั่น
ด้วยอุปาทาน ..."
.
บางตอนจากการบรรยาย
ในหัวข้อ "ทุกอย่างเป็นเพียงความรู้สึกของจิต"
โดย พุทธทาส อินฺทปญฺโญ
ชุด ปกิณกะธรรมบรรยาย
ธรรมบรรยายประจำวันเสาร์
ภาควิสาขบูชา,สวนโมกขพลาราม
12 มิถุนายน 2525
ตั้งแต่นาทีที่ 0.58 - 18.30
ติดตามฟังการบรรยายฉบับเต็มได้จาก :
ขอบคุณรูปภาพจาก : Unsplash , Pexels

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา