30 ก.ค. 2021 เวลา 16:07 • ประวัติศาสตร์
ภาพนี้มีเรื่องเล่า ตอน มาสคอตโอลิมปิก ฑูตแห่งเกมส์กีฬา ตอนที่ 2 2000-2020
มาถึงตอนที่ 2 กับการแนะนำมาสคอตโอลิมปิกนะครับ ครั้งนี้เราพาเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มาดูกันว่ามาสคอตในยุคใหม่จะมีความน่าสนใจ และน่ารักเท่ามาสคอตยุคเก่าหรือป่าว
สามารถติดตามอ่านตอนที่ 1 ได้ที่
2000
โอลิมปิกฤดูร้อนที่ซิดนี่ย์
ปี 2000 ปีแห่งการเฉลิมฉลองศตวรรษใหม่ และเป็นครั้งแรกที่กีฬาโอลิมปิกถูกจัดขึ้นที่ทวีปออสเตรเลีย ครั้งนี้ทางการออสเตรเลียเลยจัดใหญ่จัดหนักด้วยมาสคอตถึง 3 ตัวด้วยกัน ได้แก่น้อง Syd น้อง Olly และน้อง Millie
น้อง Syd น้อง Olly และน้อง Millie มาสคอตประจำกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2000 (Source: Wikipedia)
เริ่มจากน้อง Syd ซึ่ง Syd ก็คือชื่อย่อมาจาก Sydney น้องเป็นตุ่นปากเป็ด ซึ่งเป็นสัตว์พื้นเมืองของออสเตรเลีย ที่มีเอกลักษณ์มาก เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่กี่ชนิดบนโลกที่ออกลูกเป็นไข่ น้อง Syd เป็นตัวแทนของธาตุน้ำ รวมไปถึงพละกำลังและความว่องไว เพราะตุ่นปากเป็ดเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำได้ไวมาก
ตัวต่อมาคือน้อง Olly ย่อมาจาก Olympic น้องเป็นนก Kookaburra หรือนกกระเต็นขนาดยักษ์ที่กินปลาเป็นอาหาร และเป็นนกพื้นถิ่นของออสเตรเลียเช่นกัน ชื่อ Kookaburra ก็มาจากเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของนกชนิดนี้ น้องเป็นตัวแทนของอากาศ สื่อถามความโอบอ้อมอารีของชาวออสเตรเลีย
น้อง Syd น้อง Olly และน้อง Millie มาสคอตประจำกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2000 (Source: nsw.gov.au)
ส่วนตัวสุดท้ายคือน้อง Millie ย่อมาจาก Millennium เฉลิมฉลองการขึ้นศตวรรษใหม่ น้องเป็นตัว Echidna เป็นตัวกินมดที่มีขนแหลมคม น้องเป็นตัวแทนของดิน และถูกกำหนดให้เป็นมาสคอตผู้รอบรู้ประจำกีฬาโอลิมปิก
จะเห็นได้ชัดว่าทางการออสเตรเลียหลีกเลี่ยงการใช้สัตว์อย่างจิงโจ้ หรือโคอาล่า ด้วยเหตุผลที่ว่ามันจะดูธรรมดาเกินไป และหลายคนก็รู้จักสัตว์เหล่านี้อยู่แล้ว
เรื่องที่น่าจดจำของการแข่งขันในครั้งนี้คือนักกีฬาชาวเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เดินเข้าสนามภายใต้ธงผืนเดียวกัน ที่เป็นรูปแผนที่คาบสมุทรเกาหลี ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เป็นที่จดจำไปทั่วโลก และทั้งสองประเทศก็ทำเช่นเดียวกันอีกในปี 2004 และ 2006
ทัพนักกีฬาเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เดินเข้าสู่สนามภายใต้ธงผืนเดียวกันเป็นครั้งแรก (Source: Pinterest)
แต่ด้วยการออกแบบที่อาจจะไม่ถูกใจคนหลายคน ทำให้มาสคอตทั้งสามไม่ได้รับความนิยมเท่ากับมาสคอตประจำกีฬาพาราลิมปิกในปีนั้น ที่มีชื่อว่า Lizzie น้อง Lizzie เป็นกิ้งก่าพื้นเมืองของออสเตรเลียตอนเหนือ แผงคอของน้องถูกออกแบบให้กางออกมาเป็นรูปแผนที่ของประเทศออสเตรเลีย ส่วนสีของขาและลำตัวจะเป็นสีดินแดง สีของพื้นที่ส่วนใหญ่ของออสเตรเลีย
น้อง Lizzie มาสคอตของกีฬาพาราลิมปิกฤดูร้อนในปี 2000 (Source: Wikipedia)
Lizzie ถือเป็นมาสคอตพาราลิมปิกที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด เพราะการออกแบบไม่ได้สื่ออะไรถึงความพิการ แต่กิ้งก่าทะเลทรายก็สามารถสื่อถึงความอดทน ความแข็งแกร่งที่จะฟันฝ่าอุปสรรคของทะเลทราย เหมือนกับนักกีฬาที่เข้าแข่งขันพาราลิมปิกได้เป็นอย่างดี
2002
โอลิมปิกฤดูหนาวที่ซอลท์เลค ซิตี้
มาสคอตในครั้งนี้เป็นสัตว์ 3 ชนิดคือกระต่ายป่าชื่อ Powder ตัวแทนแห่งความว่องไว หมาป่าอเมริกาชื่อ Copper ตัวแทนแห่งความคล่องตัว เพราะหมาป่าชนิดนี้สามารถไต่เขาสูงได้อย่างคล่องแคล่ว และหมีดำชื่อ Coal ตัวแทนแห่งพละกำลัง ซึ่งสอดคล้องกับสโลแกนของโอลิมปิกที่ว่า “Citius, Altius, Fortius” หรือ “Faster, Higher, Stronger”
น้อง Powder น้อง Coal และน้อง Copper มาสคอตประจำกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2002
สัตว์ทั้งสามชนิดเป็นสัตว์ที่อยู่ในตำนานเรื่องเล่าของชนพื้นเมืองแถบยูท่าห์มานานแล้ว และชื่อของทั้งสามเป็นชื่อที่ได้รับการโหวตจากเด็กชาวอเมริกันทั่วประเทศกว่า 40,000 คน โดยชื่อ Powder สื่อถึงหิมะอันขาวโพลน ส่วน Copper (ทองแดง) และ Coal (ถ่านหิน) สื่อถึงทรัพยากรธรรมชาติในแถบเทือกเขาของรัฐยูท่าห์
OTTO มาสคอตของกีฬาพาราลิมปิกฤดูหนาวปี 2002 (Source: Wikipedia)
ส่วนมาสคอตของกีฬาพาราลิมปิกฤดูหนาวในปีนั้นคือตัวนากชื่อ Otto เพราะตัวนากเป็นสัตว์พื้นเมืองเช่นกัน และเป็นสัตว์ที่คล่องตัว และมีพละกำลังตลอดเวลา
2004
โอลิมปิกฤดูร้อนที่เอเธนส์
ในที่สุดกีฬาโอลิมปิกก็กลับมาเยือนถิ่นกำเนิดอีกครั้งที่ประเทศกรีซ โดยมาสคอตในครั้งนี้อาจจะมีรูปร่างที่ดูประหลาด แต่จริง ๆ แล้วทั้งสองคือตุ๊กตาดินเผาสมัยโบราณในศตวรรษที่ 7 ที่มีรูปร่างเหมือนระฆังชื่อ Daidala ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสุขและจิตวิญญาณโอลิมปิก
ตุ๊กตา Daidala (Source: Pinterest)
Daidala มีความสำคัญสำหรับชาวกรีกโบราณ เพราะว่าในสมัยก่อนหญิงสาวที่กำลังจะแต่งงาน จะต้องสละ Daidala ของตนเองเข้าสู่กองไฟ เพื่อเป็นการอวยพรให้การแต่งงานราบรื่น และมีลูกหลานเยอะ ๆ สืบต่อไป
ทั้งสองมีชื่อว่า Phevos และ Athena และทั้งคู่เป็นพี่น้องกัน Phevos เป็นชื่ออีกชื่อของเทพอพอลโล่ เทพเจ้าแห่งแสงสว่างและดนตรี สวมชุดกรีกโบราณสีฟ้า เพื่อสื่อถึงสีฟ้าเข้มของทะเลอีเจี้ยน ส่วน Athena ก็เป็นเทพเจ้าแห่งสติปัญญา และเทพเจ้าที่คอยปกปักรักษากรุงเอเธนส์ สวมชุดกรีกโบราณสีส้ม เพื่อสื่อถึงพระอาทิตย์
Phevos และ Athena สองศรีพี่น้อง มาสคอตของกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2004 (Source: walcoo.net)
จริง ๆ แล้วการมีมาสคอต 2 ตัวคือการแสดงถึงความเท่าเทียมกันของเพศชายและเพศหญิง แต่อาจจะเป็นเพราะรูปร่างที่ค่อนข้างแปลกประหลาด ทำให้น้อง Phevos และ Athena ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไรนัก
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศคีรีบาติ และอีสท์ ติมอร์ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน และการแข่งขันยิงปืนและยิงธนู ถูกจัดขึ้นที่สนามกีฬาโบราณที่ใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกของโลกในปี 1896
น้อง Proteas มาสคอตของกีฬาพาราลิมปิกปี 2004 (Source: Pinterest)
ส่วนกีฬาพาราลิมปิกในปีนั้น มีมาสคอตเป็นม้าน้ำชื่อ Proteas ซึ่งเป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งท้องทะเลพระองค์หนึ่ง และม้าน้ำก็สื่อถึงความสามารถของนักกีฬา ที่แม้จะไม่มีขา แต่ก็สามารถเล่นกีฬาได้นั่นเอง
2006
โอลิมปิกฤดูหนาวที่ตูริน
ในปี 2006 โอลิมปิกกลับมาเยือนอิตาลีอีกครั้ง ในครั้งนี้ทางคณะผู้จัดงานเปิดโอกาสให้นักออกแบบทั่วโลก ได้มีโอกาสส่งผลงานของตัวเองเข้าประกวด โดยผู้ชนะเป็นชาวโปรตุเกส และมาสคอตที่ได้รับเลือกเป็นก้อนหิมะ ชื่อว่า Neve ที่แปลว่าหิมะ และก้อนน้ำแข็ง ชื่อว่า Gliz ซึ่งเป็นตัวย่อของคำว่า Ghiaccio ที่แปลว่าน้ำแข็ง ส่วนมาสคอตของกีฬาพาราลิมปิกฤดูหนาวในปีนี้เป็นเกล็ดหิมะชื่อ Aster
น้อง Neve น้อง Aster และน้อง Gliz มาสคอตของกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกปี 2006 (Source: Wikipedia)
ถ้าลองสังเกตดีดีจะเห็นว่าน้อง Neve มีเส้นสายที่โค้งมนอ่อนช้อย สื่อถึงความสามัคคีกลมเกลียวกันของเหล่าบรรดานีกกีฬา ส่วนน้อง Gliz จะมีเส้นสายที่ตรง และมีเหลี่ยมมุมมากกว่า ซึ่งสื่อถึงความแข็งแกร่งของนักกีฬา
เหตุการณ์ที่เป็นที่่าจดจำของการแข่งขันในครั้งนี้คือมีการค้นพบว่าทีมนีกกีฬาออสเตรียบางคน ถูกตรวจพบว่าใช้สารกระตุ้น ทำให้เหรียญรางวัลของนักกีฬาออสเตรียทุกคนถูกดยึดคืนทั้งหมด
น้อง Gliz กับน้อง Neve (Source: gettyimages)
2008
โอลิมปิกฤดูร้อนที่ปักกิ่ง
โอลิมปิกในปี 2008 มาเยือนประเทศจีนเป็นครั้งแรก และครั้งนี้จีน ผู้เป็นเจ้าภาพก็ต้อนรับเหล่าผู้มาเยือนด้วยมาสคอตถึง 5 ตัวด้วยกัน ที่มีชื่อว่า Beibei Jingjing Huanhuan Yingying Nini ซึ่งรวมกันจะเป็น “Beijing Huanying Ni : เป่ยจิงฮวนอิ๋งหนี่” หรือ “Beijing Welcome You : ยินดีต้อนรับสู่ปักกิ่ง” นั่นเอง
มาสคอตทั้ง 5 ตัวของการแข่งขันกีฦาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 (Pinterest)
มาสคอตในครั้งนี้เป็นมาสคอตที่มีจำนวนมากที่สุดคือมีถึง 5 ตัวด้วยกัน โดยมีรูปร่างเป็น Fuwa หรือตุ๊กตานำโชคของจีน และมี 5 สีตามสีของห่วงโอลิมปิก
แต่แน่นอนว่าประเทศจีนซึ่งมีอารยธรรมมากว่า 1000 ปี มาสคอตแต่ละตัวย่อมมีสัญลักษณ์ และความหมายแฝงอยู่อย่างแน่นอน
เริ่มจาก Beibei น้องเป็นปลาสีฟ้า ตัวแทนของน้ำและความอุดมสมบูรณ์ บนหัวเป็นรูปคลื่นที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเส้นสายของพู่กันจีน ถัดมาคือ Jingjing เป็นหมีแพนด้า ตัวแทนของป่าและความสุข บนหัวจะมีดอกบัวประดับอยู่ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพวาดกระเบื้องของจีน ต่อด้วย Yingying เป็นกวางภูเขาของทิเบตสีเหลือง ตัวแทนของธาตุดิน ส่วนหัวประดับด้วยศิลปะจากมณฑลทางตะวันตกของจีน
ต่อมาคือ Nini เป็นนกนางนวลสีเขียว ตัวแทนของฟากฟ้าและโชคลาภ โดยสีสันและการออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจากว่าวโบราณของประเทศจีน และสุดท้าย Huanhuan ซึ่งไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นลูกหลานของธาตุไฟ เป็นตัวแทนของความหลงใหลที่กีฬาโอลิมปิก รวมไปถึงสื่อถึงคบเพลิงและจิตวิญญาณแห่งมหกรรมกีฬาครั้งนี้อีกด้วย
สามารถดูคลิบแนะนำตัวน้อง ๆ ได้ที่ลิงค์ด้านล่างนะครับ เสียดายที่หาคลิบที่ชัดกว่านี้ไม่ได้
น้อง Huanhuan โชว์ลีลาการเล่นบาสเกตบอล (Source: Chinadaily)
น้อง ๆ ทั้งห้าตัว น่าจะเป็นมาสคอตที่แฝงความหมายได้ลึกซึ้งที่สุดในบรรดามาสคอตทั้งหมดแล้วก็ว่าได้ ส่วนมาสคอตของกีฬาพาราลิมปิกในครั้งนี้คือวัวชื่อ Fu Nui Lele ซึ่งวัวได้รับการคัดเลือกเนื่องจากความใกล้ชิดของสัตว์ชนิดนี้กับมนุษย์ ส่วนสีสันของมาสคอตตัวนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมากจากสีสันในช่วงเทศกาลตรุษจีน ช่วงเวลาแห่งความสุขของชาวจีนทั่วโลก
น้องวัว Fu Nui Lele มาสคอตของกีฬาพาราลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 (Source: Flickr)
ปี 2010
โอลิมปิกฤดูหนาวที่แวนคูเวอร์
โอลิมปิกฤดูหนาวในครั้งนี้ได้รับการโหวตว่าเป็นหนึ่งในการแข่งขันที่ดีที่สุดโดยนักกีฬาหลายคน แม้ว่าก่อนพิธีเปิดเพียงไม่กี่ชั่วโมง จะมีนักกีฬา Luge เสียชีวิตจากการฝึกซ้อม ทำให้ต้องมีการดัดแปลงสนามแข่ง Luge อย่างเร่งด่วนก็ตาม
มาสคอตปีนี้มาแปลกเพราะมีทั้งหมด 3 ตัว และ Sidekick หรือตัวเสริมอีกตัวนึง ตัวแรกคือน้อง Miga ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานของแคนาดา เป็นครึ่งปลาวาฬเพชรฆาตครึ่งหมีเคอร์โหมด ซึ่งหมีเคอร์โหมดเป็นหมีพื้นถิ่นสีขาวที่อาศัยอยู่ในเทือกเขารอบแวนคูเวอร์
น้อง ๆ มาสคอตทั้ง 4 ตัวของกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูหนาวปี 2010 (Source: Wikipedia)
ตัวที่สองคือน้อง Quatchi น้องเป็นตัว Sasquatch หรือที่รู้จักกันในนาม Big Foot เป็นสัตว์ที่เต็มไปด้วยปริศนา สื่อถึงศักยภาพทางด้านกีฬาของมนุษย์ที่รอคอยการค้นพบ ตัวต่อมาคือ Sumi น้องเป็นเทพเจ้าผู้ปกปักรักษาสัตว์และผืนป่าทั้งมวล โดยมีจุดเด่นอยู่ที่ปีกของนกวายุ (Thunderbird) และขาเป็นหมี สวมหมวกของชนพื้นเมือง
ตัวสุดท้ายที่กลายมาเป็นมาสคอตที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือน้อง Mukmuk น้องเป็นตัว Marmot ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับนาก และเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว น้อง Mukmuk ในภาพการ์ตูนต่าง ๆ มักจะเดินตามพี่ใหญ่ ทั้งสามตัวอยู่เสมอ และคอยให้ความช่วยเหลืออยู่เป็นประจำ
มาสคอตประจำการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูหนาวปี 2010
มาดูคลิบแนะนำตัวของน้อง ๆ มาสคอตในปีนี้กันครับ เป็นคลิบที่น่ารักมาก ๆ สังเกตนะครับว่าน้อง Sumi จะเล่นสกีที่เรียกว่า Mono Ski สำหรับคนที่มีความพิการทางขา
2012
โอลิมปิกฤดูร้อนที่ลอนดอน
มาถึงหนึ่งในมาสคอตที่แปลกที่สุดเท่าที่เคยมีมา มาสคอตในครั้งนี้มีชื่อว่า Wenlock ซึ่งเจ้า Wenlock ตามเรื่องราวนั้นถือกำเนิดมาจากหยดของโลหะหยดสุดท้ายที่ใช้ในการหลอมเหล็กเพื่อสร้างสนามกีฬาโอลิมปิก จริง ๆ แล้วความหมายลึก ๆ ของการใช้หยดโลหะมาเป็นมาสคอตคือ การสื่อถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรม “Industrial Revolution” ที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเป็นที่แรกนั่นเอง
Wenlock และ Mandeville มาสคอตของกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน และพาราลิมปิกฤดูร้อนปี 2002 (Source: designweek)
Wenlock ได้ชื่อมาจากเมืองโบราณเมืองหนึ่งในอังกฤษ โดยการออกแบบนั่นเริ่มจากส่วนหัวที่มีรูปร่างเหมือนกับไฟรถแท๊กซี่ Black Cab อันโด่งดังของอังกฤษ ส่วนหน้าผากเป็นรูปร่างหลังคาของสนามกีฬา ดวงตาเป็นเลนส์กล้อง สวมห่วงโอลิมปิกอยู่ตรงบริเวณข้อมือ ผิวของ Wenlock จะเป็นมันวาว ลวดลายสีส้ม เพื่อให้ผู้พบเห็นได้เห็นเงาและบุคลิกลักษณะของตนเอง
ส่วนมาสคอตของกีฬาพาราลิมปิกในปีนี้ มีชื่อว่า Mandeville ลักษณะเหมือนกับ Wenlock แต่ลำตัวจะมีสีฟ้า ซึ่งมาสคอตทั้งสองตัวถือเป็นหนึ่งในมาสคอตที่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
สามารถดูคลิบแนะนำตัวของน้องทั้งสองได้ที่นี่นะครับ
น้อง Wenlock กับ Usian Bolt นักวิ่งลมกรดจากจาไมกา (Source: bbc)
เรื่องที่น่าจดจำของการแข่งขันในครั้งนี้คือ เป็นครั้งแรกที่มีการแข่งขันต่อยมวยหญิง ทำให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการแข่งขันกีฬาทุกประเภทเป็นครั้งแรก ส่วนไมเคิล เฟลป์ นักกีฬาว่ายน้ำของออสเตรเลียกลายเป็นบุคคลที่ได้รับเหรียญในกีฬาโอลิมปิกมากที่สุดในประวัติการณ์ โดยสามารถคว้าเหรียญที่ 22 ในชีวิตมาได้
ไมเคิล เฟลปส์ นักกีฬาที่ได้เหรียญโอลิมปิกมากที่สุดในโลก (Source: Pinterest)
ปี 2014
โอลิมปิกฤดูหนาวที่โซชิ
การจัดการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ ถือเป็นการจัดการแข่งขันโอลิมปิกที่แพงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยจากงบประมาณที่วางไว้ที่ 12 ล้านเหรียญสหรัฐ สุดท้ายงบเกิดบานปลายจนกลายเป็น 51 ล้านเหรียญสหรัฐ แพงกว่าการจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่ปักกิ่งที่ใช้เงินมากที่สุดเป็นอันดับสองที่ 44 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับมาสคอตในครั้งนี้มาจากการโหวตของชาวรัสเซียทั่วประเทศ โดยมาสคอตสามตัวที่ได้รับการคัดเลือกคือหมีขั้วโลกชื่อ Mishka กระต่ายป่าชื่อ Zaika และเสือหิมะชื่อ Snow ซึ่งทั้งสามตัวถูกออกแบบด้วยนักออกแบบสามคน
มาสคอตของการแข่งขันโอลิมปิกฤดุหนาวปี 2010 (Source: olympicgamedesign)
ว่ากันว่าขั้นตอนการโหวตนั้นมีข่าวลือหนาหูว่ามีการโกงกันเกิดขึ้น เริ่มจากปี 2008 มีการจัดการโหวตขึ้นที่เมืองโซชิ ซึ่งประชากรของเมืองเลือกปลาโลมาให้เป็นมาสคอตของการแข่งขัน แต่เมื่อถึงปี 2010 คณะกรรมการโอลิมปิกกลับบอกว่า การโหวตควรจะมาจากคนรัสเซียทุกคน และจัดการโหวตผ่านรายการโทรทัศน์ โดยให้คนโทรเข้ามาโหวต หลังจากมาสคอตทั้งสามได้รับเลือก มีข่าวลือกันว่าทางคณะผู้จัดต้องการให้สัตว์ที่ประธานาธิบดีปูตินชอบที่สุด ได้รับการคัดเลือกด้วย จึงมีการโกงผลโหวตขึ้น
น้อง Zoich กบสีน้ำเงิน ที่ดวงตาหมุนได้ มาสคอตที่ได้รับการโหวตออนไลน์มากที่สุด แต่กลับไม่ได้ถูกเลือก โดยคณะกรรมการโอลิมปิก (Source: Wikipedia)
นอกจากนี้ยังมีการจัดการโหวตออนไลน์ด้วย ซึ่งมาสคอตกบสีน้ำเงิน ดวงตาเป็นห่วงโอลิมปิก สามารถหมุนไปมาได้ ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดทุกครั้ง แต่พอมีการโหวตจริง มาสคอตตัวนี้กลับถูกมองโดยคณะกรรมการโอลิมปิกว่าไม่เหมาะสม ส่วนมาสคอตประจำกีฬาพาราลิมปิกในครั้งนี้เป็นเกล็ดหิมะ กับแสงพระอาทิตย์
มาสคอตของการแข่งขันพาราลิมปิกฤดุหนาวปี 2010 (Source: Wikipedia)
อีกเรื่องที่น่าจดจำของการแข่งขันในครั้งนี้คือ ทีมชาติรัสเซียถูกจับได้ว่าใช้สารกระตุ้น และเป็นการใช้สารกระตุ้นแบบ State-Sponsored คือเจ้าหน้าที่ทุกคนรู้เห็นเป็นใจกับการโกงในครั้งนี้ ส่งผลให้ทีมชาติรัสเซียถูกแบนออกจากการแข่งขันโอลิมปิกจนกว่าจะถึงเดือนธันวาคม 2022 ทำให้ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่โตเกียว รวมถึงการแข่งขันนานาชาติอื่น ๆ ทีมชาติรัสเซียจะเข้าแข่งขันในนาม ROC หรือ Russian Olympic Commitee
2016
โอลิมปิกฤดูร้อนที่ริโอ เดอ จาเนโร
และแล้วโอลิมปิกก็เดินทางมาถึงทวีปอเมริกาใต้ มาสคอตในครั้งนี้มีชื่อว่า Vinicius ซึ่งเป็นชื่อของนักดนตรีชาวบราซิลที่มีชื่อเสียงในสมัยก่อน
Vinicius และ Tom มาสคอตของกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน และพาราลิมปิกฤดูร้อนปี 2006 (Source: pxhenriettal.blogspot.com)
Vinicius เป็นมาสคอตลูกผสม เป็นการผสมผสานสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งนก ตัวแทนของความสง่างาม เสือ ตัวแทนของความดุดัน และลิง ตัวแทนของความว่องไว ที่มีอยู่ในบราซิลเข้าด้วยกัน เพื่อแสดงถึงเชื้อชาติอันหลากหลายของคนบราซิล โดยการออกแบบจะมีสีสันสดใส และได้รับแรงบันดาลใจมาจากกวัฒนธรรมป๊อปสมัยใหม่
ส่วนมาสคอตของกีฬาพาราลิมปิกคือน้อง Tom ซึ่งเป็นการผสมผสานสายพันธุ์พืชต่าง ๆ ของประเทศบราซิลเข้าด้วยกัน ผู้ออกแบบกล่าวว่าทั้งสองเกิดมาจากความสุขของชาวบราซิลทั้งประเทศ หลังจากที่รู้ว่าบราซิลได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
Vinicius และ Tom มาสคอตของกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน และพาราลิมปิกฤดูร้อนปี 2006 (Source: bloomberg)
ส่วนเรื่องที่น่าสนใจสำหรับการแข่งขันในครั้งนี้คือ เรื่องของค่าใช้จ่าย เพราะก่อนการแข่งขันมีการประท้วงมากมายจากชาวบราซิล รัฐบาลพยายามบังคับชาวสลัมให้ออกจากพื้นที่ มีการสร้างแผ่นคอนกรีตริมทางด่วนเพื่อบดบังทัศนียภาพของสลัม ส่วนสนามกีฬาต่าง ๆ ที่สร้างขึ้น ในปัจจุบันหลายที่กลับถูกทิ้งร้าง และไม่ได้ใช้งานมาจนถึงทุกวันนี้
สนามกีฬาทางน้ำของที่ริโอ เดอ จาเนโร ที่ถูกทิ้งร้างมาจนถึงทุกวันนี้ (Source: insidehook.com)
2018
โอลิมปิกฤดูหนาวที่พยองชาง
โอลิมปิกกลับมาเยือนเกาหลีอีกครั้ง และครั้งนี้เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เดินเข้าสนามด้วยกันภายใต้ธงผืนเดียวกันอีกครั้ง และมาสคอตก็ยังมีการสื่อถึงมาสคอตของโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1988 ที่กรุงโซลอีกด้วย
มาสคอตตัวแรกเป็นเสือขาวชื่อว่า Soohorang ซึ่งคำว่า Sooho แปลว่าปกปักรักษา และ Rang มาจากคำว่า Ho-Rang-I ที่แปลว่าเสือ เป็นการสานต่อจากมาสคอตลูกเสือโคร่งน้อง Hodori เมื่อปี 1988 นั่นเอง โดยเสือขาวตามความเชื่อของเกาหลีเป็นร่างอวตารของเทพเจ้าที่จะคอยดูแลมนุษย์ให้อยู่เย็นเป็นสุข
น้อง Soohorang มาสคอตประจำกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2018 (Source: Pinterest)
มาดูคลิบแนะนำตัวน้องกัน
ส่วนหมีน้อยสีดำ มาสคอตของกีฬาพาราลิมปิกฤดูหนาวในปีนี้ มีชื่อว่า Bandabi เป็นหมีเอเชียสีดำ เหมือนกับน้อง Gomdoori มาสคอตของกีฬาพาราลิมปิกในปี 1988 โดยคำว่า Bandi แปลว่าดวงจันทร์ครึ่งเสี้ยว สื่อถึงความไม่สมบูรณ์ของร่างกายที่นักกีฬาพาราลิมปิกสามารถเอาชนะได้
น้อง Soohorang และน้อง Bandabi มาสคอต มาสคอตประจำกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว และพาราลิมปิกฤดูหนาวปี 2018
มีคลิบแนะนำตัวน้อง Bandabi แยกต่างหากด้วยนะ
2020
โอลิมปิกฤดูร้อนที่โตเกียว
มาถึงมาสคอตตัวล่าสุดกันบ้าง กับการจัดการแข่งขันโอลิมปิกครั้งมหากาพย์ที่ต้องเลื่อนมา 1 ปีเต็ม ๆ ด้วยสถานการณ์โควิด แต่ทางผู้จัดก็ต้องการจะทำให้เห็นว่า แม้ว่ามวลมนุษย์จะต้องประสบกับปัญหามากมายขนาดไหน เราจะสามารถเอาชนะทุกอุปสรรคได้ด้วยความสมัครสมานสามัคคีกัน (พร้อมกับความจริงที่ว่า ถ้าไม่จัด ประเทศญี่ปุ่นจะต้องเสียค่าปรับบานตะไท) ดังนั้นโตเกียวโอลิมปิก จึงถูกจัดขึ้นท่ามกลางการคัดค้านของคนหลายคน
สัญลักษณ์ของกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน และพาราลิมปิกฤดูร้อนในปี 2020 (Source: Twitter)
มาสคอตในปีนี้เป็นหุ่นยนต์ชื่อว่า Miraitowa และ Someity โดย Miraitowa เป็นมาสคอตประจำกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2020 และ Someity เป็นมาสคอตประจำกีฬาพาราลิมปิกฤดูร้อนปี 2020
น้อง Maraitowa และ น้อง Someity มาสคอตของกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน และพาราลิมปิกฤดูร้อนในปี 2020 (Source: Pinterest)
มีการส่งแบบเข้าร่วมประกวดมากถึง 2,000 แบบ และทางคณะกรรมการโอลิมปิกได้คัดเลือกแบบที่ดีที่สุดมา 3 แบบ เพื่อให้เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาเลือก และน้องหุ่นยนต์ทั้งสองก็เป็นแบบที่ได้รับการโหวตด้วยคะแนนกว่า 50%
ตัวเลือกที่เหล่าบรรดาเด็กประถมทั่วญี่ปุ่นต้องเลือก โดยมีผู้เข้าแข่งขันสามคู่ด้วยกัน
น้อง Miraitowa เป็นหุ่นยนต์สวมหมวกที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหมวกของซามุไรในอดีต และมีสีตัวเป็นสีน้ำเงิน ลายหมากรุก ซึ่งเป็นสีและลวดลายเดียวกับที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ และเป็นลวดลายโบราณของศิลปะญี่ปุ่นสมัยเอโดะ คำว่า Mirai มีความหมายว่า อนาคต ส่วน Towa แปลว่า ตลอดไป ที่สำคัญไปกว่านั้นน้องมีความสามารถพิเศษคือสามารถ Teleport ไปไหนมาไหนก็ได้
งานเปิดตัวมาสคอตที่กรุงโตเกียว (Source: tempo.co)
มาดูคลิบแนะนำตัวของน้อง ทำได้ดีมากมากเลยทีเดียว
ส่วนน้อง Someity มีตัวสีชมพูที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดอกซากุระ ดอกไม้ประจำชาติของญี่ปุ่น และชื่อ Someity ก็เป็นชื่อของสายพันธุ์หนึ่งของดอกซากุระนั่นเอง ส่วนความสามารถพิเศษของน้องคือ สามารถเคลื่อนที่วัตถุต่าง ๆ โดยการใช้พลังจิต และสามารถสื่อสารกับธรรมชาติได้
จะเห็นได้ว่ามาสคอตทั้งสองตัวแสดงความเป็นญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องของ Animation และความสามารถพิเศษของมาสคอตแต่ละตัว รวมไปถึงเรื่องของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขั้นสูงของญี่ปุ่น ที่สามารถผสมผสานกับธรรมชาติและวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี
น้อง Maraitowa และ น้อง Someity มาสคอตของกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน และพาราลิมปิกฤดูร้อนในปี 2020 (Source: IJF)
จบกันไปแล้วนะครับ กับมาสคอตตั้งแต่ปี 1972 เป็นบทความที่เขียนนานมาก และได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ เยอะมาก เกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
จะเห็นได้ว่ามาสคอตนอกจากจะสร้างสีสันให้กับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศเจ้าภาพได้ด้วย จากการขายของที่ระลึกต่าง ๆ หลายประเทศมีการทำซีรี่ย์การ์ตูน ซึ่งมีตัวเอกเป็นเหล่าบรรดามาสคอต เพื่อเป็นการสร้างกระแสก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
นอกจากนี้มาสคอต ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ศิลปิน นักออกแบบ และสถาปนิก ได้มีโอกาสแสดงฝีมือในการออกแบบไอคอนที่มีความสำคัญ นอกจากนี้มาสคอตในปัจจุบัน ทั้งแบบและชื่อ มักจะได้มาจากการโหวตจากคนในประเทศ เพื่อให้เกิดความรู้สึกสมัครสมานสามัคคี และให้ทุกคนในประเทศเป็นเจ้าของมาสคอต รวมไปถึงเจ้าภาพของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ครั้งหน้า Kang's Journal จะพาทุกคนไปท่องโลกประวัติศาสตร์เรื่องอะไรอีก ฝากติดตามด้วยนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา