4 ส.ค. 2021 เวลา 13:54 • ประวัติศาสตร์
ภาพนี้มีเรื่องเล่า ตอน งานเลี้ยงที่แพงที่สุดในโลก กับคำขอโทษที่สายเกินไป
13
ถ้าดูจากภาพด้านบน ทุกคนจะเห็นอะไรกันบ้างครับ ทุกคนคงจะสังเกตเห็นบรรยากาศงานเลี้ยงอาหารค่ำ ในสถานที่สุดหรู เพดานถูกประดับไปด้วยโคมไฟแชนเดอเลียร์คริสตัลสวยงาม มีแขกนั่งอยู่หลังโต๊ะยาวเหยียด ที่เลื้อยโค้งจากมุมหนึ่งไปสุดที่อีกมุมหนึ่งของห้อง ด้านหลังคือม่านสีม่วงสวยหรู แขกทุกคนอยู่ในชุดเครื่องแบบเต็มยศ
31
งานเลี้ยงในครั้งนี้เกิดขึ้นในเดือนตุลาคมปี 1971 งานเลี้ยงครั้งนี้อาจจะไม่ส่งผลอะไรกับประเทศไทย แต่กลับทำให้เกิดความสั่นคลอนอย่างใหญ่หลวงกับราชวงศ์ของประเทศประเทศหนึ่ง ประเทศที่มีราชวงศ์สืบทอดการปกครองมาเป็นเวลานานกว่า 2500 ปี
27
งานเลี้ยงในครั้งนี้เป็นความคิดของพระเจ้าชาห์โมฮัมหมัด เรซ่า ปาห์ลาวี กษัตริย์ของอิหร่านในช่วงปี 1940-1970 ผู้มีนโยบายปฏิวัติประเทศของพระองค์ในด้านต่าง ๆ ให้เข้าสู่ความทันสมัย ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของชาวโลก
15
พระเจ้าชาห์โมฮัมหมัด เรซ่า ปาห์ลาวี กษัตริย์ของอิหร่านในช่วงปี 1940-1970 (Source: Wikipedia)
และหนึ่งในสิ่งที่พระองค์ตัดสินใจทำคือการจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองครบ 2500 ปี แห่งการก่อตั้งอาณาจักรเปอร์เซีย งานเลี้ยงในครั้งนี้ได้รับการบันทึกว่าเป็นหนึ่งในงานเลี้ยงที่แพงที่สุดในโลก และเป็นงานที่รวบรวมผู้นำทั่วโลกมาอยู่ในที่เดียวกันได้มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
21
แต่ด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาล รวมไปถึงผลที่ได้จากงานเลี้ยงที่ไม่สามารถตีค่าออกมาเป็นตัวเงินได้ ทำให้พสกนิกรของพระองค์เริ่มตั้งคำถามว่า ในขณะที่คนอิหร่านส่วนใหญ่ยังยากจนข้นแค้น พระองค์เอาเงินภาษีประชาชนไปจัดงานเลี้ยงโก้หรูเพื่ออะไร แล้วพวกเขาได้อะไรจากการจัดงานในครั้งนี้ จากคำถาม เปลี่ยนเป็นความไม่พอใจ และจากความไม่พอใจก็นำไปสู่การปฏิวัติอิสลามอิหร่านในที่สุด
40
วันนี้ Kang’s Journal จะขอพาทุกคนไปดูรายละอียดของงานเลี้ยงในครั้งนี้กัน ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และทำไมงานเลี้ยงที่ควรจะทำให้อิหร่านเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก กลับทำให้ราชวงศ์อิหร่านต้องสั่นคลอน
9
พระเจ้าชาห์โมฮัมหมัด เรซ่า ปาห์ลาวี กล่าวสาบานตนต่อหน้าสุสานของ Cyrus the Great ส่วนหนึ่งของกิจกรรมในช่วงของการเฉลิมฉลอง (Source: AP)
เหตุการณ์ก่อนหน้า
อิหร่านในช่วงปี 1970 ปกครองโดยระบอบ Constitutional Monarchy คือ ประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่คำว่า “ประชาธิปไตย” ก็เป็นเพียงในนามเท่านั้น เพราะตอนนั้นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดคือ พระเจ้าชาห์โมฮัมหมัด เรซ่า ปาห์ลาวี ซึ่งขึ้นครองราชย์ในปี 1941 หลังจากที่บิดาของพระองค์ถูกเนรเทศออกนอกประเทศโดยคำสั่งของอังกฤษ
13
พระเจ้าชาห์โมฮัมหมัด เรซ่า ปาห์ลาวี สาบานตนเข้ารับตำแหน่งต่อจากบิดาของตนเองในปี 1941 (Source: Twitter)
เนื่องจากพระองค์เป็นคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พระองค์จึงมีแนวคิดสมัยใหม่ ดังนั้นนโยบายหลักของพระองค์คือการนำพาอิหร่านไปสู่ความทันสมัย ระบบเศรษฐกิจ สาธารณสุข การศึกษา และกฎหมาย รวมไปถึงสิทธิสตรี จะต้องได้รับการพัฒนาให้ทัดเทียมกับชาติมหาอำนาจต่าง ๆ
21
และพระองค์ก็มีสิ่งที่ต้องทำมากมาย เพราะถ้ามองออกนอกพระราชวังของพระองค์ พระองค์จะพบว่าประชากรกว่า 50% ของอิหร่านอยู่ในภาวะยากจน สาธารณูปโภคของประเทศยังล้าหลัง แม้อิหร่านจะมีทรัพยากรน้ำมันมาก แต่เงินที่ได้มาจากการขายน้ำมันกลับตกอยู่ในมือคนไม่กี่คนและชาวต่างชาติ เพราะระบบราชการเต็มไปด้วยการคอรัปชั่น
25
กรุงเตหะราน ในช่วงปี 1940 (Source: Wikipedia)
เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดความไม่พอใจ โดยเฉพาะกับนักการเมืองฝ่ายค้านและเหล่าบรรดานักเรียนนักศึกษา มีการประท้วงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนกระทั่งปี 1952 พระองค์ต้องลี้ภัยไปยังกรุงโรม เพื่อหลบหนีการก่อรัฐประหาร ที่กระทำโดยนายกรัฐมนตรีโมฮัมหมัด โมซาเดก ผู้ที่พระองค์เลือกมาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง
25
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในนโยบายของโมซาเดกคือการพยายามจะทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันของประเทศเป็นของคนอิหร่าน 100% ดังนั้นเขาจึงสั่งปิดบริษัทน้ำมันต่างชาติทั้งหมดในอิหร่าน ซึ่งทำให้อังกฤษไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะตอนนี้แหล่งน้ำมันที่ทำกำไรมากที่สุดของพวกเขาโดนยึดไปแล้ว ประกอบกับมีข่าวว่าโมซาเดก เริ่มที่จะไปฝักใฝ่กับคอมมิวนิสต์ ทำให้อังกฤษ และอเมริการ่วมมือกัน เพื่อที่จะกำจัดโมซาเดกทิ้ง
19
พระเจ้าชาห์โมฮัมหมัด เรซ่า ปาห์ลาวี กับพระราชินีโซราย่า ภรรยาคนที่สอง ตอนที่ทั้งสองต้องลี้ภัยมายังกรุงโรม (Source: Flickr)
และแล้วจากความช่วยเหลือของอังกฤษ และอเมริกา พระเจ้าชาห์ก็ได้มีโอกาสเดินทางกลับมายังอิหร่านอีกครั้ง และการกลับมาในครั้งนี้ พระองค์สถาปนาตัวเอง (ในพิธีพระองค์สวมมงกุฎบนศีรษะให้ตนเอง) เป็นพระเจ้าชาห์ พร้อมมอบตำแหน่ง Shahanshah ที่แปลว่า King of King ให้กับตนเอง พระองค์ถ่ายโอนอำนาจทุกอย่างจากรัฐบาลมาอยู่ที่พระองค์แบบเบ็ดเสร็จ คำพูดของพระองค์คือสิทธิ์ขาดที่ไม่ใครอาจเถียงได้
20
งานสถาปนาพระเจ้าชาห์โมฮัมหมัด เรซ่า ปาห์ลาวี เป็น King of King (Source: cambridge.org)
พระองค์จัดการกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพระองค์ด้วยการเปลี่ยนอิหร่านให้กลายมาเป็น Police State หรือรัฐตำรวจ มีตำรวจนอกเครื่องแบบมากถึง 10000 นายทั่วประเทศ ซึ่งจะคอยตรวจตรา และจับกุมผู้ที่ “สร้างความวุ่นวาย” ทำให้ในรัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงที่อิหร่านมีนักโทษทางการเมือง และมีนักโทษที่โดนคำสั่งประหารชีวิตมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ความกลัวถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองประเทศ และอิหร่านก็กลายมาเป็นเผด็จการ 100%
33
คอนเซ็ปต์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
8
ในปี 1970 พระองค์มีความคิดที่จะ “เปิดตัว” ประเทศอิหร่านสู่สายตาชาวโลก เพื่อจะแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่าอิหร่านกำลังจะเข้าสู่ยุคทอง และพร้อมแล้วที่จะก้าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกอย่างเต็มภาคภูมิ พระองค์จึงตัดสินใจที่จะจัดงานเลี้ยงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและอลังการที่สุดเท่าที่เคยมีมา พร้อมกับเชิญผู้นำ และราชวงศ์ทั่วโลกมาเข้าร่วมงานในครั้งนี้
23
ก่อนอื่นเริ่มจากคอนเซ็ปต์ของงาน โชคดีที่พอดีปีนั้น อาณาจักรเปอร์เซียมีอายุครบ 2500 ปีพอดี (ชื่อเก่าของอิหร่านคือเปอร์เซีย) ดังนั้นพระองค์จึงถือโอกาสนี้ในการจัดงานเฉลิมฉลองอาณาจักรเปอร์เซียครบรอบ 2500 ปี จากครั้งแรกที่กษัตริย์ Cyrus The Great ก่อตั้งอาณาจักรแห่งนี้ขึ้น
20
Cyrus the Great ผู้ก่อตั้งอาณาจักร์เปอร์เซีย (Source: Wikipedia)
กษัตริย์ Cyrus The Great เป็นกษัตริย์ที่มีชื่อเสียงเรื่องความเก่งกาจในการทหาร และบริหารบ้านเมือง แต่สิ่งที่โดดเด่นในช่วงรัชสมัยของพระองค์ คือเป็นครั้งแรก ๆ ของโลกที่มีการสร้างระบบกฎหมายขึ้นมาปกครองบ้านเมือง
13
หลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งบอกถึงคุณงามความดีของ Cyrus the Great คือโบราณวัตถุที่เรียกว่า Cyrus Cylinder ซึ่งเป็นก้อนดินเหนียวรูปทรงกระบอก ที่มีการจารึกภาษาคูนิฟอร์ม ภาษาแรก ๆ ของโลก โดยเนื้อหาบนนั้นกล่าวถึงการที่พระองค์เข้ามาปกครองดินแดนแถบบาบิโลนเก่า แล้วได้รับความชื่นชมจากเหล่าบรรดาพสกนิกร และสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับดินแดนแถบนี้สืบมา และที่สำคัญที่สุดคือพระองค์คือผู้ปลดปล่อยชนกลุ่มน้อยที่โดนกักขัง (ซึ่งน่าจะหมายถึงชาวยิว) และทำการซ่อมแซมสถานที่ทางศาสนาของทุกศาสนาขึ้นมาใหม่ และ Cyrus Cylinder ก็ยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองในครั้งนี้อีกด้วย
25
สัญลักษณ์ของงานเลี้ยงในครั้งนี้ ตรงกลางคือ Cyrus Cylinder ในขณะที่ด้านบนคือสัญลักษณ์ของราชวงศ์ปาห์ลาวี (Source: Wikipedia)
ดังนั้นงานในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการฉลองครบรอบ 2500 ปีแล้ว ยังเป็นการสื่อให้ทั่วโลกเห็นว่าพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซ่า ปาห์ลาวี คือผู้สืบทอดตำแหน่งอันชอบธรรม ผู้มีความยุติธรรมและเพียบพร้อมในการปกครองอาณาจักรเปอร์เซียต่อจาก Cyrus The Great และงานในครั้งนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า “2500th Year of the Foundation of the Imperial State of Iran” โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 12-16 ตุลาคม 1971
12
แต่อิหร่านไม่มีสาธารณูปโภคที่ดีพอ ไม่มีโรงแรม 5 ดาว ไม่มีร้านอาหารดัง ไม่มีสถานที่จัดประชุมที่เหมาะสม ดังนั้นถ้าจะจัดงานเลี้ยงที่จะมีคนสำคัญระดับโลกเป็นร้อย ๆ คนมาร่วมงาน จะหาสถานที่ที่ไหนดี
11
ดังนั้นในเมื่อไม่มีสถานที่ที่เหมาะสม พระองค์เลยตัดสินใจที่จะเนรมิตสถานที่แห่งนั้นขึ้นมาใหม่แทน และเรื่องราวของการเตรียมงานเลี้ยงสุดอลังการณ์กว่า 1 ปี จึงเริ่มขึ้น
6
ผู้หญิงอิหร่านในช่วงปี 1970 นโยบายอย่างหนึ่งของพระเจ้าชาห์คือเรื่องของสิทธิสตรี ทำให้ตอนนั้นผู้หญิงอิหร่าน ไม่ต้องสวมเสื้อผ้าตามหลักศาสนาอิสลามอีกต่อไป (Source: dailymail)
โอเอซิสท่ามกลางทะเลทราย
2
ก่อนอื่นเริ่มจากการเลือกเมืองที่จะใช้เป็นสถานที่จัดงานก่อน ตัวเลือกแรกคือเมืองเตหะรานเมืองหลวง แต่เตหะรานเป็นเมืองหลวงที่ค่อนข้างใหม่ และไม่ได้มีโบราณสถานอะไรมากนัก พระองค์ต้องการจัดงานในสถานที่ที่เต็มไปด้วยมรดกทางประวัติศาสตร์ ที่จะบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเปอร์เซียในอดีต
13
หลังจากหาสถานที่อยู่นาน พระองค์ตัดสินใจเลือกเมืองโบราณ Persepolis สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศอิหร่าน เมืองนี้ถูกค้นพบในปี 1930 โดยมีหลักฐานว่าถูกสร้างในปี 515 ก่อนคริสตกาล โดยกษัตริย์ Darius ที่ 1 กษัตริย์องค์ที่ 3 ของอาณาจักรเปอร์เซีย ซึ่งในตอนที่พระองค์ครองราชย์นั้น ถือเป็นยุคทองของอาณาจักรเปอร์เซีย เพราะเปอร์เซียเพิ่งรบชนะอาณาจักรกรีกอันเกรียงไกรได้ (เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง 300) และยังได้แผ่ขยายอำนาจไปไกลถึงแอฟริกาเหนือ คาบสมุทรบอลข่าน และเอเชียกลาง
16
เมืองโบราณ Persepolis สถานที่ที่ถูกเลือกให้เป็นสถานที่จัดงานเลี้ยง (Source: tehrantimes.com)
แต่ในปี 330 ก่อนคริสตกาล เมือง Persepolis ถูกกองทัพของพระเจ้า Alexander มหาราชบุกเข้าทำลาย เมืองทั้งเมืองถูกไฟเผาวอดวายจนเกือบหมด และสุดท้ายก็ค่อย ๆ ถูกทิ้งร้างไปตามกาลเวลา จนกระทั่งถึงปี 1930 ที่เริ่มมีการขุดค้นซากของเมืองโดยนักโบราณคดีมืออาชีพอย่างจริงจัง และกลายมาเป็นเมือง Persepolis ในปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้คือสถานที่ที่เก่าแก่ที่สุดในอิหร่าน ที่ยังคงหลงเหลืออยู่จากหน้าประวัติศาสตร์ 2500 ปีของอาณาจักรเปอร์เซีย และคงไม่มีที่ไหนที่จะเหมาะกับการจัดงานไปมากไปกว่าสถานที่แห่งนี้อีกแล้ว
22
แต่ปัญหาคือ เมือง Persepolis เป็นเมืองกลางทะเลทรายแสนทุรกันดาร ที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดใดทั้งสิ้น ดังนั้นทุกอย่างต้องถูกเนรมิตขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นที่พัก ห้องอาหาร ถนนหนทาง เรียกได้ว่าพระองค์ต้องการสร้างเมืองโอเอซิสย่อม ๆ แบบ Exclusive ที่จะมีแต่แขกของพระองค์เท่านั้นที่ได้รับเชิญให้มาเยือน
14
เมืองโบราณ Persepolis ช่วงปี 1970 ที่ยังเป็นเมืองในถิ่นทุรกันดาร (Source: Wikipedia)
เนรมิตสวนสวย
หลังจากเลือกสถานที่จัดงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมการ เริ่มจากการเคลียร์พื้นที่จัดงานให้เรียบร้อยก่อน เพราะบริเวณทะเลทรายนั้นเต็มไปด้วยแมงป่อง และงูพิษหลากหลายชนิด มีการส่งทีมเข้าไปกำจัดสัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ ทำให้มีการค้นพบงูสายพันธุ์ใหม่ ๆ พร้อมฉีดพ่นสเปรย์กันสัตว์รอบบริเวณสถานที่จัดงานเป็นวงกว้างถึง 30 กิโลเมตร
15
หลังจากเคลียร์พื้นที่เรียบร้อย ก็ถึงเวลาจัดแจงตกแต่งพื้นที่ให้สวยงาม และเพราะบริเวณนี้เป็นทะเลทราย ทำให้บรรยากาศและทัศนียภาพต่าง ๆ มีแต่ซากปรักหักพัง ท่ามกลางความเวิ้งว้างว่างเปล่าสีน้ำตาล ไม่เหมาะสมกับแขก VIP ของพระองค์พระองค์จึงสั่งให้มีการเนรมิตโอเอซิสสีเขียวขจีขึ้นมา
5
ต้นไม้มากมายถูกนำเข้ามา เพื่อเนรมิตสถานที่พักสำหรับเหล่าบรรดา VIP ที่ Persepolis (Source: Pinterest)
ดินทั้งหมด 25 ไร่ถูกขนมายังสถานที่จัดงาน เพื่อใช้ในการจัดสวน โดยต้นไม้ต่าง ๆ หลากหลายสายพันธุ์ถูกนำเข้ามาจากประเทศในแถบยุโรป ตั้งแต่ดอกกุหลาบไปจนถึงต้นสนรวมกว่า 30,000 ต้น พร้อมทั้งจ้างคนจัดสวนของพระราชวังแวร์ซายส์มาเป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบและจัดสวนทั้งหมด
10
เมื่อมีสวนสวยก็ต้องมีเหล่าบรรดานกต่าง ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศให้มีความสุนทรีย์ แต่บริเวณนั้นไม่มีนกอาศัยอยู่เลย ดังนั้นทางการอิหร่านจึงสั่งนำเข้ากระจอก 20,000 ตัว จากประเทศสเปน และนกชนิดอื่น ๆ อีกกว่า 30,000 ตัว แต่ด้วยอุณหภูมิที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียสตอนกลางวัน และต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียสในเวลากลางคืน ทำให้นกส่วนใหญ่ที่นำเข้ามานั้นตายเกือบหมด ภายในเวลา 2-3 วันแรกที่พวกมันเดินทางมาถึง
33
นกกระจอกสเปนกว่า 20,000 ตัวถูกนำเข้ามาเพื่อสร้างความสุนทรีย์ให้กับแขกผู้มาเยือน ซึ่งเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว (Source: DiBird.com)
สร้างเต็นท์ระดับ 5 ดาว
3
เมื่อมีสวน มีน้ำพุ มีนก ก็มาถึงการสร้างสถานที่พักสำหรับเหล่าบรรดาแขก VIP หลังจากการประชุมกันเป็นเวลานาน จึงได้ข้อสรุปว่า สถานที่พักจะออกแบบเป็นเต็นท์กลางทะเลทราย ให้อารมณ์เหมือนกับทุกคนมาพักในแคมป์คาราวานโบราณ ที่ภายในจะเต็มไปด้วยเครื่องมืออำนวยความสะดวกระดับ 5 ดาว
16
เต็นท์จะมีทั้งหมด 50 หลัง รายล้อมไปด้วยสนามหญ้า จัดวางเป็นลักษณะดาว 5 แฉก ตัวแทนของ 5 ทวีป ออกไปจากจุดศูนย์กลางที่เป็นน้ำพุ พร้อมกับถนนราดยางอย่างดี เชื่อมเต็นท์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เหมือนกับหมู่บ้านในอุดมคติอันสงบสุข
8
เต็นท์ของเหล่าบรรดา VIP ทั้ง 50 หลัง จะถูกจัดเรียงเป็นรูปดาว 5 แฉก (Source: Wikipedia)
ส่วนการออกแบบเต็นท์จริง ๆ แล้ว อิหร่านเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการทอผ้า และการทำหัถตกรรมต่าง ๆ แต่ พระเจ้าชาห์ ผู้เติบโตมากับความหรูหราของสังคมยุโรปตัดสินใจใช้บริการของ Maison Jansen ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบภายในชื่อดังของปารีส ที่มีชื่อเสียงมากว่า 100 ปี และมีลูกค้าเป็นเศรษฐีและราชวงศ์ทั่วโลก มาเป็นผู้ออกแบบในครั้งนี้
18
เต็นท์ทุกหลังจะถูกสร้างที่สนามบินร้างชานกรุงปารีส จากนั้นส่วนประกอบต่าง ๆ จะถูกถอดออกเป็นชิ้น ๆ แล้วนำขึ้นเครื่องบิน เดินทางมายัง Persepolis เพื่อมาประกอบเป็นเต็นท์อีกทีหนึ่ง โดยการสร้างเต็นท์ทั้งหมด ต้องใช้ผ้าไหมที่มีความยาวรวม 37 กิโลเมตรเลยทีเดียว
9
ผ้าไหมรวม 37 กิโลเมตร ถูกนำมาใช้ในการสร้างเต็นท์เหล่านี้ (Source: http://www.aryamehr.org)
ในเต็นท์แต่ละหลังจะมีห้องนอน 2 ห้อง ห้องน้ำ 2 ห้อง ห้องนั่งเล่น และห้องครัวอย่างละ 1 ห้อง โดยจะมีเชฟและคนรับใช้ประจำตลอด 24 ชั่วโมง และแน่นอนต้องมีเครื่องปรับอากาศพลังสูงประจำทุกเต็นท์ ส่วนแขกที่เดินเข้ามาจะได้พบกับพรมประดับขนาดใหญ่แขวนผนัง ที่จะทอเป็นรูปของเจ้าของเต็นท์ ซึ่งนี่น่าจะเป็นสิ่งของเพียงไม่กี่อย่างที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศอิหร่านจริง ๆ
10
นอกจากเต็นท์ที่พักแล้ว ในบริเวณพื้นที่กว่า 400 ไร่ของสถานที่จัดงานแห่งนี้ ยังมีเต็นท์ขนาดใหญ่อีก 2 แห่ง ซึ่งหลังหนึ่งจะเป็น Reception Hall เพื่อใช้ในการต้อนรับแขกที่เดินทางมาถึง ส่วนอีกหลังจะเป็น Banquet Hall สถานที่จัดงานเลี้ยงรับประทานอาหาร มีการสร้างสนามกอล์ฟให้เหล่าบรรดาเซียนกอล์ฟที่อยากอวดวงสวิง มีคลับเฮาส์ สถานที่ที่บรรดาผู้นำสามารถมาพบปะพูดคุย พร้อมกับจิบเครื่องดื่มเย็นเฉียบพร้อมกับเล่นคาสิโนไปในตัว
14
โมเดลจำลองของ Maison Jansan เต็นท์ยาวด้านหน้าคือ Banquet Hall ส่วนเต็นท์ที่มีสีนย้ำเงินสลับขาวคือ Reception Hall (Source: http://www.aryamehr.org)
มีซาลอนสำหรับบุรุษ 1 แห่ง มีซาลอนสำหรับสตรี 4 แห่ง ซึ่งมีช่างทำผมจากปารีสทั้งหมด 16 คน และช่างแต่งหน้ามืออาชีพ 4 คน ประจำการอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทุกคนจะได้รับการฝึกให้สามารถติดมงกุฎกับศีรษะของเหล่าบรรดาราชินี และสตรีหมายเลขหนึ่งได้ ในเวลาไม่เกิน 2 นาที และสุดท้ายคือบังเกอร์ หลุมหลบภัยที่มีจุดประสงค์ เพื่อที่จะเก็บบรรดาเครื่องเพชรและอัญมณีราคาแพงระยับของเหล่าบรรดาแขกที่มาร่วมงานนั่นเอง
6
ส่วนในตัวเมือง Shiraz เมืองหลักของอิหร่านที่อยู่ใกล้กับ Persopolis มากที่สุด มีการสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาวใหม่ขึ้น 2 แห่ง เพื่อรองรับนักข่าว และบรรดาผู้ติดตามของแขกผู้มาเยือน ถนนหนทาง และบ้านเรือนได้รับการทาสี และซ่อมแซมใหม่ทั้งหมด
2
การเตรียมการขั้นสุดท้าย ก่อนเหล่าบรรดาแขก VIP จะเดินทางมาถึง (Source: blogspot)
อาหารระดับโลก
สิ่งหนึ่งที่จะทำให้งานเลี้ยงเป็นที่น่าจดจำ เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องของอาหาร อาหารที่อร่อย น่ารับประทาน ย่อมแสดงถึงรสนิยมของผู้จัดงานได้เป็นอย่างดี และพระเจ้าชาห์ที่เติบโตมาในสังคมไฮโซของยุโรป ย่อมเข้าใจเรื่องนี้ และจะต้องสรรหาอาหารที่ดีที่สุดมาให้แขกของพระองค์ได้ลิ้มลอง
4
และอาหารเปอร์เซีย ก็เป็นอาหารที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เนื้อเคบับ ข้าวหมกเครื่องเทศ สลัดผักสดต่าง ๆ ทำให้คนที่มาเยือนอิหร่านต่างก็ประทับใจในรสชาติอาหารเปอร์เซียไปตาม ๆ กัน แต่ถ้าถามว่าพระองค์จะเสริฟอาหารเปอร์เซียให้กับแขกของพระองค์หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่”
12
พระองค์เลือกร้านอาหารชั้นนำของปารีสชื่อ Maxim de Paris ร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลกในเวลานั้น มาดูแลจัดการเรื่องอาหารทั้งหมด ซึ่งทางร้านจะต้องปิดร้านเป็นเวลานานถึง 2 สัปดาห์ และขนเอาคนครัว เชฟ และบริกรมายัง Persepolis พร้อมกับอุปกรณ์ทำครัวอีกว่า 50 ตัน เพื่อมาเตรียมการเป็นเวลา 10 วันก่อนงานเลี้ยงจะเริ่มขึ้น
15
เมนูของร้าน Maxim de Paris อันโด่งดัง ผู้รับผิดชอบเรื่องอาหารในงานครั้งนี้ (Source: art.com)
อาหาร 18 ตันถูกนำเข้ามาจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ 2,700 กิโลกรัม เนื้อไก่และสัตว์ปีกอื่น ๆ อีก 1,280 กิโลกรัม ไข่ 360,000 ฟอง แม้กระทั่งผักสดหลายอย่างที่ปลูกได้ในอิหร่าน ก็ถูกนำเข้ามาจากฝรั่งเศส อาหารอย่างเดียวที่มาจากอิหร่านน่าจะเป็นไข่ปลาคาเวียร์ 30 กิโลกรัม
14
และแม้ว่าอิหร่านจะเป็นประเทศมุสลิมที่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องต้องห้าม แต่งานเลี้ยงในครั้งนี้เต็มไปด้วยเครื่องดื่มชั้นเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นเหล้าคอนยัคปี 1860 แชมเปญจากองุ่นปี 1911 ทั้งหมด 2,500 ขวด พร้อมทั้งไวน์แดง Bordeaux 1,000 ขวด และ Burgandy อีก 1,000 ขวด ไวน์อื่น ๆ อีก 20,000 ขวด จากปีที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ และวิสกี้ทั้งหมด 12,000 ขวด
16
แชมเปญจากองุ่นปี 1911 ที่ใช้เสริฟในงานเลี้ยงครั้งนี้ (Source: Pinterest)
ส่วนอุปกรณ์การรับประทานอาหาร จาน ชาม ช้อน ส้อมก็มาจากยี่ห้อที่ดีที่สุด และถูกสั่งทำขึ้นเพื่องานในครั้งนี้โดยเฉพาะ อาทิเช่น แก้วคริสตัลของ Baccarat เครื่องกระเบื้องของ Limoges พร้อมตราสัญลักษณ์ของราชวงศ์ปาห์ลาวี
2
จานที่ใช้ในงานเลี้ยง พร้อมตราราชวงศ์ปาห์ลาวี และลวดลายนกยูง ตามชื่อบัลลังก์นกยูงของอิหร่าน (Source: http://www.aryamehr.org)
การขนส่งระดับโลก
การเนรมิตเมืองกลางทะเลทรายขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย ๆ เพราะทั้งอาหาร เต็นท์ ผู้คน สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ จะต้องถูกขนเข้ามาทั้งหมด แต่ในเมื่อพระเจ้าชาห์เป็นเจ้าของทุกอย่างในอิหร่าน เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด
3
เริ่มจากการขยายท่าอากาศยานที่เมือง Shiraz ที่ห่างจากเมือง Persepolis 60 กิโลเมตร ให้สามารถรองรับการลงจอดของเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ จากนั้นตลอดระยะเวลา 6 เดือนของการเตรียมงาน มีเที่ยวบินพิเศษโดยเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศอิหร่านกว่า 100 เที่ยวบิน เดินทางระหว่างปารีสและ Shiraz ตลอดเวลา เพื่อขนเอาทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่จาน ชาม ช้อน ส้อม ไปจนถึงผ้าม่านจากอิตาลี รถลิมูซีน Mercedes Benz หุ้มเกราะ 250 คัน จากเยอรมัน แม้กระทั่งน้ำแข็งก็ยังถูกลำเลียงมาเป็นก้อนขนาดใหญ่เพื่อนำมาตัดใส่เครื่องดื่มอีกทีหนึ่ง
17
เครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศอิหร่านกว่า 100 เที่ยวบินเดินทางไปมาระหว่าง Shiraz และปารีส ในช่วงเวลาเตรียมงาน (Source: KNAviation)
จากสนามบิน ทางการอิหร่านได้สร้างถนนไฮเวย์อย่างดี เพื่อเชื่อมเมือง Shiraz กับ Persopolis เข้าด้วยกัน ของทุกอย่างจะถูกลำเลียงออกมาจากเครื่องบิน ใส่รถบรรทุกทหาร พร้อมทีมคุ้มกัน เพื่อเดินทางไปยัง Persepolis อีกทีหนึ่ง
6
การคุ้มกัน และการปิดปาก
3
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ประชาชนหลายคนไม่พอใจในตัวของพระเจ้าชาห์ โดยเฉพาะการจัดงานในครั้งนี้ที่ใช้งบประมาณประเทศจำนวนมหาศาล ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านไปทั่ว ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ภาพลักษณ์ของอิหร่านดูแย่ในสายตาของผู้มาเยือน และอาจจะทำให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัย
7
และในเมื่อพระองค์ไม่สามารถทำให้ผู้ประท้วงพอใจได้ พระองค์จึงตัดสินใจที่จะทำให้พวกเข้าเงียบด้วยการให้ตำรวจนอกเครื่องแบบ จับตัวเหล่าบรรดาแกนนำนักศึกษา และผู้ประท้วงทุกคนไปขังคุกไว้ตลอดช่วงเวลาของการเฉลิมฉลอง มีการเข้าค้นบ้านและที่พักของเหล่าบรรดาผู้ต้องสงสัย ทำให้ในตอนนั้นมีคนที่ถูกจับในข้อหาก่อความไม่สงบกว่า 5,000 คน และเพื่อเป็นการการันตีว่าจะไม่มีการประท้วงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน พระองค์จึงสั่งปิดมหาวิทยาลัยทั้งหมดในช่วงเวลานั้น
33
การประท้วงของชาวอิหร่าน ที่กล่าวหาพระเจ้าชาห์คือหุ่นเชิดของ CIA (Source: https://openspace.sfmoma.org)
ในตอนนั้น หนึ่งในบุคคลที่พระองค์ต้องการกำจัดมากที่สุดคือ อิหม่ามอยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำทางศาสนาที่ต่อต้านพระองค์อย่างสุดกำลัง และมีผู้สนับสนุนเยอะมาก สิ่งที่พระองค์ทำคือ พระองค์ส่งทีมตำรวจบุกเข้าไปในมัสยิดที่โคไมนีอยู่ แล้วจัดการจับตัวและเนรเทศโคไมนีออกไปจากอิหร่าน โดยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าท่านอิหม่ามต้องเดินทางซักระยะหนึ่ง มาถึงตอนนี้ก็ไม่มีใครมาประท้วงพระองค์ได้อีกแล้ว
9
สำหรับเหล่าบรรดาแขก VIP ที่พระองค์เชิญมานั้นมีประมาณ 200 คน ซึ่งจะได้รับการดูแลโดยทหารกว่า 60,000 คน ถนนจาก Shiraz ถึง Persepolis มีจุดตรวจกระจายอยู่มากมาย และที่สำคัญที่สุดคือตลอดช่วงเวลางาน น่านฟ้าและพรมแดนอิหร่านทั้งหมดถูกปิด ไม่มีใครสามารถเดินทางเข้า-ออก จากประเทศได้นอกจากแขกของพระองค์เท่านั้น
18
โคไมนีตอนที่ต้องลี้ภัยไปที่อิรัก (Source: Pinterest)
โปรโมทและประชาสัมพันธ์
4
การจัดงานเลี้ยงขนาดใหญ่แบบนี้ แน่นอนว่าพระองค์ย่อมต้องการที่จะประกาศให้โลกได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเปอร์เซียของพระองค์ และตัวพระองค์เอง ดังนั้นทางการอิหร่านจึงได้เซ็นสัญญากับสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อถ่ายทอดสดงานพิธีทั้งหมด
13
ทางสถาบันภาพยนตร์แห่งชาติของอิหร่าน จ้างผู้กำกับและนักแสดงจากฮอลลีวู้ด Orson Welles เพื่อมากำกับภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับงานเลี้ยงในครั้งนี้ โดยให้ชื่อภาพยนตร์ว่า “Flame of Persia” โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือ ทางการอิหร่านจะให้เงินสนับสนุนในการสร้างภาพยนตร์กับเขา ซึ่งภาพยนต์เรื่องนั้นคือ “The Other Side of the Wind” เข้าฉายเมื่อปี 2008 กว่า 40 ปี หลังจากงานเลี้ยงจบลง
18
ภาพโปรโมทภาพยนตร์ Flame of Persia (Source: iranianmovies.com)
สถานฑูตอิหร่านทั่วโลกได้รับคำสั่งให้จัดงานโปรโมทประเทศอิหร่านในธีมการครบรอบ 2500 ปีของอาณาจักรเปอร์เซีย หนังสือเกี่ยวกับอิหร่านหลายเล่มได้รับการตีพิมพ์ไปทั่วโลก
2
การโปรโมทของพระองค์ได้ผล เพราะสำนักข่าวทั่วโลกต่างตั้งหน้าตั้งตารองานเลี้ยงในครั้งนี้ และการประชาสัมพันธ์ของอิหร่านก็ทำได้ดีด้วย มีการแอบปล่อยเมนูอาหารสุดหรูออกไปให้กับบรรดานักข่าว ทุกคนต่างก็คาดการณ์ถึงงบประมาณในการจัดงาน รวมไปถึงหัวข้อที่ฮอทฮิตที่สุด นั่นก็คือชุดและอัญมณีของเหล่าบรรดาราชินี และสตรีหมายเลขหนึ่งที่จะมาร่วมงาน
4
สำหรับราชวงศ์ปาห์ลาวีนั้น ชุดต่าง ๆ ภายในงานถูกออกแบบโดยห้องเสื้อ Lanvin จากปารีส โดยมีคอนเซ็ปต์คือ “Elegance above all” พร้อมกับงบประมาณที่ไม่จำกัด ด้ายทอง อัญมณี ผ้าไหมอย่างดีถูกนำมาใช้ในการตัดชุด และสนนราคาของชุดแต่ละชุดนั้นไม่ต่ำกว่า 10,000 ดอลล่าร์ และในเมื่อเจ้าภาพจัดเต็มขนาดนี้ บรรดาแขกสตรีคนอื่นก็ต้องไม่แพ้เช่นกัน นี่คืองาน Red Carpet ของเหล่าบรรดาผู้นำทั่วโลกอย่างแท้จริง
15
ชุดวันในวันกาล่าดินเนอร์ของจักรพรรดินีฟาราห์ โดยห้องเสื้อ Lanvin (Source: Pinterest)
เรื่องตลกก็คือหลังงานจบลง มีการตีพิมพ์ยี่ห้อเสื้อผ้า และเครื่องประดับของเหล่าบรรดาแขกเหรื่อทุกคน แต่ผู้ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดนอกจากพระเจ้าชาห์ และจักรพรรดินีฟาราห์ ก็คือสุนัขของจักรพรรดิ Haile Selassie จากเอธิโอเปีย ที่สวมปลอกคอเพชร ซึ่งหลายคนคาดการณ์กันว่าแพงกว่าสร้อยคอ หรือมงกุฎของราชินีหรือเจ้าหญิงบางองค์เสียอีก
17
จักรพรรดิ Haile Selassie จากเอธิโอเปียกับสุนัขตัวโปรดของพระองค์ (Source: Twitter)
งานเริ่ม!
6
และแล้วก็ถึงโค้งสุดท้ายของการจัดงาน ต้นไม้ทุกต้น เต็นท์ทุกหลัง สิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างพร้อมจะต้อนรับแขกผู้มาเยือน ถนนจากสนามบิน Shiraz มายัง Persepolis ถูกประดับด้วยไฟทุก ๆ 100 เมตร พร้อมต้นสนเรียงรายสองข้างทาง
7
รายชื่อของแขกที่มาเยือนนั้น เป็นหนึ่งในรายชื่อแขกที่อลังการณ์ที่สุดในโลก เพราะเป็นครั้งแรกที่มีเหล่าบรรดาผู้นำและราชวงศ์ต่าง ๆ ทั่วโลกมารวมตัวกันที่งานเลี้ยงงานเดียวกันมากมายขนาดนี้
4
ราชวงศ์ที่มาร่วมงานในครั้งนี้ก็อาทิเช่น จักรพรรดิ Haile Selassie ของเอธิโอเปีย กษัตริย์และราชินีของเดนมาร์ก เนปาล เบลเยี่ยม นอร์เวย์ กรีซ อัฟกานิสถาน เจ้าชายหรือเจ้าหญิงจากโมนาโค ลักเซมเบิร์ก สเปน อิตาลี สวีเดน ญี่ปุ่น โมร็อคโค เป็นต้น ส่วนตัวแทนของประเทศไทยคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล
13
(ซ้ายไปขวา) จักรพรรดิ Haile Salassie จากเอธิโอเปีย จักรพรรดินีฟาราห์แห่งอิหร่าน ซึ่งกำลังพูดคุยกับ พระราชาดูอินและราชินีฟาบิโอลาแห่งเบลเยี่ยม (Source: reddit)
แต่ราชวงศ์ที่ทุกคนต่างจับตามองคือราชวงศ์วินเซอร์ของอังกฤษ ทุกคนต่างคาดการณ์ไปต่าง ๆ นา ๆ ว่าสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 จะเดินทางมาร่วมงานหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าทางสำนักพระราชวังไม่แนะนำให้พระองค์เดินทางมา เพราะถ้าพระองค์มาร่วมงานอาจเป็นการสื่อความหมายว่าพระองค์จะต้องมาเคารพ “King of King” นั่นเอง ดังนั้นราชวงศ์วินเซอร์จึงส่งเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ และเจ้าหญิงแอนน์ ลูกสาวคนโตของพระองค์มาร่วมงานแทน
16
เจ้าหญิงเกรซ แห่งโมนาโค ทำความเคารพระเจ้าชาห์ (Source: Pinterest)
ส่วนประเทศที่ไม่มีกษัตริย์ ต่างก็ส่งนายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดี มาเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ประธานาธิบดีซูฮาร์โต้จากอินโดนีเซีย มาร่วมงานพร้อมกับประธานาธิบดีจากออสเตรีย บราซิล ฟินแลนด์ อินเดีย ปากีสถาน โรมาเนีย ตุรกี สวิสเซอร์แลนด์ ยูโกสลาเวีย เป็นต้น นายกรัฐมนตรีจากเกาหลีใต้ อิตาลี และฝรั่งเศส ก็เดินทางมาร่วมงานพร้อมกับสตรีหมายเลขหนึ่งอิเมลด้า มาร์คอสของฟิลิปปินส์
7
อิเมลด้า มาร์คอส สตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศฟิลิปปินส์ จับมือกับพระเจ้าชาห์ในคืนงานกาล่าดินเนอร์ (Source: pinterest)
ส่วนสหรัฐอเมริกา ส่งรองประธานาธิบดีสไปโร แอคนิวส์ มาแทนประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เนื่องจากเหตุผลทางด้านความปลอดภัย ส่วนสหภาพโซเวียตส่งคณะกรรมการพรรคคนสำคัญมาเข้าร่วมงาน แม้กระทั่งสำนักวาติกัน ซึ่งไม่ค่อยส่งตัวแทนมาร่วมงาน ก็ยังส่งพระคาร์ดินัลองค์หนึ่งมาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย
12
งานพิธีเฉลิมฉลองเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคม 1971 ที่สุสานของ Cyrus the Great ที่เมือง Pasargadae พระเจ้าชาห์ในชุดจักรพรรดิเต็มยศ และจักรพรรดินีฟาราห์ ภรรยาของพระองค์ พร้อมมกุฎราชกุมารเรซ่า ทำพิธีถวายความเคารพกับ Cyrus the Great พร้อมกับเหล่าบรรดากองทัพของพระองค์ โดยพระองค์ได้กล่าวคำสาบานต่อหน้าสุสานว่า พระองค์จะประพฤติตนเป็นทายาทที่ดี และราชวงศ์ปาห์ลาวี จะนำพาอิหร่านไปสู่ความรุ่งโรจน์เหมือนในอดีตอีกครั้งหนึ่ง ว่ากันว่าตอนที่พระองค์กล่าวสุนทรพจน์นั้น มีพายุฝุ่นเกิดขึ้นบริเวณทะเลทรายรอบ ๆ สุสานด้วย
26
งานพระราชพิธีสาบานตนต่อหน้าหลุมศพของ Cyrus the Great (Source: Pinterest)
วันที่ 13-14 เหล่าบรรดาแขกเหรื่อก็เริ่มเดินทางมาถึง ผู้นำทั่วโลกต่างเดินทางมาด้วยเครื่องบินส่วนตัว ซึ่งถ้าผู้นำท่านไหนมีความสำคัญมากพอ พระเจ้าชาห์ก็จะเสด็จไปรับที่สนามบิน Shiraz ด้วยตัวของพระองค์เอง
8
จากนั้น งานพิธีก็เริ่มขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม 1971 ในช่วงเช้านักข่าวจากสำนักข่าวทั่วโลกต่างมารออยู่ที่สถานที่จัดงาน นักข่าวหลายคนบอกว่าบรรยากาศนั้นดูเหมือนหลุดออกมาจากฉากของภาพยนตร์ James Bond ก็ไม่ปาน เพราะถ้าใครได้มีโอกาสเดินเข้าไปในหมู่บ้านก็อาจจะพบกับประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ของอินโดนีเซีย กำลังยืนคุยกับประธานาธิบดีของออสเตรีย ในขณะที่เต็นท์ข้าง ๆ พระราชินีอิงกริดของเดนมาร์ก ก็กำลังดื่มชากับพระสวามีของพระองค์อยู่
14
บรรยากาศในสถานที่พักของเหล่าบรรดาผู้นำ (Source: http://www.aryamehr.org)
ส่วนเหล่าบรรดาราชวงศ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะราชวงศ์จากยุโรป ซึ่งส่วนมากเป็นญาติกัน ก็จะไปที่คลับเฮาส์ เพื่อดื่มสังสรรค์ พบปะพูดคุย ร่วมกับบรรดาผู้นำต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลก เรียกได้ว่างานครั้งนี้เป็นเหมือนงานที่รวมบุคคล Exclusive ทั้งกษัตริย์ จักรพรรดิ พระราชา พระราชินี นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี จากประเทศคอมมิวนิวต์ และประเทศทุนนิยม มารวมกันในที่เดียวกันได้มากขนาดนี้
10
ครั้งแรกของโลก ที่บรรดาผู้นำจากทั่วทุกมุมโลกมารวมตัวกันในสถานที่เดียวกันมากมายขนาดนี้ (Source: royalwatcher.com)
ส่วนเย็นวันนั้นเป็นงานที่ทุกคนรอคอย ซึ่งก็คืองานกาล่าดินเนอร์ต้อนรับผู้มาเยือน เหล่าบรรดาแขกสตรีทุกคนต่างสวมใส่เสื้อผ้าที่แพงที่สุด ดีที่สุด และสวยที่สุด พร้อมอัญมณีมาประชันกัน แต่ปัญหาใหญ่ก็เกิดขึ้นจนได้
9
แน่นอนว่าแขกเหรื่อ VIP มากมายขนาดนี้ ย่อมจะมีคนที่มาก่อน มาหลัง และมาสายเป็นธรรมดา ทำให้เกิดการรอคิวกันบริเวณหน้าเต็นท์ เพราะตามหลักสากลแล้ว กษัตริย์ และราชวงศ์ต้องเดินเข้ามาก่อนนายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดีเสมอ และวันนั้นมีพายุทะเลทรายพอดี ดังนั้นเสื้อผ้า หน้าผมของบรรดาเหล่าแขกสตรีนั้นก็ค่อนข้างยับเยินพอสมควรทีเดียว
24
พระเจ้าชาห์ กล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน จากซ้ายมาขวาคือ เจ้าหญิงมูน่าแห่งจอร์แดน เจ้าชายบาดูอินแห่งเบลเยี่ยม สมเด็จพระราชินีอิงกริดแห่งเดนมาร์ค ส่วนด้านขวาของพระเจ้าชาห์คือ เจ้าหญิงฟาบิโอลาแห่งเบลเยี่ยม สมเด็จพระราชาฮุซเซนของจอร์แดน สมเด็จพระราชินีแห่งมาเลเซีย และกษัตริย์เลโซโธ (Source: https://www.aryamehr.org)
แต่ในที่สุดงานก็เริ่มต้นขึ้น และเมื่อเดินเข้าไปในเต็นท์ Banquet Hall แขกทั้ง 600 คนจะได้พบกับการตกแต่งที่วิจิตรตระการตา โคมระย้าคริสตัลห้อยลงมาจากเพดาน พร้อมกับโต๊ะขนาดใหญ่ ยาว 70 เมตร ที่เลื้อยย้าวโค้งไปด้านหน้าของเต็นท์ ซึ่งแขก VIP ทุกคนจะนั่งหันหน้าไปในทางเดียวกันบนโต๊ะยาวตัวนี้ ว่ากันว่าหญิงสาวชาวอิหร่านกว่าร้อยคน ใช้เวลานานถึง 6 เดือนเพื่อที่จะเย็บผ้าปูโต๊ะขึ้น
15
โต๊ะของบรรดาแขก VIP ยาว 70 เมตร (Source: angelfire.com)
ส่วนเมนูอาหารนั้นจะมาในหนังสือเล่มหนา มีทั้งภาษาเปอร์เซียและภาษาฝรั่งเศส ซึ่งวัตถุดิบมีทั้งไข่นกกระทา เนื้อแกะตุ๋น และที่เด็ดที่สุดคือนกยูงอบ โดยอาหารตั้งแต่จานแรกจนถึงจนสุดท้ายนั้น ใช้เวลาเสริฟนานถึง 6 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นการเสริฟอาหารที่ยาวนานที่สุดในโลกตามสถิติของกินเนสบุ๊คเลยทีเดียว และอาการทุกจานก็เสริฟมาพร้อมกับไวน์ และเครื่องดื่มชั้นยอด
15
เมนูอาหารสำหรับแขก VIP ทุกคน (Source: Pinterest)
แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังของการเตรียมอาหารเหล่านั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวาย หัวหน้าพ่อครัวถึงกับต้องถูกนำตัวส่งเต็นท์พยาบาล เนื่องจากอาการเครียดเพื่อเข้าไปรับยากล่อมประสาท และบริเวณห้องครัวก็ร้อนมาก ทำให้พ่อครัวหลายคนถึงกับต้องยืนทำอาหารในชุดกางเกงในตัวเดียวกันเลยทีเดียว
23
และข้อผิดพลาดที่หลายคนไม่ทราบคือ เครื่องทำกาแฟทั้งงานมีเพียงเครื่องเดียวเท่านั้น ซึ่งสามารถชงกาแฟได้ทีละ 2 แก้ว ซึ่งไม่ทันแขก 600 คนแน่ ๆ ดังนั้นจึงมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการนำเนสกาแฟผง 20 กิโลกรัม มาทำเป็นกาแฟ นี่คืออาหารไม่กี่อย่างที่เหล่าบรรดาแขก VIP ทานเหมือนกับคนทั่วไป
31
บรรยากาศในงานกาล่าดินเนอร์ (Source: blogspot)
หลังจากมื้ออาหารจบแล้ว ค่ำคืนในวันนั้นจบลงด้วยการแสดงแสง สี เสียงที่บริเวณเมือง Persepolis ภายใต้อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ซึ่งมีเซอร์ไพรส์ตอนจบคือการจุดพลุ ซึ่งก่อนหน้านั้นเกิดเหตุการณ์ไฟดับนานเป็นเวลาถึง 3 นาที ทำให้แขกหลายคนตกใจเพราะนึกว่าผู้ก่อการร้ายได้บุกเข้ามาในงานเลี้ยง
20
บรรยากาศการชมการแสดง แสง สี เสียง ภายใต้อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส (Source: http://www.aryamehr.org)
ในวันรุ่งขึ้น 15 ตุลาคม 1971 มีการจัดพาเหรดแสดงถึงประวัติศาสตร์ 2500 ปีของอาณาจักรเปอร์เซีย ซึ่งมีนักแสดงกว่า 25,000 ชีวิตเข้าร่วมการแสดงในครั้งนี้ ขบวนพาเหรดเริ่มจากตอนที่ Cyrus the Great ค้นพบอาณาจักรเปอร์เซียจนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งการแสดงทุกชุดนั้นเกิดจากการค้นคว้าและศึกษาข้อมูลต่าง ๆ มาเป็นอย่างดี รายละเอียดทุกอย่างของชุด เครื่องประดับ สิ่งจำลองอย่างเรือ หรือยานพาหนะ ถูกสร้างขึ้นมาอย่างประณีตบรรจง เพื่อให้สมศักดิ์ศรีความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเปอร์เซีย และที่น่าสนใจที่สุดคือเครื่องดนตรีบางชนิดที่สูญหายไปแล้ว ก็ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
6
ขบวนพาเหรดอันยิ่งใหญ่ ในเช้าวันที่ 15 ตุลาคม (Source: http://worldhistory-photos.blogspot.com)
วันที่ 16 ตุลาคม แขกบางคนเดินทางกลับประเทศตนเอง ในขณะที่บางส่วนเดินทางต่อไปยังเตหะราน เพื่อร่วมงานเฉลิมฉลองที่เหลือ ซึ่งประกอบไปด้วยงานสถาปนาอนุสาวรีย์ Shahyad (ปัจจุบันชื่อว่า Azadi Tower) ซึ่งภายในมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชาติเปอร์เซียอยู่ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือแบบจำลองของ Cyrus Cylinder เพราะของจริงนั้นถูกเก็บไว้ที่ประเทศอังกฤษ
20
งานเปิดตัว Shahyad Tower ส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองในครั้งนี้ (Source: gettyimages)
พระราชพิธีทั้งหมดจบลงที่พระเจ้าชาห์ไปเคารพศพบิดาของพระองค์ จากนั้นพรมแดนอิหร่านก็เปิดอีกครั้ง นักเรียนนักศึกษาที่โดนจับบางคนได้รับการปล่อยตัว และประเทศก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
4
งานแปรอักษร ที่สนามกีฬาแห่งชาติ ส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลอง (Source: Wikipedia)
เหตุการณ์หลังจากนั้น
งานเลี้ยงเฉลิมฉลองในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จไปทั่วโลกในแง่ที่ว่าอิหร่านกลายมาเป็นที่รู้จักของทุกคนภายในชั่วข้ามคืน สำนักข่าวทั่วโลกต่างพากันปล่อยภาพงานเลี้ยงสุดหรู ที่เต็มไปด้วยความตระการตา ภาพของผู้นำทั่วโลกจับมือและกินเลี้ยงสังสรรคกับพระเจ้าชาห์ถูกตีพิมพ์ไปทั่วโลก
นิตยสาร TIMES บอกว่างานเลี้ยงครั้งนี้คือ “The greatest gathering of the century” นิตยสารบางเล่มบอกว่านี่คือ “The mother of all parties” นิตยสาร LIFE บอกว่านี่คือ “The party of the century”
3
พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซ่า ปาห์ลาวี กับกษัตริย์ฮุซเซนของจอร์แดน ด้านบน และตัวแทนของสหภาพโซเวียต ด้านล่าง (Source: https://www.aryamehr.org)
ช่วงเวลานี้ควรเป็นช่วงเวลาที่พสกนิกรอิหร่านควรจะต้องภาคภูมิใจ เพราะตอนนี้กษัตริย์ของพวกเขาได้รับการยอมรับจากผู้นำทั่วโลก และอิหร่านก็ได้ก้าวเข้าสู่สังคมโลกอย่างเต็มภาคภูมิ
4
แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ชาวอิหร่านที่นั่งชมการถ่ายทอดสดเริ่มสงสัยว่า ทำไมงานเลี้ยงเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ของอิหร่าน กลับไม่มีชาวอิหร่านภายในงานเลย แม้แต่คณะรัฐบาลของอิหร่านก็ไม่ได้รับคำเชิญให้มาร่วมงาน มีแต่แขกต่างชาติ ชาวอิหร่านที่ปรากฏอยู่กลับมีแค่ทหาร ตำรวจ หรือคนรับใช้และบริกรที่คอยเสริฟอาหารเท่านั้น
6
บรรยากาศภายในงานกาล่าดินเนอร์ ที่ปราศจากคนอิหร่าน ผู้หญิงในชุดสีแดงคือเจ้าหญิงแอนน์จากอังกฤษ กำลังคุยกับโจเวนก้า ติโต สตรีหมายเลขหนึ่งของยูโกสลาเวีย (Source: https://www.aryamehr.org/)
ประเด็นอีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของค่าใช้จ่าย จากการสัมภาษณ์พระเจ้าชาห์ พระองค์บอกว่าค่าใช้จ่ายในครั้งนี้น้อยมาก เพราะมีเพียงแค่ค่าอาหารและของขวัญ ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่อิหร่านได้กลับมาทั้งชื่อเสียงและเงินบริจาค ซึ่งค่าอาหารและของขวัญที่พระองค์พูดถึงนั้นคือ 17 ล้านดอลล่าร์ ซึ่งเทียบเท่ากับ 114 ล้านดอลล่าร์ในมูลค่าปัจจุบัน เงินจำนวนนี้เป็นงบประมาณอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลอิหร่านที่มีการประกาศออกมาในตอนนั้น
13
แต่จากการคำนวณของสถาบันต่าง ๆ ในต่างประเทศ ผู้จัดงานคนหนึ่งคาดการณ์ว่างบประมาณน่าจะอยู่ที่ 22 ล้านดอลล่าร์ หรือ 148 ล้านดอลล่าร์ในปัจจุบัน ซึ่งเงินส่วนใหญ่มาจากการบริจาคของภาคเอกชน แต่นิตยสาร TIME คาดว่างบประมาณน่าจะอยู่ที่ 100 ล้านดอลล่าร์ หรือ 635 ล้านดอลล่าร์ในปัจจุบัน ถ้าเทียบกันแล้วในปีถัดมา มีการจัดการแข่งขันโอลิมปิคที่กรุงมิวนิก ประเทศเยอรมัน ซึ่งงบประมาณในการจัดนั้น เท่ากับ 1 พันล้านดอลล่าร์ในเงินปัจจุบัน ซึ่งแปลว่างานเลี้ยงของพระองค์ มีงบประมาณเกือบเท่าการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายจริง ๆ นั้นอาจจะสูงกว่านั้นก็ได้
25
ขบวนเรือในขบวนพาเหรด ที่ได้รับการสร้างอย่างประณีตบรรจง (Source: https://www.aryamehr.org)
ค่าใช้จ่ายมหาศาลที่ถูกนำมาจัดงานเลี้ยง ในขณะที่เมืองหลายเมืองของอิหร่านยังไม่มีหมอ ไม่มีโรงเรียน ไม่มีไฟฟ้าและน้ำใช้ เด็กหลายคนขาดสารอาหาร ประชาชนอยู่ในภาวะยากจน ถูกตีเป็นข่าวไปทั่วอิหร่าน และทั่วโลก
16
ภาพของการดื่มแอลกอฮอล์สิ่งต้องห้ามสำหรับศาสนาอิสลามทำให้พสกนิกรของพระองค์ไม่พอใจ เหล่าบรรดานักเรียนนักศึกษาที่ถูกปล่อยตัวออกมา ต่างออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อต่าง ๆ ว่าพวกเขาโดนทุบตีทรมาน ให้สารภาพในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ทำตอนที่ถูกคุมขัง โคไมนีที่ตอนนี้กำลังลี้ภัยอยู่บอกว่า การจัดงานในครั้งนี้คือ “Devil’s Party”
10
สิ่งเหล่านี้ทำให้คนรอบตัวของพระองค์เริ่มตีตนออกห่าง ผู้สนับสนุนหลายคนเริ่มไปเข้ากับฝ่ายตรงข้าม และแม้พระองค์จะพยายามจับศัตรูทางการเมืองมากเท่าไร ก็ไม่สามารถหยุดยั้งคลื่นของการปฏิวัติได้ จนสุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไป 3 ปี พระองค์ออกมาประกาศต่อหน้าสาธารณชน พร้อมขอโทษและยอมรับถึงความผิดพลาดในการบริหารประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการจัดงานเลี้ยงในครั้งนี้นั่นเอง แต่ทุกอย่างก็สายไปเสียแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่สามารถกู่กลับมาได้ และพสกนิกรก็ไม่พร้อมที่จะให้อภัยพระองค์อีกต่อไป
30
พระเจ้าชาห์ออกมายอมรับถึงความผิดพลาดในการบริหารประเทศในปี 1974 ซึ่งสายเกินไปเสียแล้ว (Source: AP)
ในปี 1979 เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า Islamic Revolution หรือการปฏิวัติอิสลามขึ้น อิหม่ามอยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี หนึ่งในผู้นำการปฏิวัติเดินทางกลับมาจากการเนรเทศ และกลายมาเป็น Supreme Leader หรือผู้นำสูงสุด และอิหร่านก็กลายมาเป็นสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ที่ใช้หลักศาสนามาเป็นกฎหมายมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนราชวงศ์ปาห์ลาวีก็โดนเนรเทศ และต้องลี้ภัย พระองค์และครอบครัวต้องเดินทางย้ายประเทศไปเรื่อย ๆ เพราะไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน คนในประเทศนั้นก็มักจะไม่ต้อนรับพระองค์ ตอนที่พระองค์เดินทางไปยังอเมริกาเพื่อเข้ารับการรักษาตัวทางการแพทย์นั้น ชาวอิหร่านบุกเข้าไปยังสถานฑูตของอเมริกาในกรุงเตหะราน จนเกิดเหตุการณ์จับตัวประกันขึ้นที่กินเวลายาวนานถึง 444 วัน
34
การปฏิวัติอิสลามอิหร่านปี 1979 (Source: Wikipedia)
สุดท้ายพระองค์เสียชีวิตและถูกฝังที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์มาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนในอิหร่านนั้นทุกอย่างที่แสดงถึงราชวงศ์ปาห์ลาวีล้วนถูกทำลายลงจนหมดสิ้น
7
จักรพรรดินีฟาราห์ อยู่เคียงข้างพระสวามีของพระองค์จนวันสุดท้าย (Source: reddit)
ซากโอเอซิส
1
คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับสถานที่จัดงานหลังจากที่แขกทุกคนกลับไปแล้ว เต็นท์ต่าง ๆ ถูกแปลงให้กลายมาเป็นสถานที่จัดงานประชุม และปล่อยเช่าให้ใครก็ตามที่ต้องการ จนกระทั่งถึงปี 1979 ในช่วงของการปฏิวัติ เต็นท์เหล่านี้โดนชาวบ้านบุกเข้าไปขโมยสิ่งของต่าง ๆ จนกระทั่งปัจจุบันเหลือเพียงโครงเสาอยู่เท่านั้น
6
ซากของเต็นท์ที่ Persepolis ที่ยังคงตั้งตระหง่านมาจนถึงทุกวันนี้ (Source: Wikipedia)
แต่อีกอย่างที่น่าสนใจคือสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่าบรรดาราชวงศ์ที่มาร่วมงาน ในปี 1973 ราชวงศ์ของกรีซ ถูกล้มล้าง พร้อมกับสมาชิกราชวงศ์ที่ต้องลี้ภัยไปอยู่อังกฤษ เช่นเดียวกันกับราชวงศ์ของอัฟกานิสถานที่ถูกล้มล้างเช่นกัน ต่อมาอีก 1 ปี จักรพรรดิ Haile Selassie จักรพรรดิองค์สุดท้ายของแอฟริกาก็โดนรัฐประหาร และฆาตกรรม และต่อมาในปี ในปี 1979 ราชวงศ์ปาห์ลาวีก็ล่มสลายลง สิ้นสุดสถาบันกษัตริย์ของอาณาจักรเปอร์เซียที่มาอย่างต่อเนื่องกว่า 2500 ปี ดังนั้นงานเลี้ยงในครั้งนี้คืองานเลี้ยงสุดท้ายในฐานะราชวงศ์ของพวกเขาเหล่านี้นั่นเอง
19
ภาพของเหล่าองครักษ์ ที่ยังจงรักภักดีกับพระเจ้าชาห์ ก้มลงจูบมือของพระองค์ ในวันที่พระองค์ต้องลี้ภัยออกจากอิหร่าน (Source: pulsemedia.org)
บทสรุป
2
จริง ๆ แล้วถ้าไปดูสารคดี จะมีการสัมภาษณ์พระเจ้าชาห์หลายครั้ง ถึงการจัดงานเลี้ยงในครั้งนี้นะครับ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าลึก ๆ แล้วพระองค์น่าจะรู้ว่าพสกนิกรของพระองค์ไม่ค่อยพอใจเท่าไร แต่พระองค์คงจะหวังว่าความยิ่งใหญ่ และผลที่ได้รับ จะทำให้พสกนิกรของพระองค์เปลี่ยนใจได้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผลของมันไม่ได้ออกมาเป็นเช่นนั้น
11
นอกจากนี้ แม้ว่าพระองค์จะมีเจตนาที่ดีในการนำอิหร่านไปสู่ความทันสมัยและรุ่งโรจน์ แต่พระองค์ไม่ได้ถูกเตรียมพร้อมมาสำหรับตำแหน่งกษัตริย์ เพราะพระองค์ใช้ชีวิตโดยมากในยุโรป ไม่ใช่ในประเทศอิหร่าน พระองค์ไม่ได้รับรู้ถึงความเป็นไปในประเทศของตนเองเลย นอกจากนี้เมื่อพระองค์เริ่มปกครองอิหร่าน พระองค์ก็ไล่คนที่คิดเห็นต่างกับพระองค์ออกหมดหรือไม่ก็จับขังคุก ส่วนคนที่อยู่รอบตัวพระองค์ต่างก็ไม่กล้าขัดคำสั่ง ทำให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่ผิดพลาดไม่ได้รับการแก้ไข
20
จักรพรรดินีฟาราห์ และพระเจ้าชาห์ในขณะที่ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศเม็กซิโก (Source: Pinterest)
และจากการสัมภาษณ์หลายครั้ง พระองค์บอกอย่างชัดเจนว่าพระองค์เป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากพระเจ้า และชาวอิหร่านทุกคนจะมี “ความสัมพันธ์พิเศษกับสถาบันกษัตริย์” เสมอ ซึ่งถ้าดูจากประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าราชวงศ์ปาห์ลาวีของพระองค์นั้นเพิ่งเกิดขึ้นได้มานาน โดยเริ่มมาจากการที่บิดาของพระองค์ซึ่งคุมกองทัพอยู่ในขณะนั้นก่อรัฐประหารล้มล้างราชวงศ์คาจาร์ แล้วสถาปนาตนเองขึ้นมาเป็นกษัตริย์พร้อมกับสถาปนาราชวงศ์ปาห์ลาวีขึ้นมาปกครองอิหร่าน ดังนั้นราชวงศ์ของพระองค์ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดใดกับราชวงศ์โบราณของอิหร่านเลยแม้แต่น้อย และชาวอิหร่านก็ไม่ได้เคารพพระองค์อย่างที่พระองค์คิดแต่อย่างใด
35
การปฏิวัติอิสลามอิหร่าน ทำให้โคไมนี ขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศอิหร่านแทน (Source: timeofisrae.com)
และสุดท้ายการไม่ยอมรับในความผิดพลาด ไม่ออกมาขอโทษสาธารณชน พร้อมกับการที่คนที่อยู่รอบตัวของพระองค์ไร้ความสามารถ และพูดแต่สิ่งที่พระองค์อยากฟัง ก็นำไปสู่ความล้มเหลวในการบริหารประเทศ และความล่มสลายของราชวงศ์ปาห์ลาวีในที่สุด ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับราชวงศ์และรัฐบาลทั่วโลก และแน่นอนว่าในอนาคตก็คงยังต้องเกิดขึ้นต่อไปอีกแน่นอน
20
ภาพของพระเจ้าชาห์ และจักรพรรดินีฟาราห์ เดินทางออกจากอิหร่านเพื่อลี้ภัย และนี่คือครั้งสุดท้ายที่พระองค์ได้เหยียบอยู่บนผืนดินอิหร่าน (Source: AP)
หวังว่าทุกคนจะชอบบทความในครั้งนี้นะครับ ครั้งหน้า Kang's Journal จะพาไปติดตามเรื่องราวอะไรในประวัติศาสตร์อีก ฝากติดตามกันด้วยนะครับ
16

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา