29 ก.ค. 2021 เวลา 14:20 • สิ่งแวดล้อม
Carbon Credit ตลาดเพื่อโลกสีเขียว
การจะบรรลุเป้าหมาย Net Carbon Zero ได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยวิธีการหลากหลายเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases, GHGs) โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ การใช้กลไกราคาคาร์บอน และการใช้กลไกอื่นๆ
2
Carbon Credit ตลาดเพื่อโลกสีเขียว
การใช้กลไกราคาคาร์บอน นิยมใช้อย่างแพร่หลาย เป็นกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกโดยการทำให้ก๊าซเรือนกระจกมีราคา ประกอบด้วย
ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ต้องลดลง
1.กลไกเครดิต (Crediting Mechanisms) ได้แก่
1.1 กลไกการพัฒนาพลังงานสะอาด (Clean Development Mechanism, CDM) เป็นการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ลงนามในพิธีสารเกียวโต กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ให้เกิดการลงทุนในโครงการที่มีผลให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศ โดยจะมีการคิดคาร์บอนเครดิตจากหน่วยปริมาณก๊าซที่ลดได้และได้รับการรับรอง (CERs: Certified Emission Reductions) ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นผู้ร่วมโครงการสามารถซื้อเครดิตและนำใบรับรองนี้ไปคำนวณเพื่อคิดปริมาณการปล่อยก๊าซโดยรวมทั้งหมดของประเทศได้
5
กลไกการพัฒนาพลังงานสะอาด (Clean Development Mechanism หรือ CDM)
กลไกการพัฒนาพลังงานสะอาด (Clean Development Mechanism หรือ CDM)
1.2 การลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (Voluntary Emission Reduction program)
2.ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme, ETS) เป็นมาตรการหนึ่งที่ต่างประเทศ หรือหน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นำมาใช้เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
1
3.ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax)
กลไกราคาคาร์บอนมีต้นทุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่านโยบายในรูปแบบอื่น ๆ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่สะอาด เพิ่มการหมุนเวียนเงินทุนระหว่างประเทศ และเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐ
📌 คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)
กลไกเครดิตและระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีหลักการเดียวกัน คือ การนำปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก ที่มากกว่าเป้าหมายในแต่ละประเทศหรือแต่ละหน่วยงาน มาแปลงให้สามารถซื้อขายได้ หรือระบบ Cap and Trade เรียกสิทธิ์การซื้อขายก๊าซว่า คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) มีการซื้อขายเป็นหน่วยตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide Equivalent; CO2e) โดยทำการซื้อขายในตลาดคาร์บอน (Carbon Market)
1
การซื้อขาย Carbon Credit
ในตลาดคาร์บอนจะมีผู้ซื้ออยู่ 3 ประเภท ได้แก่
1.รัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้ว 43 ประเทศ ในกลุ่มที่ลงนามในพิธีสารเกียวโต (Kyoto protocol) เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมนี และเดนมาร์ก เป็นต้น
กลุ่มประเทศใน Annex 1 ของสนธิสัญญาเกียวโต ทั้งหมด 43 ประเทศ
2.กองทุนคาร์บอน (Carbon Fund) ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันของรัฐบาลหรือกลุ่มบริษัทเอกชนเพื่อรับซื้อคาร์บอนเครดิตผ่านการลงทุนในโครงการพัฒนาพลังงานสะอาด (CDM) เช่น The Asia Pacific Carbon Fund ซึ่งเป็นกองทุนทรัสต์ที่จัดตั้งขึ้นและจัดการโดย Asian Development Bank โดยจะนำเงินไปลงทุนเพิ่มจำนวนโครงการพลังงานสะอาดและประสิทธิภาพการใช้พลังงานในประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนา โดยโครงการที่มีสิทธิ์ได้รับทุนต้องเป็นโครงการที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน, การพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีด้าน supply chain, โครงการด้านการขนส่งพลังงานสะอาด, renewable energy รวมถึงการจับก๊าซมีเทน และการบำบัดน้ำเสีย
3.Carbon Broker เป็นนายหน้ารับซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อนำ ไปขายให้กับบริษัทเอกชนหรือรัฐบาลของประเทศในกลุ่ม ทำงานในลักษณะเดียวกันกับ Broker ของตลาดหุ้น
2
โดย สามารถซื้อขายกันทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ ซึ่งแบ่งเป็น 2 รูปแบบ
1.ตลาดคาร์บอนแบบบังคับซึ่งดำเนินการโดยภาครัฐ เป็นการซื้อขายระดับประเทศของประเทศที่ลงนามใน Kyoto Protocol และเป็นการมีส่วนร่วมของธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เพื่อนำมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้บรรลุเป้าหมายตามที่กฎหมายบังคับ
2.ตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจ ดำเนินการโดยเอกชน การซื้อขายเป็นไปตามความสมัครใจของผู้เข้าร่วมไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือองค์กรเอกชนใด หรือแม้แต่ในครัวเรือน ก็สามารถเข้าร่วมได้ ผู้ที่เข้าร่วมซื้อขายในตลาดอาจจะมีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง ซึ่งไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย
📌 ตลาดคาร์บอน (Carbon Markets)
มีตลาดคาร์บอนแบบ ETS หลายตลาดทั่วโลก ตลาดนานาชาติและระดับภูมิภาค ได้แก่
1.EU – ETS ที่ประกอบด้วยชาติสมาชิก สหภาพยุโรป 27 ประเทศ และ 3 EEA – AFTA (ไอซ์แลนด์ ลิกช์เทนสไตน์ และนอร์เวย์) โดยซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศกำลังพัฒนาที่ดำเนินการลดคาร์บอนได้จากโครงการพัฒนาพลังงานสะอาด ส่วนใหญ่จากประเทศแถบลาตินอเมริกา จีน อินเดีย และแอฟริกา ซึ่งถือได้ว่ายุโรปเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของตลาดโลก มีส่วนแบ่งตลาด ถึง 75% ในปี 2021 มีกำลังการซื้อขายที่ 8.09 พันล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า
2.China – ETS ตลาดซื้อขายคาร์บอนของประเทศจีน ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2021 ที่ผ่านมา คาดว่าจะเป็นตลาดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้าตลาดยุโรป ด้วยการที่มีโรงผลิตไฟฟ้าจีนมากกว่า 2000 โรงงาน ซึ่งปล่อยมลพิษกว่า 4 พันล้านตันต่อปี เข้าร่วมการซื้อขายในตลาดนี้ โดยวันที่เปิดตัวมีกำลังการซื้อขายที่ 4.1 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่าหรือคิดเป็นมูลค่า 32 ล้านดอลลาร์
3.ตลาดของ 4 ประเทศ คือ New Zealand – ETS, Switzerland – ETS, Kazakhstan – ETS และ Republic of Korea – ETS
4.ตลาดในสหรัฐฯ เป็นตลาดในภูมิภาคแคลิฟอร์เนีย โดยมีบริษัทที่ทำการซื้อคาร์บอนเครดิตสูง 3 อันดับแรกคือ Delta, Alphabet และ Disney ส่วนบริษัทผู้ขายมีมากกว่า 15 บริษัท ได้แก่ Sustainable Travel International ที่ลดคาร์บอนผ่านการท่องเที่ยว, Green Mountain Energy ที่ลงทุนกับการปลูกป่าและบำบัดน้ำเสีย และ Native Energy ซึ่งลงทุนในพลังงานทางเลือก
📌 ราคาซื้อขายคาร์บอน
ราคาคาร์บอนมีความแตกต่างกันในตลาดแต่ละประเทศ โดยมีตั้งแต่ราคา < 1 ดอลลาร์ต่อตัน – 70 ดอลลาร์ต่อตัน การคิดราคาของคาร์บอนเครดิตจะพิจารณาและคำนวณจากต้นทุนที่ถูกใช้ในโครงการลดก๊าซเรือนกระจก รวมกับ Fairtrade premium ยกตัวอย่างเช่น
2
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ใช้เงินลงทุน 9.72 ดอลลาร์ ต่อความสามารถลดคาร์บอนได้ 1 ตัน เมื่อบวกกับ Fairtrade premium 1 ดอลลาร์ คาร์บอนเครดิตจากโครงการนี้จะมีราคาขั้นต่ำเท่ากับ 10.72 ดอลลาร์ต่อตัน
3
โครงการปลูกป่า ใช้เงินลงทุน 15.41 ดอลลาร์ ต่อความสามารถในการลดคาร์บอนได้ 1 ตัน เมื่อบวกกับ Fairtrade premium 1 ดอลลาร์ คาร์บอนเครดิตจากโครงการนี้จะมีราคาขั้นต่ำเท่ากับ 16.41 ดอลลาร์ต่อตัน
มีการวิเคราะห์กันว่า ราคาคาร์บอนจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากแต่ละประเทศมีความเข้มงวดในการลดการปล่อยมลพิษมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น สหภาพยุโรปคาดว่าจะมีราคาเฉลี่ย 57 ดอลลาร์ต่อตัน ในช่วงปี 2021 – 2025 และเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 68.37 ดอลลาร์ต่อตัน ในปี 2026 – 2030
ราคาของเครดิตคาร์บอน (Carbon Credit) ในตลาดต่างๆ
📌 ตลาดคาร์บอนในประเทศไทย
ปี 2019 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3.97 ตันต่อประชากร เป็นอันดับที่ 69 จาก 181 ประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.55% ต่อปี
ในปี 2013 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจ (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมโดยเฉพาะผู้พัฒนาโครงการรายเล็กในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศ ไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าโครงการ CDM
ทั้งนี้ กิจกรรมหลักที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ คือ
กิจกรรมการพัฒนาพลังงานทดแทน
การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน
การจัดการขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และวัสดุเหลือใช้
การจัดการในภาคขนส่ง
ป่าไม้และพื้นที่สีเขียว และการเกษตร
ขณะนี้เริ่มมีหลายบริษัทและหน่วยงานรัฐที่เข้าร่วม เช่น Gulf, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, ThaiBev, PTT, กรมป่าไม้ และอื่น ๆ
ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตต่างกันตามประเภทกิจกรรม ราคาเฉลี่ยอยู่ในช่วง 20 – 200 บาทต่อตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งตั้งแต่ปี 2015 – 2019 ตลาดภาคสมัครใจของไทยมีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
1
ในปี 2019 ตลาดมีมูลค่าการซื้อขาย 3.06 ล้านบาท แต่ยังคงมีอุปสรรคอยู่จากความไม่พร้อมทางเทคโนโลยี ความรู้ ข้อมูลการเข้าร่วมในระบบการซื้อขาย และการรวมการซื้อขายการปล่อยมลพิษเข้ากับนโยบายพลังงานและสภาพอากาศอันหลากหลายที่มีอยู่
1
📌 ประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไร
การซื้อขายคาร์บอนระดับบุคคล
กลุ่มบางจากฯ โดยบางจากฯ บีซีพีจีฯ และบีบีจีไอฯ ร่วมกับพันธมิตรรวม 11 องค์กรชั้นนำ ร่วมก่อตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club เพื่อสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบดิจิทัลเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย สนับสนุนการซื้อขายคาร์บอน และมีการซื้อ-ขายที่สามารถทำได้ในนามบุคคลเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ชีวิตประจำวันของตนเองอีกด้วย เพื่อมุ่งสู่สังคม Net Zero Carbon ไปด้วยกัน
1
Carbon Markets Club ส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนช่วยลดก๊าซเรือนกระจก
การลดการปล่อยมลพิษส่วนบุคคล
#carbon_credit #carbon_tax #Net_Carbon_Zero #carbon_market
#Bnomics #เศรษฐศาสตร์ #Economics
ผู้เขียน : ปรียา ชัชอานนท์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา