3 ส.ค. 2021 เวลา 12:53 • ประวัติศาสตร์
• เกร็ดสั้น ๆ น่ารู้เกี่ยวกับยุควิกตอเรีย
เขียนอะไรยาว ๆ มาก็มาก ในครั้งนี้จะเปลี่ยนบรรยากาศมาเขียนเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์สั้น ๆ เกี่ยวกับเรื่องน่ารู้หลายอย่างที่เกิดขึ้นในยุควิกตอเรียนี้ เพื่อมาคั่นเรื่องยาว ๆ ตามหัวข้อเฉพาะ เช่น แฟชั่น การแต่งกาย ข้าวของเครื่องใช้ ฯลฯ ที่จะเขียนลงรายละเอียดต่อไป
(Image: VL McBeath)
• อังกฤษขยายอาณาเขตไปทั่วโลก
ในยุควิกตอเรียอังกฤษกลายเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุด ร่ำรวยที่สุด และทรงอำนาจมากที่สุดในโลก หนึ่งในสี่ของประชากรทั่วโลกอาศัยอยู่ภายใต้จักรวรรดิอังกฤษ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียได้เป็นจักรพรรดินีแห่งอินเดียอีกด้วย
1
ในยุคสมัยนี้ อังกฤษยังเป็นชาติแรกของโลกที่สามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมได้สำเร็จ ความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมจึงทำให้คนอพยพโยกย้ายเข้ามาหางานทำในเมือง จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่มีประชากรอาศัยอยู่ในเมืองมากกว่าในชนบท แต่ผลเสียคือศูนย์กลางของเมืองนั้นแออัด คนจนต้องอาศัยอยู่ในสลัมซึ่งสกปรกและมีกลิ่นเหม็น
1
แผนที่จักรวรรดิอังกฤษเมื่อปี 1898 (Image: Wikipedia)
• ในวันหยุดคนนิยมไปเที่ยวชายทะเล
ในยุควิกตอเรียนั้นเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น สิ่งที่ตามมาคือปัญหามลภาวะ โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ ๆ ที่เต็มไปด้วยมลพิษ คนในยุคนั้นจึงพยายามหลีกหนีจากอากาศที่สกปรกและสภาพแออัดยัดเยียดตามเมืองใหญ่ ๆ ในอังกฤษด้วยการไปพักผ่อนยังชายทะเลเพื่อสูดอากาศที่สะอาดกว่า
อีกทั้งอังกฤษยุคนั้นมีวันหยุดธนาคารและสถานที่ทำงานต่าง ๆ แล้ว คนทำงานจึงมีวันหยุดพักผ่อน แถมยุคนั้นมีรถไฟเกิดขึ้นแล้วจึงทำให้การเดินทางยิ่งสะดวกสบายมากขึ้น อาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกคือเอเย่นต์นำเที่ยว โดยชายที่ชื่อ Thomas Cook เป็นนักธุรกิจคนแรกที่จัดทริปท่องเที่ยวยังชายทะเล ซึ่งได้รับความนิยมของคนในตอนนั้นมากที่พาครอบครัวไปพักผ่อนที่ชายทะเล
ภาพคนยุควิกตอเรียไปพักผ่อนที่ชายทะเลกันอย่างคับคั่งในช่วงวันหยุด (Image: Victorian Era)
• มีปัญหาการใช้แรงงานเด็กอย่างหนัก
ในยุคนี้ เด็กอายุเพียงแค่ 3-5 ขวบก็ถูกบังคับให้ทำงานแล้ว ทั้งในฟาร์ม ในโรงงาน ในเหมืองถ่านหิน หรือให้กวาดปล่องไฟ ซึ่งงานเหล่านี้อันตรายมาก เด็กยุควิกตอเรียต้องทำงานในชั่วโมงทำงานที่ยาวนานนับ 12-18 ชั่วโมงในเหมืองถ่านหิน แถมยังได้ค่าแรงที่น้อยกว่าผู้ใหญ่มาก เด็กอายุแค่เพียง 3 ขวบก็ถูกนำมาทำงานกวาดปล่องไฟแล้ว การใช้แรงงานเด็กอย่างกว้างขวางเกิดขึ้นในครอบครัวที่ยากจนไม่มีอันจะกินหรือการใช้เด็กกำพร้า
1
นักเขียนคนสำคัญในยุคนี้คือ Charles Dickens ก็ได้เขียนนวนิยายที่สะท้อนปัญหาสังคมเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานเด็กที่เกิดขึ้นในยุคนี้ คือเรื่อง Oliver Twist ซึ่งถูกนำมาทำเป็นหนังด้วย
เด็กกวาดปล่องไฟกับเจ้านายที่คอยควบคุมสั่งการ (Image: Dirty English)
• คนอ่านออกเขียนได้และได้ไปโรงเรียน
ก่อนที่จะเข้าสู่ยุควิกตอเรีย ประชากรอังกฤษส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ และไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ แต่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเชื่อว่าทุกคนต้องสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ จึงริเริ่มให้เด็กเข้าโรงเรียน จนกระทั่งในช่วงสิ้นรัชสมัยของพระองค์การศึกษาภาคบังคับจึงเกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีอังกฤษออกกฎหมายว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนจะต้องเข้าโรงเรียนจนกระทั่งอายุ 13 ปี
พอได้รับการศึกษาคนอังกฤษก็สามารถสร้างความบันเทิงให้แก่ตัวเองจากการอ่านได้ เด็ก ๆ ในยุควิกตอเรียนิยมอ่านเรื่องราวการผจญภัยมาก ซึ่งวรรณกรรมชื่อก้องโลกหลายเรื่องก็เขียนและเผยแพร่ในยุควิกตอเรีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Alice’s Adventures in Wonderland (การผจญภัยของอลิซในดินแดนมหัศจรรย์), เรื่อง Treasure Island (เกาะมหาสมบัติ) และเรื่อง The Jungle Book (เมาคลีลูกหมาป่า)
เด็กนักเรียนในยุควิกตอเรีย (Image: Brunel University Library)
• ใช้ยาพิษกันทุกวัน
ในยุควิกตอเรียมีการใช้สารหนูที่เป็นพิษกันอย่างแพร่หลาย เหล่าสุภาพสตรีในยุคนั้นเชื่อว่าสารหนูมีสรรพคุณเป็นตัวบำรุงผิวช่วยให้ผิวพรรณดูอ่อนเยาว์มากขึ้น ดังนั้นมันจึงกลายเป็นส่วนผสมหลักในเครื่องสำอางหลายชนิด สำหรับผู้ชาย เชื่อกันว่าสารหนูจะช่วยกระตุ้นให้ดึ๋งดั๋งปึ๋งปั๋งได้ ดังนั้นบรรดาสุภาพบุรุษจึงพากันบริโภคยาที่มีส่วนผสมของสารหนู ยาเม็ดสารหนูในยุคนั้นเปรียบเทียบได้กับไวอากร้าในยุคนี้
ผลที่ตามมาคือการอุปโภคบริโภคผลิตภัณฑ์เช่นนี้ทำให้เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างหนักและต้องสังเวยชีวิตกับความไม่รู้ไปเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งต่อมาเมื่อพบว่ามันเป็นสารพิษถึงหยุดใช้กันไปในที่สุด
1
ใบปิดโฆษณาเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารหนูในยุควิกตอเรีย (Image: Global Founders London)
• มีการประดิษฐ์ตู้ไปรษณีย์และสแตมป์
ยุควิกตอเรียถูกขนานนามว่าเป็นยุคทองของสิ่งประดิษฐ์ บรรดาข้าวของแปลกใหม่ต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือตู้ไปรษณีย์และสแตมป์ โดยสแตมป์สามารถซื้อหาได้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ปี 1840
สแตมป์ดวงแรก ๆ เรียกว่า The Penny Black และ The Two Pence Blue ซึ่งมีรูปสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียในวัยเยาว์ปรากฏอยู่บนสแตมป์ด้วย
สแตมป์ดวงแรก ๆ ที่มีครั้งแรกในยุควิกตอเรีย (Image: Wikipedia)
• สีฮิตประจำยุคคือสีดำ
แน่นอนว่าในยุคนั้นพิธีศพมีการใช้สีดำเพื่อเป็นการไว้ทุกข์ให้แก่คนที่จากไป (แต่ถึงกระนั้น สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเกลียดพิธีศพที่เต็มไปด้วยสีดำ ดังนั้นพระองค์ได้สั่งเสียว่าพิธีศพของพระองค์บนถนนหนทางของกรุงลอนดอนจะต้องประดับประดาด้วยสีม่วงและสีขาว)
แต่มีเหตุผลสำคัญในทางปฏิบัติที่คนทั่วไปในยุคนั้นนิยมแต่งกายด้วยสีดำ เหตุเพราะยุคนั้นเต็มไปด้วยมลพิษที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมีอยู่แทบจะทุกหนทุกแห่งโดยเฉพาะในเขตเมือง ดังนั้นการแต่งกายด้วยชุดสีสันสดใสหรือสีอ่อนก็จะทำให้ชุดที่สวมนั้นกลายเป็นเฉดสีเทาหรือดำไป คนในยุคนั้นจึงเลือกใส่สีดำไปเลยจะได้ไม่เห็นรอยเปื้อน
มลภาวะจากควันพิษที่ปล่อยมาจากโรงงานในอังกฤษในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 (Image: The Coversation)
• เกิดธรรมเนียมการมอบการ์ดคริสต์มาสและตกแต่งบ้านด้วยต้นคริสต์มาส
ธรรมเนียมเช่นนี้เป็นธรรมเนียมเยอรมัน ผู้ที่นำมาเผยแพร่คือครอบครัวของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียนั่นเอง มารดาของพระองค์เป็นเจ้าหญิงเยอรมัน พี่เลี้ยงของพระองค์เป็นชาวเยอรมัน พระสวามีของพระองค์คือเจ้าชายอัลเบิร์ตก็เป็นเยอรมัน ราชวงศ์อังกฤษจึงเป็นชาวเยอรมันแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเพิ่งจะมาเริ่มพูดภาษาอังกฤษตอนอายุ 3 ขวบ ในพระราชวังบัคกิงแฮมเหล่าข้าราชบริพารต่างพูดภาษาเยอรมันกันตามครอบครัวขององค์ราชินีแห่งอังกฤษ
เจ้าชายอัลเบิร์ตคือตัวการคนสำคัญ พระองค์นำต้นคริสต์มาส (หรือจะพูดให้ถูกคือต้นสน) มาประดับประดาพระราชวังวินเซอร์ในปี 1840 และยังทำให้เกิดธรรมเนียมการมอบการ์ดคริสต์มาส การแลกของขวัญ ซึ่งต่อมาก็ได้แพร่หลายไปสู่ประชาชนต่อไป
ภาพครอบครัวสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียกับต้นคริสต์มาส ภาพนี้ชื่อว่า The Christmas Tree จากหนังสือ Godey’s Lady’s Book ปี 1850 (Image: Sew Historically)
• มารยาทการเยี่ยมบ้านเวลาบ่าย
ในยุควิกตอเรียมีกฎเกณฑ์มารยาททางสังคมค่อนข้างเคร่งครัด เมื่อสุภาพสตรีอยู่ที่บ้านเธอต้องแต่งกายให้เหมาะสมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับแขกในช่วงเวลาบ่ายสามถึงห้าโมงเย็น ซึ่งเวลาที่แขกมาเยี่ยมนั้นยังขึ้นอยู่กับความสนิทสนมด้วย เพื่อนสนิทหรือญาติใกล้ชิดสามารถมาเยี่ยมได้ในเวลาค่ำ ๆ ได้ หากใครมาเยี่ยมก่อนเวลาบ่าย 3 จะถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไร้มารยาทและไร้รสนิยมมาก
นอกจากนี้ หากว่าใครมาเยี่ยมบ้านหลังนั้นตอนที่คุณกำลังเยี่ยมบ้านนั้นอยู่ ด้วยมารยาทที่ดีคุณต้องขอตัวออกไปจากบ้านนั้นอย่างสุภาพเรียบร้อย หากยังติดลมไม่ยอมไปจะถือว่าคุณนั้นหยาบคายไร้มารยาทมาก การไม่ทำตามมารยาททางสังคมเหล่านี้อาจจะทำให้คน ๆ นั้นไม่ได้รับการเชื้อเชิญให้มาเป็นแขกที่บ้านอีก
การไปเยี่ยมใครที่บ้านในยุควิคตอเรียไม่ใช่อยากจะไปก็ไป ต้องมีการเชื้อเชิญนัดหมายกันตามมารยาท ในรูปคือตัวอย่างการ์ดเชิญในยุคนั้นเพื่อนัดหมายมาเยี่ยมมาเจอกันที่บ้าน (Image: Recollections)
• มีการแบ่งชนชั้นทางสังคม
สังคมในยุควิกตอเรียของอังกฤษมีการแบ่งชนชั้น คือหลัก ๆ แบ่งเป็น 3 ชนชั้น ได้แก่ ชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง และชนชั้นแรงงาน แต่พอมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นช่องว่างระหว่างชนชั้นสูงกับชนชั้นกลางนี้ก็ค่อย ๆ แคบลง ในบ้านของชนชั้นกลางจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจนั้นถือได้ว่ามีสถานะร่ำรวยเลยทีเดียว
นอกจากนี้ เด็ก ๆ ยังแต่งตัวและประพฤติตามค่านิยมของชนชั้นด้วย ยิ่งร่ำรวยเท่าไหร่ยิ่งสวมชุดสีขาวมีลูกไม้มีระบายมาก ๆ และจะเปลี่ยนมาใส่ชุดสีดำต่อเมื่อถึงวัยเรียน ลูก ๆ วัยทารกและวัยเด็กของชนชั้นสูงมักจะไม่ค่อยได้ใกล้ชิดกับพ่อแม่ เพราะจะมีพี่เลี้ยงคอยเป็นผู้ดูแลให้ พอโตมาต้องทำตัวให้สุภาพเหมาะสมตามมารยาทของชนชั้น ห้ามทำเสียงดังส่งเสียงเอะอะมะเทิ่ง แถมยังเชื่อว่าความอดทนอดกลั้นนั้นดีต่อพัฒนาการของเด็ก ๆ
ภาพครอบครัวชนชั้นแรงงานในปี 1903 (Image: Victorian Children)
• การถ่ายภาพคนตาย
ถึงแม้ว่าในยุควิกตอเรียอังกฤษจะกลายเป็นชาติมหาอำนาจมากที่สุดในโลก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนอังกฤษจะอยู่ยงคงกระพัน มิหนำซ้ำค่าเฉลี่ยอายุของคนยุคนั้นยังต่ำอีกด้วย เหตุเพราะมลภาวะ การสาธารณสุขที่ยังย่ำแย่ และการเกิดโรคระบาดหลายครั้ง เช่น อหิวาตกโรค พอคนตายก่อนวัยอันสมควรมากพิธีกรรมเกี่ยวกับการไว้อาลัยก็มากตามไป
หนึ่งในเรื่องนี้คือการถ่ายรูปคนตายไว้เป็นที่ระลึก พอกล้องถ่ายรูปถูกประดิษฐ์ขึ้นมา การถ่ายรูปคนหลังจากที่ตายไปแล้วจึงกลายเป็นเรื่องที่นิยมทำกันในเวลานั้นมาก สมาชิกในครอบครัวจะตั้งท่าถ่ายรูปพร้อมกับศพคนตายที่ทำท่าเหมือนกำลังนอนอยู่หรือไม่ก็พิงตัวอยู่ ซึ่งการถ่ายรูปกับศพนี้เป็นที่นิยมกันมากโดยเฉพาะกับเด็กที่เสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร เพราะคนยุคนั้นเห็นว่าเป็นโอกาสสุดท้ายที่คนในครอบครัวจะมีโอกาสเก็บความทรงจำที่ยังคงหน้าตาเหมือนกับลูกที่เสียเสียชีวิตไป ซึ่งพอการสาธารณสุขดีขึ้นการตายก่อนวัยอันควรก็น้อยลง ดังนั้น การถ่ายรูปกับศพก็ค่อย ๆ หมดไป
1
ตัวอย่างภาพถ่ายศพของเด็กที่เสียชีวิตไปแล้วในยุควิกตอเรีย (Image: Vintage Everyday)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา