5 ส.ค. 2021 เวลา 10:20 • ประวัติศาสตร์
• ถ่ายภาพกับศพ:
การเก็บความทรงจำกับผู้วายชนม์ในยุควิกตอเรีย
ภาพถ่ายข้างล่างนี้ถ่ายขึ้นเมื่อยุควิกตอเรียของอังกฤษ เป็นภาพสมาชิกของครอบครัวหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยลูก ๆ 5 คน หากมองผิวเผินก็คงไม่พบความผิดปกติอะไร แต่รู้หรือไม่ว่ามีคนตาย 1 คนในนี้ ผู้อ่านเดาได้หรือไม่ว่าเป็นเด็กคนไหนที่ตายไปแล้ว…
ภาพถ่ายพี่น้องทั้ง 5 คนซึ่งหนึ่งในนั้นเสียชีวิตแล้ว (Image: BBC)
… คำตอบคือน้องนุชคนสุดท้องคนตัวเล็กสุดที่ยืนอยู่ฝั่งซ้ายมือสุด เมื่อเธอเสียชีวิตลง ครอบครัวจึงถ่ายภาพกับศพของเธอเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก โดยใช้ขาตั้งมายันตัวของเธอไว้เพื่อให้เธอดูเหมือนยังมีชีวิตอยู่
2
ธรรมเนียมการถ่ายภาพกับศพนี้เป็นเรื่องปกติในยุควิกตอเรีย เพราะถือเป็นการให้เกียรติแก่ผู้วายชนม์ไป แต่สำหรับคนในยุคปัจจุบัน ธรรมเนียมนี้ดูออกจะพิลึกกึกกือและดูน่ากลัวเกินไป และการถ่ายภาพศพสำหรับคนในยุคปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่รับกันไม่ได้อีกต่อไปโดยเฉพาะในสังคมตะวันตก
• ประวัติศาสตร์การถ่ายภาพคนตายในยุควิกตอเรีย
ในบทความที่แล้วเรื่อง “เกร็ดน่ารู้สั้น ๆ ในยุควิกตอเรีย” ได้อธิบายคร่าว ๆ ถึงปัญหาเรื่องการสาธารณสุข มลภาวะ และโรคระบาด จึงทำให้คนในยุคนั้นล้มตายกันเป็นจำนวนมากราวกับใบไม้ร่วง ในยุคนั้น โรคระบาดได้คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรคคอตีบ โรคไข้รากสาดใหญ่ อหิวาตกโรค ยังไม่นับการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น อุบัติเหตุ ความตายจึงมีอยู่ทุกหนทุกแห่งในยุควิกตอเรีย เพราะคนตายง่ายและตายเร็วเหลือเกิน
เมื่อผู้คนล้มตายก่อนเวลาอันควรเป็นจำนวนมาก ก็เลยกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่ยังอยู่ต้องการเก็บความทรงจำร่วมกับผู้ตายไว้ คนทั่วไปในเวลานั้นไม่ได้คาดหวังว่าจะมีอายุขัยเฉลี่ยเกิน 40 ปี
ก่อนหน้ายุควิกตอเรีย มีหลากหลายวิธีที่เก็บความทรงจำของผู้วายชนม์ไว้ เรียกว่า memento mori (เป็นภาษาลาติน แปลตรงตัวคือ จงจำไว้ว่าเจ้าต้องตาย) หรือการเก็บข้าวของหรือการสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่าความตายเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การตัดปอยผมมาเก็บไว้เป็นที่ระลึกในล็อกเก็ตแล้วทำเป็นแหวนหรือจี้สวมใส่ การทำหน้ากากคนตายโดยใช้ขี้ผึ้ง (เคยเขียนเล่าไว้แล้วก่อนหน้านี้) หรือการปั้นรูปหรือวาดภาพของผู้ตายไว้ ซึ่งการวาดภาพในอดีตทำได้เฉพาะบุคคลที่ร่ำรวยมากเท่านั้น
2
เมื่อล่วงมาในช่วงทศวรรษที่ 1840-1850 การถ่ายภาพเริ่มแพร่หลายและกลายเป็นสิ่งที่คนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งไม่ได้ราคาแพงดังเช่นการจ้างนักวาดภาพ จึงเกิด memento mori ในภาพถ่ายเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ศิลปะการถ่ายภาพคนตายจึงเกิดขึ้นและเป็นที่นิยมกันมากในยุควิกตอเรีย เพราะเด็ก ๆ ในยุควิกตอเรียตายเพราะโรคภัยคุกคามอย่างหนัก เช่น โรคหัด โรคคอตีบ โรคไข้อีดำอีแดง โรคหัดเยอรมัน ซึ่งโรคระบาดเหล่านี้เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายได้ในยุคที่ไม่มีวัคซีนหรือยาปฏิชีวนะใด ๆ
1
ครอบครัวของเด็กผู้ตายก่อนวัยอันสมควรจึงนึกถึงการถ่ายภาพลูก ๆ ที่เสียไปเก็บไว้ เพราะเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้ได้เห็นลูก ๆ ที่คงสภาพอยู่เช่นเดิม ซึ่งการถ่ายภาพกับศพคนตายนี้ไม่ได้เป็นที่นิยมเฉพาะในยุโรปเท่านั้น แต่ยังแพร่กระจายไปยังที่อื่นด้วย เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา
1
พอการสาธารณสุขพัฒนาขึ้นในเวลาต่อมาจึงทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้คนน้อยลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ ความต้องการถ่ายภาพกับคนตายจึงค่อย ๆ ลดลงจนเสื่อมความนิยมและหายไปในที่สุด
3
บางคนตลอดชีวิตไม่เคยได้ถ่ายภาพ แต่มาได้ถ่ายเอาตอนที่กลายเป็นศพแล้ว การได้เห็นภาพถ่ายลูก ๆ ที่เสียชีวิตไปในลักษณาการที่คล้ายการนอนหลับช่วยผ่อนคลายความโศกเศร้าให้กับพ่อแม่ผู้สูญเสียลูกไปได้ มีบางรายถึงกับอุ้มศพลูกน้อยที่ตายตอนคลอดมาถึงสตูดิโอภาพถ่ายเพื่อขอให้ช่างภาพถ่ายรูปเก็บไว้ให้ก็มี แต่ส่วนใหญ่แล้วการถ่ายภาพศพจะทำที่บ้าน
1
ก่อนจะมีการถ่ายภาพศพ ก็มีการวาดภาพศพไว้เพื่อรำลึกถึงผู้ตาย ในรูปนี้เป็นล็อกเก็ตที่เก็บปอยผมและเป็นภาพของหญิงสาววัย 17 ปีที่เสียชีวิตก่อนวันวิวาห์ของตัวเองเพียงแค่ไม่กี่วัน (Image: Yale University Art Gallery)
• การถ่ายภาพศพ
ความตายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตสำหรับคนในยุควิกตอเรีย ความตายเป็นสิ่งที่สมควรให้เกียรติ จึงมีธรรมเนียมการไว้อาลัยให้แก่ผู้ตาย ซึ่งการถ่ายภาพร่วมกับศพภาพถ่ายที่ปรากฏให้เห็นจึงมีลักษณะดูสงบเสงี่ยมเรียบร้อย
การถ่ายภาพคนตายในยุควิกตอเรียเป็นเรื่องง่ายกว่าการถ่ายรูปคนเป็น เพราะศพเคลื่อนไหวไม่ได้ ภาพถ่ายคนตายจึงคมชัดกว่ารูปถ่ายคนเป็นที่ขยับเขยื้อนได้ ในช่วงแรก ๆ การถ่ายภาพศพคนตายนิยมถ่ายศพที่อยู่ในโลงหรือไม่ก็บนเตียงที่รายล้อมด้วยดอกไม้ แต่พอต่อมาก็นิยมถ่ายศพให้ดูเหมือนยังมีชีวิตอยู่ จึงมีการจัดศพให้อยู่ในท่ายืนบ้างหรือท่านั่งบ้าง และมีการแต่งเปลือกตาเพื่อให้ดูเหมือนคนเป็นที่ยังลืมตาได้ปกติอีกด้วย แต่ในบางกรณีการถ่ายภาพคนตายก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีการเขียนบันทึกถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นมาเวลาที่ศพอาจจะมีของเหลวไหลออกมาจากร่างกาย เช่น ทางปาก
สำหรับเด็ก ความนิยมในยุคนั้นคือศพของเด็กจะถูกจัดให้อยู่ในท่านอนที่กำลังดูเหมือนหลับอยู่ หรือไม่ก็อยู่ในอ้อมแขนของพ่อแม่ หรือจับให้อยู่ในท่านั่งบนตัก ซึ่งจะแต่งตัวด้วยชุดที่ดีที่สุด บางครั้งก็จะมีการนำของเล่นชิ้นโปรดมาเป็นฉากประดับในภาพด้วย โดยให้ของเล่นนั่งอยู่รายรอบศพเด็ก เป็นต้น
ในกรณีที่คนตายเป็นผู้ใหญ่ จะมีการจัดท่าศพให้ดูเหมือนทำท่าพิงตัวหนุนเฟอร์นิเจอร์อยู่ ส่วนเครื่องประดับฉากในภาพถ่ายก็เป็นข้าวของเรียบง่าย อย่างหนังสือ หรือดอกไม้ บางทีก็มีการจัดท่าศพให้ดูเหมือนกำลังนอนหลับอยู่ก็มี
1
รูปภาพเช่นนี้คนยุควิกตอเรียจะเก็บไว้เพื่อเป็นของที่ระลึก ซึ่งจะตั้งโชว์ไว้บนโต๊ะในห้องรับแขกหรือหิ้งเหนือเตาผิงในบ้าน หรือไม่ก็ส่งให้แก่ญาติมิตรที่อยู่ห่างไกลเพื่อแจ้งข่าวการเสียชีวิต หรือเก็บภาพในล็อกเก็ตไว้สวมใส่ติดตัว หรือไม่ก็นำภาพใส่ไว้ในกระจกสำหรับพกพาไปไหนมาไหนได้
สิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากการถ่ายภาพคนตายในยุควิกตอเรียนี้คือ… ความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังเช่นคำกล่าวในภาษาลาตินที่เอ่ยไปก่อนหน้านี้คือ memento mori ซึ่งคนในยุคปัจจุบันเรามักจะหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องนี้และมักจะทำเหมือนเป็นสิ่งไกลตัวมาก ๆ ความตายเป็นเรื่องต้องห้ามและถูกซุกไว้ใต้พรม ศพคือสิ่งที่ห้ามถ่ายเพื่อนำออกมาเผยแพร่ แต่สำหรับคนในยุควิกตอเรีย ภาพถ่ายศพคือความทรงจำที่ล้ำค่าที่สามารถจับต้องได้และเก็บรักษาไว้ได้โดยไม่เน่าสลายไปดังเช่นศพ ความตายคือสิ่งปกติ และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต “จงจำไว้ว่าเจ้าต้องตาย”…
ภาพเด็กที่ตายจะกลายเป็นของประดับที่ครอบครัวเก็บไว้เพื่อเป็นสิ่งเอาไว้ระลึกถึงลูกที่จากไป (Image: HANS P. KRAUS JR./Vice)
• ตัวอย่างภาพถ่ายกับศพ
สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือเรื่องการสับสนระหว่างภาพถ่ายยุควิกตอเรียระหว่างคนเป็นกับคนตาย ในอินเตอร์เน็ตมีภาพจำนวนมากที่เป็นภาพถ่ายของคนเป็นแต่เอามาอ้างว่าเป็นคนตาย เนื่องจากว่ามีขาตั้งค้ำอยู่ ซึ่งจริง ๆ แล้วมีไว้เพื่อให้คนขยับเขยื้อนน้อยที่สุดภาพที่ออกมาจะได้ไม่เบลอ
เรามาดูตัวอย่างภาพถ่ายกับคนตายในยุควิกตอเรียกันดีกว่าว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
(Image: BBC)
เมื่อเด็กตายก่อนวัยอันควร ครอบครัวจึงต้องการเก็บความทรงจำไว้ ในรูปนี้เป็นรูปของฝาแฝดพี่น้องสองคน แต่แฝดคนหนึ่งตาย ครอบครัวจึงนำแฝดที่รอดชีวิตกับแฝดที่ตายมาถ่ายรูปด้วย
(Image: BBC/SOURCEANN LONGMORE-ETHERIDGE COLLECTION)
ในภาพซ้ายมือ เด็กหญิงสองคนถ่ายภาพร่วมกับแม่ของเธอที่เสียชีวิตไปแล้ว ภาพตรงกลางเป็นพ่อผู้โศกเศร้าถ่ายภาพกับลูกน้อยที่สิ้นลมหายใจแล้ว ส่วนรูปสุดท้ายขวามือเป็นภาพแม่ถ่ายกับลูกที่ตายไป คนเป็นแม่มีการแต้มสีที่แก้มเพื่อให้ดูมีสีสัน ส่วนลูกน้อยของเธอไม่ได้แต่งแต้มสีอะไรเพื่อให้ดูซีดเซียว
(Image: BBC)
ในรูปนี้ผู้ตายคือเด็กน้อยที่ทำให้เหมือนกำลังนอนหลับอยู่ที่พื้น โดยมีสมาชิกครอบครัวทั้งหมดมาร่วมถ่ายรูปด้วย ไม่เว้นแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงอย่างแมวก็มาร่วมถ่ายภาพนี้ด้วย
(Image: BBC)
ในหลาย ๆ กรณี จะมีการตกแต่งภาพถ่ายตรงเปลือกตาให้กับศพเพื่อให้ดูเหมือนยังมีชีวิตอยู่ด้วย ดังเช่นในรูปเป็นศพเด็กผู้ชายที่เสียแล้วแต่มีการแต่งภาพวาดตาให้ดูเหมือนยังลืมตาอยู่ ส่วนอีกรูปจัดท่าให้เด็กหญิงที่ตายแล้วเหมือนกำลังนั่งหลับในขณะที่เล่นกับตุ๊กตาตัวโปรด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา