6 ส.ค. 2021 เวลา 03:56 • การตลาด
ตอนที่ 5: วางกลยุทธ์บุกตลาดจีนออนไลน์ด้วยหลักการ 6Ps
จากหลายบทความที่ผ่านมา ทำให้เราทราบถึงโอกาสที่มหาศาลจากการเติบโตด้านการบริโภคและeCommerceของประเทศจีน ทราบถึงหลักการการบุกตลาดจีนว่าต้องเข้าใจอะไรบ้าง และวิธีการบุกที่แตกต่างกัน อาทิ ช่องทางหลัก (General Trade) และ ช่องทางลัด (Cross-border eCommerce: CBEC) แต่ไม่ว่าจะบุกตลาดด้วยช่องทางไหน สิ่งที่ต้องคำนึงเมื่อบุกตลาดจีนหรือทำธุรกิจคือการวางกลยุทธ์รอบด้าน วางแผนเพื่อดำเนินการธุรกิจให้เหมาะสมให้ตรงกับตลาดและความต้องการของลูกค้า (Customers) หรือผู้บริโภค (Consumers)
4Ps: Place Products Price and Promotion
หากนำเอาหลักการการตลาดขั้นพื้นฐานอย่าง 4Ps Marketing Mix หรือ “ส่วนผสมทางการตลาด” มาใช้วิเคราะห์ในเรื่องนี้เพื่อให้การวางกลยุทธ์การบุกตลาดจีนสอดคล้อง เหมาะสมไปในทิศทางเดียวกัน ก็สามารถสร้างความดึงดูด ความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดจีนได้
4Ps Marketing Mix นี้ได้แก่ Product, Place, Price และ Promotion
1
Products
P ตัวแรกคือผลิตภัณฑ์หรือ Products เจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการจำเป็นต้องวางแผน ออกแบบ ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ถูกสุขลักษณะ พร้อมกับต้องวิเคราะห์ว่ากลุ่มลูกค้า (Customers) ที่จะเข้ามาใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการเป็นคนกลุ่มไหน ชื่นชอบและสนใจผลิตภัณฑ์แบบใด ต้องการประสบการณ์แบบไหน เพราะผู้บริโภคโดยเฉพาะในตลาดจีนเปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางของจักรวาลเลยก็ว่าได้ เพราะหากคุณมีสินค้าที่ดี คุณคิดว่าสวยงาม แต่ไม่ตรงใจ ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของคนจีน สินค้าที่คุณผลิตหรือวางแผนจะส่งออก ก็หมดความหมาย
1
ความต้องการสินค้าของชาวจีน
 
มาดูปัจจัยและทัศนคติที่มีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าต่างประเทศของชาวจีนกันว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง
จากผลสำรวจของ iiMedia Research พบว่า ผลกระทบต่อความเชื่อของผู้บริโภคที่มองหาสินค้าที่มาจากต่างประเทศ คือ คุณค่าทางความรู้สึก ที่ส่งมอบต่อผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย และรู้สึกมีความสุข ตลอดจนให้ความรู้สึกที่น่าสนใจและแตกต่างไปจากเดิม หรือไม่เหมือนใคร สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคจีนใส่ใจและเห็นคุณค่าของตัวเองมาก
Brand Awareness
นอกจากนี้ ผลจากการสำรวจพบว่า คนจีนพิจารณาจาก Brand เป็นสำคัญ กล่าวคือ ผู้บริโภคชาวจีนไม่ได้ซื้อ Product หรือสินค้า แต่ซื้อ Brand
1
ผู้เขียนได้ศึกษาและติดตามผลการวิจัยมาหลายปีพบว่าในช่วง 2-3 ปีนี้ Branding เป็นปัจจัยที่นำมาเป็นอันดับหนึ่ง แซงเรื่อง Quality และ Pricing ไปที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเศรษฐกิจอีคอมเมิร์ซจีนในปัจจุบันจะขับเคลื่อนด้วยแบรนด์เพราะสิ่งนี้เป็นจุดที่ช่วยให้ผู้บริโภคจีนจดจำและแยกแยะความแตกต่างของสินค้าแต่ละรายได้
1
เมื่อตลาดใหญ่ การแข่งขันสูง จึงต้องมีกลยุทธ์การตลาดที่เป็นระบบ และการสร้างสินค้าคุณให้เป็นที่จดจำผ่านอัตลักษณะของสินค้า (Brand identity) ดังนั้นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำหรือเป็นที่รู้จัก (Brand awareness) จึงเป็นเรื่องสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดนำเข้าสินค้าต่างประเทศ
ความต้องการของผู้บริโภค (Consumer) ในตลาดจีนออนไลน์
จากรายงานของ iiMedia ในปี 2021 พบว่า สินค้าที่ได้รับความนิยมในแพลตฟอร์มสินค้าต่างประเทศในภาพรวมได้แก่ สินค้าแฟชั่น ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลตัวเอง ความสวยงาม และตามมาด้วย อาหารเครื่องดื่ม สินค้าที่เกี่ยวกับแม่และเด็ก และล่าสุดที่กำลังเป็นที่นิยมคือ อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
คราวนี้มาดูกันบ้างว่า สินค้าจากประเทศไหน ได้รับความนิยมในใจชาวจีน
จากแผนภูมิแท่งด้านบนพบว่าสินค้าที่มาจาก ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ และข้อมูลนี้ก็ไม่เปลี่ยนแปลงเลยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อันดับต่อมาเป็นสินค้าที่มาจากกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ตามมาด้วยอเมริกา ออสเตรเลีย แล้วจากกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่ง ยอดขายจากญี่ปุ่น อเมริกา และเกาหลีใต้รวมกันคิดเป็นเกือบ 40% ของยอดซื้อขายในการนำเข้าสินค้าที่มาจากต่างประเทศในหมวด CBEC
แล้วประเทศไทยอยู่ตรงไหน.... ต้องบอกว่าเป็นที่น่าเสียดายว่าประเทศไทยยังไม่ติดในอันดับสิบ แต่ก็มีสินค้าที่โดดเด่นในเวทีออนไลน์จีนระดับหนึ่ง สินค้าที่ได้รับความนิยมได้แก่ สินค้าประเภท รังนก หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงสุขภาพ เครื่องสำอาง ครีมบำรุง personal skincare อาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับของใช้ภายในบ้านเครื่องนอน เป็นต้น สำหรับสินค้าไทย ถือเป็นโอกาสและมีช่องวางที่ยังสามารถตีเข้าไปในตลาดจีนได้อยู่ เพราะแนวโน้มของอันดับ (ranking) ในประเทศต้นกำเนิดสินค้า (Country of Origin) จากที่ได้ติดตามมาอย่างต่อเนื่องก็พบว่าเป็นไปในทิศทางเชิงบวก
1
การเลือกสินค้า (Product Selection) เรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากถึงมากที่สุด สำหรับการตลาด eCommerce ในประเทศจีน
หากคุณเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในประเทศ มีสินค้าที่มีคุณภาพมาก ยกตัวอย่าง 10 SKUs ก็ไม่ได้หมายความว่าจะขายได้ดีทั้งหมด เพราะเกมในตลาดจีนออนไลน์จะมีเพียงแค่พระเอกกับนางเอกเท่านั้นที่จะเป็นตัวชูโรง หรือเราจะเรียกว่า Hero Products 爆款 (อ่านว่า เป้าข่วน ความหมายคือ Exploding items = Hot items) ที่จะสร้างยอดขายให้คุณได้ บางแบรนด์อาจจะใช้หลักการพาเรโต (Pareto Principle) หรือ กฎ 80:20 หมายถึง 80% ของรายได้มาจาก 20% ของจำนวนสินค้าทั้งหมดเท่านั้น
สิ่งนี้อาจะเกี่ยวข้องกับ Search Engine Algorithm (SEO Algorithms) ของแพลตฟอร์มที่ให้รายการสินค้าที่ขายดี อยู่ในผลลัพธ์การค้นหาที่สูงที่สุด Hero products จึงเหมือนเป็นแม่เหล็กดึงดูด traffic ให้เข้ามาร้านอยู่เสมอ
หากคุณมีหรือสร้าง Hero products ได้เพียง 1-2 SKUs (Stock Keeping Units: หน่วยประเภทสินค้าเพื่อแยกความแตกต่างทั้งขนาด สี เป็นต้นและเพื่อประโยชน์ในการติดตามสินค้าในคลัง) ในตลาดออนไลน์จีนก็นับว่าเป็นจุดแต้มต่อให้ดึงดูดเอาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใหม่ๆเข้าป้อนไปยังตลาดจีนได้เสมอ
Place
การซื้อขายออนไลน์ หรือ eCommerce ถือเป็นช่องทางที่ให้ความสะดวกสบายแก่ผู้บริโภคอยู่แล้ว แต่นอกเหนือจากความสะดวกสบาย ผู้บริโภคเองก็ต้องหาช่องทางที่ไว้ใจ แหล่งรวมสินค้าของแท้ที่มีคุณภาพ เมื่อพูดถึงสินค้าที่มาจากต่างประเทศแล้ว
คำถามต่อไปคือต้องรู้ว่าควรนำสินค้าไปขายที่ไหน อย่างไร เพราะสถานที่หรือช่องทางการขายก็มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจในการซื้อของผู้บริโภคชาวจีน เรื่องนี้ได้พูดไปในหลายบทความถึง ผู้เล่นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหลักและแบบCross-border แต่จากส่วนแบ่งการตลาดก็พบว่าอันดับหนึ่งก็ยังคงเป็นแพลตฟอร์มจากค่าย Alibaba เช่นเดิม
แต่การเลือกเฟ้นหาแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับสินค้า ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากยึดติดกับ ส่วนแบ่งการตลาดเกินไป ก็ทำให้การเข้าถึงการตลาดจีนก็ยากขึ้นไปอีก เพราะการเปิดร้านขายในแพลตฟอร์มอย่าง Tmall.com หรือ Tmall Global ก็ค่อนข้างที่จะยากพอสมควร เพราะ platform เองก็มีเกณฑ์การคัดเลือกที่หินระดับหนึ่ง
อีกทั้ง แต่ละแพลตฟอร์มมีความแตกต่างกันในเชิง Demographics อย่างมาก การทำงานในแต่ละแพลตฟอร์ม ดังนั้นเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการต้องศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วน Tmall Global กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมีอายุที่น้อยกว่า หรือเป็นกลุ่ม Gen Y ลงมาเป็นส่วนใหญ่
นอกจากเรื่อง Demographics แล้ว ยังต้องเข้าใจถึงการทำงานหรือแบบแผนธุรกิจของแต่ละแพลตฟอร์มด้วย
ยกตัวอย่างแพลตฟอร์ม Kaola จากบริษัท Netease ที่ถูก Alibaba ควบรวมกิจการไปเมื่อกันยายน 2019 อย่าง เมื่อมาดู demographic จะพบว่า แตกต่างจาก Tmall อย่างมีนัยยะสำคัญ กล่าวคือ กลุ่มอายุจะกว้างกว่าตั้งแต่ 20 ปี ไปจนถึง 45 ปีและถูกจัดกลุ่มให้อยู่ในประเภท High-end หรือมีกำลังซื้อสูง ที่มากกว่า Tmall Global ที่เป็นกลุ่ม Price sensitive และ Middle Class อีกทั้ง 70% ของรูปแบบธุรกิจของ Kaola จะเป็น online retail หรือการซื้อมาโดยตรงแล้วมาบริหารจัดการเอง แตกต่างจาก Tmall Global ที่เป็น platform และมีการให้แบรนด์เข้าไปดำเนินการเปิดร้านนั่นเอง หรือหากคุณเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความสวยงามโดยเฉพาะ และเน้นกลุ่มผู้หญิงสมัยใหม่ในกลุ่ม Gen Z การเปิดร้านบน Xiaohongshu (小红书) ก็ตอบโจทย์ไม่แพ้กัน เป็นต้น
1
ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจการทำงานของแต่ละแพลตฟอร์ม เนื่องจากมีเงื่อนไขข้อกำหนดในการนำสินค้าเข้าแพลตฟอร์ม เครื่องมือในการสร้าง traffic ของยอดขาย และกลุ่มผู้ใช้งานที่แตกต่างกัน รวมถึงงบประมาณของธุรกิจตนเองด้วย
Price
จากแผนภูมิก่อนหน้าทำให้ทราบว่า ราคามีผลต่อการตัดสินใจของผู้ซื้ออย่างมาก โดยเฉพาะในออนไลน์จีน เรื่องนี้ต้องคำนวณเป็นพิเศษว่าจะต้องเจอค่าเช่าแพลตฟอร์ม ค่าบริหาร TPs ค่า Logistics ระหว่างประเทศ ค่าเช่าคลังไปจนถึง Last mile delivery ค่าการตลาด ตลอดจนภาษีที่จะต้องชำระ และส่วนใหญ่ผู้บริโภคจีนจะนิยมสินค้าที่ 包邮包税หรือ รวมส่งรวมภาษีแล้ว
นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่เลือกวิธีแบบ CBEC ก็อาจจะต้องคำนึงมากเป็นพิเศษ เนื่องด้วยเพดานที่ถูกจำกัดให้ซื้ออยู่ที่ไม่เกิน 5,000 หยวนต่อ transaction และ 26,000 ต่อปี ดังนั้นหากคุณมีสินค้าที่เป็นประเภทสินค้าฟุ่มเฟือยราคาสูง ก็อาจจะไม่เหมาะสมในแบบวิธีนี้ ต้องเลือกไปในแบบวิธีปกติ เป็นต้น
ส่วนใหญ่ (กว่า 50%) ของราคาที่ผู้บริโภคซื้อในแพลตฟอร์มeCommerce จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50-200 หยวน แต่ไม่ได้หมายความว่า หากคุณขายสินค้าราคาแพงจะขายไม่ได้ ทั้งหมดก็จะเป็นเรื่องของคุณภาพและการตัดสินใจของผู้บริโภคชาวจีนนั่นเอง ดังนั้นเรื่องของราคาจำเป็นต้องวางแผนคิดให้รอบคอบเพราะทั้งหมดจะสะท้อนไปยังการตั้งราคาปลายทาง
ผู้บริโภคจะยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าก็ต่อเมื่อมองเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นสามารถเติมเต็มความสุขหรือความต้องการของตัวเอง ให้คุณค่าได้มากขึ้น สร้างความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เป็นต้น การซื้อสินค้าจึงเหมือนเป็นการลงทุนให้กับชีวิต ดังนั้นการตั้งราคา (Price Setting) จะไม่สามารถคิดแต่ต้นทุน หรือกำไรจากฝั่งผู้ผลิตอย่างเดียว แต่ต้องคิดในมุม Cost หรือต้นทุนหรืองบประมาณ ความคุ้มค่าของผู้บริโภคหรือลูกค้าคุณด้วย ในบางกรณีผู้ผลิตอาจจะต้องใช้กลยุทธ์ Loss Leader Pricing หรือ กลยุทธ์การขายสินค้าราคาที่ตำกว่าท้องตลาดเพื่อดึงดูดคนให้เข้ามาซื้อ และโดยส่วนใหญ่จำต้องขายขาดทุนหรือไม่ได้กำไรเพื่อมุ่งหวังเอาปริมาณยอดขายและการต่อยอดการซื้อสินค้าพ่วงกับ SKUs อื่น ๆที่มีกำไรดีกว่า เป็นต้น
Promotion
Promotion เป็นอีกสิ่งที่ต้องคิดคำนวณและวางแผนเข้าไปในการตั้งราคา และก็ไม่ได้หมายถึงการ ลด แลก แจก แถม เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการวางแผนจัดกิจกรรมทางการตลาดการสื่อสารของแบรนด์ (Brand communication) ไปยังผู้บริโภคเพื่อที่จะช่วยส่งเสริมการขายด้วย
ใครหลายคนคงรู้จักมหกรรมชอปปิ้งที่ยิ่งใหญ่อย่างวันคนโสด 11.11 ที่ลดกระหน่ำไปแล้ว เพราะในเมืองไทยก็มีการนำเอาแคมเปญมาใช้เช่นเดียวกัน ในปี 2020 เทศกาลชอปปิ้ง 11.11 Alibaba มีมูลค่ายอดขายรวมทุกช่องทาง (GMV) อยู่ที่ 4.982 แสนล้านหยวน สูงกว่ายอดขายรวมของปี 2019 กว่าเท่าตัว ส่วน JD.com มีมูลค่าอยู่ที่ 271,500 เติบโตสูงกว่าปีก่อนหน้า33%
25% ของยอดขายออนไลน์ทั้งปีของบางแบรนด์มาจากแค่วันนี้เพียงวันเดียว เพราะผู้บริโภคจีนหลายคนต่างใจจดใจจ่อรอเพียงวันนี้วันเดียวเพื่อกอบโกยราคาโปรโมชั่นดี ๆจากสินค้าแบรนด์ในใจนั่นเอง
แต่รู้หรือไม่ว่า ที่ประเทศจีนไมได้มีแค่วัน 11.11 (Double Eleven) อย่างเดียว หรือ 12.12 (Double Twelve) แต่มีอีกหลายวันมากเกือบแทบจะทุกอาทิตย์ก็ว่าได้ จนทำให้นักการตลาดออนไลน์ต้องคิดโปรโมชั่นจัดกิจกรรมแบบไม่มีวันหยุดราชการเลยทีเดียว
ปฏิทินกิจกรรม eCommerce ที่สำคัญตลอดปี
1
ผู้บริหารจัดการร้านค้าหรือขายสินค้าออนไลน์จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆมากมายที่มีตลอดปี แต่วันสำคัญทางโลกอีคอมเมิร์ซของจีน ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือน มกราคม กุมภาพันธ์ มิถุนายน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม ดังนั้นจะเห็นว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ยอดขายจะสูงกว่าช่วงเดือนอื่น ๆ ดังนั้นการวางแผนการทำการตลาดจึงเป็นเรื่องจำเป็นและต้องคิดไว้ล่วงหน้าเพื่อดำเนินการร่วมกันกับแพลตฟอร์มที่เลือกด้วย 14
นอกจากเรื่องการจัดกิจกรรมแล้ว การโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่กลุ่มผู้บริโภคนิยมใช้งานในจีนก็เป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกัน เพื่อเพิ่มโอกาสประชาสัมพันธ์แบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นและดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาเลือกซื้อสินค้าภายในร้านออนไลน์ของคุณได้ และเพิ่ม Conversion rate (หรืออัตราการเปลี่ยนผู้เข้าชมเป็นลูกค้า) เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องหยิบยกมาอธิบายยาวสักนิดเพราะในประเทศจีนไม่ใช้ Google YouTube Facebook Instragram แต่มีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเองทุกอย่าง
 
แล้วอีก 2Ps คืออะไร
2P นี้อาจจะไม่ได้อยู่ในหลักการสากลทางการตลาด Marketing Mix แต่เป็น 2P ที่สำคัญมากในการทำการตลาดจีนและจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน นั่นคือ Peers และ Passion
Peers & Passion
Peers คือการเปรียบเทียบดูกับคู่แข่ง โดยการใช้แกนหลักของ 4Ps มาเปรียบเทียบเพิ่มต่อกับ Peers หรือคู่แข่ง
จากกฏ 4P ที่กล่าวไปแล้ว หากคุณมีสินค้าที่ดี มีคุณภาพสูง ขายในแพลตฟอร์มได้มาตรฐาน ราคาที่คิดแล้วคุ้มกับต้นทุนและไม่แพงเกินไปสำหรับผู้บริโภค มีโปรโมชั่นที่น่าดึงดูด เมื่อวางแผนรอบด้านแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะขายดีได้แน่นอนหรือผู้บริโภคเลือกซื้อแน่นอน
เคยได้กล่าวไปแล้วในบทความก่อนหน้าว่า การบุกตลาดจีนเท่ากับการลงแข่งในตลาดโลก ต้องคิดถึงคู่แข่งด้วย หากคู่แข่งของคุณมีจุดขายโดดเด่นน่าสนใจ (Product differentiation) มีชื่อเสียงของแบรนด์มากกว่า (Brand awareness) มีแบรนด์ที่มีอัตลักษณะ (Brand identity) ชัดเจนกว่า ภาพลักษณ์ (Brand image) ที่ดีกว่า ให้ความรู้สึกและคุณค่ามากกว่าในใจของผู้ซื้อ คุณก็อาจจะตกในที่นั่งลำบาก
ดังนั้น คุณจำเป็นต้องดูคู่แข่งด้วย และตระหนักรู้ว่า เราตั้งตัวตนของแบรนด์ (Brand positioning) จุดใดของตลาด เป็นกลุ่มสินค้าราคาเข้าถึงได้เจาะตลาด Mass หรือ สินค้าราคาสูงเกรด Premium เจาะตลาด Luxury เป็นต้น แล้วแต่ในแต่ละกลุ่มใครเป็นคู่แข่ง เขาตั้งราคา โปรโมทอย่างไร มีภาพลักษณ์หรือจุดเด่นอย่างไร
1
เพราะหากสินค้าคุณโดนเด่นจนนักช็อปออนไลน์กดเลือกเพิ่มสินค้าของคุณเข้าไปในตะกร้าสินค้าแล้ว ระบบของแพลตฟอร์มออนไลน์ก็จะมีระบบเสนอสินค้าอื่น ๆให้ผู้ซื้อได้เลือกเพิ่มอีก แล้วสินค้าของคุณที่ถูกเลือกไปจะถูกนำเปรียบเทียบกับสินค้าอื่น ๆ ดังในภาพ หากสินค้าคุณเป็นสินค้าที่ไม่มีชื่อเสียง (หรือมีชื่อเสียงในตลาดไทย แต่ในตลาดจีนไม่มีใครรู้จัก ก็เท่ากับในตลาดจีน เป็นสินค้าไม่มีชื่อเสียง) แต่มีราคาสินค้าเท่ากันหรือถูกกว่านิดหน่อยกว่ากับอีกหลายสินค้าที่น่าดึงดูดกว่าในหลายมิติ สินค้าคุณก็จะอยู่เพียงในตะกร้า ไม่ถูกเลือกซื้อไป (Make Transaction)ในนั่นเอง
อ่านมาตั้งแต่ตอนต้นจนสุดท้าย หลายคนอาจถอดใจว่าตลาดจีนยาก ซึ่งนี่คือความเป็นจริงที่ต้องตระหนักรู้ก่อนลงบุกตลาดจีนจริง ๆ ถึงแม้รู้และทำทุกอย่างได้ดี ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหมดอุปสรรค ในบางครั้งสิ่งที่เกิดในตลาดจีนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบไม่สามารถวางแผนได้จริง ๆ
ดังนั้น P สุดท้ายที่จะทำให้ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจยังดำเนินงานต่อไปคือ Passion การมีใจรักในสิ่งที่ทำ การอยากเจาะตลาดจีนจริง ๆ มิใช่แค่กระแสหรือการหาตลาดเพื่อตายเอาดาบหน้า หากไม่มี Passion หรือถอดใจถอยทัพเมื่อคุณเจออุปสรรคกลางทาง การลงทุนที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นก็จะสูญสิ้นไป
Source:
- China Internet Watch, 2021
- iiMedia Consulting
- Technode
#คัมภีร์ชุดนี้เป็นการเขียนบทความต่อเนื่องจากความรู้ที่สะสมมาและประสบการณ์จริงโดยจะทยอยอัพเดทต่อเนื่อง โดยจะแบ่งเป็นหลายหมวดหมู่เพื่อจะทำให้คุณเข้าใจในการทำธุรกิจกับประเทศจีนอย่างง่ายดายตั้งแต่ต้นจนจบเพราะรู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งจึงชนะร้อยครั้ง#
===========================================================
บทความนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง Click China by LERT x China Talk with Pimkwan
===========================================================
Lert Global Group เป็นพาร์ทเนอร์กับแพลตฟอร์ม eCommerce ยักษ์ใหญ่ในจีน พร้อมมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่จะพาแบรนด์คุณไปประสบความสำเร็จในตลาดออนไลน์จีนไปด้วยกัน หากไม่อยากพลาดโอกาสในตลาดจีน สามารถโทรติดต่อ 02-276-3599 หรือ 065-251-9922 เพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลย!

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา