“การประพฤติพรหมจรรย์มิใช่เพื่อลาภสักการะและการสรรเสริญ …”
“ … ดูกรภิกษุทั้งหลาย
คราวหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลราชาแห่งแคว้นนี้
เข้าไปหาตถาคตและถามว่า
บุคคลควรจะให้ทานในที่ใด
เราตอบว่า ควรให้ทานในที่ที่เลื่อมใส
คือเลื่อมใสบุคคลใด คณะใด
ก็ควรให้แก่บุคคลนั้น คณะนั้น
พระองค์ถามต่อไปว่า
ให้ทานในที่ใดจึงจะมีผลมาก
เราตถาคตตอบว่า ถ้าต้องการผลมากแล้วละก็
ควรจะให้ทานผู้มีศีล
การให้แก่บุคคลผู้ทุศีลหามีผลมากอย่างนั้นไม่
สถานที่ทำบุญเปรียบเหมือนเนื้อนา
เจตตนาและไทยทานเปรียบเหมือนเมล็ดพืช
ถ้าเนื้อนาดี คือบุคคลผู้รับเป็นคนดีมีศีลธรรม
และประกอบด้วยเมล็ดพืช
คือเจตนาและไทยทานของทายกบริสุทธิ์
ทานนั้นย่อมมีผลมาก
การหว่านข้าวลงในนาที่เต็มไปด้วยหญ้าแฝกและหญ้าคา
ต้นข้าวย่อมขึ้นได้โดยยากฉันใด
การทำบุญในคณะบุคคลที่มีศีลน้อย ก็ฉันนั้น
คือย่อมได้บุญน้อย
ส่วนการทำบุญในคณะบุคคลซึ่งมีศีลดี
มีธรรมงาม ย่อมจะมีผลมาก
เป็นภาวะอันตรงกันข้ามอยู่ดังนี้
เพราะฉะนั้น บุคคลไม่ควรประมาทว่า
บุญหรือบาปเพียงเล็กน้อยจะไม่ให้ผล
หยาดน้ำที่ไหลลงทีละหยด
ยังทำให้แม่น้ำเต็มได้ฉันใด
การสั่งสมบุญหรือบาปแม้ทีละน้อยก็ฉันนั้น
ผู้สั่งสมบุญ ย่อมเปี่ยมล้นไปด้วยบุญ
ผู้สั่งสมบาป ย่อมเพียบแปร้ไปด้วยบาป”
:
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พรหมจรรย์นี้เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคน
มิใช่เพื่อให้คนทั้งหลายมานับถือ
มิใช่เพื่ออานิสงส์ลาภสักการะและความสรรเสริญ
มิใช่จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเจ้าลัทธิ
และแก้ลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้
มิใช่เพื่อให้ใครรู้จักตัวว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติ
เพื่อสังวระ คือความสำรวม
เพื่อปหานะ คือความละ
เพื่อวิราคะ คือคลายความกำหนัดยินดี
และเพื่อนิโรธะ คือความดับทุกข์”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ลึกซึ้ง
เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก
สงบประณีต มิใช่วิสัยแห่งสัตว์
คือคิดเอาไม่ได้
หรือไม่ควรลงความเห็นด้วยการเดา
แต่เป็นธรรมที่บัณฑิตพอจะรู้ได้ …”
.
บางตอนจากพุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน
เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก
โดย อาจารย์วศิน อินทสระ
อ้างอิง :