9 ส.ค. 2021 เวลา 03:03 • ประวัติศาสตร์
เผด็จการ “ฟาสชิสต์” คืออะไร?
อุดมการณ์ทางการเมืองที่ทั้งสุดโต่งทั้งน่าสะพรึงที่สุดที่มนุษย์สุดจะสรรหา นั่นก็คือ ‘ฟาสชิสต์’ นั่นเอง ถ้าจะให้ตอบสั้นๆ ว่า ฟาสชิสม์คืออะไร ก็น่าจะรวบรัดตอบได้ว่า ฟาสชิสม์ คือเผด็จการอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าทุกเผด็จการจะเป็นฟาสชิสต์ได้
งงมั้ย? เอาใหม่นะ!
ฟาสชิสต์คือเผด็จการแน่นอน แต่เผด็จการ ไม่จำเป็นต้องเป็นฟาสชิสต์เสมอไป และเท่าที่สามารถรวบรวมนิยามของความเป็นฟาสชิสต์จากนักรัฐศาสตร์หลายๆ สำนัก ก็พบว่า ฟาสชิสต์ที่แท้จริงนั้นมีความหมายค่อนข้างแคบ
กล่าวคือประเทศที่ปกครองในระบอบฟาสชิสต์ได้สำเร็จจริงๆ นั้น แทบจะจำกัดอยู่เพียง 2 ประเทศในประวัติศาสตร์โลกนั่นก็คือ อิตาลีโดย “เบนิโต มุสโซลินี” และ เยอรมันโดย “อดอล์ฟ ฮิตเล่อร์” ซึ่งเป็นผู้นำในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เท่านั้น ที่ว่ามีแค่ 2 คนนี้ก็เพราะฟาสชิสม์เป็นระบอบการปกครองที่พึ่งพาคนเพียงคนเดียวกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ การคานอำนาจกัน หรือการแบ่งสรรอำนาจในหมู่ชนชั้นปกครองมีน้อยมาก ซึ่งจะหาคนที่มีอำนาจมากพอที่จะให้คนยอมทำตามได้ขนาดนั้นค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ผู้นำประเภทนี้นานๆ จะสักคน แต่ก็ไม่ใช่แค่นั้น นอกจากตัวบุคคลจะต้องมีอำนาจมากแล้ว สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจยังต้องมีความสอดคล้องพร้อมพอดีที่จะก่อให้เกิดผู้นำฟาสชิสต์ของจริงขึ้นมาได้ ซึ่งก็อย่างที่ได้กล่าวไป นักวิชาการจึงยกให้มีจริงๆ แค่ 2 คนเท่านั้น
1
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
1
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ส่วนในกรณีอื่น ๆ ที่จะหยิบยกมานำเสนอกัน จะเป็นลักษณะของ “ความพยายามจะเป็น” มากกว่า เรียกว่า อยากจะเป็นแต่ไปไม่ถึง เป็นได้แค่ฟาสชิสต์จางๆ หรือก๊อปเกรดเอ เกรดบี อะไรยังไงก็ว่ากันไป
ต้องบอกก่อนเลยว่า ฟาสชิสม์(Fascism) ในตัวเองไม่ใช่ระบอบการปกครองแต่เป็นแนวคิดในการแสวงหาและรักษาอำนาจมากกว่า ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 โลกกำลังสับสนวุ่นวายด้วยความขัดแย้งทางการเมืองจนลุกลามกลายเป็นสงครามโลกถึงสองครั้ง เท่านั้นยังไม่พอ ประเทศต่างๆ ต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนักหลังสงครามไม่ว่าจะฝ่ายที่แพ้หรือผู้เป็นฝ่ายชนะ เศรษฐกิจแบบทุนนิยม เสรีนิยมที่เติบโตอย่างต่อเนื่องหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมถูกตั้งคำถามในเชิงอุดมการณ์ว่าถูกต้องและชอบธรรมหรือไม่ ระบอบประชาธิปไตยก็ยังไม่มั่นคง ไม่มีเสถียรภาพเพียงพอ
ขณะเดียวกันเมื่อเลนินเปลี่ยนรัสเซียเป็นสหภาพโซเวียตภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์จากเหตุการณ์การปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ.1917 ก็เป็นอะไรที่เขย่าขวัญสั่นประสาทหมู่ชนชั้นผู้นำฝ่ายเสรีนิยมอย่างรุนแรง ไหนจะปัญหาปากท้องจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างหนัก จึงมีความพยายามในการแสวงหาอุดมการณ์ทางการเมืองทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้รัฐมีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งตัวเองได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยรัฐควบคุมกลไกต่างๆ ได้ ทำให้แนวคิดทางการเมืองแบบ Fascist ถือกำเนิดขึ้นมานั่นเอง
‘Fascism' เกิดขึ้นในอิตาลี โดยมีที่มาจากพรรคการเมืองที่ชื่อว่า “พรรคชาตินิยมฟาสชิสต์ (Patito Nazionale Facista)” นำโดย “เบนิโต มุสโซลินี” ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำของอิตาลีระหว่างปี ค.ศ.1922-1943 ครองตำแหน่งยาวนานถึง 21 ปีเลยทีเดียว ซึ่งคำว่า 'ฟาสชิสต์' มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินที่แปลว่า ผูกหรือมัดเอาไว้ด้วยกัน มุสโซลินีได้เลือกใช้มัดหวายที่มีขวานเหน็บเป็นโลโก้ของพรรค โดยสื่อความหมายได้ว่า อำนาจที่แข็งแกร่งจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความสามัคคีของคนในชาติเหมือนหวายแต่ละเส้นที่มีความเปราะบาง แต่เมื่อนำมามัดรวมกันก็จะแข็งแกร่งไม่แตกหักได้โดยง่าย แค่ยี่ห้อก็คงพอจะจินตนาการกันได้เลย
คราวนี้เราจะมาเจาะลึกลงรายละเอียดกันว่า อุดมการณ์ทางการเมืองแบบ ‘ฟาสชิสต์’ หน้าตามันเป็นยังไง? แล้วมันน่าพิศมัยขนาดไหน หลักการที่สำคัญที่สุดของอุดมการณ์ทางการเมืองแบบฟาสชิสต์ ก็คือ ‘รัฐเป็นใหญ่' ครับ รัฐ มีอำนาจเหนือประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จ รัฐจะเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่อมีผู้นำที่เข้มแข็งและเด็ดขาด ผู้นำในอุดมคติของฟาสชิสต์เป็นทั้งผู้มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง และยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน ในอิตาลีสมัยฟาสชิสต์เรียกผู้นำสูงสุด หรือ มุสโซลินีว่า อิล ดูเช่ (Il Duce) หรือ The Leader นั่นแหละ
1
ฟาสชิสม์เชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้เท่าเทียมกันตั้งแต่เกิด ผู้ที่เข้มแข็งกว่าก็ต้องปกครองผู้ที่อ่อนแอกว่า สังคมของฟาสชิสต์จึงแบ่งแยกคนในสังคมออกเป็น 2 ชนชั้นคือ ผู้ปกครองและผู้ที่อยู่ใต้ปกครอง ผู้ปกครองก็ทำหน้าที่ปกครองไป ส่วนประชาชนมีหน้าที่ตอบสนองรัฐด้วยการอุทิศตนทำงานให้แก่รัฐด้วยความเชื่อมั่นและเชื่อฟังผู้นำ อำนาจของรัฐที่เข้มแข็งจะเกิดขึ้นมาไม่ได้เลยถ้าหากผู้นำและประชาชนไม่หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังนั้น สังคมอุดมคติของฟาสชิสม์จึงเป็นสังคมที่เดินหน้าภายใต้จุดมุ่งหมายที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีผู้นำรัฐบาลที่แข็งแกร่งนำพาความเจริญมาสู่รัฐนั่นเอง
ก็เหมือนๆ จะดูดี คนเพียงคนเดียวมีอำนาจตัดสินใจทุกเรื่อง พูดอะไรทุกคนต้องเชื่อ สั่งอะไรทุกคนต้องทำตาม ชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้ ใครไม่นก ไม่ไม้ด้วยก็อาจจะกลายเป็นนกเสียบไม้ปิ้งย่างแบบไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว แล้วแบบนี้จะเป็นอะไรไปได้นอกจากระบอบเผด็จการล่ะ? และก็เป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จเสียด้วย เพราะว่ารัฐจะเข้าไปแทรกซึมและควบคุมในทุกกลไกของสังคมได้ด้วยอำนาจของผู้ปกครอง
ในทางการเมือง ฟาสชิสต์ต่อต้านอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเสรีนิยมโดยสิ้นเชิง สิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคลถูกจำกัด ประชาชนไม่มีสิทธิ์มีส่วนร่วมทางการเมืองต้องก้มหน้าใช้แรงงานไป ระบบการเมืองมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวเพื่อความเป็นเอกภาพ เลือกตั้งก็เลือกกันเองตั้งกันเองภายในพรรค มีปัญหาก็ตรวจสอบกันเอง ฟาสชิสม์มองว่าการมีพรรคการเมืองหลายพรรค เป็นรัฐบาลผสมที่มีฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน จะเป็นการเสียเวลามานั่งถกเถียงกันในสภาไม่รู้จักจบสิ้น ประเทศชาติก็จะไม่เจริญก้าวหน้า ก็อำนาจรัฐมันอยู่ที่ตัวผู้นำแล้ว เชื่อใจกันสิ จะได้ไม่เสียเวลา!
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ด้านเศรษฐกิจ เป้าหมายของฟาสชิสม์คือการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจด้วยการพึ่งพาตนเอง การปล่อยให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีจึงเป็นอะไรที่น่ารังเกียจพอๆ กับคอมมิวนิสต์ที่ยึดทรัพย์สินต่างๆ มากองรวมกันแล้วมาจัดสรรปันส่วนให้เท่าเทียม ก็แน่นอนว่าอุดมการณ์แบบฟาสชิสต์ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มนายทุน ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดของฟาสชิสต์ก็คือไม่ไปยุ่งกับกรรมสิทธิ์ของเหล่านายทุน แต่ไปควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับแนวทางของรัฐ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่รัฐและผู้นำ ซึ่งแนวทางนี้เรียกว่า 'รัฐบรรษัท' (Corporate State) นั่นเอง
'รัฐบรรษัท' เป็นความพยายามของฟาสชิสต์ในการสร้างระบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและรัฐสามารถควบคุมได้ หรือว่าง่ายๆ ก็คือทำตามที่รัฐสั่งนั่นแหละครับ โดยสนับสนุนให้เหล่านายทุนเจ้าของกิจการต่างๆ ในภาคธุรกิจที่ใกล้เคียงกันมารวมตัวกัน
เป็นกลุ่มที่เรียกว่า ซินดิเคต (Syndicate) ตัวอย่างเช่น เจ้าของโรงโม่หิน เจ้าของเหมืองแร่ ก็รวมตัวกันเป็นซินดิเคตอุตสาหกรรมเหมือง เจ้าของโรงงานผลิตเสื้อผ้า เจ้าของโรงปั่นด้าย ก็รวมกันเป็นซินดิเคตสิ่งทอ แน่นอนว่าธุรกิจต่างๆ พอรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน การแข่งขันทางการค้าก็ไม่มี เพราะทุกคนทำเพื่อรัฐและทำในนามของรัฐ
เท่านั้นยังไม่พอ ในแต่ละซินดิเคตก็มีการตั้งซินดิเคตย่อยลดหลั่นรองลงไปตามสายบังคับบัญชาตั้งแต่เจ้าของกิจการลงไปจนถึงกรรมกร ทุกคนทำหน้าที่ตามที่รับผิดชอบในส่วนของตัวเองกันไป ผลตอบแทนที่ได้รับก็คือรายได้และสวัสดิการ เวลามีปัญหา อย่างเช่น จะเรียกร้องขอขึ้นค่าแรง การเพิ่มหรือลดสวัสดิการแรงงาน ก็จะมีการส่งตัวแทนของซินดิเคตย่อยซึ่งจะต้องได้ฉันทามติกันภายในซินดิเคตแล้ว จึงจะมาพูดคุยเจรจาต่อรองกันระหว่างซินดิเคตภายในบรรษัท
ดูเผินๆ รัฐบรรษัทของฟาสชิสต์เนี่ยดูคล้ายกับแนวทางของสังคมนิยมที่รัฐเป็นฝ่ายวางแผนแล้วเอกชนดำเนินการตามแผนการที่วางไว้ แต่ความต่างก็คือฟาสชิสต์ไม่ได้ให้ชนชั้นแรงงานเข้ามามีส่วนร่วมในกรรมสิทธิ์ของกิจกรรมการผลิตต่างๆ เลย รัฐบรรษัทของฟาสชิสต์จึงเป็นเพียงแค่ 'เผด็จการนายทุน' ที่ไม่ได้มีแรงงานอยู่ในสมการที่ออกแบบมา คนเล็กคนน้อยที่ต้องการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ของตัวเองจึงเป็นไปไม่ได้ ต้องเรียกร้องผ่านกลุ่มของตัวเอง และในเมื่อการออกแบบและคำสั่งทุกอย่างลงมาจากท่านผู้นำเสียแล้ว มันต้องดีหมดสิ อย่ามาตั้งคำถาม อย่ามาเรื่องเยอะ ท่านต้องคิดมาแล้วว่าดี ดังนั้นก็หัดเสียสละเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมบ้าง ไม่ใช่เอะอะก็เรียกร้องจะเอาสิทธินั่นนี่อยู่ได้ เอาเป็นว่า เมื่อรัฐเผด็จการจับมือกับนายทุนใหญ่ คนที่ได้ประโยชน์จากรัฐบรรษัทก็มีอยู่เพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้นนั่นแหละ
เห็นได้ชัดเจนว่าฟาสชิสต์เป็นอุดมการณ์ที่โคตรจะเผด็จการ ซึ่งมันก็น่าสนใจว่าผู้ปกครองหรือผู้นำแบบฟาสชิสต์เขามีแนวคิดหรือวิธีการอะไรที่สร้างความเชื่อมั่นจนเป็นที่ยอมรับของประชาชน สิ่งที่ผู้นำฟาสชิสต์ชอบใช้เพื่อครอบงำและรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จให้ยังดำรงอยู่ต่อไปได้ก็คือ ลัทธิชาตินิยมและระบอบทหารนั่นเอง
ลัทธิชาตินิยม (Nationalism) คืออุดมการณ์ที่เน้นความสำคัญของความเป็นพวกพ้องของคนที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน และที่สำคัญมาก ๆ คือ เป็นเชื้อชาติเดียวกันครับ ในความเป็นชาตินิยม ความหมายของชาตินั้นแทบจะจำกัดอยู่แค่ชาติพันธุ์เดียว ฟาสชิสม์ เน้นการคัดแยกคนมากกว่าการรวมคนเข้าด้วยกัน ฟาสชิสม์ในเยอรมัน ก็อย่างที่เราทราบกัน ชาวอารยันที่มีร่างกายสมบูรณ์พร้อมและไม่เป็นรักร่วมเพศเท่านั้นที่สมควรจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ที่เหลือกำจัดได้ทั้งหมด หรือ พวกคูคลักซ์แคลน ในสหรัฐอเมริกา ที่มีแนวคิดแบบฟาสชิสต์ ก็ต้องการจะกำจัดคนผิวดำ คนผิวเหลือง คนคาธอลิก และ คนศาสนาอื่น ๆ ออกไปจากประเทศให้หมด เหลือแต่คนผิวขาวที่นับถือศาสนาคริสต์โปรเตสแตนท์เท่านั้น เป็นต้น การสร้างแนวคิดชาตินิยมแบบเชื้อชาติสุดโต่งนี้ มักใช้เครื่องมือทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มีการเน้นย้ำถึงอดีตอันรุ่งโรจน์
อิตาลีต้นตำรับฟาสชิสต์นั้นลากเอาความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรโรมันมาโฆษณากันผ่านการศึกษาและงานด้านวัฒนธรรมของอาณาจักรโรมัน คือ เคลมกันยาวนานเป็นพันปี ของเค้าแรงจริง ๆ นอกจากการสร้างความรู้สึกว่าชนชาติของเรานั้นยิ่งใหญ่และมีความเฉาะแบบที่ไม่มีใครเหมือนแล้ว
การครอบงำทางความคิดความเชื่อแบบนี้จะสำเร็จไม่ได้ถ้าคุมสื่อไม่ได้ครับ สื่อถูกรัฐควบคุมอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นวิทยุกระจายเสียงหรือหนังสือพิมพ์ ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้เกิดความรักชาติ และพร้อมที่อุทิศตนเพื่อชาติซึ่งหมายถึงการทำเพื่ออุดมการณ์ของผู้นำและรัฐนั่นเอง มุสโซลินีสั่งห้ามใช้ “เครื่องหมายคำถาม” ในพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ เพราะการมีเครื่องหมายคำถามนั้นหมายความว่า ความจริง อาจไม่ได้มีเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในลัทธิฟาสชิสต์ เพราะในลัทธิฟาสชิสต์นั้น ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวนั่นก็คือ “ความจริง” ที่ผู้นำบอกกับประชาชนนั่นแหละ
ความสามารถอันยิ่งยวดอีกอย่างหนึ่งของคนที่จะเป็นผู้นำฟาสชิสต์ได้ก็คือ การสร้างศัตรูร่วม ผู้นำฟาสชิสท์ต้องสามารถจับจุดความรู้สึกไม่พอใจ ไม่มั่นคง โกรธแค้น น้อยใจ ของประชาชนมาปั่นให้เกิดอารมณ์ร่วมอย่างมหาศาล เสร็จแล้วก็โยนความรับผิดชอบทั้งหมดให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อสร้างความเกลียดชัง หรือความรู้สึกไม่เดือดร้อนหากคนเหล่านั้นจะต้องถูกทารุณกรรม หรือ ได้รับความอยุติธรรมใดๆ ซึ่งก็ชัดเจนมากในกรณีของเยอรมัน ที่คนเยอรมันส่วนใหญ่ยอมให้ฮิตเลอร์ทำกับคนยิวและโรมานี่ได้ทุกอย่าง ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นก็เป็นเพื่อนบ้านของตัวเอง เป็นเพื่อนที่โรงเรียนลูก เป็นเพื่อนร่วมงาน เรียกว่า คนกันเองทั้งนั้นนั่นแหละ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ในมุมของผู้นำ แน่นอนการที่รัฐเข้มแข็งตามแนวทางของฟาสชิสต์ก็จะต้องอาศัยผู้นำที่เข้มแข็ง อาชีพที่เป็นสัญลักษณ์ ของความแข็งแกร่ง อดทน ถ้าผู้นำไม่ได้เป็นทหารเลย ก็ต้องมีความเข็มแข็งดุดันสไตล์ทหาร แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้นำฟาสชิสต์ต้องมีคือความรักในความรุนแรงทุกรูปแบบ การสะสมกำลังพล การผลิตอาวุธ การสะสมอาวุธเพื่อให้ได้มาซึ่งกองทัพที่มีแสนยานุภาพเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงของรัฐ และแน่นอน ทหารและอุปกรณ์การทำสงครามต่าง ๆ ไม่ได้เอาไว้สู้กับศัตรูจากภายนอกเท่านั้น แต่ยังเอาไว้ปราบปรามผู้ที่มีความเห็น ขัดแย้งกับผู้นำด้วย ซึ่งข้อหาที่มักถูกนำมาใช้ได้ตลอดกาลก็คือ “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ” นั่นเอง
เมื่อลัทธิชาตินิยมผนวกกับลัทธิทหารนิยมภายใต้อุดมการณ์แบบฟาสชิสม์ก็เลยกลายเป็นอุดมการณ์คลั่งชาติ ผู้นำฟาสชิสต์มักเชื่อว่าวิธีการที่ดีที่สุดที่ทำให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า คือการทำสงคราม เพราะเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของรัฐที่เข้มแข็งในการรุกรานรัฐที่อ่อนแอกว่า นโยบายทำนองนี้สร้างความปั่นป่วนให้กับสังคมโลกอย่างขนานใหญ่ และเป็นชนวนเหตุที่สำคัญในการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งลุกลามไปทั่วโลกในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นการรุกรานและเข้ายึดครองเอธิโอเปียในปี 1935 โดยรัฐบาลฟาสชิสต์ของมุสโซลินี ซึ่งถือว่าเป็นการกรุยทางไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
เนื่องจากเป็นการแสดงความอ่อนแอไร้อำนาจของ League of Nations หรือ องค์การสันนิบาตชาติ ในตอนนั้นเพราะแม้องค์การสันนิบาตชาติจะประณามการกระทำของอิตาลีและประกาศให้สมาชิกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับอิตาลี ก็ไม่ได้มีเสียงตอบรับจากสมาชิกมากนัก พูดง่าย ๆ คือ ประเทศมหาอำนาจในตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรมากนัก นอกจากนี้ยังมีรัฐบาลโชวะของญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวคิดแบบฟาสชิสต์ก็เริ่มรุกรานจีนและชาติอื่น ๆ ในเอเชีย เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะและประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาในที่สุด
ประเทศไทยเองก็อยู่ในห้วงความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งตอนนั้นตรงกับยุคที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกระหว่างปี ค.ศ. 1938 – 1944(พ.ศ. 2481 - 2487) ซึ่งเป็นช่วงที่จีนประกาศสงครามกับญี่ปุ่นแล้ว อาจจะเรียกได้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้นในทวีปเอเชียแล้ว
นโยบายชาตินิยมยุคจอมพล ป. ที่เรารู้จักกันดีอย่างเช่นรัฐนิยม 12 ประการ ละครปลุกใจให้รักชาติต่าง ๆ และ ประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ว่าด้วยการที่คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต ก็ได้รับการโปรโมทกันหนักหน่วงในช่วงนี้นี่เองนะครับ มีการออกพระราชบัญญัติควบคุมสื่อในนาม พรบ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 ที่นักหนังสือพิมพ์ที่ไม่เชียร์รัฐบาลสมัยนั้น “ล่ามโซ่แท่นพิมพ์” อย่างไม่มีกำหนดและไม่ต้องรับผิดชอบ ส่วนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจก็มีนโยบายแบบชาตินิยมด้วยรัฐวิสาหกิจหรือที่เรียกว่า ‘ทุนนิยมโดยรัฐ’ คำขวัญอมตะ “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย”
การเผยแพร่อุดมการณ์ชาตินิยมผ่านกรมโฆษณาการ ไปจนถึงการใช้กำลังทหารเข้ายึดดินแดนบางส่วนในรัฐฉานเพื่อจัดตั้งสหรัฐไทยเดิม หรือส่งทหารเข้าไปทำสงครามยึดพระตะบอง เสียมราฐ และ ศรีโสภณ ซึ่งเชื่อกันว่าเคยเป็นดินแดนที่เป็นของไทยมาก่อนที่จะถูกจักรวรรดินิยมตะวันตกมายึดเอาไป เป็นต้น ซึ่งก็มีความเป็นฟาสชิสต์ เข้าตามหลักการที่เราพูดถึงมาทั้งหมด แต่สำหรับในยุคจอมพล ป. สมัยที่สอง หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามแล้ว นั่นคือในปี 1948 ซึ่งในรอบนี้เราไม่สามารถจะพูดได้ว่าจอมพลป.พิบูลสงครามเป็นผู้ปกครองฟาสชิสต์ได้อีกต่อไป เพราะจอมพล ป.ไม่สามารถรวบรวมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวได้ ต้องมีการถ่วงดุลอำนาจและความร่วมมือจากหลายฝ่าย
อาทิ ฝ่ายกองทัพซึ่งมีกลุ่มราชครูของจอมพลผิณ ชุณหวัณ และกลุ่มสี่เสาเทเวศของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ฝ่ายราชสำนักและการเมืองอนุรักษ์นิยม และฝ่ายสหรัฐอเมริกา เรียกว่า จอมพล ป. ก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลงคงต้องเรียกว่าเป็นหนังคนละม้วน ซึ่งเราอาจจะพูดได้ว่า ฟาสชิสต์มักจะรุ่งเรืองขึ้นมาได้ในช่วงที่บ้านเมืองอยู่ในวิกฤต เช่น เกิดสงคราม ภาวะข้าวยากหมากแพงอย่างหนัก หรือโรคระบาด เป็นต้น แต่พอภาวะเหล่านั้นคลี่คลายไปแล้ว เช่นในกรณีไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็จะหาความชอบธรรมในการเป็นฟาสชิสต์ได้ยากขึ้น
1
แม้ว่าฟาสชิสต์ออริจินอลตัวพ่อทั้งหลายได้ล่มสลายไปพร้อมกับการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ความนิยมในแนวคิดและเทคนิคแบบฟาสชิสต์ก็ไม่เคยหายไปไหนอย่างที่เราก็เห็นๆ กันอยู่ อย่างที่ได้บอกไปว่า ฟาสชิสต์เป็นเผด็จการแน่นอน แต่เผด็จการไม่จำเป็นต้องเป็น ฟาสชิสต์เสมอไป แต่ในทุกความเป็นเผด็จการ มักมีเฉดของการเป็นฟาสชิสต์ร่วมด้วยเสมอ
การพยายามแบ่งแยกคนตามเชื้อชาติ สีผิว การโหมไฟลัทธิชาตินิยม การพยายามสร้างความ “เป็นอื่น” ระหว่างคนในสังคมเดียวกัน การให้น้ำหนักกับความดีงามตามขนบดั้งเดิมมากกว่ากฎหมายบ้านเมือง การส่งเสริมหรือเพิกเฉยต่อความรุนแรงโดยรัฐ การพยายามควบคุมสื่อ การสร้างภาพว่าความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว สิ่งเหล่านี้ไม่เคยหายไปจากโลกมนุษย์เบี้ยว ๆ เละ ๆ แห่งนี้นะครับ ดังนั้นความตระหนักรู้และตื่นตัวต่อความประพฤติของผู้มีอำนาจคือสิ่งที่ประชาชนจะต้องมีอยู่เสมอเพื่อป้องกันตัวเองจากการตกเป็นเหยื่อของเผด็จการทุกรูปแบบ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา