15 ก.ย. 2021 เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์
เกาหลีใต้ เลิกเป็นเผด็จการได้อย่างไร ?
ในประวัติศาสตร์ ของหลายๆ ประเทศที่เขามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนี้ ล้วนแต่มีประวัติการต่อสู้ที่ยากลำบาก กว่าจะสลัดตัวเองให้หลุดจากการปกครองแบบเผด็จการก็ล้วนแต่ใช้เวลายาวนานหลายสิบปี และที่สำคัญการที่จะรักษาประชาธิปไตยไว้ก็เป็นเรื่องที่ยากอีก หลายๆ ประเทศถูกฝ่ายอำนาจนิยมกลับมายึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหารโดยกองทัพ หรือการเล่นแร่แปรธาตุกลไกทางการเมืองต่างๆ จนอำนาจไม่ยึดโยงกับประชาชนและกลับไปเป็นเผด็จการ เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในที่สุด บางประเทศก็สู้วนๆ ไปแบบนี้หลายสิบปี หรือร้อยปี
หรือถึงแม้ประเทศนั้นๆ จะมีรัฐธรรมนูญที่ตกลงกันแล้วว่าจะเป็นประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงประชาชนในประเทศนั้นๆ ก็ไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองจริงๆ เช่น ถึงมีการเลือกตั้งแต่ก็ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม หรือ กลุ่มอำนาจเก่าแทรกแซงการเมืองด้วยกลไกของข้าราชการที่เหลือมาจากยุคปกครองด้วยอำนาจนิยมทำให้การเมืองอ่อนแอไร้สเถียรภาพ เศรษฐกิจและสังคมก็ไม่พัฒนา
ในบทความนี้เราจะมาเล่าเรื่องเกาหลีใต้กัน เพราะว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านเพื่อเป็นประชาธิปไตยหรือ democratization ของเกาหลีใต้มักถูกจัดเป็นกรณีศึกษาเพื่อเทียบเคียงกับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
อย่างที่เราทราบกันดี หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกาหลีถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศ ขีดเส้นที่ใกล้กับเส้นขนานที่ 38 ตรงกลางประเทศพอดี ตอนแรกทางเหนือก็ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต และทางใต้ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา สำหรับความเป็นเผด็จการของเกาหลีเหนือเราคงไม่ต้องเสียเวลาอธิบายกันแล้ว แต่สำหรับเกาหลีใต้ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ก็ปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งหลายครั้งมากๆ แต่ก็ไม่เป็นประชาธิปไตยสักที ล้มลุกคลุกคลานเป็นวงจรอุบาทว์ ฝ่ายอำนาจทหารปราบขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม มีรัฐประหาร มีการปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรง กว่าจะเข้าสู่ช่วงที่ประชาธิปไตยเดินหน้าจริงๆ ก็หลังจากปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) ไปแล้ว เกาหลีใต้ต้องอยู่กับอำนาจเผด็จการทหารนานถึง 39 ปีเลยทีเดียว
เกิดอะไรขึ้นในปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) ทำไม? อำนาจทหารเกาหลีใต้ถึงกลับมาอยู่ในการเมืองไม่ได้อีกแล้ว แล้วก่อนหน้านี้การเลือกตั้งเยอะแยะทำไมไม่ช่วยอะไร เรามาหาคำตอบกัน !
เกาหลีใต้หรือสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเขาถือว่าเป็นสาธารณรัฐที่หกแล้ว คล้ายๆ กับฝรั่งเศสคือนับเริ่มสาธารณรัฐใหม่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่สำคัญ จึงจะก็ขอเล่าโดยแบ่งเป็นยุคตามสาธารณรัฐเพื่อที่จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ยุคสาธารณรัฐแรก ค.ศ. 1948 - 1960 (พ.ศ. 2491 - 2503)
เริ่มกันที่ประธานธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ รี ซึงมัน (Rhee Syngman) เป็นพลเรือน แต่ก็เป็นเผด็จการด้วย ปกครองยาวนานถึง 12 ปีเลยทีเดียว ในตอนนั้น หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง สหรัฐอเมริกากับโซเวียต ไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะให้ใครปกครองเกาหลีดี โซเวียตก็เชียร์พรรคคอมมิวนิสต์ของเกาหลี ส่วนสหรัฐก็เชียร์รัฐบาลพลัดถิ่นที่ตั้งอยู่ในจีน ดังนั้นก็เลยขีดเส้นเอาไว้เพื่อแบ่งเป็นการชั่วคราว โซเวียตดูทางเหนือ อเมริกาดูทางใต้ แต่ในการแบ่งนี้ ก็ไม่ได้มีการถามคนเกาหลีเลยว่าเขาอยากจะเห็นประเทศแบ่งออกมาเป็นสองประเทศไหม? ผู้นำทั้งสองฝั่งเหนือ-ใต้ เลยมีความคิดจะรวมประเทศ โดยต้องเป็นคนได้ปกครองเอง
สำหรับเกาหลีใต้ บรรดานักการเมืองเกาหลีที่เป็นสายต่อต้านญี่ปุ่น ก็เป็น รี ซึงมัน นี่แหละ ที่เข้าหาสหรัฐได้เร็วที่สุด และมีข้อตกลงให้สหรัฐได้มากที่สุด ช่วงที่อเมริกันปกครอง เขาก็ได้อยู่ในตำแหน่งสำคัญตลอด และ รี ซึงมัน มีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์แบบเข้มข้นสุดๆ
เมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) จัดขึ้นโดยสหประชาชาติ เกาหลีใต้ก็เลือกการปกครองแบบมีประธานธิบดี มีสภาที่เรียกว่า ‘สภาสมัชชาแห่งชาติ’ (National Assembly) และก็เป็นสภานี้ที่เลือก รี ซึงมัน เป็นประธานธิบดีสมัยแรก
อาจจะฟังดูไม่น่าจะเรียกว่าเป็นเผด็จการได้ แต่ต่อมาสิ่งที่ รี ซึงมัน ทำก็คือ การสืบทอดอำนาจตัวเอง นั่นก็คือเมื่อใกล้ครบวาระ มีการเลือกสมาชิกสภาสมัชชาขึ้นอีกรอบ (1950 South Korean legislative election) ปรากฎว่าพรรคที่สนับสนุนเขาได้คะแนนเสียงนิดเดียว รี ซึงมัน จึงมั่นใจว่าสภาใหม่คงไม่เลือกเขาอีกรอบแน่ๆ ก็เลยใช้วิธีแก้รัฐธรรมนูญให้ประชาชนเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีโดยตรง พอเป็นแบบนี้ก็ไม่มีคู่แข่งที่น่ากลัวเพราะไม่มีใครจะตั้งตัวทันได้ และ รี ซึงมัน ก็เลยชนะอีกสมัยไปแบบสบายๆ ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมจู่ ๆ ก็ลุกขึ้นมาแก้รัฐธรรมนูญได้นั้น ก็เป็นเพราะ รี ซึงมัน ใช้กำลังทั้งทหารและตำรวจ คอยกดดัน ข่มขู่สมาชิกสภาจนได้คะแนนเสียงมากพอที่จะแก้รัฐธรรมนูญได้
วัฒนธรรมการเลือกตั้งเพื่อชุบตัวก็ได้เริ่มขึ้น !
ถึงขนาดนี้แล้ว รี ซึงมัน ก็ยังไม่หยุด เพราะว่ารัฐธรรมนูญตอนนั้นยังเขียนไว้ว่า ปธน.เกาหลีใต้อยู่ในตำแหน่งได้แค่ 2 สมัยเท่านั้น เมื่อใกล้ครบเทอมที่ 2 รี ซึงมัน ก็ใช้วิธีแก้รัฐธรรมนูญแบบที่ไม่ชอบธรรมอีกรอบ โดยแก้ให้ตำแหน่งปธน.ไม่มีกำหนดวาระ ตัวเขาเองก็ชนะอยู่ต่อไปเป็นวาระที่ 3 พอถึงการเลือกตั้งวาระที่ 4 ในปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) ไม่ว่าประชาชนจะเอือมเผด็จการแค่ไหนเขาก็ชนะเลือกตั้งอีกอยู่ดี เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว ทั้งนี้ก็เพราะ รี ซึงมันใช้กฎหมายกำจัดคู่แข่งไปหมดแล้ว ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองที่อยู่ในสงครามเกาหลี การกล่าวหาว่าคู่แข่งเป็นคอมมิวนิสต์ก็ย่อมทำได้ง่าย มีการบีบฝ่ายค้านจนหนีออกนอกประเทศ นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นจำนวนมากถูกจับและประหารชีวิตเลยทีเดียว
นอกจากนั้น รี ซึงมัน ก็ยังเริ่มอีกวัฒนธรรมก็คือ ความที่ตัวเองมีอำนาจ มีกำลัง มีกองทัพ ก็ได้เรียกรับสปอนเซอร์จากนักธุรกิจซึ่งมีผลประโยชน์อิงแอบกับรัฐบาลแลกเปลี่ยนกับการได้ทำมาหากินแบบผูกขาด ได้รับการจัดซื้อจัดจ้าง ได้รับโครงการต่างๆ เขาก็ มีเงินมากมายมหาศาลในการเล่นการเมืองแบบสกปรก จนผ่านการเลือกตั้งมาได้อีกครั้ง ทั้งๆ ที่กระแส ก็ตกต่ำสุดๆ แล้ว
ประชาชนเลยฝากความหวังไว้ที่การเลือกตั้งรองปธน. ที่จัดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งยังมีหวังเพราะมีฝ่ายค้านลงแข่งด้วย ปรากฎว่า คนของ รี ซึงมัน ก็ยังชนะท่วมท้นถึง 80% แม้จะถูกจับได้ด้วยว่ามีบัตรเลือกตั้งที่กาเอาไว้ล่วงหน้าเป็นร้อยๆ ใบ
ในปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) เมื่อประชาชนเห็นว่าไม่สามารถสู้ในระบบได้ เลือกตั้งก็โดนโกง รัฐธรรมนูญก็โดนแก้ให้เหมาะกับเผด็จการไปเรื่อยๆ ประชาชนที่ทนไม่ไหวก็ออกมาชุมนุมกันทั้งประเทศเป็นครั้งแรกๆ โดยมีจุดเริ่มต้นจากนักเรียน นักศึกษาและแรงงาน (April 19 Movement) ก่อนจะลุกลามไปทั่วประเทศ ประชาชนโกรธแค้นถึงขีดสุด มีการพบศพเด็กมัธยมอายุแค่ 16 ปีถูกทิ้งในทะเล (the death of Kim Ju-Yul) โดยที่เด็กคนนี้หายตัวไปหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนหน้านั้น จึงส่งผลให้ฟางเส้นสุดท้ายขาดสะบั้น ความแค้นนี้ทำให้เกิดการลุกฮือที่ต่อเนื่องมาอีกถึงสองสัปดาห์ รี ซึงมัน ประกาศสภาวะฉุกเฉิน ทหารตำรวจใช้กระสุนจริงกับประชาชนมีคนเสียชีวิตไปถึง 186 คน แต่ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
สุดท้ายแล้ว รี ซึงมัน ก็ตัดสินใจหนี โดยขอความช่วยเหลือจาก CIA ให้เอาเครื่องบินพาเขาออกนอกประเทศ รี ซึงมัน ลี้ภัยอยู่ที่ฮาวายอีก 5 ปีก่อนจะเสียชีวิตไปในที่สุด
ความเป็นเผด็จการของ รี ซึงมัน ไม่ใช่แค่แก้รัฐธรรมนูญจนกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อพวกตัวเองเท่านั้น ส่วนหนึ่งที่ทำได้ก็เพราะในช่วงที่ประเทศอยู่ในสภาวะสงครามกับเกาหลีเหนือ เขาก็ใช้โอกาสนี้ออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Law) ซึ่งก็ชัดเจนว่าทำไปเพื่อความมั่นคงของตัวเอง เพราะกฎหมายถูกใช้กำจัดนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายต่อต้านแบบตามใจชอบ โดยตีตราว่าเป็นพวกฝักใฝ่เกาหลีเหนือ แค่ช่วงต้นของสงครามเกาหลี มีนักโทษการเมืองถูกจับข้อหาคอมมิวนิสต์เกือบ 3 หมื่นคน ถูก re-education หรือปรับทัศนคติอีก 3 แสนคน และมีการสังหารหมู่ประชาชนด้วยกำลังทหารอีกหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน เช่นในวันที่สงครามเปิดฉาก กองทัพเกาหลีเหนือบุก เขากลับตัดสินใจสั่งประหารนักโทษการเมืองทั้งหมด! โหดเหี้ยมมากๆ
ยุคสาธารณรัฐที่สอง ค.ศ. 1960 - 1961 (พ.ศ. 2503 - 2504)
หลังจากที่ รี ซึงมัน ลี้ภัยไปแล้ว เกาหลีใต้ก็เข้าสู่ยุคใหม่ อำนาจกลับมาสู่พลเรือนอีกครั้งและเริ่มกระบวนการเข้าสู่ประชาธิปไตย มีการแก้รัฐธรรมนูญขนานใหญ่ จำกัดอำนาจของปธน.ให้น้อยลง เพิ่มอำนาจให้สภาที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ใช้ระบบรัฐสภาอำนาจสู่สุดอยู่ที่นายกรัฐมนตรี นำโดยนายกรัฐมนตรี ชาง เหมียน (Chang Myun) เป็นยุคที่ฝ่ายซ้ายเริ่มผลักดันการเมือง มีการตั้งสหภาพอาชีพต่างๆ มากมาย สหภาพครู สหภาพนักข่าว
ในช่วงระยะเวลาเพียง 8 เดือนแรกของสาธาณรัฐที่สอง ประชาชนก็มีการเคลื่อนไหวน้อยใหญ่ในเรื่องต่างๆ ถึง 2 พันครั้ง และนายกรัฐมนตรี ชาง เหมียน ถูกกดดันให้เช็คบิลกับเครือข่ายของนาย รี ซึงมัน มีการสอบสวนคนที่เกี่ยวข้องกว่า 4 หมื่นคน ข้าราชการและตำรวจหลายพันคนถูกขับออกจากตำแหน่ง มีการวางแผนปฎิรูปกองทัพ โดยลดขนาดให้เล็กลงเพราะสงครามเกาหลีได้จบไปแล้ว แต่ยุคสาธารณรัฐที่สองก็เต็มไปด้วยความน่าผิดหวังหลายเรื่อง รัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งมีคะแนนเสียงปริ่มน้ำเพราะเกินมาแค่ 2-3 ที่นั่งเท่านั้น ส่วนฝ่ายค้านก็คือฝ่ายอำนาจเก่า
การกวาดล้างเครือข่ายของ รี ซึงมัน ก็ล้มเหลวในสายตาประชาชน นักธุรกิจรายใหญ่และนายพลรวยๆ ยังลอยนวล แถมเศรษฐกิจก็แย่เอามากๆ ค่าเงินวอนตกต่ำ แค่ช่วงสั้นๆไม่ถึงปี ข้าวสารแพงขึ้นถึง 60 % อัตตราว่างงานพุ่งสูงเกิน 23 % เลยทีเดียว
คนเกาหลีใต้ มีเวลาให้พักหายใจจากทรราชย์คนก่อนอยู่เพียง 1 ปี ก็ต้องพบกับฝันร้ายครั้งใหม่ เศรษฐกิจไม่ดี สงครามเย็นรอบโลกกำลังเข้มข้น เมื่อสบโอกาสได้จังหวะ นายพล ปัก จุงฮี (Park Chung hee) จึงฉีกรัฐธรรมนูญทำรัฐประหาร ในวันที่ 16 พฤษาคม ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) นายพลปัก จุงฮี ขอเวลาไม่นานราว 2 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นที่ทำให้ประเทศเศรษฐกิจไม่ดีและฟื้นฟูกองทัพเพราะการปราบคอมมิวนิสต์และรวมประเทศเหนือ-ใต้คือความจำเป็นอันดับหนึ่ง
1
ยุคสาธารณรัฐที่สาม ค.ศ. 1963 - 1972 (พ.ศ. 2506 - 2515)
คณะรัฐประหารยกเลิกสภาผู้แทนเดิมทิ้งไปและก็ตั้งสภาใหม่เรียกว่า ‘สภาสูงสุดเพื่อการฟื้นฟูชาติ’ (Supreme Council for National Reconstruction หรือ SCNR) โดยเป็นสภาที่มีอำนาจสูงสุดและ ปัก จุงฮี ก็ตั้งตัวเป็นประธานซะเอง
นอกจากนั้นก็ยังสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาอีกก็คือ ‘การเป็นทหารนักการเมือง’
เริ่มโดยการก่อตั้งสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติขึ้น โดยมี CIA เป็นต้นแบบและเรียกว่า KCIA เพื่อความมั่นคงของชาติต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ และเป็นอันรู้กันว่าตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นแขนเป็นขาให้กับรัฐบาลทหารที่กำลังจะเล่นการเมือง ต่อมาสภาของคณะรัฐประหารก็ยังออกกฎหมายชำระสะสางทางการเมือง (Political Purification act) เพื่อตัดสิทธิ์นักการเมืองทั้งหลายที่คณะรัฐประหารมองว่ามีความผิด เสร็จแล้วก็ทำประชามติผ่านรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้เพื่อให้กลับไปให้อำนาจประธานาธิบดีสูงสุดเหมือนเดิม
ส่วนทางด้าน ผอ.หน่วย KCIA คิม จองพิล ก็ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาชื่อพรรค DRP (Democratic Republican Party) โดยใช้เครือข่ายของสำนักข่าวกรองที่ตั้งขึ้นมาและเงินทุนที่ได้จากนักธุรกิจหน้าเดิมๆ ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ตั้งแต่ยุค รี ซึงมัน เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว นายพล ปัก จุงฮี ก็เลยบอกว่าครบเวลาที่ขอไว้ไม่นานแล้ว จากที่เคยบอกว่าตัวเขาและคณะรัฐประหารจะไม่เล่นการเมือง จะไม่สืบทอดอำนาจ แต่พอถึงเวลาเลือกตั้ง นายพลปัก จุงฮี ก็ลาออกจากกองทัพและบังเอิญ เหมาะเจาะมากๆ ที่ดันเป็นแคนดิเดต ปธน.ของ พรรค DRP หรือพรรคที่ตั้งมาใหม่แบบพอดิบพอดี แหม่ เข้าล็อควงจรอุบาวท์ (อีกครั้ง)
ในการเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ มา ปัก จุงฮี ก็ชนะเลือกตั้งแบบฉิวเฉียดทั้งสองสมัยในปี ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506) และ ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) ทศวรรษที่ 1960 เกาหลีใต้ภายใต้การปกครองของปัก จุงฮี เศรษฐกิจก็เริ่มขยายตัวพอดี เกาหลีเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสหกรรมไปอย่างรวดเร็ว จากการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและโดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาทำสงครามในเวียดนาม จึงซับพอร์ตเกาหลีใต้เต็มที่ด้วยเช่นกัน และปัก จุงฮี ก็เป็นเผด็จการที่อยู่ค่ายสหรัฐอเมริกา มองเผินๆ เหมือนกับว่าเป็นเผด็จการเศรษฐกิจก็ดีได้เหมือนกันแต่ความเจริญที่เกิดขึ้นก็คือ ความเจริญก็ยังกระจุกตัวแค่ในเมืองใหญ่ ช่องว่างระหว่างคนเมืองกับต่างจังหวัดยังคงกว้างมาก รายได้ก็เป็นแบบ รวยกระจุกจนกระจาย และการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีแรงงานราคาถูกให้ภาคอุตสาหกรรมใช้อย่างไม่จำกัด
1
เรื่องหนึ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับการปกครองของเผด็จการเกาหลีก็คือ การออกกฎหมาย กฎหมายหลายฉบับไม่ว่าจะเป็นกฎหมายพรรคการเมือง ที่บังคับให้พรรคการเมืองมีที่ทำการพรรคอยู่ในเมืองหลวงเท่านั้น แต่ต้องมีสำนักงานในทุกจังหวัดทั่วประเทศ และไม่ให้มีความยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่ของตนเอง หรือกฎหมายเลือกตั้ง ที่ กกต. บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับพรรคฝ่ายค้านแต่ปล่อยให้พรรครัฐบาลทำได้ทุกอย่าง
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
การใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมแทนที่จะใช้การบังคับด้วยกำลังสร้างความคุ้นเคยที่อันตรายบางอย่างให้กับประชาชน นั่นก็คือ ความรู้สึกฝังหัวลึก ๆ ว่า เวทีการเมืองปกติก็จะต้องถูกกำกับด้วยกฎหมายแบบนี้ การที่พรรคการเมืองมีกฎหมายบังคับมากมายนั้นเป็นเรื่องปกติ ทั้ง ๆ ที่หากลองคิดดูดี ๆ แล้ว บทบาทหน้าที่อันแท้จริงของพรรคการเมืองก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการอาสาเป็นตัวแทนของประชาชนเท่านั้นเอง เค้าจะมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ไหน หรือมีสาขาครบทุกจังหวัดหรือไม่ มันไม่ใช่สาระสำคัญแม้แต่น้อย นี่คือสิ่งที่นักวิชาการบางท่านเรียกว่า การเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative Democratisation)
กลับมาที่นายพล ปัก จุงฮี
เมื่อเขาอยู่ครบสองวาระในปี ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) ก็มาถึงทางตัน เพราะรัฐธรรมนูญที่เขียนเองใช้เอง กำหนดให้อยู่ได้แค่สองวาระเท่านั้น ที่ผ่านมาก็ชนะพรรคของพลเรือนแบบเฉียดฉิวมาตลอด ถ้าเปลี่ยนตัวก็กลัวจะแพ้ ‘ปัก จุงฮี’ เลยแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ แบบที่ รี ซึงมัน เคยทำมาแล้ว และเขาก็ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 แต่ก็เป็นการเลือกตั้งที่ค้านสายตาประชาชนมากๆ กฎเขียนไว้ว่าสองวาระ อันนี้แก้หน้าตาเฉยเลย ทำให้เกิดแรงต่อต้านมาก แม้แต่ฐานเสียงในเมืองหลวงที่เคยเลือกพรรคทหารมาเสมอ ก็ยังหันไปเลือกฝ่ายพลเรือนแทน พอฝ่ายค้าน นักศึกษา แรงงานจำนวนมากจับมือกันต่อต้านเขารุนแรงมากขึ้น หลังเลือกตั้งไม่นาน ปัก จุงฮี ก็ตัดสินใจประกาศสภาวะฉุกเฉิน งดใช้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา ยุบพรรคการเมือง เรียกสั้นๆ ว่า รัฐประหารตัวเองนั่นแหละ เป็นอันว่าสิ้นสุดยุคสาธารณรัฐที่สาม
สาธารณรัฐที่สี่ ค.ศ. 1972 - 1979 (พ.ศ. 2515 - 2522)
หลังจากกลับไปปกครองด้วยการประกาศสภาวะฉุกเฉินอยู่ราวหนึ่งปีในปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) รัฐบาลของ ปัก จุงฮี ก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญยูชิน” นอกจากตั้งตัวเองเป็นประธานาธิบดีแล้ว ก็ยังให้อำนาจ ปธน. แบบล้นเหลือ เป็นได้ไม่จำกัดวาระ แถมยังแต่งตั้งสมาชิกสภาได้ถึง 1 ใน 3 ให้พวกตัวเองยกมือให้ตัวเองเป็น ปธน. ต่อมาอีกถึงสองสมัย เสรีภาพไม่ต้องพูดถึง เผด็จการเต็มที่ มีหน่วยข่าวกรอง KCIA เป็นมือเป็นไม้ คอยขัดขวางการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล และจัดการกับฝ่ายค้าน คอยยุบพรรคการเมือง เช่นในปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2516) คิม แด-จุง (Kim Dae-jung) ที่ต่อมาได้ป็นประธานธิบดีคนที่ 8 ก็เคยถูก KCIA ลักพาตัวอุ้มจากญี่ปุ่นกลับมาขังที่เกาหลีใต้ เพราะว่าตอนนั้นเขากำลังลี้ภัยและเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ
ชีวิตภายใต้ระบอบยูชินสำหรับประชาชนก็ยากลำบาก ถึงเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในยุค 1970 จะเริ่มก้าวหน้าเพราะประเทศเน้นหารายได้จากอุตสาหกรรมและการส่งออกได้แล้ว แต่ก็เป็นความเจริญสำหรับคนเฉพาะบางส่วน เพราะการส่งออกที่ว่าก็คือการส่งออกที่เน้นทำกำไรจากการกดค่าแรงคนงานเพื่อลดต้นทุนให้ต่ำ จะได้สู้กับญี่ปุ่น จีนและไต้หวัน ได้
นักการเมืองและข้าราชการก็ร่ำรวยแบบผิดปกติจนเป็นปกติ เพราะได้รับประโยชน์จากการอนุมัติการลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐ ให้กับพวกนายทุนหน้าเดิมๆ ที่ได้กลายเป็นนายทุนผูกขาด คนเดียวมีหลายๆ กิจการ และเป็นระบบบริษัทของครอบครัวหรือที่แฟนๆ ซีรีส์เกาหลีอาจจะเคยได้ยินกันว่า บริษัทแบบแชโบล (chaebol) คำว่า ‘แชโบล’ แปลตรง ๆ ว่า ครอบครัวที่มีเงิน ก็คือ ธุรกิจครอบครัวกงสีสไตล์นั่นแหละ
การทำธุรกิจกับรัฐในช่วงนั้น ไม่ว่าจะโควต้าจัดซื้อจัดจ้าง การนำเข้าและส่งออก ก็ล้วนแต่ต้องผ่านทหาร แล้วทหารก็เอาเงินไปรักษาอำนาจ เอาไปให้แจกจ่ายสร้างบุญคุณให้ผู้ใต้อุปถัมภ์ จ่ายสินบน เอาไปใช้เล่นการเมืองแบบสกปรก เผด็จการกับพรรคพวกก็ดูดผลประโยชน์เต็มที่ ชนชั้นกลางกับชนชั้นแรงงาน ก็ทำงานเสียภาษีแบบไม่ได้อะไร ไม่มีทางลืมตาอ้าปาก นักศึกษามองไม่เห็นอนาคต ประชาชนก็เริ่มต่อต้านระบอบยูชินมากขึ้นเรื่อยๆ
การต่อต้านเริ่มเข้มข้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) รัฐบาล ปัก จุงฮี ใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อใช้กำลังควบคุมประชาชนอีกครั้ง ช่วงปี ค.ศ. 1974 ถึงปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2517 - 2522) มีการใช้มาตรการฉุกเฉินถึง 9 ฉบับ บางคนก็เรียกว่าเป็นยุคแห่งมาตรการฉุกเฉิน เป็นยุคที่รัฐมองประชาชนผู้เสียภาษีเป็นศัตรูแบบออกหน้าออกตา ทั้งๆ ที่ศัตรูก็มีอยู่แล้วนั่นคือเกาหลีเหนือ
ช่วงสิงหาคม ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) ประชาชนก็ทนไม่ไหวจนได้ หลังจาก ปัก จุงฮี ใช้การเลือกตั้งชุบตัวเป็นครั้งที่สอง และก็ใช้สภาหรือที่เรียกว่า ‘สมัชชาแห่งชาติ’ ที่อยู่ใต้อำนาจของ ปัก จุงฮี โหวตขับไล่หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านพรรค NDP คิม ยังซัม (Kim Young-sam) ออกไปจากสภา ประชาชนก็โกรธแค้น รู้สึกหมดหนทางที่จะสู้ด้วยการเมือง (อีกรอบ) ออกมาชุมนุมใหญ่ทั่วทั้งประเทศ (อีกรอบ) ยิ่งถูกสลายการชุมนุม ยิ่งจับคนติดคุกประชาชนก็ยิ่งออกมามากขึ้นเรื่อยๆ
ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ รัฐบาลหมดความชอบธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน นายพลปัก จุงฮี ก็ถูกลอบสังหาร คาทำเนียบรัฐบาล โดยหัวหน้า KCIA
อันที่จริงแล้วก็เคยมีความพยายามลอบสังหารนายพล ปัก จุงฮี มาแล้วครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) ขณะที่กำลังปราศรัยออกทีวีที่โรงละครแห่งชาติเกาหลี ซึ่งเขาก็รอดมาได้ เพราะกระสุนพลาดไปถูกยูค ยังซู (Yuk Young-soo) สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแทน แต่คราวนั้นมือปืนเป็นพวกลงมือคนเดียว ถูกจับและสอบสวนว่าเป็นสายลับเกาหลีเหนือ แต่คราวนี้ในปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) ปัก จุงฮี กลับโดนลูกน้องคนสนิทจัดการซะเอง ด้วยเหตุจูงใจที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ชัดเจน บ้างก็ว่าเกิดจากโทสะเกิดการทะเลาะกันเอง บ้างก็ว่าเกิดจากความพยายามโค่นล้มแย่งอำนาจกัน บางก็ว่าซีไอเออยู่เบื้องหลังเพราะกลัวว่า ปัก จุงฮี จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดแต่ผลลัพธ์ก็คือหลังจาก ปัก จุงฮี ปกครองเกาหลีใต้มา 18 ปี ก็แก้ปัญหาด้วยการรัฐประหารอีกรอบ ใช่แล้ว ทหารก็ถูกทหารรัฐประหารอีกรอบ
สาธารณรัฐที่ 5 ค.ศ. 1979 - 1987 (พ.ศ. 2522 - 2530)
ภายหลังการลอบสังหารนายพล ปัก จุงฮี แม้ฝ่ายอำนาจเก่าจะเลือก ปธน. กันเองอีกรอบ และได้นาย เช คยูฮา (Choi kyuha) ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง แต่เป็นได้เพียงแค่ 6 วันเท่านั้น
นายพล ชอน ดูฮวาน (Chun Doohwan) และ นายพลโร แทอู (Roh Taewoo) ก็ออกมาทำรัฐประหาร โดยไม่สนกลไกตามรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่พวกตัวเองเขียนไว้ก็ตาม โดยใช้ข้ออ้างว่าต้องตามจับล้างบางพวกกบฎที่ลอบสังหารผู้นำ โดยเข้ามากำจัดและก็แต่งตั้งพวกตัวเองในตำแหน่งสำคัญๆ แบบไม่ต้องมีกฎหมายอะไรรองรับ โดยให้มี ปธน. ไว้เป็นหุ่นเชิดเฉยๆ
ก็เป็นอันรู้กันทั้งประเทศว่า นี่คือการกระชับอำนาจของทหารที่จับกลุ่มกันแบบลับๆ ที่ชื่อว่าทหารสาย “ฮานาเฮว” (Hanahoe) แปลตรงตัวได้ว่า “สมาคมหนึ่งเดียว” ซึ่งก็คือสมาคมของพวกทหารที่เรียนจบโรงเรียนทหารรุ่นที่ 11 หรือไม่ก็มีพื้นเพจากเมืองแทกู โดยตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยกันเล่นการเมือง ช่วยกันรักษาผลประโยชน์และมีอิทธิพลแต่งตั้งโยกย้ายนายพลส่วนใหญ่ของประเทศ
นายพล ชอน ดูฮวาน ลาออกจากกองทัพ และตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าหน่วย KCIA ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) ประชาชนก็เห็นแล้วว่าคงต้องดูหนังม้วนเดิม เพราะนี้มันรุปแบบเดิมๆ เหมือนตอนนายพล ปัก จุงฮี ครองอำนาจ คือใช้เครือข่ายหน่วยข่าวกรอง KCIA ไล่กำจัดนักการเมืองและก็ระดมทุนตั้งพรรคมาจัดเลือกตั้งสกปรกชุบตัวอีกรอบ
ประชาชนเห็นแบบนี้ก็ทนไม่ไหวออกมาชุมนุมใหญ่ ต่อต้านรัฐธรรมนูญยูชิน เป็นการชุมนุมใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี คล้ายกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนตอนที่สามารถไล่ รี ซึงมัน ให้หนีไปฮาวายได้ นั่นก็เพราะว่าทหารแทรกแซงการเมืองมากว่า 20 ปี ทหารอยู่ในทุกต่ำแหน่งทางการเมือง ทหารผูกพันกับนโยบายเร่งรัดเศรษฐกิจที่ทำให้เกาหลีใต้เติบโตขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะรวยแค่คนกันเองก็ตาม ประกอบกับการที่ยังมีสงครามกับเกาหลีเหนือก็ทำให้งบทหารมีมาก ทำให้กองทัพมีกำลังพลและอาวุธซึ่งก็มีความพร้อมนำมาปราบปรามประชาชนได้ทุกเมื่อ ต่างชาติก็นิ่งเฉยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะอยากจะได้แหล่งผลิตราคาถูก ดังนั้นทหารเกาหลีใต้ไม่มีความจำเป็นต้องต่อรองอะไรกับประชาชน
ในที่สุด นายพล ชอน ดูฮวาน ก็บีบให้สภายกมือออกประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) สั่งปิดมหาวิทยาลัย สั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง สั่งห้ามสไตรก์หยุดงาน วันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) เมื่อประชาชนและนักศึกษาในเมืองกวางจูออกมาชุมนุมประท้วง ก็เกิดการสังหารหมู่ประชาชนครั้งที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ (Gwangju massacre) ซึ่งลุกลามไปทั่วประเทศยาวนานกว่า 9 วัน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 200 คน บาดเจ็บเป็นพันๆ คน ทุกวันนี้จำนวนดังกล่าวก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าประมาณต่ำเกินไป ในความเป็นจริงอาจจะมี 1,000 ถึง 2,000 คนเลยทีเดียว
พอปราบประชาชนเสร็จ นายพล ชอน ดูฮวาน ก็ทำการยุบ ‘สภาสมัชชาแห่งชาติ’ ตั้งคณะกรรมการใหม่มาปกครองชั่วคราวโดยให้ตัวเองเป็นประธานเหมือนที่คณะรัฐประหารทำกันมาเป็นประจำ (National Defense Emergency Policy Committee) และก็ทำการแก้รัฐธรรมนูญใหม่โดยการผ่านประชามติ เป็นเผด็จการนี้ทำประชามติผ่านกันได้ง่ายๆ เลย มีรัฐธรรมนูญใหม่มา ‘สาธารณรัฐที่ห้า’ ก็เริ่มอย่างเป็นทางการ
รัฐธรรมนูญถูกแก้ให้ ปธน. อยู่ยาวๆ ไปอีก 7 ปีต่อหนึ่งวาระ ไม่มีการเลือกตั้งโดยตรง ประชาชนต้องเลือกผู้แทนจากคนที่ถูกเลือกมาให้เลือกอีกที เลวร้ายไม่ต่างอะไรกับยุคก่อนหน้านี้ ด้วยระบอบแบบเดิมนี้ นายพล ชอน ดูฮวาน ก็ได้เป็นประธานธิบดีในที่สุด ชุบตัวกันไปอีกรอบ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
1
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ยุค 1980 เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ก็ยังบูมขึ้นไปอีก เกาหลีใต้กลายเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์รายใหญ่ มีอุตสาหกรรมรถยนต์เกิดขึ้นในประเทศ มีการลงทุนจากต่างประเทศไหลมาแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ด้วยการเมืองแบบเผด็จการมีแต่พวกเดียวกันเองที่ได้ประโยชน์ ก็ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนในสังคมมีมากขึ้นไปอีก ประชาชนชนชั้นกลาง ชั้นล่างก็ทนทุกข์เหมือนเดิมในสังคมที่ไม่มีการแข่งขัน มีแต่ใครเป็นพวกใคร
แต่เมื่อใช้รัฐธรรมนูญแทนกฎอัยการศึก ก็ทำให้การควบคุมน้อยลง ประชาชนก็ยังไม่คิดว่าการเมืองแบบเผด็จการจะแก้ปัญหาในชีวิตพวกเขาได้ ช่วงเวลาหลังจากนั้น ตลอดระยะเวลาหลายปีก็มีการเคลื่อนไหวแบบไม่ขาดสาย ปี ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527) นักศึกษาจำนวน 42 แห่งทั่วประเทศ มาร่วมกันตั้งองค์กรเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ออกมาเป็นปึกแผ่นแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และ ปี ค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529) พรรคฝ่ายค้านล่ารายชื่อแก้รัฐธรรมนูญได้ถึง 10 ล้านรายชื่อ
เมื่อห้ามไม่ไหวในปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) การปราบปรามก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง มีนักศึกษาคนหนึ่ง (Park Jong-chol) ถูกตำรวจจับไปสอบสวน ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต สร้างความโกรธแค้นให้ประชาชนเป็นอย่างมาก และในเดือนพฤษภาคม ตำรวจก็สลายการชุมนุมของนักศึกษาที่กำลังชุมนุมในมหาวิทยาลัยย็อนเซ มีนักศึกษาเสียชีวิตเพราะถูกยิงแก๊สน้ำตาใส่ศีรษะ ประชาชนที่หมดความอดทนออกมาเรียกร้องความยุติธรรมเป็นหลักล้านคน
ตลอดเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) (June Democracy Movement) ประชาชนออกมาต่อต้านรัฐบาล ไม่เพียงแค่เรียกร้องความยุติธรรมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเหล่านักศึกษาที่โดนฆ่าและเหตุการณ์ที่กวางจูเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็ยังเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงออกเพื่อต่อต้านนาย โร แทอู ลูกน้องของนายพล ชอน ดูฮวาน ที่ประกาศว่าจะลงสมัครเป็นประธานธิบดีคนต่อไปเพื่อสืบทอดอำนาจ
มีการลงชื่อเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญและให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงและประชาชนก็ออกมาเรียกร้องอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รัฐบาลเผด็จการก็เตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินอีกครั้ง เตรียมปิดมหาวิทยาลัย ปิดสื่อ และเตรียมสลายการชุมนุมในวันที่ 20 มิถุนายน ในขณะที่หนังม้วนเดิมกำลังจะกลับมาฉายใหม่ วงจรอุบาวท์กำลังจะหมุน ก็เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น! คราวนี้รัฐบาลเผด็จการเปลี่ยนใจ ยกเลิกการสลายการชุมนุม และในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) โร แทอู ก็ออกประกาศ 8 ข้อ ยอมรับข้อเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปล่อยตัวนักโทษการเมืองและรับประกันสิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหวขององค์กรต่างๆ ทั้งภาคประชาชนและพรรคการเมือง
1
อ้าว! ทำไมรัฐบาลเผด็จการถึงเปลี่ยนใจ ก็มีคำอธิบายที่หลากหลายมาก เช่น เศรษฐกิจเกาหลีใต้พัฒนามาไกลเกินไปที่จะย้อนกลับไปเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ เผด็จการมีภาพลักษณ์ที่ต้องรักษา เพราะเกาหลีใต้จะได้เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกในปี ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) อีกคำอธิบายหนึ่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกันนั้น จอมเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์คอส เพิ่งถูกประชาชนชาวฟิลิปปินส์ขับไล่หลังจากที่ครองอำนาจอยู่ถึง 20 ปี และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของเผด็จการทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้แสดงความสนับสนุนประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์ คอราซอน อาคิโน่ ซึ่งนี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เผด็จการเกาหลีใต้ต้องเบรกตัวเองไว้แบบหัวทิ่ม
และแล้วรัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้นโดยคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนฝ่ายค้านและรัฐบาลเป็นคนเลือก เขียนกำหนดชัดเจนว่าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ สมัชชาแห่งชาติต้องมาจากการเลือกตั้ง ประธานธิบดีต้องเลือกตั้งโดยตรงมีวาระ 5 ปีและอยู่ได้เพียงวาระเดียวเท่านั้น มีการเขียนกำหนดไว้ชัดเจนว่า กองทัพมีเพียงหน้าที่ทางความมั่นคงของชาติและต้องเป็นกลางทางการเมือง
เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของสาธารณรัฐที่หกของเกาหลีใต้ และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ยังคงใช้มาจนถึงทุกวันนี้
สาธารณรัฐที่หก ค.ศ. 1987 - ปัจจุบัน (พ.ศ. 2530 - ปัจจุบัน)
เล่ามายืดยาว หกสาธารณรัฐกินเวลาไป 40 ปี แต่ก็ยังไม่จบ ประชาธิปไตยเพิ่งจะได้เริ่มฟื้นฟูเท่านั้น อำนาจทหารก็ยังอยู่ไม่ไปไหน ถึงมีรัฐธรรมนูญแต่การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) ก็สร้างความผิดหวังให้กับคนที่ต่อสู้มา เพราะว่าฝ่ายที่ต่อต้านเผด็จการกลับมีแคดิเดตถึงสองคน คือ คิม ยองซัม และ คิม แดจุง ทั้งสองคนเป็นฮีโร่สู้กับเผด็จการมาทั้งคู่ ฝ่าฟันกันมามาก โดนลักพาตัวก็โดนมาแล้ว กลับลงแข่งและแย่งคะแนนกันเองไปครึ่งต่อครึ่ง ทำให้ โร แทอู ชนะการเลือกตั้งและสืบทอดอำนาจสำเร็จด้วยคะแนนโหวตเพียง 36 % ทำให้การฟื้นฟูประชาธิปไตยช้าไปอีก 5 ปี ไม่มีผู้ก่อการคนไหนในเหตุการณ์ที่กวางจูถูกลงโทษ แต่ก็เพราะรัฐธรรมนูญที่แข็งแรงและเป็นประชาธิปไตย ก็ทำให้ไม่มีรัฐประหารมาแทรกแซงอีก จึงยังมีหวังให้กระบวนการเดินหน้าต่อไปได้
ในปี ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) ผลการเลือกตั้งก็ยังน่ากังขาสำหรับหลายๆ คน ถึงแม้ว่านาย คิม ยองซัม จะชนะคู่แข่งคิม แดจุง ได้เป็น ปธน. แต่นายคิม ยองซัม กลับไปอยู่พรรคเดียวกันกับนายพลโร แทอู ซะงั้น ที่แปลกหนักขึ้นไปอีกก็คือ อัยการบอกว่าไม่สามารถสืบสวนเอาผิดเหตุการณ์ที่กวางจูได้ เพราะเป็นเรื่องทางการเมือง ถ้าเอาผิดอดีต ปธน.ทั้งนายพลชอน ดูวาน และ นายพลโร แทอู อาจจะทำให้ประเทศกลับไปสู่ความขัดแย้งอีก!!!
แต่ด้วยรัฐธรรมนูญที่ดีและเป็นประชาธิปไตย เหล่าญาติผู้สูญเสียและ NGO ก็ได้ช่วยกันผลักดัน ให้การตัดสินของอัยการไปขึ้นศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ และศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ก็ตัดสินออกมาว่าอัยการวินิจฉัยผิด! การใช้เหตุผลที่ว่าทำรัฐประหารสำเร็จไปแล้วและได้นิรโทษกรรมตัวเองไปแล้วนั้น ใช้การไม่ได้ ถือว่าผิด! เหตุผลนี้ไม่สามารถใช้ได้ในกรณีกบฎล้มล้างการปกครอง
และแล้วในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) สภาก็ผ่านกฎหมายพิเศษเพื่อพิจารณาคดีย้อนหลังไปถึงปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) ทั้งอดีต ปธน. ชอน ดูฮวาน และ โร แทอู และนายทหารอีก 14 คน ถูกตัดสินดังนี้
1. มีความผิดในข้อหายึดอำนาจเมื่อปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522)
2. ข้อหาใช้อำนาจสร้างความร่ำรวยแบบผิดกฎหมาย
3. ความผิดอาญา ฐานฆ่าประชาชนที่ออกมาชุมนุม และ
4. ข้อหานำประเทศสู่การคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบ
ชอน ดูฮวาน ที่เคยเป็น ปธน. เมื่อไม่กี่ปีก่อน ถูกตัดสินประหารชีวิต และยึดทรัพย์ 283 ล้านดอลลาร์ (ราว 8.5 พันล้านบาท ในขณะนั้น) โร แทอู ถูกตัดสินจำคุก 22 ปี ยึดทรัพย์ 355 ล้านดอลลาร์ (ราว 1 หมื่นล้านบาท ในขณะนั้น) ก่อนที่ต่อมาจะอุทธรณ์ โทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุก ชอน ดูฮวาน ตลอดชีวิต และ โร แทอู เหลือ 17 ปี ทั้งคู่ติดอยู่ในคุกจริงๆ แค่ 2 ปีเท่านั้น แต่ถึงแม้จะถูกปล่อยตัวออกมาก็ยังคงถูกควบคุม ถูกจับตาโดยรัฐบาล ทุกวันนี้อายุ 80 กว่ากันแล้ว ยังใช้หนี้รัฐที่โกงกินไปไม่ถึงไหนเลย
ในการสืบสวนก็มีตัวอย่างเช่นว่า นายพลชอน ดูฮวาน มีมูลนิธิชื่อว่า อิลแฮ (ilhae foundation) ตั้งเป็นมูลนิธิไว้บังหน้า แต่ในความเป็นจริงเอาไว้เรียกเก็บเงินจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ โดยมีประธานสหพันธ์อุตสหกรรมเป็นคนรวบรวม เงินที่ได้รับนั้นมีถึง 90 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินถูกนำไปใช้สร้างฐานเสียงให้รัฐบาล ใช้หาเสียง หรือใช้จ่ายเงินให้สมาชิกเพื่อป้องกันงูเห่าเลื้อยไปอยู่กับขั้วตรงข้าม
ขอย้ำว่านี่คือเกาหลีใต้ !!!
การจำคุกอดีต ปธน. ไม่ใช่การแก้แค้น แต่เป็นกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย คือการคืนความยุติธรรมให้สังคม ประกาศว่ากฎหมายยังศักดิ์สิทธิ์ สร้างความเป็นนิติรัฐ ไม่ว่าจะเป็นใครหน้าไหนก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และกระบวนการนี้ก็ยังดำเนินต่อมาเรื่อยๆ ในช่วงปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) มีการสลายกลุ่มนายทหารสายฮานาเฮวที่มีอิทธิพลไม่ต่างกับมาเฟียทิ้งไป เหล่านายพลสิบกว่าคนได้รับโทษลดหลั่นกันไปตามความผิด
ส่วนกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่หรือกลุมแชโบลที่ถูกกล่าวหาว่าเคยสปอนต์เซอร์อดีต ปธน.ทั้งสองคน ก็มีความผิดด้วย มีการปรับกองทัพบก ตัดโครงสร้างที่ไม่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศออกไป ไม่ให้ใครที่ไหนมาใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้อีก
กฎหมายเรื่องความโปร่งใส การตรวจสอบก็ยังคงเข้มข้นมาจนถึงทุกวันนี้ ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้โดนบททดสอบหนักๆ เสมอ ปธน.เกาหลีใต้ไม่ว่ามาจากฝ่ายไหน ก็สามารถติดคุกกันเป็นว่าเล่น กลไกประชาธิปไตยอยู่มาสามสิบกว่าปีแล้ว คนโกงก็โดนสอบ โดนจับ ไม่ต้องใช้ทหารทำรัฐประหารอีกต่อ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ประวัติศาสตร์การต่อสู้กับเผด็จการของประชาชนชาวเกาหลีใต้ สู้กับ รี ซึงมัน 12 ปี ปัก จุงฮี 18 ปี คู่หูชอน ดูฮวาน กับ โร แทอู อีก 8 ปี และรออีก 8 ปี ดูคนทำรัฐประหารติดคุก ยาวนานมาก แต่ก็ทำให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่เจริญแบบก้าวกระโดด ประชาชนมีคุณภาพชีวิตในระดับสูง ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้เข้าไปนั่งร่วมโต๊ะประชุม G20 มี GDP อยู่ที่อันดับ 12 ของโลก
เราลองดูจากตัวเลขในส่วนของรายได้ต่อหัวของประชากรต่อปีของเกาหลีใต้ในยุคต่างๆ ก็ได้ใน ค.ศ. 1965 (ยุคของ ปัก จุงฮี) พ.ศ. 2508 อยู่ที่ 105 เหรียญสหรัฐฯ ต่อมาใน ค.ศ. 1980 (ยุค ของ ชอน ดูฮวา) พ.ศ. 2523 อยู่ที่ 1,741 และใน ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) ที่เริ่มเป็นประชาธิปไตยได้เพิ่มเป็น 10,076 เหรียญสหรัฐฯ และ ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) อยู่ที่ 29,700 เหรียญสหรัฐฯ
ส่วนประเทศไทยรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อคนต่อปีในปี พ.ศ. 2560 อยู่ที่ 6,000 เหรียญสหรัฐฯ
เราอยู่ตรงไหนในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ ?
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา