“เมื่อรู้เมื่อเห็น ตามที่เป็นจริง”
พระสูตรนี้พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนว่า
บุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นซึ่งจักษุ รูป จักขุวิญญาน จักขุสัมผัส
(โสต ฆาน ชิวหา กาย มโน )
เมื่อรู้เมื่อเห็นซึ่งเวทนา 3 ได้แก่ สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์
อันเกิดจากผัสสะเป็นปัจจัย
ตามวงจรปฏิจจสมุปบาท
ตามที่เป็นจริง
จะเกิดผลอย่างไรบ้าง ไปตามลำดับ
:
สรุปโดยย่อคือ เขาย่อมไม่กำหนัดในจักษุ รูป จักขุวิญญาน
จักขุสัมผัส และเวทนาอันเกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย
อันเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ตาม
เมื่อบุคคลไม่กำหนัด ไม่ติดพัน ไม่ลุ่มหลง
ตามเห็นโทษของสิ่งเหล่านั้นเนือง ๆ
ปัญจุปาทานขันธ์ทั้งหลาย ย่อมถึงซึ่งความไม่ก่อเกิดต่อไป
ตัณหาอันเป็นเครื่องนำไปสู่ภพใหม่
อันประกอบอยู่ด้วยความกำหนัด ความเพลิน
เป็นเครื่องทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ
อันเขาย่อมละเสียได้
ความกระวนกระวาย
ความแผดเผา
ความเร่าร้อน
ทั้งทางกายและทางจิต
อันเขาย่อมละเสียได้
บุคคลนั้นย่อมเสวยซึ่งความสุข
อันเป็นไปทั้งทางกายและจิต
เมื่อบุคคลเป็นเช่นนั้นแล้ว
ย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ส่วนสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
ย่อมบริสุทธิ์อยู่ก่อนแล้ว
ด้วยอาการอย่างนี้
อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้ของเขานั้น
ย่อมถึงซึ่งความเต็มรอบแห่งความเจริญ
เมื่อเขาทำอริยอัฏฐังคิกมรรค
ให้เจริญอยู่ด้วยอาการอย่างนี้
โพธิปักขิยธรรม ที่เหลือทั้งหมด
ก็ย่อมถึงซึ่งความเต็มรอบแห่งความเจริญ อันได้แก่
สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปาทาน 4 อิทธิบาท 4
อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7
สมถะและวิปัสสนาย่อมเดินเคียงกันไป
จนถึงธรรม ๔ ประการที่บุคคลย่อมกำหนดรู้
ย่อมละ ย่อมทำให้เจริญ ย่อมทำให้แจ้ง
ด้วยปัญญาอันยิ่ง
และได้ตรัสสอนต่อไปถึง
ธรรม ๔ ประการที่บุคคลพึงกำหนดรู้
พึงละ พึงทำให้เจริญ และพึงทำให้แจ้ง
ด้วยปัญญาอันยิ่ง
คือธรรมเหล่าไหนบ้าง ...
:
ธรรมที่พึงกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง
คือ อุปาทานขันธ์ ๕
ธรรมที่พึงละ ด้วยปัญญาอันยิ่ง
คือ อวิชชาและภวตัณหา
ธรรมที่พึงทำให้เจริญ ด้วยปัญญาอันยิ่ง
คือ สมถะและวิปัสสนา
ธรรมที่พึงทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่ง
คือ วิชชา และวิมุตติ
.
อ้างอิง :