9 ก.ย. 2021 เวลา 05:21 • ปรัชญา
บทที่ 19 สระมณฑาทอง มัณฑากินี
1
Golden Forest by sandara on DeviantArt
ตอนที่แล้วเราได้รู้จักภารตะทวีปด้านไกรลาสโดยรวมไปแล้ว ตอนนี้เราจะเวียนขวาไปที่ทวีปด้านจิตตกูฏและกาฬกูฏ หรือ"เกตุมาละทวีป"กันต่อ โดยเราจะเริ่มเดินทางไปตามสายน้ำ โดยใช้ภูเขาหิมพานต์เป็นต้นทางแล้วไปสุดปลายทางกันที่ขั้วโลกใต้ของโลกหิมพานต์เมื่อน้ำไหลลงสู่มหาสมุทรเช่นเดิม
1
สายน้ำที่ไหลออกสู่ที่ราบด้านจิตระและกาฬะ มีชื่อว่า"จักษุนที" สายน้ำอันไหลลงมาจากฟากฟ้าเพื่อดับโทสะของสัตว์นักล่าทั้งหลายให้คลายความหิวกระหาย จักษุนทีไหลผ่านพื้นทรายแก้วผสมด้วยผลึกเงินและแร่รัตนะอันงดงาม ตลอดริมฝั่งแม่น้ำเต็มไปด้วยต้นอโศกที่ขึ้นอยู่ทั่วภูมิภาค แต่ละต้นมีความสูงราว 3-5 โยชน์ (48-80 กม.) ผสมกับไม้นาๆพันธุ์จนกลายเป็นป่าทึบสลับกับทุ่งหญ้ากว้างใหญ่
1
ต้นอโศก (Saraca indica)
จักษุนทีถือเป็นสายน้ำทางทิศตะวันตกเมื่อมองจากแผนที่แบบโบราณที่ใช้สระอโนดาตเป็นศูนย์กลางของแผนที่ พื้นที่ปากแม่น้ำเป็นที่อาศัยของสัตว์ประเภทราชสีห์ สีหไกรสรและพยัคฆ์จำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีสัตว์จำพวกช้าง หมี ฝูงสุนัขป่า จิ้งจอกและหมาไน เป็นต้น ต่างอาศัยกระจัดกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค
1
เมื่อสายน้ำไหลผ่านพื้นที่ป่าทึบสลับทุ่งหญ้าอันเป็นที่อาศัยของสัตว์เหล่านั้นไปได้ จึงไหลเบี่ยงหลบ"กาฬบรรพต" ซึ่งเป็นชื่อเรียกขอบทวีปที่เกยสูงขึ้นของเกตุมาละทวีป เทือกเขากาฬบรรพตเป็นอัญชัญรัตนะ(ลาพิส ลาลูซี) งดงามไปตลอดรอบแผ่นเกตุมาละทวีปอันเป็นแร่มโนศิลาผสมด้วยหรดาลกลีบทองทั้งแผ่นทวีป หากมองโดยใช้แผนที่แบบปัจุบัน จักษุนทีจะไหลเบี่ยงหลบไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ฝั่งจิตตกูฏ แต่ถ้าใช้แผนที่แบบโบราณที่ใช้สระอโนดาตเป็นศูนย์กลาง สายน้ำจะไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ สู่ทะเลสาบแห่งหนึ่งชื่อ"สระมัณฑากินี "สระมณฑาทองอันงดงาม
1
สระมัณฑากินีและสระใหญ่ทั้ง 6 แห่ง มีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกัน คือสระมีลักษณะทรงคล้ายใบบัวหลวงที่มีน้ำขังอยู่ใจกลาง มีเส้นผ่านศูนย์กลางของสระกว้างประมาณ 50 โยชน์ (800 กม.) ถูกล้อมรอบด้วยชายหาดที่มีรัศมีโดยรอบด้านละ 50 โยชน์ (800 กม.) รวมเป็นเส้นผ่านศูนย์กลางทั้งหมดประมาณ 150 โยชน์ (2,400 กม.) แต่ลักษณะอื่นๆทางธรรมชาติวิทยา เช่น ลักษณะโครงสร้างโดยราม ทรัพยากรแร่ธาตุ พันธุ์สัตว์และพืช จะมีความแตกต่างกันไป
1
โดยลักษณะโครงสร้างของสระมัณฑากินีนั้น ถูกล้อมรอบด้วยเทือกเขาทองคำผสมกับรัตนะต่างๆ แต่ละเทือกเขามีลักษณะโค้งมนเข้าหาสระมัณฑากินี ประกอบด้วย 3 เทือกเขาหลัก คลายกับกลีบดอกมณฑาที่มีสระเป็นดั่งเกสรด้านใน เทือกเขาทองคำรอบสระมัณฑากินีนั้นส่องสว่างเจิดจ้าด้วยแสงทองอยู่ตลอดเวลา เมื่อแสงทองตกกระทบกับผิวของสัตว์ใด สัตว์นั้นก็จะกลายเป็นสีทองไปในทันที แม้มีอีกาบินเข้ามาอีกานั้นก็ยังกลายเป็นอีกาทอง ในยามกลางวันน้ำในสระจะส่องสะท้อนแสงทองงดงามไปทั้วทั้งสระ แต่เมื่อถึงยามค่ำคืนน้ำในสระกลับเรืองรองส่องสว่างดุจแก้วผลึกยามเมื่อต้องแสงจันทร์
1
Entry by NanaSchiffer on Sat Feb 11 14:46:05 2012.
รอบสระมัณฑากินียังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณไม้ดอกไม้ผลนาๆชนิด โดยเฉพาะต้นไม้ทิพย์อย่างมณฑารพที่ขึ้นอยู่บนยอดเขารอบสระ ต่างออกดอกบานสระพรั่งตลอดทุกฤดูส่งกลิ่นหอมอยู่เป็นนิจ โดยเฉพาะในยามใกล้รุ่งจะส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วทั้งสระ ให้ความรู้สึกสดชื่นแต่แฝงไปด้วยความสงบอย่างยิ่ง สระมัณฑากินีจึงให้ความรู้สึกสงบร่มเย็นกว่าทุกสระเป็นรองเพียงสระอโนดาตเท่านั้น เหล่าไม้ผลบนยอดเขาและรอบสระมัณฑากินีนั้นสามารถเก็บมากินได้ทุกชนิด เพราะทั่วพื้นที่ไม่มีต้นไม้พิษเลย แถมผลยังมีรสหวานหอมและออกผลกันตลอดทั้งปีไม่ว่าจะในฤดูใด หมู่ไม้ที่ขึ้นบริเวณพื้นราบรอบหาดมัณฑากินีนั้นขึ้นกระจายเป็นลักษณะวงแหวนซ้อนกันเป็นชั้นๆรอบสระ มีความหนาของวงแหวนๆละครึ่งโยชน์ (8 กม.) ขึ้นผสมกับพันธุ์พืชอื่นๆจำนวนมาก โดยมีพันธุ์พืชหลักเรียงจากวงแหวนรอบนอกเข้ามาหาวงใน ดังนี้
1
1. รอบนอกเป็นป่ามะขวิด
2. ถัดเขามาวงในเป็นป่าชมพู่
3. ป่ามะม่วง
4. ป่าขนุน ซึ่งมีผลราว 3 คนโอบ
5. ป่ากล้วย
6. ป่าอ้อย ซึ่งมีลำต้นขนาดเท่าต้นหมาก
7. และวงด้านในสุดเป็นป่าของพืชผลตระกูลเถา เช่น ฟักทอง น้ำเต้าและฟักเขียว เป็นต้น
1
0drawingablank0: ZP Zhang. (via super-tsundere) on awesomedigitalart.tumblr
จากนั้นจึงเป็นหาดทรายแก้วผลึกละเอียดนุ่มเท้าลาดลงสู่น้ำสระมัณฑากินีอันมีก้นสระเป็นทรายทอง เมื่อเดินจากริมน้ำลงสู่สระได้ราว 6 โยชน์ รอบสระเต็มไปด้วยข้าวสาลีแดงอันมีกลิ่นหอม ต่างขึ้นกระจายเป็นวงแหวนภายในสระ มีความหนาของวงแหวนราวครึ่งโยชน์ (8 กม.) เมื่อผ่านดงข้าวสาลีแดงเข้าไป ผิวน้ำด้านในนั้นเป็นวงแหวนดอกบัว 6 ชนิด เติบโตแยกชนิดเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีความหนาชนิดละครึ่งโยชน์ (8 กม.) เช่นกัน โดยเรียงจากวงแหวนรอบนอกซึ่งติดกับดงข้าวสาลีแดงเข้ามา ดังนี้ บัวรอบนอกเป็นอุบลแดง ถัดเข้าไปเป็นอุบลเขียว กุมุทขาว กุมุทแดง ปทุมแดงและวงด้านในสุดเป็นปทุมขาวตามลำดับ บริเวณใจกลางสระมัณฑากินีนั้นเป็นเวิ้งน้ำ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 25 โยชน์ (400 กม.) ไร้ซึ่งพืชน้ำ สาหร่ายหรือจอกแหน น้ำบริเวณเวิ้งใจกลางสระจึงใสสะอาดดุจแก้วผลึก
1
ธรรมดาดอกบัวในโลกหิมพานต์นั้นมีขนาดใหญ่มาก ไม่ว่าน้ำจะลึกเพียงใดกลับชูดอกและใบขนาดใหญ่ขึ้นเหนือน้ำ เมื่อมองไปในสระจึงเห็นปรากฏเหมือนขึ้นอยู่ในน้ำตื้นเพียงเท่าเข่า แต่พอเอาเข้าจริงกลับอยู่ในน้ำลึก ยามเมื่อดอกบัวบานจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางจากปลายกลีบดอกข้างหนึ่งถึงอีกข้างหนึ่งกว้างราว 1.5 เมตร ยกเว้นดอกบัวอันเป็นครรภ์แห่งปทุมชาติที่จะมีขนาดใหญ่และบริบูรณ์กว่าปกติ ซึ่งจะขอกล่าวในบทของปทุมชาติในภายหลัง ส่วนรากบัวนั้นก็มีขนาดใหญ่ต่างแผ่ขยายไปทั่วทั้งสระ ทั้งเนื้อและน้ำนมจากรากบัวล้วนมีรสหวาน มีฤทธิ์อันวิเศษซึ่งเกิดกับเฉพาะรากบัวในสระมัณฑากินีเท่านั้น คือมีฤทธิ์ช่วยในการรักษาโรคต่างๆให้ขาด แม้ผู้ที่เป็นโรคหนักหรือโดนพิษร้ายแรงเพียงใด เพียงทานรากบัวในสระมัณฑากินีเข้าไป โรคและพิษก็จะหายไปในทันที
1
ปทุมชาติ
ดอกบัวในสระมัณฑากินีต่างแผ่กระจายส่งกลิ่นหอมไปทั่ว ยามเมื่อลมประจำโลกหิมพานต์พัดมา เกลียวคลื่นลมก็พัดพาเหล่าเกสรดอกไม้อันมีรสหอมหวาน ซึ่งมีอยู่มากในโลกหิมพานต์ไปตกเกลื่อนอยู่บนใบบัวในสระ เมื่อถึงยามเช้าน้ำค้างต่างเกาะตัวบนใบบัวผสมเข้ากับเกสรดอกไม้นานาพรรณจนกลายเป็นน้ำหวาน เมื่อถึงยามกลางวันแสงแดดก็แผดเผาน้ำหวานบนใบบัวให้น้ำละเหย จนเหลือไว้เพียงผลึกน้ำตาลบนใบบัวนั้น ผลึกน้ำตาลบนใบบัวเหล่านั้น เรียกว่า “โบกขรมธุ” หรือน้ำผึ้งใบบัว เหล่าช้างจึงมักจะว่ายลงไปเก็บกินโบกขรมธุและนำมาถวายแด่พวกฤาษีดาบสทั้งหลายรอบสระ ท่านต้องลองได้กินเมล็ดบัวเชื่อมกับโบกขรมธุ มันทั้งหวานมันและหอมอร่อยมากจนลืมไม่ลงเลย
1
น้ำในสระมัณฑากินีนั้นมีฤทธิ์อันวิเศษในการทำให้สัมฤทธิ์ผลดั่งใจปรารถนาในเรื่องที่มีคุณธรรม เพียงแต่ต้องมีขั้นตอนในการปฏิบัติ 5 ขั้นตอน เพื่อให้สัมฤทธิ์ผล ซึ่งสัตว์ทั่วไปไม่สามารถทำได้ ดังนี้
1. ให้ผู้มีใจปรารถนาลงอาบน้ำในสระมัณฑากินีด้วยใจศรัทธา
2. ทำจิตใจเบิกบานและมั่นคง เพียรประคองจิตไม่ให้เกิดอกุศลธรรมระหว่างการลงอาบ
3. ตั้งสติ รวบรวมกำลังจิตให้เข้มแข็ง ระลึกถึงสิ่งที่ปรารถนา
4. จากนั้นให้ขึ้นจากสระแล้วเข้าสู่ฌาณสมาธิจนเห็นความผ่องใสเกิดขึ้นในจิต
5. เมื่อทบทวนสิ่งที่ปรารถนาเรียบร้อยแล้ว ขณะจิตเกิดความผ่องใส ให้กล่าวสิ่งที่ต้องการ แล้วท่านจะได้ดั่งใจปรารถนา
1
ด้วยเหตุนี้รอบสระมัณฑากินีจึงเต็มไปด้วยอาศรมของเหล่าฤๅษีดาบสและวิทยาธรหลายๆตน ที่ต่างมาลงอาบน้ำในสระมัณฑากืนี แล้วพำนักกันอยู่รอบสระและมักจะได้รับการดูแลจากเหล่าช้าง ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม อาศัยอยู่ตามเชิงเขาทั้งสามรอบสระมัณฑากินี เหล่าช้างจะแบ่งเวรกันไปดูแลในแต่ละจุดมิได้ขาด ช่างเป็นภาพอันสงบและรื่นรมย์ใจยิ่งนัก
2
จากนั้นน้ำจากสระมัณฑากินีจึงไหลออกทางใต้ เมื่อไหลไปได้เพียงเล็กน้อยก็ก็เจอเข้ากับผาเหว จึงไหลลงไปเป็นน้ำตกลงสู่สระที่มีขนาดเล็กกว่าอีกสระหนึ่งชื่อว่า“สระหงสัปปาตะ”เป็นสระที่มีธรรมชาติอันงดงามด้วยไม้ดอกไม้ผล ที่เหล่าหงส์ทองและนกต่างๆมักจะมาพักลงเล่นน้ำยามเมื่อบินออกไปหาอาหาร ก่อนจะบินกลับถ้ำของตนบริเวณเชิงยอดเขาจิตตกูฏ จากนั้นจักษุนทีจึงไหลเผ่านแนวป่าต้นอโศกที่ขึ้นอยู่สองฝากฝั่งแม่น้ำ ช่างเป็นพื้นที่รื่นรมเย็นสบายและงดงามน่าพักผ่อนยิ่งนัก ก่อนที่สายน้ำจะแยกออกเป็นสองสาย สายหนึ่งไหลแทรกแผ่นเกตุมาละทวีปเข้าสู่สระสีหัปปาตะ ส่วนจักษุนทีนั้นไหลลงใต้ออกสู่มหาสมุทรหิมพานต์ต่อไป
1
บทต่อไปเราจะขึ้นไปสำรวจเกตุมาละทวีปรวมถึงสระสีหัปปาตะว่าเป็นอย่างไร และสุดท้ายขอทิ้งสารานุกรมพันธุ์พืชและสัตว์บางส่วนรอบสระมัณฑากินีทิ้งท้ายไว้ ท่านจะอ่านหรือไม่ก็แล้วแต่ใจท่านจะปรารถนา โดย ลามะน้อย
1
สารานุกรมพันธุ์พืชอื่นๆรอบสระมัณฑากินี
 
มะม่วง ต้นรัง ต้นหมากเม่า ต้นแคฝอย ต้นย่างทราย จำปา อ้อยช้าง กระทุ่ม กากะทิ บุนนาค ลำเจียก ลำดวน ต้นอโศก กุหลาบ ต้นปรู มะกล่ำหลวง การะเกด พะยอมขาว พิกุล มะลิซ้อน เจตพังคี กรรณิการ์ ประดู่ อัญชัน บุนนาค บุนนาคเขา แคฝอย ราชพฤกษ์ กระทุ่ม ถั่วดำ ถั่วเหลือง กล้วย มะกรูด ต้นตาเสือ ต้นอุตตรา ชบา ต้นสมอ มะขามป้อม สมอพิเภก ต้นมะพลับ มะหาด มะซาง ต้นคำ ต้นสน หว้า กระเบา ไม้รกฟ้า มะตูม เหง้ามัน มันอ้อน ต้นนมแมว มันนก กะเม็ง และคัดมอน
สารานุกรมสัตว์บริเวณสระมัณฑากินี
• สัตว์น้ำ
จระเข้ กบ มังกร ปลาฉนาก เต่า ฝูงปลาสลาด ปลากระบอก ปลาสวาย ปลาเค้า ปลาตะเพียน ปลานกกระจอก ปลาสังกุลา ปลาลำพัน รากษสน้ำ งูไม่มีพิษ
• สัตว์บก
ฝูงเนื้อฟาน กวาง หมู หมาป่า จิ้งจอก ละมั่ง เนื้อทราย ช้าง ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาใน หมาไล่เนื้อ เสือดาว ลิง
• สัตว์ปีก
นกดุเหว่า สาลิกา ฝูงนกกวัก ไก่ฟ้า ฝูงนกกะลิงป่า นกต้อยตีวิด นกแขกเต้า ฝูงหงส์ หงส์ทอง นกกะเรียน นกยูง นกค้อนหอย นกโพระดก ฝูงนกแสก นกหัวขวาน นกเขา เหยี่ยว กินนร กินนรี ฝูงนกน้ำต่างๆ เช่น นกคับแค นกเป็ดน้ำ นกกาน้ำ นกจากพราก เป็นต้น
โฆษณา