Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หิมพานต์และสัตว์วิเศษ
•
ติดตาม
26 ก.ย. 2021 เวลา 11:27 • ปรัชญา
บทที่ 22 ฉัททันตะ มหาสระของผู้มีงา (สระฉัททันต์ 2/2)
1
บทที่แล้วเราได้เดินทางสำรวจแนวเขารอบสระฉัททันต์ทั้ง 7 ชั้น จนบรรลุเข้ามาสู่จุดสูงสุดของสระฉัททันต์ ณ ยอดเขาสุวรรณปัสสบรรพต ซึ่งเป็นปากปล่องภูเขาไฟชั้นใน บทนี้เราจะลงจากเขาแล้วสำรวจพื้นที่ด้านในของสระกันต่อว่าเป็นอย่างไร
Star Wars Jedi: Fallen Order Art Gallery Kashyyyk Giant Tree Art
เมื่อลงจากยอดเขาสุวรรณปัสสบรรพตเพื่อจะเข้าสู่สระฉัททันต์ พื้นที่รอบสระฉัททันต์นั้นเป็นป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ หมู่ไม้ต่างขึ้นกันหนาแน่นเป็นวงแหวนซ้อนกันรอบสระฉัททันต์ถึง 7 ชั้น เรียงลำดับจากวงแหวนชั้นนอกเข้าไปหาวงใน ได้ดังนี้
1
1. รอบนอกบริเวณเชิงเขาสุวรรณปัสสบรรพตเต็มไปด้วยป่าไผ่
2. ถัดเข้าไปด้านเป็นป่ามะขวิด
3. ป่าขนุนสำมะลอ
4. ป่าไม้รังผสมกับขนุนหนังซึ่งมีผลขนาดใหญ่ราว 2 คนโอบ
5. ป่ากล้วยที่มีลูกใหญ่เท่าต้นขามนุษย์
6. ป่าอ้อยซึ่งมีต้นสูงใหญ่เท่าต้นหมาก
7. และสุดท้าย วงด้านในสุดเป็นป่าพืชตระกูลแตงที่มีผลขนาดยักษ์พันธุ์ต่างๆ เช่น แตงโม เมล่อน น้ำเต้า ฟักเหลือง ฟักแฟง เป็นต้น
1
พืชเหล่านั้นเมื่อเจริญเติบโตแล้วล้วนมีรสหวานฉ่ำ เหล่าช้างฉัททันต์ซึ่งอาศัยอยู่รอบสระจึงพากันมากินพืชเหล่านั้นเป็นอาหาร เมื่อผ่านพ้นป่าเหล่านั้นเราจะได้พบกับหาดทรายทองส่องประกายงดงามลาดลงสู่ใจกลางซึ่งเป็นที่ตั้งของสระฉัททันต์ สระฉัททันต์และหาดทรายนั้นสะท้อนกับแสงทองคำบริสุทธิ์ของสุวรรณปัสสบรรพต สว่างเรืองรองราวกลับแสงอาทิตย์อ่อนๆ ช่างงดงามและให้ความรู้สึกอบอุ่นสบายตายิ่งนัก
1
illustration from theartofanimation.tumblr
เมื่อเดินลงน้ำในสระไปได้ประมาณ 4 โยชน์ (48 กม.) ผืนน้ำก็เต็มไปด้วยไม้น้ำนาๆชนิด เช่น ตะไคร่น้ำ ดอกไม้น้ำสีสันต่างๆ ทั้งแดง เหลือง ขาวและเขียว ต่างพากันส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วผืนน้ำ ไม้น้ำเหล่านั้นเติบโตกระจายเป็นวงแหวนโดยรอบภายในสระ มีความหนาของวงแหวนราว 1 โยชน์ (16 กม.) ถัดจากไม้น้ำเข้าไปน้ำจึงมีความลึกขึ้นประมาณครึ่งตัวช้าง สระบริเวณนั้นเต็มไปด้วยทุ่งข้าวสาลีแดงอันอุดมสมบูรณ์ มีความหนาราว 1 โยชน์ (16 กม.) เช่นกัน
1
The Mystery Pond in Japan Look Like Monet's Paintings on jw-webmagazine
ถัดจากทุ่งข้าวสาลีแดงเข้าไป ผืนสระเต็มไปด้วยบัว 7 ชนิด ต่างขึ้นซ้อนกันเป็นวงแหวน หนาราว ชนิดละ 1 โยชน์ (16 กม.) โดยบัวทั้ง 7 วง จะถูกคั่นแบ่งด้วยบัวสายพันธุ์ต่างๆที่ขึ้นผสมปนเปกันและมีความหนาราว 1 โยชน์ (16 กม.) เช่นกัน จนเกิดเป็นชั้นบัวซ้อนกันถึง 13 วงแหวน เรียงจากวงแหวนรอบนอกเข้าไปหาวงใน ดังนี้
1
1. โกมุท(บัวสายขาว)
2. บัวสายพันธุ์ต่างๆที่ขึ้นผสมกัน
3. ปทุมขาว(บัวหลวงขาว)
4. บัวสายพันธุ์ต่างๆที่ขึ้นผสมกัน
5. ปทุมแดง(บัวหลวงแดง)
6. บัวสายพันธุ์ต่างๆที่ขึ้นผสมกัน
7. อุบลขาว(บัวเผื่อนขาว)
8. บัวสายพันธุ์ต่างๆที่ขึ้นผสมกัน
9. อุบลแดง(บัวเผื่อนแดง)
10. บัวสายพันธุ์ต่างๆที่ขึ้นผสมกัน
11. อุบลคราม(บัวผันคราม)
12. บัวสายพันธุ์ต่างๆที่ขึ้นผสมกัน
13. บัวจงกลนี
1
บัวเหล่านั้นเติบโตกระจายเป็นวงแหวนและซ้อนกันเป็นชั้นๆเข้าไปสู่เวิ้งน้ำบริเวณใจกลางสระ ซึ่งไม่มีพืชน้ำ สาหร่าย จอกแหนหรือโคลนตมเลยแม้แต่น้อย น้ำบริเวณใจกลางสระจึงมีความใสสะอาดดุจแก้วผลึก มีเส้นผ่านศูนย์กลางของเวิ้งน้ำราว 12 โยชน์ (192 กม.) ผู้ใดมีจิตตั้งมั่น มีความแน่วแน่เพื่อแสวงหาความสงบแห่งจิต ขอท่านจงได้ดื่มน้ำจากสระฉัททันต์ ท่านจะเป็นผู้มองเห็นทุกสรรพสิ่งในสากลโลกทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตกาลเป็นไปตามจริงได้อย่างแจ่มชัดทุกประการ
1
Realistic Lotus 3D by Philogixstudio
บริเวณหาดด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสระฉัททันต์มีต้นไทรยักษ์อยู่ต้นหนึ่ง ต้นไทรนั้นยืนต้นตระหง่านสูงกว่าสุวรรณปัสสบรรพตเพื่อรับแสงตะวัน แม้ยืนอยู่นอกสระฉัททันต์ก็ยังสามารถมองเห็นต้นไทรหนาครึ้มราวกับเมฆฝนได้อย่างชัดเจน ต้นไทรนั้นมีความสูงตั้งแต่โคนต้นถึงคาคบสูง 7 โยชน์ (112 กม.) วัดจากคาคบถึงปลายยอดบนสุดสูง 6 โยชน์ (96 กม.) รวมความสูงของต้นไทรเป็น 13 โยชน์ (208 กม.) แผ่กิ่งก้านออกไปทั้ง 4 ทิศ แต่ละกิ่งมีความยาวประมาณ 6 โยชน์ (96 กม.) แต่ละกิ่งเต็มไปด้วยรากอากาศห้อยย้อยเป็นสาย นับรวมรากอากาศทั้งต้นได้ราว 8,000 ราก ลำต้นมีเส้นรอบวงประมาณ 5 โยชน์ (80 กม.)
1
Places PT. 2 On imgur
ในช่วงสภาวะปกติต้นไทรยักษ์นั้นไม่เคยออกผลเลยตลอดกัป จนชาวหิมพานต์เปรียบเปรยต้นไทรยักษ์นี้ว่าเป็นดั่งภูเขาที่ไร้ซึ่งอัญมณีมีค่า จึงเรียกต้นไทรที่ใหญ่ราวกับภูเขานี้ในอีกชื่อว่า"ภูเขามณีโล้น" และด้วยเหตุที่ไม่เคยออกผลเลยตลอดกัป ต้นไทรจึงแผ่กิ่งก้านเติบโตแข็งแรงเพราะไม่มีสัตว์ใดเข้าไปหักทำลายกิ่งก้านเพื่อเก็บกินผลไทรเลย ต้นไทรแผ่ร่มเงาเย็นสบายให้เหล่าช้างทั้งหลายใช้เป็นที่หลบแดดในช่วงฤดูร้อน ทว่าเมื่อถึงฤดูมรสุม ลมตะวันตกเฉียงใต้กลับโหมกระหน่ำลมฝนเข้าหาต้นไทรยักษ์ จนเหล่าช้างต้องพากันเปลี่ยนที่อยู่ไปอาศัยอยู่ภายในเวิ้งเขาด้านทิศตะวันตกของสระฉัททันต์ ซึ่งมีความกว้างราว 12 โยชน์ (192 กม.) เพื่อให้กำแพงสูงของสุวรรณปัสสบรรพตบังลมมรสุมให้ เวิ้งเขาบริเวณนี้เหล่าช้างเรียกว่า “กาญจนคูหา”
1
ในอดีตกาล พระอัญญาโกณฑัญญะได้ใช้สระฉัททันต์แห่งนี้ เป็นที่พำนักและได้รับการอุปัฏฐากจากช้างฉัททันต์ 8,000 เชือก ที่ผลัดเวรกันมาดูแลไม่ขาดหายตลอดระยะเวลา 12 ปี จนเมื่อท่านใกล้ปรินิพพานท่านจึงเหาะออกจากสระฉัททันต์ เพื่อไปกราบทูลลาพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าและขอปรินิพพานที่สระฉัททันต์ใกล้กับช้างเหล่านั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงความกตัญญูของหมู่ช้างฉัททันต์ทั้งหลายที่คอยดูแลท่านมาเป็นเวลาเนินนาน เมื่อพระบรมศาสดาทรงอนุญาต จึงกราบทูลลาทำประทักษิณ คือ ทำความเคารพด้วยการเดินเวียนขวารอบองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเหาะกลับเข้าสู่โลกหิมพานต์อีกครั้ง จากนั้นจึงนั่งในบรรณศาลาทำการปรินิพานเมื่อยามใกล้รุ่ง ณ ริมสระฉัททันต์
1
เหล่าต้นไม้ทุกต้นในหิมพานต์ต่างรับรู้ถึงการปรินิพพานของพระอัญญาโกณฑัญญะ จึงโน้มกิ่งออกผลพร้อมกันทั่วทั้งโลกหิมพานต์ เพื่อเป็นการบูชาพระเถระผู้ปรินิพพาน ไม่เว้นแม้แต่ต้นไทรใหญ่ผู้ไม่เคยออกผลเลย เมื่อถึงยามเช้าตรู่มีช้างเชือกหนึ่งมาอุปัฏฐากเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมา แต่จนสว่างก็ไม่เห็นพระเถระออกจากบรรณศาลา จึงใช้งวงเขย่าประตูก็แลเห็นพระเถระนั่งนิ่ง จึงยื่นงวงลูบคลำตรวจดูลมอัสสาสะ ปัสสาสะ จนรู้ว่า บุญเขตของพวกเราปรินิพพานเสียแล้ว จึงส่งเสียงร่ำไห้โกญจนาท แม้ทั้งป่าหิมพานต์ก็ได้บันลือลั่นเป็นเสียงร่ำไห้เช่นเดียวกัน
1
ช้างฉัททันต์ 8,000 เชือก จึงทำการจัดพิธีทำศพของพระเถระอย่างประณีต โดยยกพระเถระขึ้นวางบนกระพองของหัวหน้าโขลง ถือกิ่งไม้ซึ่งมีดอกบานสะพรั่งเป็นเครื่องบูชา เตรียมแห่ไปรอบโลกหิมพานต์ บัดนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงให้พระวิษณุกรรมเทพบุตรเนรมิตเรือนยอดขนาด 9 โยชน์ (144 กม.) ล้วนแล้วด้วยรัตนะทุกชนิด นำพระเถระประทับนอนในเรือนยอดเพื่อเป็นการสักการะบูชา ช้างเหล่านั้นจึงยกเรือนยอดเวียนรอบโลกหิมพานต์อยู่หลายรอบ
1
จากนั้นเหล่าอากาศเทวดารับเรือนยอดจากงวงของช้างฉัททันต์แล้วกล่าวสาธุกาล แล้วยกขึ้นส่งต่อๆกันให้วัสสพลาหกเทวดา สีตพลาหกเทวดา วาตพลาหกเทวดา ส่งต่อให้เทพยดาชั้นจาตุมหาราช สู่เทพยดาชั้นดาวดึงส์ ต่างยกเรือนยอดขึ้นสาธุกาลเป็นลำดับขึ้นไปจนถึงพรหมโลก แล้วส่งกลับคืนลงมาเป็นลำดับให้แก่ช้างฉัททันต์ทั้งหลาย จากนั้นเทวดาแต่ละองค์ได้นำท่อนจันทน์ประมาณ 1 โยชน์ (16 กม.) มาวางเป็นจิตกาธานได้ประมาณ 9 โยชน์ (144 กม.) แล้วยกเรือนยอดขึ้นสู่จิตกาธาน ลำดับนั้นภิกษุราว 500 รูป เหาะมายังหิมพานต์แล้วสาธยายธรรมตลอดคืน พระอนุรุทธเถระกล่าวแสดงธรรม นำเทวดาเป็นอันมากได้ตรัสรู้ธรรมในกาลครั้งนั้น
1
ฉากบังเพลิง ร.9 ออกแบบโดย มณเฑียร ชูเสือหึง เขียนสีโดย จิตรกรสำนักช่างสิบหมู่และจิตอาสา
เมื่อแสงอรุณฉายขึ้นเหนือขอบฟ้า เหล่าเทวาจึงดับจิตกาธาน เอาพระธาตุซึ่งมีสีขาวนวลดั่งดอกมะลิตูมบรรจุผ้ากรองน้ำ นำมาถวายพระบรมศาสดาขณะเสด็จออกถึงซุ้มประตูพระวิหารเวฬุวัน พระบรมศาสดาทรงรับผ้ากรองน้ำบรรจุพระธาตุ แล้วทรงเหยียดพระหัตถ์วางลงบนแผ่นดิน บัดนั้นพระเจดีย์เหมือนฟองเงินจึงผุดแทรกแผ่นดินใหญ่ขึ้นมา พระบรมศาสดาจึงทรงบรรจุพระธาตุในพระเจดีย์นั้นด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง เป็นกาลจบบทสระฉัททันต์
1
บทต่อไปเราจะล่องไปตามสายน้ำภัทรนทีที่ไหลออกจากสระฉัททันต์ แล้วขึ้นไปสำรวจทวีปด้านสุทัสสนะหรือเรียกว่า"กุรุทวีป"สู่สระกัณณมุณฑะกันต่อ โดย ลามะน้อย
1
1 บันทึก
7
2
1
1
7
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย