15 ส.ค. 2021 เวลา 00:44 • การศึกษา
การลากิจอย่างน้อยได้ปีละ 3 วัน และได้ค่าจ้างด้วย
โพสนี้ต่อจากเมื่อเช้าที่นายจ้างจะให้ลากิจต่อเมื่อลาพักร้อนครบก่อน ซึ่งอธิบายไปแล้วว่านายจ้างทำแบบนั้นไม่ได้ "วันลา" กับ "วันหยุด" คนละเรื่องกัน(แอดมินถึงพยายามรณรงค์ไงว่าวันหยุดพักผ่อนประจำปี อย่าไปเรียกว่าวันลาพักร้อน วันลากับวันหยุดไม่เหมือนกัน)
กฎหมายกำหนดเรื่องวันลากิจ (ชื่อตามกฎหมายคือลาเพื่อกิจธุระจำเป็น) ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน
และได้ค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ปีได้ไม่น้อยกว่า 3 วัน
จากข้อกฎหมายดังกล่าวอธิบายได้ความว่า
1) นายจ้างจะต้องกำหนดให้มีวันลาเพื่อกิจธุระจำเป็นไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี
2) กฎหมายใช้คำว่า “ไม่น้อยกว่า” หมายความว่านายจ้างจะจัดให้มากกว่า 3 วันก็ได้ เช่น นายจ้างอาจกำหนดให้สิทธิในการลากิจ ๑๐ วันต่อปีก็ได้ เพราะไม่น้อยกว่า ๓ วัน
3) การจ่ายค่าจ้าง 3 วัน หมายความว่าถ้านายจ้างจัดให้ลูกจ้าง มีสิทธิลาเพื่อกิจธุระจำเป็นได้ปีละ 3 วัน ตามที่กฎหมาย “กำหนดขั้นต่ำ” เอาไว้นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้าง 3 วันเช่นกัน
4) ถ้านายจ้างให้สิทธิลูกจ้างในการลากิจมากกว่า 3 วัน นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้ 3 วันพอดีก็ได้ แต่จะจ่ายน้อยกว่า ๓ วันไม่ได้ จะอ้างว่าเมื่อไม่มาทำงานค่าจ้างก็ไม่ต้องจ่ายไม่ได้
5) ถ้านายจ้างให้สิทธิลูกจ้างลากิจมากกว่า 3 วัน เช่น ให้สิทธิ์ในการลากิจ 10 วัน นายจ้างจะจ่ายค่าจ้าง ๓ วันพอดี หรือจ่ายมากกว่า 3 วัน เช่นให้ค่าจ้าง 5 วันก็ได้ หรือนายจ้างจะให้ 10 วันก็ได้ สำคัญคือการจ่ายค่าจ้างต้องไม่น้อยกว่า 3 วัน
อนึ่ง จำนวนวันขั้นต่ำในการลากิจก็ดี ค่าจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันลากิจก็ดี เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ หากนายจ้างจัดให้มากกว่านี้ก็สามารถทำได้ เพียงแต่จะ “จัด” หรือ “จ่าย” น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไม่ได้
6) วิธีการลา นายจ้างจะต้องกำหนดเอาไว้ในข้อบังคับในการทำงานว่าจะลาอย่างไร ยื่นก่อนกี่วัน เหตุที่ลาได้ แบบฟอร์มการลา หรือการยื่นใบลาผ่านระบบบริหารงานบุคคลก็สามารถทำได้ แต่ “วิธีการลา” ต้องเขียนเพราะกฎหมายกำหนดเอาไว้
โฆษณา