16 ส.ค. 2021 เวลา 12:38 • การเมือง
ชีวิตของสตรีอัฟกานิสถานจะเป็นอย่างไรภายใต้ตาลีบัน
Credit Background Photo from OpenCanada.org
หลังจากที่ตาลีบันได้เข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดีอัฟกานิสถานในกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน ประธานาธิบดีอัชราฟ กานี ได้เดินทางออกนอกประเทศไปยังทาจิกิสถานแล้ว เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม โดยอ้างว่าการตัดสินใจออกนอกประเทศเป็นไปเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่นำไปสู่การนองเลือด
ประธานาธิบดีอัชราฟ กานี (Credit : Al Jazeera)
ขณะที่สำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera) เผยแพร่ภาพตาลีบันเข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดี โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอยู่ร่วม 3 คนในภาพ
ตาลีบันได้อ้างว่า การส่งมอบหน่วยงานของรัฐต่างๆ เป็นไปอย่างสันติและสงครามอัฟกานิสถานได้จบลงแล้ว ตาลีบันบรรลุเป้าหมายที่จะคืนเสรีภาพและเอกราชให้กับประชาชน โดยคาดหวังว่าประชาคมโลกจะไม่เข้าแทรกแซงให้เกิดความรุนแรงหรือสงคราม
ส่วนตาลีบันจะจัดการข้อกังวลจากประชาคมโลกผ่านการเจรจาในภายหลัง
1
ตาลีบันเข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดี (Credit : Financial Times)
คืนวันที่ 15 สิงหาคมคาบเกี่ยวมาวันที่ 16 สิงหาคมวันนี้ สำนักข่าวและผู้ใช้โซเชียลมีเดีย เช่น ทวิตเตอร์และเฟสบุคเผยแพร่ภาพความชุลมุนที่สนามบินคาบูล เนื่องจากชาวอัฟกันหลายพันคนไปที่สนามบินเพื่อหลบหนีออกจากอัฟกานิสถานที่มีตาลีบันเป็นผู้ปกครอง
1
มีผู้เปรียบเปรยว่าภาพที่ปรากฎ เหมือนเหตุการณ์วันที่ไซง่อนแตกที่สงครามเวียดนามไม่มีผิด
ภาพเหตุการณ์ชาวอัฟกันพยายามหนีออกนอกประเทศที่สนามบินคาบูล เมื่อคืนวันที่ 15 และ 16 สิงหาคม (Credit: New York Times, Daily Mail และ BBC)
เหตุผลที่ทำให้ชาวอัฟกันอยากอพยพออกจากประเทศให้เร็วที่สุด สืบเนื่องมาจากการปกครองของตาลีบันที่สุดโต่ง ใช้หลักจารีตและศาสนาแบบเคร่งครัดมาเป็นกฎหมายที่ประชาชนทุกคนจะต้องทำตามโดยไม่มีข้อแม้
ผลคือจะทำให้อัฟกานิสถานถอยหลังกลับไปเป็นเหมือนช่วงที่ตาลีบันปกครองชาวเมืองอัฟกันเมื่อปีค.ศ. 1996-2001 ที่ประชาชนจะไม่มีสิทธิเสรีภาพในการพูด แสดงความเห็น การพัฒนาประเทศหยุดชะงัก
2
โดยเฉพาะสตรีที่จะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพมากที่สุด
สตรีชาวอัฟกันในยุค 1950-1960 ก่อนที่ตาลีบันจะยึดครอง (Credit : The Atlantic)
กลุ่มนักเรียนหญิงชาวอัฟกันหน้าโรงเรียนโพลีเทคนิคที่กรุงคาบูล ช่วง 1970 ก่อนตาลีบันจะยึดครอง (Credit : The New York Times)
ในช่วงปี 1996-2001 ที่ตาลีบันปกครองอัฟกานิสถาน ผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้เรียนหนังสือและทำงาน แม้กระทั่งออกนอกเคหะสถานพวกเธอก็จะต้องปกปิดใบหน้ามิดชิด ซึ่งในตอนนี้สตรีชาวอัฟกันกำลังเกรงว่าพวกตนจะถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพและกลับไปซ้ำรอยเดิมเหมือนในตอนนั้น
ผู้หญิงชาวอัฟกันเมื่อออกนอกเคหะสถานจะต้องสวมบูร์กา (Burqa) ผ้าคลุมชิ้นเดียวที่ปิดตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า โดยเว้นช่องตาข่ายตรงดวงตาเพียงเท่านั้น (Credit : NBC News, CNN และ The Globe Post)
หลังตาลีบันเสื่อมอำนาจในปี 2001 เป็นต้นมา ผู้หญิงชาวอัฟกันได้รับสิทธิเสรีภาพให้เรียนหนังสือและทำงานได้ ไม่ต้องสวมบูร์กาปกปิดใบหน้าเมื่อออกมาพื้นที่สาธารณะ
ก่อนที่ตาลีบันจะยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ นักรบตาลีบันติดอาวุธเดินเข้าไปในธนาคารอาซีซี สาขาหนึ่งที่เมืองกันดาฮาร์ทางภาคใต้ของประเทศ เพื่อตามพนักงานหญิง 9 คนไปถึงที่บ้าน และสั่งห้ามพวกเธอกลับไปทำงานที่ธนาคารอีก โดยให้ญาติผู้ชายของพวกเธอมาทำแทน
1
และไม่กี่วันต่อมาก็เกิดเหตุการณ์เดียวกันขึ้นที่อีกเมือง เมื่อนักรบตาลีบันติดอาวุธ 3 คน เข้าไปเตือนพนักงานผู้หญิงที่เปิดเผยใบหน้าในที่สาธารณะ (ไม่คลุมผ้าปิดใบหน้ามิดชิด) และสั่งให้เธอลาออก โดยให้ส่งญาติผู้ชายมาทำงานแทน
1
ส่วนโฆษกของตาลีบัน กล่าวว่า พวกเขายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้ผู้หญิงทำงานได้หรือไม่ แต่หลังจากที่สร้างระบบศาสนาอิสลามขึ้นภายในรัฐได้แล้ว พวกเขาจะติดสินใจตามกฎหมายและพระประสงค์ของพระเจ้าอีกครั้ง
ในระหว่างที่ตาลีบันยึดครองเมืองเอกจำนวน 9 แห่งในอัฟกานิสถาน ผู้หญิงชาวอัฟกันที่ทำงานต่างๆ เช่น นักข่าว ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถูกตาลีบันสังหารระหว่างที่เข้าไปยึดครอง โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมที่ผู้หญิงจะทำงานร่วมกับผู้ชาย และเปิดเผยใบหน้าในที่สาธารณะ
3
ผู้หญิงชาวอัฟกันและเด็กผู้ชายขณะเดินผ่านรถถัง (Credit : https://www.amnesty.org.uk/womens-rights-afghanistan-history)
ประชาคมโลกอย่างองค์การสหประชาชาติ หรือ UN (United Nations) ได้ออกแถลงการณ์ โดยเลขาธิการสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เรียกร้องให้ตาลีบันและทุกฝ่ายอดทนอดกลั้น หลีกเลี่ยงความรุนแรง เพื่อปกป้องชีวิตของประชาชนชาวอัฟกัน
1
โดย UN กังวลชีวิตและอนาคตของสตรีและเด็กในอัฟกานิสถานเป็นอย่างมาก หลังจากที่ตาลีบันยึดกรุงคาบูลได้ และที่ผ่านมาก็ได้รับรายงานการกดขี่ข่มเหงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอัฟกานิสถานมาโดยตลอด ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการสู้รบ สิ่งที่ UN กังวลคืออนาคตของสตรีและเด็กผู้หญิงชาวอัฟกัน ซึ่งคนเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง
1
เลขาธิการสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Credit : Al Jazeera)
นาซรีน ซัลทานิ ครูใหญ่แห่งโรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่งในกรุงคาบูล ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NBC News เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ว่าเธอกังวลและกลัวเป็นอย่างมาก
นาซรีน ซัลทานิ (Credit : NBC News)
เธอใช้เวลาหลายปีผลักดันและสนับสนุนให้เด็กผู้หญิงกล้าออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านและเรียนหนังสือมากขึ้น เพื่อโอกาสในอนาคตของพวกเธอเอง แต่หลังจากที่ตาลีบันรุกคืบเข้ามายังกรุงคาบูล ทางโรงเรียนต้องบอกให้นักเรียนหยุดมาเรียน เพราะเกรงกลัวอันตรายและความรุนแรงต่อนักเรียนหญิง
นาซรีนเป็นหนึ่งในสตรีที่มีบทบาทเป็นผู้นำ ในฐานะครูใหญ่ของโรงเรียนเธอกังวลใจมากถ้าตาลีบันตั้งกฎศาสนา เธอและเด็กนักเรียนหญิงอีกหลายๆคนจะหมดโอกาสทางการศึกษาและการทำงาน รวมถึงการละเมิดกฎศาสนาพวกเธออาจโดนโทษถึงประหารชีวิต
3
กลุ่มนักเรียนหญิงที่กรุงคาบูลนั่งคุยกันหลังเลิกเรียน (Credit : NBC News)
นักเรียนหญิงชาวอัฟกันหลังเลิกเรียน ช่วงปีก่อนที่ตาลีบันจะบุกกรุงคาบูล (Credit : https://www.dw.com/en/afghan-womens-rights-activist-the-taliban-will-come-and-kill-me/a-58861827)
ขณะที่โฆษกของกลุ่มตาลีบันแถลงว่า พวกเขาจะเขียนกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในที่สาธารณะได้ โดยที่ประเทศจะยังคงความสันติ ปราศจากความขัดแย้งต่อไป (ไม่ได้ระบุว่ามีกิจกรรมใดบ้าง และผู้หญิงยังต้องปิดหน้าปิดตามิดชิดหรือไม่)
เด็กนักเรียนหญิงในอัฟกานิสถาน (Credit : Human Rights Watch)
สำหรับนูเรีย ฮาย่า เธอรู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพในการทำงานของเธอและสตรีอีกหลายคนในอัฟกานิสถานกำลังดำมืดลงเรื่อยๆ
1
Credit : BBC
นูเรียในวัย 29 ปี ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่าเธอมีอาชีพเป็นพยาบาลผดุงครรภ์ที่เมืองอิชกามิช เมืองชนบททางตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟกานิสถาน ซึ่งเธอต้องทำงานร่วมกับแพทย์ อาสาสมัคร เพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชาย เพื่อช่วยเหลือสตรีในชุมชนเรื่องการทำคลอด
เมื่อกลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองพื้นที่บริเวณนี้ทั้งหมดและทหารของนาโต้ (NATO) ได้ถอนกำลังออกไป เธอและสตรีอีกหลายคนถูกสั่งห้ามไม่ให้ออกมาทำงานนอกบ้าน โดยมีกลุ่มตาลีบันคอยเฝ้ามองและสอดส่องอยู่ตลอดเวลา
4
แม้แต่ผู้ชายก็รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยและรู้สึกถึงสิทธิเสรีภาพที่กำลังถูกลิดรอน ผู้คนส่วนใหญ่ต้องล็อกตัวเองอยู่แต่ภายในบ้าน เพราะเกรงกลัวต่อกลุ่มตาลีบันติดอาวุธที่จะเดินตรวจตราทั้งตอนเช้าและเย็น
กลุ่มตาลีบันติดอาวุธนั่งอยู่บนรถเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2021 (Credit : The Times of Israel)
ที่สำคัญถ้าพวกเขาขออาหารหรือขออะไร ชาวบ้านก็ต้องให้โดยไม่มีข้อแม้
2
สำหรับผู้หญิง ถ้าพวกเธอจะออกจากบ้าน พวกเธอจะต้องสวมผ้าคลุมมิดชิดไม่ให้เห็นใบหน้า และต้องมีผู้ชายที่เป็นญาติหรือเพื่อนสนิทเดินประกบมาด้วย
ถ้าพวกเธอละเมิดกฎจะโดนพิจารณาโทษตามสเต็ป ครั้งแรกคือโดนเตือน ครั้งที่สอง จะโดนทำโทษต่อหน้าสาธารณะให้อับอาย ถูกคุมขัง และถูกเฆี่ยนตี
1
สำหรับนูเรียและสตรีอีกหลายคน พวกเธอไม่เห็นด้วยกับกฎศาสนาที่ถูกคนเพียงกลุ่มเดียวนำมาใช้เป็นเครื่องมือบังคับพวกเธอ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนเพียงกลุ่มเดียว
1
กลุ่มตาลีบันติดอาวุธที่กรุงคาบูลเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2021 (Credit : Al Jazeera)
ฟาวเซีย กูฟี นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีชาวอัฟกัน อดีตผู้ช่วยร่างกฎหมายและตัวแทนชาวอัฟกัน ได้ให้สัมภาษณ์หลังจากที่สหรัฐอเมริกาถอนกำลังทหารออกจากประเทศจนหมดว่า ตัวเธอเองและชาวอัฟกันส่วนใหญ่รู้สึกว่า "โดนทรยศ"
ฟาวเซีย กูฟี นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีชาวอัฟกัน (Credit : NBC News)
เธอรู้สึกว่าสตรีชาวอัฟกัน ตกอยู่ในภาวะที่อันตรายและเสี่ยงที่สุด โดยที่โลกหันหลังให้พวกเธอ พวกเธอจะต้องเจอกับอาชญากรรมร้ายแรง เมื่อตาลีบันปล่อยนักโทษออกมา และตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเหล่าผู้ที่มีความแค้นต่อผู้หญิงมีบทบาทนำในสังคม จะทำให้สตรีชาวอัฟกันตกเป็นเป้าของความรุนแรงและโดนกำจัดมากขึ้น
1
อัพเดตล่าสุด 16 สิงหาคม นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่าบางคนถูกกลุ่มตาลีบันป้ายสี สีชมพูที่ประตูบ้าน เพื่อรอกลับมาชำระความกับพวกเธอในภายหลังแล้ว
กำลังจะทำให้เข้าสู่ยุคมืดของผู้หญิงอัฟกันอีกครั้ง
สำหรับเหตุการณ์ในอัฟกานิสถานยังคงต้องจับตาดูต่อไปอย่างใกล้ชิด ตาลีบันจะออกกฎหมายที่ไม่ขัดต่อสิทธิมนุษยชนตามที่แถลงหรือไม่ ต้องรอดู
รวมถึงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสตรีชาวอัฟกัน ที่เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พวกเขากำลังเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากประชาคมโลก ประชาคมโลกจะตอบสนองอย่างไร ต้องรอติดตาม
References:
โฆษณา