19 ส.ค. 2021 เวลา 00:07 • ธุรกิจ
“พลาสติกย่อยสลายได้" โอกาสธุรกิจที่เติบโตได้ของไทย
เทรนด์รักษ์โลกด้วยพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ (Biodegradable Plastics) เป็นนวัตกรรมจากวัตถุดิบธรรมชาติกำลังเป็นที่สนใจทั่วโลก ธุรกิจการผลิตพลาสติกชีวภาพ จึงเติบโตเป็นอย่างมาก โดยประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในผู้เล่นในตลาดที่สำคัญ แล้วอะไรทำให้ไทยมีโอกาสในธุรกิจนี้ ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้กันก่อนว่าคืออะไร
"พลาสติกย่อยสลายได้" โอกาสธุรกิจที่เติบโตได้ของไทย
พลาสติกเป็นวัสดุที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก แทบทุกผลิตภัณฑ์มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบทั้งนั้น แต่ก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกัน พลาสติกจากปิโตรเลียมใช้เวลายาวนาน 80 - 600 ปี ในการย่อยสลาย ทำให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนจากการผลิต การทำลาย และการรีไซเคิล
จึงมีการพัฒนาพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ (Biodegradable Plastics หรือ Compostable Plastics) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่าโดยใช้เวลาเร็วสุดเพียง 6 เดือน ถึง 1 ปี ในการย่อยสลาย จากเพียงการหมัก หรือ การฝังกลบในดิน เนื่องจากพลาสติกชนิดนี้ผลิตขึ้นจากวัสดุธรรมชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็น พืช เช่น อ้อย แป้ง (Starch) โปรตีนจากถั่ว (Soy Protein) เซลลูโลส คอลลาเจน และพอลีเอสเตอร์ เป็นต้น แต่ที่นิยมใช้กันแพร่หลาย คือ แป้ง เพราะมีราคาถูกและมีจำนวนมาก สามารถหาได้จากพืชหลากหลายชนิด เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี มันฝรั่ง มันเทศ และมันสำปะหลัง
พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ กลุ่มที่ใช้การทำงานของ จุลินทรีย์ในธรรมชาติ เช่น Polylactic Acid (PLA), Bio-Based Polybutylene Succinate (BioPBS) และ Polyhydroxyalkanoate (PHA) ซึ่งผลิตจากแป้งที่ได้จากพืชพวก อ้อยข้าวโพด มันสำปะหลัง รวมถึงสกัดจากเซลล์แบคทีเรีย
ระยะเวลาในการย่อยสลายพลาสติกประเภทต่าง ๆ
การย่อยสลายของพลาสติกทางชีวภาพ (Biodegradable Plastic)
ปัจจุบันมีหลายบริษัทชั้นนำที่นำพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้มาใช้ เช่น BMW นำสายไฟที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพมาใช้ในการประกอบรถยนต์ แบรนด์แฟชั่น Gucci นำพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้มาใช้ผลิตรองเท้ารุ่น Sustainable Soles และเคลือบถุงกระดาษ Chanel ก็ลงทุนในบริษัทผลิตพลาสติกชีวภาพ Sulapac เพื่อนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องสำอาง ในขณะที่บริษัทเครื่องดื่ม Carlsberg และ Coca Cola หันมาใช้ขวดที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ และวางแผน Plastic Free ภายในปี 2023
ส่วนแบรนด์ของคนไทยที่เรารู้จักกันดี Café Amazon ได้ใช้แก้ว Amazon Bio Cup ซึ่งเป็นแก้วกระดาษเคลือบด้วยพลาสติกที่ผลิตจากโรงงานพลาสติกชีวภาพชนิด BioPBS แห่งแรกในโลกของบริษัท PTTMCC มาตั้งแต่ปี 2015 โดยการใช้ Amazon Bio Cup จะสามารถช่วยลดขยะพลาสติกได้กว่า 200 ตันต่อปี
1
แบรนด์ชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศที่ใช้พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้
📌 พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ช่วยลดความต้องการปิโตรเลียมที่ใช้ผลิตพลาสติกแบบดั้งเดิม กระบวนการผลิตพลาสติกชนิดนี้ใช้พลังงานน้อยลงและยังไม่ต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลในการรีไซเคิล เนื่องจากความต้องการพลังงานน้อยกว่า มลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงลดลงอย่างมาก ข้อดีหลักประการหนึ่งของการใช้พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ คือ การลดการปล่อยคาร์บอนในระหว่างกระบวนการผลิต
นอกจากนี้ เนื่องจากวัสดุที่ใช้ทำพลาสติกเป็นวัสดุจากพืช จึงมีการปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด ในระหว่างกระบวนการย่อยสลายโดยการหมัก โดยรวมแล้วมีการปล่อยคาร์บอนเพียง 1.5 – 4 กิโลกรัมคาร์บอนต่อพลาสติก 1 กิโลกรัม เท่านั้น แต่พลาสติกจากปิโตรเลียมปล่อยคาร์บอนถึง 70 – 120 กิโลกรัมคาร์บอนต่อพลาสติก 1 กิโลกรัม อีกทั้งการย่อยสลายพลาสติกชีวภาพมีผลผลิตเป็น พลังงาน น้ำ เกลือ แร่ธาตุต่าง ๆ รวมถึงสามารถใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้อีกด้วย
📌 ทิศทางตลาดพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้
ตลาดพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้เติบโตมากขึ้น จากความต้องการในการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกทั่วโลก โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่นานาประเทศเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ทำให้มีความต้องการพลาสติกในการผลิตบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สูงมากขึ้น ประกอบกับหลายประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้มีการออกมาตรการต่าง ๆ ออกมา ผู้บริโภครายใหญ่อย่าง จีน และ EU เร่งออกมาตรการส่งเสริมทั้งการใช้ การผลิต และการวิจัยนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรม ในประเทศสมาชิกให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เป็นโอกาสที่สำคัญของผู้ประกอบการพลาสติกชีวภาพ
ถึงแม้ว่า สินค้าจากพลาสติกชีวภาพจะยังมีราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไป ยกตัวอย่าง ราคาจานหนึ่งใน พลาสติกทั่วไปมีราคาประมาณใบละ 0.06 ยูโร ขณะที่พลาสติกชีวภาพมีราคาประมาณ 0.12 ยูโร เนื่องจาก ราคาต้นทุนของเม็ดพลาสติกชีวภาพราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไปประมาณ 3 - 5 เท่า หรือบางชนิด เช่น PHA อาจสูงถึง 10 เท่า
2
แต่จากผลสํารวจ Eurobarometer ในปี 2560 พบว่า ประชาชนใน EU ถึง 75% ยอมจ่ายเงินเพิ่มมากขึ้น เพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสวีเดนและมอลตา ที่ประชาชนกว่า 90% เห็นด้วยกับการใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ราคาพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้เทียบกับพลาสติกจากปิโตรเลียม
ในขณะที่จีนที่มีปริมาณการใช้พลาสติกสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก จากการสำรวจปี 2020 จีนใช้ถุงพลาสติก 0.5 ล้านตัน พลาสติกสำหรับพัสดุจัดส่งทางไปรษณีย์สูงถึง 1.8 ล้านตัน ฟิล์มเกษตรและบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นมากกว่า 9 ล้านตัน
เมื่อต้นปี 2021 จีนได้ออกคำสั่งให้งดใช้ถุงพลาสติกแบบย่อยสลายไม่ได้ในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จะไม่ขายถุงพลาสติกแบบย่อยสลายไม่ได้อีกต่อไป แต่จะให้ขายถุงผ้าและถุงพลาสติกย่อยสลายได้แทน ทำให้คำสั่งซื้อถุงพลาสติกย่อยสลายได้เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าจากเดิม แต่กำลังการผลิตทั่วประเทศรวมโรงงานที่กำลังก่อสร้างสำหรับพลาสติกชนิด PLA และ PBAT มีเพียง 1.97 และ 4 ล้านตันเท่านั้น ทำให้ยังต้องการนำเข้าจากต่างประเทศอยู่
1
สัดส่วนการผลิตพลาสติกชีวภาพทั่วโลก ปี 2020 (%)
📌 โอกาสในไทย
จากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น PTTGC ได้ประเมินว่าตลาดพลาสติกชีวภาพทั่วโลกจะเติบโตขึ้น 30% (CAGR 2013-2030) และเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการในไทยที่ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพและผลิตภัณฑ์รักษ์โลก เช่น ถุงชอปปิ้ง ภาชนะใส่อาหาร อุปกรณ์สำหรับรับประทานอาหาร หลอดดูด เป็นต้น ในการเข้าสู่ตลาดโลก สำหรับเม็ดพลาสติกชีวภาพที่เป็นที่ต้องการของตลาด คือ เม็ดพลาสติกชนิด PLA โดยศูนย์ข้อมูลและวิจัยตลาดอุตสาหกรรมพลาสติก สถาบันพลาสติก
คาดว่า ปี 2021 มูลค่าการส่งออกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 16.6% สร้างรายได้กว่า 2,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ส่งออกมูลค่า 2,331 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก อีกทั้ง ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการผลิตพลาสติกชีวภาพและยังมีโอกาสในการเติบโตมากขึ้นไปอีก เพราะเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิต เช่น มันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพด เป็นต้น
1
#พลาสติกย่อยสลาย #เทรนด์รักษ์โลก #
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ปรียา ชัชอานนท์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา