21 ส.ค. 2021 เวลา 01:08 • ปรัชญา
“โยนิโสมนสิการ”
“ …กระทั่งอ่านหรือฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน
แล้วเราบอกเข้าใจ ๆ หลวงพ่อกล้าท้าเลยว่า
ที่เข้าใจเข้าใจคนละเรื่องกับที่ท่านสอน
ธรรมะเป็นของอัศจรรย์จริง ๆ
ฟังครูบาอาจารย์แล้วบอกเข้าใจ ๆ
ก็เข้าใจเหมือนกัน แต่เข้าใจคนละระดับกัน
หลวงพ่อตอนบวชพรรษาแรก
ออกพรรษาแล้วหลวงพ่อรีบขึ้นไปกราบหลวงปู่สุวัจน์ที่วัดป่าเขาน้อย
ตอนนี้ไม่มีอะไรแล้ว พระอะไรก็ไม่ค่อยมีแล้ว
เมื่อก่อนท่านอยู่ โยมก็เยอะพระก็เยอะ ขึ้นไปกราบท่าน
แล้วท่านก็สอนหลวงพ่อว่า
“สกทาคามี อนาคามี พระอรหันต์
ก็เห็นธรรมะอันเดียวกันล่ะ
แต่ความรู้ความเข้าใจมันไม่เท่ากัน
ไม่มีอะไรแล้ว วางให้หมดเลย”
ท่านบอกอย่างนี้ “วางทิ้งให้หมดไปเลย”
ใจเราบอกเราวางไม่ได้หรอก
เรายังรู้ไม่หมดยังรู้ไม่ถ่องแท้
ฟังครูบาอาจารย์
ครูบาอาจารย์บอกว่ามันหมดตรงนี้ล่ะวางเลย
ใจเราไม่รู้สึก
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้เรื่องจากครูบาอาจารย์แล้ว
เรามาลงมือทำ มักจะทำไปคนละเรื่อง
เราถึงมีการต้องตรวจสอบ
ตรวจสอบตัวเองด้วยหลักวิชาที่เรียนมา
เขาเรียกว่าโยนิโสมนสิการ
สิ่งที่เราทำอยู่นี่มันสอดคล้องกันจริงไหมกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน
สอดคล้องกันจริงไหมกับสิ่งที่พระอรหันต์สาวกที่ทำสังคายนาสอน
สอดคล้องกันไหมกับที่ครูบาอาจารย์สอน
แต่ตรงที่ครูบาอาจารย์สอนต้องระวัง
ครูบาอาจารย์ที่รู้แจ้งแทงตลอดจริงมีนับองค์ได้เลย
นอกนั้นไม่ใช่หรอก
เพราะฉะนั้นดูพระไตรปิฎกเป็นหลักไว้
คำสอนใดแม้กระทั่งจะเป็นคำสอนของครูบาอาจารย์ของเรา
ท่านพวกนี้เป็นอาจารย์ ควรเชื่อ
พระพุทธเจ้าบอกแล้วอย่าเชื่อเพราะว่าเป็นอาจารย์ของเรา
ไปดูว่าพระไตรปิฎกจริง ๆ สอนอย่างไรเป็นหลักเอาไว้
อย่าทิ้งพระไตรปิฎก อย่าแก้พระไตรปิฎก แล้วก็อย่าเติมพระไตรปิฎก
จะช่วยเราในเรื่องการใช้โยนิโสมนสิการ
ตรวจสอบการปฏิบัติของตัวเอง
ถ้าตรวจสอบ โยนิโสมนสิการใช้เป็นหลักเลย
แล้วถ้าเรามีโอกาสเจอครูบาอาจารย์ ลองถามดู ๆ
ครูบาอาจารย์ที่ท่านภาวนาได้จริงๆ ก็เป็นกัลยาณมิตร
แต่ไม่ใช่ทุกคนเป็นกัลยาณมิตร
บางคนบางท่านภาวนามาแบบนี้ คนละแนวทางกับเรา
เราภาวนาอย่างนี้ เราเกิดข้อขัดข้องสงสัย เราไปถามท่าน
ท่านก็ตอบไปในแนวที่ท่านเคยทำ
ยกเว้นครูบาอาจารย์ที่แบบสุดยอดไปแล้ว ขึ้นยอดเขาแล้ว
พอท่านภาวนาถึงระดับขึ้นอยู่บนยอดภูเขาแล้ว คือเป็นพระอรหันต์
ท่านจะมองไปรอบทิศทาง 360 องศา
ท่านจะพบทางขึ้นเขาเต็มไปหมดเลย
ทางขึ้นเขาไม่ใช่มีทางเดียวที่ท่านขึ้นมา
เพราะฉะนั้นเราภาวนามาอย่างนี้เราไปถามท่าน
ท่านตอบตามจริตของเราได้ ตามนิสัยของเราได้
อย่างหลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์
กระทั่งครูบาอาจารย์ที่มีปกติสอนพุทโธพิจารณากาย
หลวงพ่อเข้าไปเรียน ท่านก็สอนดูจิต
เพราะจริตนิสัยเราเป็นอย่างนี้ แล้วท่านภาวนาสุดยอดแล้ว
ท่านรู้ว่าดูจิตมาก็ได้เหมือนกัน
แต่ละองค์ ๆ เพราะฉะนั้นบางทีฟังแล้วสับสน
หลวงพ่อเลยไม่ค่อยสนับสนุนหรอกว่า
พวกเราภาวนาแล้วก็วิ่งเข้าวัดโน้นทีวิ่งเข้าวัดนี้ที สับสน
อาศัยโยนิโสมนสิการให้มากไว้
1
หลวงพ่อพูดจากประสบการณ์เลย
หลวงพ่อช่วยตัวเองมาโดยใช้โยนิโสมนสิการเป็นหลัก
เราเป็นคนกรุงเทพ ฯ ในขณะที่ครูบาอาจารย์อยู่อีสาน
อยู่ภาคเหนือ อยู่ตั้งไกล จะไปหาก็ไม่ได้ไปได้บ่อย ๆ
ไปทีก็ตั้งหลายวันใช่ไหม เอาวันลาที่ไหนไป
แล้วเราอยู่บ้านทุกวัน เราภาวนาทุกวัน
มีอะไรที่ให้สงสัยได้ทุกวัน ๆ ทำอย่างไร
รอถามครูบาอาจารย์หรือ ไม่รอหรอก สำรวจเอา
ลองผิดลองถูกดู สังเกตเอา
อย่างวันนี้จิตมันสว่างว่างขึ้นมา เรารู้สึกดี
อีกวันก็สว่างอีก อีกวันก็สว่างอีก เราชักเอะใจแล้ว
พระพุทธเจ้าสอน บอกจิตไม่เที่ยง ทำไมมันเที่ยงวะ
ท่านบอกว่าจิตเป็นทุกข์ ทำไมมันสุขวะ
ท่านบอกว่าบังคับไม่ได้ เป็นอนัตตา ทำไมบังคับได้
เห็นไหม โยนิโสมนสิการ เอ๊ะ ต้องมีอะไรผิดแล้วล่ะ
ทำไมมันขัดแย้งกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน
ขันธ์ 5 เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ขันธ์ 4 ตัวแรก เราเห็นแล้วเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
แต่จิต เราฝึกไปดี ๆ จิตชำนาญในสมาธิ
มันจะเหมือนเที่ยง คือมันคงที่อยู่ได้นาน ๆ เลย
อยู่ได้ทีหนึ่งหลาย ๆ วันเลย
แล้วก็มีความสุข ไม่ใช่เป็นทุกข์
แล้วก็บังคับได้ นึกอยากสงบเมื่อไรก็สงบได้
นี่จิตกลายเป็นจิตเป็นอัตตาไปแล้ว ก็เฉลียวใจ
ไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนนี่ ต้องผิดตรงไหน
2
ค่อย ๆ สังเกตเอา แล้วจิตมันเดิน
ปล่อยให้มันเดินตามที่มันชิน มันจะกลับเข้ามาตรงนี้
อย่างตรงที่มันเข้าไปว่าง สว่างเข้ามา มันเคยชิน
จะมาตรงนี้ มันเข้าไปปุ๊บ พอเข้าไปปุ๊บตรงนี้
โอ๊ย ตรงนี้นี่ มันแสดงความเที่ยง ความสุข
ความเป็นอัตตาขึ้นมาแล้ว มันพลาดตรงไหน
1
พลาดตั้งแต่มันเคลื่อนแล้วไม่เห็น
เมื่อมีจิตที่เคลื่อนไปได้ มันก็มีจิตที่เคลื่อนมาทางนี้ได้
เคลื่อนไปทางนี้ได้ จิตยังเวียนว่ายตายเกิดได้
ไม่ใช่แล้ว ๆ รู้เลยว่าผิดแล้วที่ทำอยู่
หลักวิธีโยนิโสมนสิการ ค่อยๆ สังเกตตัวเองอย่างนี้
สังเกตว่าสิ่งที่เป็นอยู่ สิ่งที่ทำอยู่
มีผลสอดคล้องกับที่พระพุทธเจ้าสอนไหม
สอดคล้องกับพระไตรปิฎกไหม
ทำไมหลวงพ่อยังแยกคำสอนของพระพุทธเจ้ากับพระไตรปิฎก
เพราะพระไตรปิฎกไม่ได้มีเฉพาะคำสอนของพระพุทธเจ้า
แต่มีคำสอนของพระอรหันต์จำนวนมากอยู่ด้วย
ถามว่าถูกไหม ไม่ผิดหรอก
คนรุ่นเรานี่ล่ะภูมิจิตภูมิธรรมมันไม่ถึง
มันก็เลยคิดว่าคำสอนของพระอรหันต์รุ่นโน้นใช้ไม่ได้
ที่จริงตัวเองเป็นปุถุชน
แล้วไปตีความว่าคำสอนของพระอรหันต์อื่นใช้ไม่ได้
ต้องคำสอนของพระพุทธเจ้าองค์เดียวอะไรอย่างนี้
ในพระไตรปิฎกมีคำสอนของพระพุทธเจ้าไหม ไม่มี
พระไตรปิฎกทั้งหมดเกิดจากการประชุมรวบรวมกันขึ้นมา
ของพระสาวกทั้งหลาย พระอรหันต์นั่นล่ะมารวบรวมประมวลขึ้นมา
ฉะนั้นพระไตรปิฎกคือสิ่งซึ่งประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้า
ประมวลกับคำสอนของพระสาวก
หลายบทที่พระสาวกแสดงธรรมโดยพระพุทธเจ้าใช้ให้แสดง
พระพุทธเจ้าท่านชราแล้ว ท่านเหนื่อยแล้ว
ท่านบอกท่านจะเอนหลังพักผ่อนให้แสดงธรรมไป
แล้วท่านก็นอนฟัง ท่านก็ฟังของท่านไป
พักผ่อน เมื่อยหลังแล้ว
เทศน์จบแล้วท่านก็ลุกขึ้นมาอนุโมทนา
ธรรมะแบบนี้ก็มีเยอะ อนุโมทนาคือท่านแสตมป์แล้ว
นี่ใช้ได้แน่นอน แล้วคนที่ท่านใช้ให้เทศน์ก็ต้องไม่ธรรมดาล่ะ
ฉะนั้นสรุปฝึกสติปัฏฐานไว้
มีสติรู้กายเนือง ๆ รู้จิตใจเนืองๆ
ต่อไปปัญญาเกิดก็แยกขันธ์ได้
วิปัสสนาปัญญาเกิดก็จะเห็นไตรลักษณ์ของแต่ละขันธ์
สุดท้ายโลกุตตรปัญญาเกิด ก็ตัดกระแสเข้ามา
เข้าไปสู่ธรรมแท้ …”
1
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
8 สิงหาคม 2564
ติดตามการถอดไฟล์ฉบับเต็มจาก :
ขอบคุณรูปภาพจาก : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา