22 ส.ค. 2021 เวลา 15:22 • ปรัชญา
"... บุคคลผู้มีปัญญา จะเจริญอสุภกรรมฐาน
ท่านมิได้เจริญแต่ต้นลำดับไปจนถึงปลาย
เพราะเป็นการเนิ่นช้า
ท่านยกอาการอันใดอันหนึ่งขึ้นมาพิจารณา
สงเคราะห์ลงในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ท่านก็ย่อมได้ถึงมรรคผลนิพพานโดยสะดวก ... "
ดูกรอานนท์ นักปราชญ์ทั้งหลายผู้ฉลาดด้วยปัญญา
ท่านบำเพ็ญอสุภานุสสติกรรมฐาน
ปรารถนาเอาพระนิพพานเป็นที่ตั้งนั้น
ท่านยอมถือเอาอสุภะในตัวเป็นอารมณ์ของกรรมฐาน
ถ้ายังเอาอสุภะภายนอกเป็นอารมณ์อยู่แล้ว
ยังไม่เต็มทางปัญญา เพราะยังอาศัยสัญญา
เพราะยังอาศัยสัญญาอยู่
ถ้าเอาอสุภะในตัวเป็นอารมณ์ของกรรมฐานได้
จึงเป็นที่สุดแห่งทางปัญญา เป็นตัววิปัสสนาญาณได้
ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ใดปรารถนาพระนิพพาน
จงยังอสุภกรรมฐานในตนให้เห็นแจ้งชัดเถิด
ครั้งไม่เห็น ก็พิจารณาปฏิกูลสัญญาลงในตนว่า
แม้ตัวของเรานี้ถึงยังมีชีวิตอยู่
ก็หากเป็นของน่าพึงเกลียดพึงเบื่อหน่ายยิ่งนัก
ถ้าหากว่าไม่มีหนังหุ้มห่อไว้แล้ว
ก็จะพึงเป็นของน่าเกลียดเหมือนอสุภะแท้
หากมีหนังหุ้มห่อไว้จึงพอดูได้
อันที่แท้ตัวตนแห่งเรานี้
จะตั้งอยู่ได้ก็ด้วยลมอัสสาสะ ปัสสาสะเท่านั้น
ถ้าขาดลมหายใจเข้าออกแล้ว
ตัวตนนี้ก็จักเน่าเปื่อยผุพังไป
แต่นั้นก็จักเป็นอาหารของสัตว์ทั้งหลาย
มีหนอนเป็นต้น จักมาเจาะไชกิน
ส่วนลมหายใจเข้าออกซึ่งเป็นเจ้าชีวิตนั้นเล่า
ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ของของตัว
เขาอยากอยู่ เขาก็อยู่ เขาอยากดับเขาก็ดับ
เราจะบังคับบัญชาไม่ได้ตามปรารถนา
ถ้าขาดลมหายใจเข้าออกแล้ว
ความสวย ความงามในตน
แลความสวยความงามในภายนอก
คือ บุตรภรรยาแลข้าวของเงินทอง
แลเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งปวง
ก็ย่อมหายไปสิ้นด้วยกันทั้งนั้น
เหลียวซ้ายแลขวาก็จะได้เห็นบุตรภรรยา
แลนัดดาหามิได้
ต้องอยู่คนเดียวในป่าช้า
หาผู้ใดจักเป็นเพื่อนสองมิได้
ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ใด
มาพิจารณาเห็นอสุภกรรมฐาน ๓๒ โกตธาตุ
เห็นซากผีดิบในตน
ชื่อว่าได้ถือเอาความสุขในทางพระนิพพาน
1
วิธีเจริญอสุภกรรมฐานตามลำดับ
คือให้ปลงจิตลงในเกสา (ผม)
ให้เห็นเป็นอสุภะ
แล้วให้สำคัญในเกสานั้นว่าเป็นอนัตตา
แล้วให้เอาโลมา (ขน)
ตั้งลงปลงจิตให้เห็นเป็นอสุภะเป็นอนัตตา
แล้วเอานขา (เล็บ) ทันตา (ฟัน) ตั้งลงปลงจิต
ให้เห็นเป็นอสุภะเป็นอนัตตา
แล้วให้เอาตโจตั้งลงตาม ลำดับไป
จนถึงมัตถเกมัตถลุงคังเป็นที่สุด
พิจารณาให้เห็นเป็นอสุภะเป็นอนัตตาโดยนัยเดียวกัน
ดูกรอานนท์ เราตถาคตแสดงมานี้โดยพิสดาร
ให้กว้างขวางทั้งเบื้องต้นแลเบื้องปลาย
แท้จริงบุคคลผู้มีปัญญารู้แล้ว
ก็ให้สงเคราะห์ใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เท่านั้น
บุคคลผู้มีปัญญา จะเจริญอสุภกรรมฐาน
ท่านมิได้เจริญแต่ต้นลำดับไปจนถึงปลาย
เพราะเป็นการเนิ่นช้า
ท่านยกอาการอันใดอันหนึ่งขึ้นมาพิจารณา
สงเคราะห์ลงในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ท่านก็ย่อมได้ถึงมรรคผลนิพพานโดยสะดวก
การที่เจริญอสุภกรรมฐานนี้
ก็เพื่อจะให้เบื่อหน่ายในร่างกายของตน
อันเห็นว่าเป็นของสวยของงาม
ทั้งวัตถุภายในแลภายนอก
ให้เห็นเป็นของเปื่อยเน่าผุพัง
จะได้ยกตนให้พ้นจากกิเลสตัณหา
ผู้มีปัญญารู้แล้วไม่ควรชื่นชมยินดีในรูปตนแลรูปผู้อื่น
ทั้งรูปหญิงรูปชาย ทั้งวัตถุข้าวของดีงามประณีตบรรจง
อย่างใดอย่างหนึ่งเลย
เพราะว่าความรักทั้งปวงนั้นเป็นกองกิเลสทั้งสิ้น
ถ้าห้ามใจให้ห่างจากกองกิเลสได้
จึงจะได้รับความสุขทั้งชาตินี้และชาติหน้า
ถ้าหากใจยังพัวพันอยู่ในกองกิเลสแล้ว
ถึงแม้จะได้รับความสุขสบายก็เพียงแต่ชาตินี้เท่านั้น
เบื้องหน้าต่อไปไม่มีทางที่จะเสวยสุข
มีแต่ได้เสวยทุกข์โดยถ่ายเดียว
ผู้มีปัญญาเมื่อได้เจริญอสุภานุสสติกรรมฐาน
เอาทวัตติงสาการ ๓๒ เป็นอารมณ์
ก็ควรละกองกิเลสตัณหาให้ขาดสูญ
อ้างอิง :
* อสุภกรรมฐาน ต่างจาก ปฏิกูลสัญญา
อสุภกรรมฐาน คือ พิจารณาให้เห็นอสุภะของจริงในตัว
แต่ในเบื้องต้น สติปัญญาไม่พอ ยังไม่อาจเห็นได้
จึงใช้ปฏิกูลสัญญาพิจารณานำร่องไปก่อน
หากจะเป็นวิปัสสนาจริง ๆ
ต้องเห็นจากของจริงภายในตัว ไม่ใช่จากสัญญา
อสุภกรรมฐานจึงเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา
ขณะที่ใช้สัญญาปฏิกูลเป็นการพิจารณาแบบสมถะ
นิมิต มโนภาพ สัญญา ต่าง ๆ
จึงเป็นเพียงการเจริญสมถะกรรมฐาน
เป็นรากฐานต่อยอดให้สติปัญญาแก่กล้า
สามารถเห็นของจริง เจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป
ขณะที่เห็นจริง ๆ ภายในตัว จึงจะเป็นวิปัสสนา
เพราะขณะที่เห็นของจริง จริง ๆ
จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยไม่ผ่านสัญญา
คือ การเห็นแจ้ง
ไม่ใช่การพิจารณาโดยใช้สัญญา
แต่ในขั้นแรกจะต้องอาศัยสัญญาพิจารณาก่อน
เจริญวิปัสสนาตลอดไม่ได้
ต้องสลับกับสมถะไปด้วยตลอดทาง ให้จิตมีกำลัง
มิฉะนั้น จิตจะฟุ้งซ่านในธรรม
เพราะสติปัญญายังไม่แก่กล้าพอ
ถ้าแก่กล้าพอ ก็ตัดสังโยชน์ไปหมดแล้ว
ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาเองว่า
เวลาไหนควรเจริญสมถะ เวลาไหนควรเจริญวิปัสสนา
เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา