Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
21 ส.ค. 2021 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
“สารทจีน” ส่องเบื้องหลังการแพร่ขยายของวัฒนธรรมประเพณีแดนมังกร
มองย้อนประวัติศาสตร์การอพยพย้ายถิ่นของ “ชาวจีนโพ้นทะเล”
มองย้อนประวัติศาสตร์การอพยพย้ายถิ่นของ “ชาวจีนโพ้นทะเล”
หากลองมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ดูจะพบว่า การอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวจีนนั้นเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานแล้ว อย่างเช่นในช่วงรัชสมัยของจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ (Qin Shi Huang) ที่ได้มีการส่งซูฟู (Xu Fu) นักเล่นแร่แปรธาตุพร้อมคณะสำรวจไปค้นหายาอายุวัฒนะ ได้เดินทางจนพบกับเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งภายหลังได้ตั้งรกรากที่นั่น และไม่ได้กลับไปที่จีนอีกเลย
1
การเดินทางของ 'Xu Fu' เพื่อค้นหายาอายุวัฒนะ จนไปพบประเทศญี่ปุ่นในที่สุด
ในรัชสมัยของจักรพรรดิหย่งเล่อ (Yongle Emperor) แห่งราชวงศ์หมิง ก็ได้ส่งกองเรือคณะสำรวจออกไปเป็นจำนวนมาก นำโดยนายพลคนสนิทของจักรพรรดินามว่า เจิ้งเหอ (Zheng He) เพื่อสำรวจค้นหาเส้นทางการค้าตั้งแต่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงบริเวณคาบสมุทรแอฟริกา ก็พบว่ามีชุมชนชาวจีนอยู่จำนวนไม่น้อยตามประเทศต่างๆ ที่ได้เดินทางผ่านไป
3
แผนที่เดินเรือสำรวจเส้นทางการค้าของ นายพลเจิ้งเหอ (Zheng He)
แม้แต่ในยุคเปลี่ยนผ่าน จากที่ชาวแมนจูก่อกบฏโค่นล้มราชวงศ์หมิง และสถาปนาราชวงศ์ชิงอันยิ่งใหญ่ขึ้นมา ก็มีราชนิกุลจีน รวมถึงข้าราชการและขุนนางต่างๆ ที่สวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์หมิง ที่อพยพลี้ภัยไปอยู่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวจีนในอดีตที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นการย้ายถิ่นฐานจำนวนมาก หากแต่เป็นการอพยพย้ายถิ่นฐานที่ประปรายเท่านั้น
ทั้งนี้ สาเหตุอาจจะเป็นไปได้เพราะว่าในสมัยก่อน การเดินทางยังคงยากลำบาก เป็นเรือสำเภา ใช้เวลานาน ส่งผลให้ต้นทุนการเดินทางค่อนข้างสูง หรือนโยบายในช่วงการปกครองของราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง ที่ตั้งข้อห้ามไม่ให้ชาวจีนอพยพย้ายถิ่นฐานไปที่อื่น มิเช่นนั้น จะถูกตีตราว่าเป็นผู้ทรยศ และมีบทลงโทษอันรุนแรงต่อสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศจีน (แต่ก็มีหลักฐานว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างจริงจังก็ตาม)
อีกเหตุผลที่ค่อนข้างน่าสนใจก็ คือ ทัศนคติของชาวจีนในสมัยก่อนที่เชื่อในแนวคิดที่ว่าจีนถูกปกครองโดยจักรพรรดิที่ถือครองอาณัติแห่งสวรรค์ (Mandate of heaven) ทำให้ดินแดนที่อาศัยอยู่เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความเจริญ และมองว่าดินแดนอื่นๆ รอบไม่ต่างอะไรจากอาณาจักรที่ล้าหลัง ปราศจากความเจริญ ทำให้ชาวจีนไม่เห็นประโยชน์ใดๆ ในการอพยพไป ซึ่งก็สอดคล้องกับพระราชดำรัสที่จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ชิงเคยตรัสไว้เกี่ยวกับประเทศอื่นๆ ว่าเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน
📌 เข้าสู่ยุคแห่งความยากลำบาก...ก่อให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นครั้งใหญ่สู่ดินแดนโพ้นทะเล
การอพยพครั้งยิ่งใหญ่ของชาวจีนสู่ดินแดนโพ้น เริ่มต้นขึ้นในช่วงราวทศวรรษ 1850 โดยการอพยพครั้งยิ่งใหญ่ของชาวจีนเกิดขึ้น เพื่อหนีความวุ่นวาย ความลำบากยากเข็ญในประเทศ ตั้งแต่เหตุการณ์การสูญเสียเกาะฮ่องกงให้กับจักรวรรดิอังกฤษ จากความพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 และทั้งจากสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้น อย่างเช่น กบฏไท่ผิง (Taiping Rebellion) ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร ทำให้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก
ตัวเลขการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวจีนโพ้นทะเลช่วงปี 1851-1939
นอกจากนี้ ความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องของราชวงศ์ชิง ยังทำให้คนสูญเสียความเชื่อมั่นในราชวงศ์ชิง และไม่เชื่อว่าจักรพรรดิถืออาณัติแห่งสวรรค์อีกต่อไป จึงทำให้อพยพย้ายถิ่นฐานไปประเทศอื่น เพื่อแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
ทั้งนี้ คนจีนเหล่านี้ได้อพยพไปหลายประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งในแถบอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง ยุโรป แต่ประเทศที่ชาวจีนอพยพไปมากที่สุด ก็คือ ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีชาวจีนที่เป็นนักเดินเรือ พ่อค้าต่างๆ เคยเดินทางมาตั้งรกราก และก่อชุมชนไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
แผนที่การอพยพย้ายถิ่นของชาวจีนโพ้นทะเล
ช่วงปลายราชวงศ์ชิง ได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายควบคุมการอพยพย้ายถิ่น โดยปรับให้มีความเสรีมากยิ่งขึ้น อนุญาตให้ชาวจีนสามารถอพยพไปประเทศอื่นได้ และมีการให้การรับรองชาวจีนที่ไปตั้งรกรากที่ประเทศอื่นว่าเป็น “ชาวจีนโพ้นทะเล” หรือ Overseas Chinese โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อทำหน้าที่เป็นสะพานที่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และนำความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีของต่างประเทศเข้ามาในจีน ในยามที่รัฐบาลของราชวงศ์ชิงกำลังประสบกับปัญหาทางการเงินอย่างมาก
การรับรองชาวจีนที่อพยพย้ายถิ่นในฐานะ “ชาวจีนโพ้นทะเล” รวมถึงการอนุญาตให้เดินทางอพยพย้ายถิ่นฐานยังคงดำเนินต่อไปจนถึงยุคการปกครองของสาธารณรัฐจีน ภายใต้พรรคก๊กมินตั๋ง และสิ้นสุดลงในปี 1949 ภายหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นมามีอำนาจและทำการปิดประเทศ เพื่อตัดขาดเส้นเชื่อมระหว่างโลกทุนนิยมกับโลกสังคมนิยมที่จีนกำลังก้าวเข้าไป แต่สุดท้าย การอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวจีนก็กลับมาอีกครั้ง ภายหลังจากที่เติ้ง เสี่ยวผิง ดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ (Reform and opening up) ในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งในการนี้ทำให้ชาวจีนโพ้นทะเลกลับมาพบปะกับญาติตัวเองที่เมืองจีนได้อีกครั้ง
📌 การอพยพย้ายถิ่นของชาวจีน...ก่อกำเนิดชุมชนของชาวจีนโพ้นทะเล
การอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวจีนเป็นจำนวนมากสู่ประเทศต่างๆ ได้นำไปสู่การก่อตั้งชุมชนชาวจีนขึ้น หรือที่เราเรียกกันว่าเป็น Chinatown อย่างเช่นในกรณีของไทยก็คือเยาวราช นั่นเอง
โดยชาวจีนที่เดินทางเข้ามาก็ทำอาชีพหลากหลาย ตั้งแต่เป็นกุลีจีน ทำงานเพื่อใช้แรงงาน แบกหาม เป็นหลัก ตลอดไปจนหาบเร่ขายของเล็กๆ น้อยๆ จนสามารถเก็บหอมรอมริบ สะสมทุน จนสร้างธุรกิจใหญ่โตได้ ดังที่เราเห็นทุกวันนี้ ว่าหลายๆ บริษัทไทยก็ล้วนมีเจ้าของกิจการเชื้อสายจีนทั้งสิ้น
ถนนเยาวราช ย่านไชน่าทาวน์ขนาดใหญ่ของประเทศไทย
นอกจากนี้ ความสำเร็จทางด้านพาณิชย์ของชาวจีนโพ้นทะเลยังก่อกำเนิดเป็นเครือข่ายไม้ไผ่ (Bamboo Network) ซึ่งเป็นเครือข่ายความเชื่อมโยงด้านธุรกิจการค้าของชาวจีนโพ้นทะเลในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนำไปสู่การขยายกิจการการค้าขายระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับประเทศในภูมิภาคที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
เครือข่ายไม้ไผ่ (Bamboo Network) กลุ่มธุรกิจของชาวจีนโพ้นทะเล
ขณะเดียวกัน การก่อตั้งชุมชนชาวจีนในประเทศต่างๆ เหล่านี้ก็ได้นำไปสู่การผสมผสานทางวัฒนธรรมอย่างมากมาย เช่น การนำแนวคิดเรื่องการบูชาบรรพบุรุษ เทศกาลไหว้เจ้า การกินเจ ที่ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่คนจีนโพ้นทะเลแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังแพร่ไปยังคนในพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้ หนึ่งในกรณีตัวอย่างของการผสมผสานวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดก็คือไทย ซึ่งมีสัดส่วนของคนเชื้อสายจีนสูงถึง 15% ของประชากรในประเทศ หรือราวๆ 10 ล้านคน โดยการผสมผสานวัฒนธรรมต่างๆ ก็มีตั้งแต่การนำการผัด การเอาเส้นก๋วยเตี๋ยวเข้ามา จนก่อกำเนิดเป็นอาหารประจำชาติอย่างเช่น ก๋วยเตี๋ยวผัดไท เป็นต้น หรือแม้แต่ในแวดวงราชการ หรือการเมืองเอง ไทยก็เป็นประเทศที่มีเจ้าหน้าที่ราชการ ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ที่มีเชื้อสายจีนอีกด้วย
เทศกาลกินเจ ประเพณีงดเนื้อสัตว์ ตามปฎิทินจีนของทุกปี
นอกจากนี้ ในกรณีของประเพณี เทศกาลต่างๆ เช่นเดียวกัน ไทยก็นับว่าเป็นประเทศที่มีการผสมผสานประเพณีวัฒนธรรมที่ชาวจีนนำเข้ามาอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลตรุษจีน ก็จะเห็นห้างร้านต่างๆ เปลี่ยนโฉมให้กลายเป็นสีแดงเพื่อให้เข้ากับเทศกาล และนำหัวหมู เป็ดต้ม ไก่ต้ม รวมถึงเครื่องไหว้มาขายเรียงรายเต็มไปหมด ซึ่งส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยกระเตื้องขึ้นอย่างมากในช่วงเทศกาล หรือเทศกาลกินเจ ที่เห็นทั้งคนไทย ทั้งที่มีและไม่มีเชื้อสายจีน ต่างก็มีส่วนร่วมในเทศกาลดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้ จะเห็นได้ว่า การอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวจีนได้ก่อให้เกิดการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ของจีน และ เทศกาลสารทจีนในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ ก็เช่นเดียวกัน โดยตามความเชื่อของชาวจีน คือ เป็นวันที่ประตูแห่งยมโลกได้เปิดออก และเป็นช่วงเวลาที่วิญญาณของบรรพบุรุษสามารถเวียนว่ายออกมาได้ จึงเกิดเป็นประเพณีที่ว่าลูกหลานชาวจีนจะใช้โอกาสดังกล่าวในการทำบุญอุทิศกุศลให้วิญญาณบรรพบุรุษ รวมถึงวิญญาณเร่ร่อนอื่นๆ ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นในสัมปรายภพได้
สำหรับในวันนี้ Bnomics ได้นำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวจีนสู่การก่อตั้งชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลมาให้ลูกหลานชาวจีนและผู้ที่สนใจได้อ่านในโอกาสเทศกาลสารทจีนกันครับ สำหรับในสัปดาห์หน้า เราจะชวนพาทุกคนไปมองย้อนประวัติศาสตร์เรื่องอะไร ขอเชิญติดตามกันด้วยครับ
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
https://www.jstor.org/stable/pdf/1012074.pdf
https://www.cambridge.org/core/books/chinese-diasporas/chinese-state-and-the-politics-of-diaspora-1860s1940s/B5A92FB4671E8147ABB30E4514B1DD82
Chinese Migration and Settlement in Southeast Asia Before 1850: Making Fields From the Sea
https://www.cambridge.org/core/services/aop-cambridge-core/content/view/564F8C7A82C0EFB4350F650FC8B5DD56/S174002281000001Xa.pdf/chinese_emigration_in_global_context_18501940.pdf
https://www.oxfordbibliographies.com/view/document/obo-9780199920082/obo-9780199920082-0070.xml
https://en.wikipedia.org/wiki/Overseas_Chinese#
https://en.wikipedia.org/wiki/Bamboo_network
https://www.prachachat.net/d-life/news-286207
27 บันทึก
28
1
29
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
All About History
27
28
1
29
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย