28 ส.ค. 2021 เวลา 13:08 • ประวัติศาสตร์
'ประวัติศาสตร์ของธนาคาร' จากต้นกำเนิด ที่เริ่มต้นราว 2,000 ปีก่อนคริสตกาล
ประวัติศาสตร์ ต้นกำเนิดของธนาคาร
📌 ย้อนรอยมองการธนาคารในยุคโบราณ (Banking in the Ancient Times)
เมื่อมองย้อนไปในอดีตแล้วจะพบว่า ประวัติศาสตร์ของธนาคารนั้นสามารถย้อนไปไกลได้ถึงราว 2,000 ปีก่อนคริสตกาลเลยทีเดียว โดยมีหลักฐานอย่างในประมวลกฎหมายฮัมบูราบี ซึ่งมีการบัญญัติข้อกำหนดเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการธนาคารในยุคนั้นไว้ แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมทางการเงินการธนาคารต้องมีความสำคัญพอสมควรถึงปรากฏขึ้นมาในกฎหมายบ้านเมืองได้
ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (Hammurabi's Code) มีระบุกฎเกณฑ์การกู้ยืมเงินเอาไว้
ทั้งนี้ ในยุคดังกล่าว กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น การค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้า ถูกจำกัดไว้ในเขตเมือง และศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเมืองก็คือ วัดและวัง (Temple and Palace) อย่างเช่น ในเมโสโปเตเมียและเปอร์เซีย วัดและวังก็ได้ทำหน้าที่เปรียบเสมือนดั่งธนาคาร โดยทำหน้าที่ในการรับฝากและปล่อยกู้ให้กับคนที่ต้องการ โดยในยุคนั้น การปล่อยกู้ส่วนใหญ่จะเป็นการปล่อยกู้เมล็ดพันธุ์ธัญพืช (Seed Grains) ให้กับเกษตรในช่วงฤดูเพาะปลูก และเมื่อถึงฤดูการเก็บเกี่ยว เกษตรกรเหล่านั้นก็นำผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้มาส่งคืนให้กับธนาคารนั่นเอง
แนวคิดดังกล่าวได้ถูกสืบต่อมา อย่างในช่วงยุคของกรีกโบราณประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาล ก็มีหลักฐานค้นพบว่าสถาปัตยกรรมมรดกโลกอย่างวิหารอาร์ทีมิส (Temple of Artemis) ก็ทำหน้าที่เป็นดั่งธนาคาร โดยเป็นแหล่งฝากเงินที่มีปริมาณเงินฝากมากที่สุดในเอเชียในขณะนั้น และมีผู้คนมีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์มากมายที่นำเงินไปฝากในวิหารดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น อริสโตเติล หรือจูเลียส ซีซาร์ เป็นต้น
วิหารอาร์ทีมิส (Temple of Artemis) แหล่งฝากเงินโบราณที่ใหญ่สุดในเอเซีย
หลังจากนั้นต่อมา ธนาคารเริ่มมีการพัฒนาบทบาทให้หลากหลายมากขึ้น เพิ่มจากแต่เดิมที่มีเพียงแต่การปล่อยกู้เมล็ดพันธุ์สู่การปล่อยกู้เงิน สู่การแลกเปลี่ยนเงินตรา และการให้การรับรองเงินตรา (Validation of coinage) เนื่องจากการค้าเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้น มีพ่อค้าต่างชาติเข้ามาทำการค้าขายมากยิ่งขึ้น จึงต้องมีบริการดังกล่าวเพื่อใช้รองรับเหรียญเงินและทองที่พ่อค้าชาวต่างชาตินำเข้ามา
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการกำหนดกฎเกณฑ์และกำกับดูแลที่เพิ่มขึ้น มีการวางระบบการเงินการธนาคารที่ชัดเจนมากขึ้น เพื่อรองรับธุรกิจธนาคารที่มีการขยายตัว อย่างเช่น ในอาณาจักรโรมันโบราณ ที่มีการตั้งธนาคารหลายธนาคารขึ้นมา และได้เปิดให้บริการตามสถานที่ต่างๆ เช่น ลานสาธารณะ (Courtyard) เพื่อให้บริการแลกเปลี่ยนเงินให้เป็นสกุลเงินที่รัฐบาลของอาณาจักรโรมันในขณะนั้นรับรอง (Money Changer)
การให้บริการในพื้นที่ดังกล่าว ได้เป็นต้นกำเนิดรากศัพท์ของคำว่า Bank หรือ ธนาคารที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ เพราะในลานสาธารณะดังกล่าว จุดที่มีการให้บริการกันคือ บนม้านั่งยาว ซึ่งภาษาละติน เรียกว่า Bancu ซึ่งภายหลังก็ได้กลายมาเป็นคำว่า Bank ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
แต่แล้ว บทบาทของธนาคารก็จางหายไป เมื่ออิทธิพลของศาสนาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนาคริสต์ได้ก่อตัวขึ้นมา
1
จักรพรรดิคอนสแตนตินเข้าพิธีศีลจุ่ม ในฐานะผู้นำคริสศาสนาเข้ามาในโรมันโบราณ
📌 จากอิทธิพลของศาสนา สู่จุดตกต่ำของธนาคาร
1
อิทธิพลของศาสนาคริสต์ที่ได้ก่อตัวขึ้นมาได้ส่งผลให้บทบาทของธุรกิจธนาคารจางหายไป เนื่องจากศาสนาคริสต์มองว่าการคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินไป (Usury) นั้น ถือว่าเป็นบาป (ความจริงแล้ว ในช่วงที่สุดโต่งที่สุด การคิดอัตราดอกเบี้ย ไม่ว่าจะด้วยอัตราใดก็ตาม ก็ถือว่าเป็นบาปทั้งสิ้น) ซึ่งส่งผลให้กรุงโรม ซึ่งถูกปกครองอยู่ภายใต้อิทธิพลของพระสันตะปาปาและศาสนาคริสต์จึงมีการประกาศห้ามการคิดดอกเบี้ย และทำให้กิจการธนาคารจางหายไป
1
ภาพวาดพระเยซูเฆี่ยนเหล่า Money Changer
ด้วยเหตุนี้ จึงได้ถือกำเนิดคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาทำธุรกิจธนาคาร นั่นก็คือชาวยิว ซึ่งไม่ใช่ชาวคริสต์ จึงไม่ต้องปฏิบัติตามข้อห้ามของศาสนาคริสต์ ชาวยิวได้ใช้โอกาสนี้เพื่อทำธุรกิจดังกล่าว โดยในอิตาลี ชาวยิวไม่สามารถถือครองที่ดินได้ จึงไม่สามารถประกอบกิจการอย่างเช่น เกษตรกรรม เหมือนดังคนอื่นๆ ได้ ชาวยิวจึงได้เดินทางเข้าไปในศูนย์กลางการค้าของเมือง และให้บริการปล่อยกู้แก่ชาวไร่ชาวนาในอัตราดอกเบี้ยที่สูง แลกกับสิทธิในการนำผลผลิตของชาวนาไปขาย เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว (เหมือนดังเช่นในสมัยเมโสโปเตเมียเลย)
นอกจากนี้ ชาวยิวยังให้บริการประกันพืชผลการเกษตรกับเหล่าพ่อค้าที่รอซื้อผลผลิตในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวอีก หากเกิดเหตุการณ์ เช่น ภาวะภัยแล้ง หรือเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ ที่ส่งผลให้พืชผลเสียหาย และทำให้ชาวไร่ชาวนาไม่สามารถส่งมอบพืชผลการเกษตรได้ตามที่ตกลงไว้ ชาวยิวเหล่านี้ก็จะไปหาพืชผลจากแหล่งอื่นมาเพื่อนำมาส่งมอบให้แก่พ่อค้าตามที่ได้ประกันเอาไว้ให้
ทั้งนี้ บทบาทธนาคารเริ่มกลับขึ้นมาอีกครั้งในทวีปยุโรปจากสงครามครูเสด ในช่วงนั้น มีนักแสวงบุญชาวคริสต์ (Pilgrims) เป็นจำนวนมาก ที่เดินทางไปยังกรุงเยรูซาเรม เพื่อร่วมในสงครามอันศักดิสิทธิ์ (Holy War) ซึ่งการเดินทางไปกรุงเยรูซาเรมนั้น จำเป็นที่จะต้องใช้เงินในการซื้ออาหาร ยา หรือที่พักอาศัย
แต่ทว่า การขนย้ายเงินจำนวนมหาศาลเหล่านั้น ดูจะเป็นเรื่องที่ยากและมีความเสี่ยงอย่างมาก เนื่องจากอาจจะโดนดักซุ่มปล้นเงินได้ เพราะฉะนั้น จึงได้มีการอนุญาตให้ชาวแสวงบุญชาวคริสต์ที่จะเดินทางไปเยรูซาเรม สามารถนำเงินไปฝากที่ Church of England และสามารถนำตราสารเครดิต (Letter of Credit) ไปรับเงินที่กรุงเยรูซาเรมได้ โดยมีอัศวินเทมพลาร์ (Knight Templars) หรืออัศวินของพระสันตะปาปา ทำหน้าที่ขนย้ายเงินจากอังกฤษไปยังเยรูซาเรมให้ (หากเปรียบให้เข้าใจง่าย อัศวินเทมพลาร์ก็คงเหมือนกับ Western Union ในยุคนั้นนั่นเอง)
1
อัศวินของคริสตจักร (Knight Templar) ผู้ทำหน้าที่ขนย้ายเงินไปยังเยรูซาเรม
ทั้งนี้ การผ่อนปรน คลายล็อคให้สามารถทำธุรกิจธนาคารได้โดยศาสนจักรเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้การธนาคารกลับมามีบทบาทอย่างแพร่หลายอีกครั้งในทวีปยุโรป มีคนเริ่มกลับมาทำธุรกิจธนาคารอีกครั้ง อย่างเช่น ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ก็มีการก่อตั้ง Bank of Venice ขึ้นมา
ขณะเดียวกัน มีความพยายามหาช่องว่างต่างๆ เพื่อให้ไม่โดนข้อกล่าวหาประเด็นการคิดดอกเบี้ย (Usury) จากทางศาสนจักร อย่างเช่น ในอิตาลี ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ก็มีกลุ่มนายธนาคารชาวคริสต์ที่พยายามหลีกเลี่ยงข้อห้ามของทางศาสนจักร โดยการกำหนดค่าธรรมเนียม แทนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแทน โดยให้นิยามว่าค่าธรรมเนียมดังกล่าวหมายถึง ความเสี่ยงที่ผู้กู้จะเสียชีวิต หรือความเสี่ยงในการชำระหนี้ล่าช้า เป็นต้น
หลังจากนั้น กิจการธนาคารก็ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั่วทวีปยุโรป กำเนิดธนาคารชื่อดังต่าง ๆ มากมาย อย่างเช่น ธนาคารของตระกูล Medici ซึ่งเป็นตระกูลชั้นสูงที่มีอิทธิพลอย่างมากในอิตาลี หรือธนาคาร Banca Monte dei Paschi di Siena ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 1472 และเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้
Banca Monte dei Paschi di Siena หนึ่งในธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
นอกจากนี้ บทบาทของธนาคารได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ภายหลังที่เกิดการปฏิรูปศาสนาคริสต์ เกิดนิกายโปรเตสแตนต์ขึ้น ส่งผลให้อิทธิพลของศาสนจักรลดลง และทำให้ข้อห้ามเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างแพร่หลายอีกต่อไป
📌 เข้าสู่ยุคกำเนิดธนาคารสมัยใหม่
1
ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นยุคที่นำไปสู่การก่อเนิดการธนาคารสมัยใหม่ (Modern Banking) โดยในอังกฤษ พ่อค้าต่างๆ เริ่มนำทองคำของตัวเองไปฝากไว้กับนายธนาคารของกรุงลอนดอน (Goldsmiths of London) ซึ่งนายธนาคารเหล่านี้มีตู้เซฟที่สามารถเก็บทองคำต่างๆ เหล่านี้ไว้ได้อย่างปลอดภัย แลกกับการคิดค่าธรรมเนียมในการรับฝากทอง โดยมีการออกใบรับรองให้
1
นายธนาคารของลอนดอนในช่วงศตวรรษที่ 17 (Goldsmiths of London)
ภายหลัง นายธนาคารพวกนี้ได้เริ่มมีการนำเงินต่างๆ ที่พ่อค้านำเข้ามาฝาก ไปปล่อยกู้ให้คนที่ต้องการนำเงินไปใช้ ซึ่งนำไปสู่การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory notes) เพื่อการรับรองเงินฝากของลูกค้าธนาคาร จนสุดท้ายได้นำไปสู่การก่อกำเนิดระบบธนาคารที่เรียกว่า Fractional Reserve Banking ที่ใช้มายาวนานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการนำเงินฝากบางส่วนไปปล่อยกู้ และเก็บบางส่วนไว้เป็นเงินสำรองของธนาคาร
นอกจากนี้ ช่วงปลายศตวรรษที่ 17 Bank of England เป็นหนึ่งในธนาคารแห่งแรกของโลกที่มีการออกธนบัตร โดยใช้ช่วงแรกเป็นการเขียนก่อน ภายหลังได้มีการพัฒนาไปเป็นการพิมพ์ธนบัตร และมีการออกธนบัตรในจำนวนเงินที่สูงขึ้นด้วย หลังจากนั้น บทบาทและหน้าที่ของธนาคารก็ได้พัฒนาเพิ่มขึ้นอยู่ต่อเนื่อง มีการให้บริการออกเช็ค การบริการเบิกเงินเกินบัญชี (Overdraft) เพื่อให้รองรับกับเศรษฐกิจที่ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
Bank of England เริ่มออกธนบัตรครั้งแรก ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17
ทั้งนี้ กิจการธนาคารที่เติบโตเฟื่องฟูอย่างมากได้นำไปสู่การจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลธนาคาร และรักษาความมั่นคงแข็งแรง และเสถียรภาพของระบบการเงินไว้
หลังจากนั้น บทบาทและหน้าที่ของธนาคารยังคงมีการพัฒนามาโดยตลอด มีการคิดค้นผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมาก
ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารทำหน้าที่ จัดสรร โยกย้ายเงินจากผู้ที่มีเหลือ ไปสู่ผู้ที่มีเงินไม่เพียงพอ แต่มีไอเดียดีๆ ในการทำธุรกิจ ส่งผลให้เกิดธุรกิจ และนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมามากมาย ยิ่งปัจจุบัน การแข่งขันได้เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ และเทคโนโลยีดิจิทัลได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น เงินดิจิทัล QR payment Blockchain transfer และบทบาทเหล่านี้ได้มีผู้เล่นใหม่ๆ เช่นกลุ่ม Fintech เข้ามาร่วมด้วยเป็นจำนวนไม่น้อย และทำให้กิจการธนาคารก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่น่าตื่นตา ตื่นใจ
ทั้งหมดเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ของการธนาคารที่ Bnomics ได้หยิบยกมาเล่าให้ทุกคนฟังในวันนี้ สำหรับในสัปดาห์หน้า Bnomics จะพาทุกคนมองย้อนประวัติศาสตร์เพื่อไปศึกษาเรื่องอะไร ก็ขอเชิญชวนทุกคนติดตามกันด้วยครับ
#All_About_History #ประวัติศาสตร์โลก #ธนาคารโลก
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา