4 ก.ย. 2021 เวลา 14:15 • ประวัติศาสตร์
“ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น” จากประเทศผู้พ่ายแพ้สงคราม สู่ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ
3
เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา คือ วันที่ญี่ปุ่นได้ร่วมลงนามในข้อตกลงยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเป็นทางการบนเรือ USS Missouri ภายหลังกองทัพสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมะและเมืองนากาซากิของญี่ปุ่น ส่งผลให้จักรพรรดิฮิโรฮิโตะประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข เป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่จุดจบของสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาจักรวรรดิญี่ปุ่นอันยิ่งใหญ่ และนำไปสู่การยึดครองญี่ปุ่น (Occupation of Japan) โดยสหรัฐฯ และฝ่ายสัมพันธมิตร
3
แต่ถึงกระนั้น จุดจบของจักรวรรดิญี่ปุ่นก็ไม่ได้หมายถึงจุดจบของญี่ปุ่นเสมอไป (The end of the Empire of Japan does not necessarily translate into the end of Japan) เพราะในช่วงเวลาประมาณ 2-3 ทศวรรษต่อมาญี่ปุ่นได้พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกเป็นรองเพียงแค่สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียดเท่านั้น
1
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดดังกล่าวทำให้ญี่ปุ่นผันตัวเองจากประเทศที่พ่ายแพ้อย่างศิโรราบต่อสงครามมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ในเวลาอันสั้น เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น” หรือ “Japanese Economic Miracle”
1
ด้วยเหตุนี้ วันนี้ Bnomics จะพาทุกคนมองย้อนประวัติศาสตร์ไปเพื่อพูดคุยกันว่า ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจที่ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไรครับ
📌 จุดเปลี่ยนที่สำคัญของจักรวรรดิญี่ปุ่น
1
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ปี 1945 เมื่อสหรัฐฯ โจมตีเมืองฮิโรชิมะและเมืองนากาซากิด้วยระเบิดปรมาณู ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายแสนคน ทำให้เพียงแค่ไม่กี่วันหลังจากนั้น จักรพรรดิฮิโรฮิโตะแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น ประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อฝ่ายสัมพันธมิตรและลงนามข้อตกลงยอมจำนนอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กันยายน 1945
2
หลังจากที่มีการลงนามดังกล่าว ญี่ปุ่นก็ถูกเข้ายึดครองโดยฝ่ายพันธมิตร นำโดยสหรัฐฯ โดยมีผู้นำในการยึดครองในขณะนั้น คือนายพลดักลาส แมกอาเธอร์ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายพันธมิตร (Supreme Commander for the Allied Powers)
2
สิ่งที่สหรัฐฯ เร่งดำเนินการคือการเปลี่ยนผ่านประเทศญี่ปุ่นจากประเทศอำนาจนิยมที่ให้ความสำคัญกับชาตินิยมและการทหารมาเป็นประเทศที่เชื่อในประชาธิปไตยให้ได้ นอกจากนี้ แมคอาเธอร์ยังได้ประกาศอีกด้วยว่า เขาจะฟื้นฟูความมั่นคง ศักดิ์ศรี และการเชื่อมั่นในคุณค่าของตนเองคืนให้กับประชาชนชาวญี่ปุ่น
1
📌 บทบาทของสหรัฐฯ ในการวางรากฐานเศรษฐกิจ การเมืองให้กับญี่ปุ่น
1
ทั้งนี้ สิ่งที่สหรัฐฯ เร่งดำเนินการคือการปฏิรูปในด้านต่างๆ โดยในด้านการเมือง มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น (ซึ่งเรียกชื่อเล่นว่าเป็น MacArthur Constitution ด้วย เนื่องจากสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการยกร่าง) เพื่อการันตีสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยกำหนดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวญี่ปุ่น และเปลี่ยนผ่านให้จักรพรรดิเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรม เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวญี่ปุ่น เป็นสัญลักษณ์ดังเช่นกษัตริย์อังกฤษไม่ได้มีฐานะเป็นสมมติเทพ เป็นโอรสแห่งพระอาทิตย์ ดังเช่นในสมัยก่อน
5
ขณะเดียวกัน มีการจัดตั้งรัฐสภา หรือ The Diet ขึ้นมารวมทั้งส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจการปกครองไปที่ท้องถิ่นอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถออกเสียงเลือกผู้แทนได้รวมถึงยุบกองทัพญี่ปุ่นลงและสละอำนาจอธิปไตยของญี่ปุ่นในการเข้าร่วมสงครามอีก
1
ในส่วนการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ สิ่งที่สหรัฐฯ ได้ดำเนินการ คือ การจัดตั้งระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) ขึ้นมาให้ได้ด้วยความมุ่งหวังที่ว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังสงคราม โดยหนึ่งในสิ่งที่ได้ดำเนินการ คือ การลดอิทธิพลของกลุ่มทุนผูกขาดหรือที่เรียกกันว่า Zaibatsu ซึ่งมีอิทธิพลมากในระบบเศรษฐกิจมาตั้งแต่ยุคเมจิและมีความเชื่อมโยงกับกองทัพอย่างมากในช่วงสงครามที่ผ่านมา
6
สหรัฐฯ ยังได้เร่งปฏิรูปที่ดินโดยมีการมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับชาวนาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านั้นที่ดินส่วนใหญ่ถูกถือโดยเจ้าของที่ดินไม่กี่คน ส่งผลให้เป็นการสิ้นสุดลงของระบบการจัดสรรที่ดินแบบศักดินา (Feudal Society) มาเป็นระบบทุนนิยมที่คนมีกรรมสิทธิ์ของตนเอง
การปฏิรูปอีกด้านหนึ่งที่เป็นคุณูปการอย่างมาก คือ การจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้น โดยในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น จากปี 1945 ถึงปี 1948 แรงงานที่อยู่ในสหภาพแรงงานก็ได้เพิ่มเป็นร้อยละ 60 ของแรงงานทั้งหมด จากแต่เดิมที่ไม่มีสหภาพแรงงานเลย ซึ่งส่งผลให้การเจรจาต่อรองค่าจ้างระหว่างลูกจ้างและนายจ้างเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และเป็นรากฐานที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างมากในช่วงถัดมา เกิดเป็นภาพที่เราเห็นคนญี่ปุ่นทำงานหนัก มีความซื่อสัตย์กับองค์กรอย่างมาก แลกกับค่าจ้างที่ดี และสวัสดิการที่ดี
5
ทั้งนี้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญอย่างมากที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือ การเกิดขึ้นของสงครามเกาหลี ซึ่งก่อให้เกิดความต้องการพวกอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากการขนย้ายเครื่องมือทางการทหารมาจากสหรัฐฯ โดยตรง ใช้เวลานาน และมีต้นทุนสูง
2
เหตุการณ์นี้ทำให้สหรัฐฯ หันไปพึ่งพากำลังการผลิตของญี่ปุ่น ซึ่งช่วยก่อให้เกิดการผลิตและการลงทุน (เกิดการลงทุน นำเข้าเครื่องจักร ใช้ระบบการผลิตที่ทันสมัยที่สุด เนื่องจากโรงงานต่างๆ ที่ใช้เครื่องจักรแบบเดิมได้ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมากในช่วงสงคราม) ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว
1
📌 หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ คือ นโยบายที่ใช่ของรัฐบาลญี่ปุ่น
2
อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐฯ จะได้เข้ามาช่วยปฏิรูปและวางโครงสร้างให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่นไว้มากเพียงใด แต่ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ว่ากันจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากปราศจากนโยบายที่ใช่ของรัฐบาลญี่ปุ่น ในช่วงหลังสงครามโลกที่ 2
หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐสภาขึ้น รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชิเกรุ โยชิดะ ได้มีการมุ่งเน้นนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงคราม โดยใช้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ เป็นจุดแข็งสำคัญ
1
สิ่งที่โยชิดะได้ทำคือ การจัดสรรงบประมาณต่างๆ เพื่อมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสนับสนุนอุตสาหกรรมสำคัญที่จะมีส่วนในการพลิกฟื้นประเทศ นั่นรวมถึงการลดงบประมาณอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น อย่างเช่น ลดงบประมาณทางการทหารซึ่งเคยอยู่ในระดับที่สูงมาก ลงไปอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
5
เพื่อนำไปจัดสรรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยหวังพึ่งพากำลังทางการทหารของสหรัฐฯ ในการปกป้องประเทศเป็นหลัก (ซึ่งในส่วนนี้ มีงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่ให้ข้อสรุปว่า หากไม่ใช่เพราะสหรัฐฯ ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย)
1
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการจัดตั้งกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม (Ministry of International Trade and Industry: MITI) ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างนโยบายที่นำมาสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงหลายทศวรรษถัดมา
1
หนึ่งในนโยบายสำคัญของ MITI คือ นโยบายยกระดับระบบการผลิต (Inclined Production Mode) โดยช่วงเริ่มต้นมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมอย่าง เช่น เหล็ก ถ่านหิน และสิ่งทอ เป็นต้น และช่วงต่อมา ในทศวรรษ 1950 นโยบาย MITI ได้มุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนอุตสาหกรรมหนัก ควบคู่กับนโยบายของหน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่น ธนาคารกลางที่ส่งเสริมให้มีการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม
2
ทั้งนี้ ในช่วง 1950 ได้ผ่อนปรนกฎเกณฑ์และกฎหมายเกี่ยวกับการผูกขาดที่ถูกบังคับใช้ในสมัยที่สหรัฐยึดครองลงส่งผลให้เหล่ากลุ่มทุนผูกขาดกลับมามีอิทธิพลมากขึ้น และก่อให้เกิดเป็นเครือข่ายธุรกิจที่เรียกว่า Keiretsu ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัทใหญ่หลายบริษัท ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้กระจายสินค้า ตลอดจนถึง แหล่งเงินทุน
ซึ่งส่งผลให้การจัดสรรทรัพยากรมีประสิทธิภาพและทำให้กลายเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้
1
ในช่วงทศวรรษ 1960 รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีการใช้นโยบาย Income Doubling Plan ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มขนาดเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้ได้หนึ่งเท่าตัวภายในระยะเวลา 10 ปี ผ่านมาตรการลดภาษี การกระตุ้นการลงทุนให้ตรงจุด เพิ่มสวัสดิการของภาครัฐ รวมถึงกระตุ้นการส่งออกและอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งแผนดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอีกหนึ่งเท่าตัวภายในระยะเวลาน้อยกว่า 7 ปีด้วยซ้ำ
3
📌 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของญี่ปุ่น...อีกส่วนสำคัญที่สร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ
1
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมาก โดยจุดเด่นของคนญี่ปุ่นที่มีมาแต่โบราณคือการนำเอาแนวคิดต่างๆ ที่ดีและเป็นประโยชน์ มาประยุกต์ใช้ และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
1
ในช่วงหลังสงครามโลก ก็เช่นเดียวกัน ในช่วงแรกญี่ปุ่นเองก็มีการนำเข้าและลอกเลียนแบบเทคโนโลยีจากประเทศอื่นแต่ภายหลังก็มีการพัฒนา ปรับปรุง ให้ดียิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมเหล็กเองมีการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาพัฒนาให้เหล็กมีคุณภาพยิ่งขึ้นสามารถผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ได้มากขึ้น รวมถึงชิ้นส่วนรถยนต์ จนทำให้ญี่ปุ่นสามารถสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ของตัวเองที่แข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในโลกได้
1
แม้กระทั่งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่น ก็เริ่มต้นมาจากการก็อปปี้ ลอกเลียนแบบ เทคโนโลยีจากประเทศอื่น แล้วค่อยมาพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น อย่างเช่น ในทศวรรษ 1950 วิทยุทรานซิสเตอร์ของ Sony ก็เกิดขึ้นมาได้ เนื่องจาก Sony เห็นโอกาสว่ายังไม่มีใครนำมาใช้อย่างจริงจัง เพราะอย่างในสหรัฐฯ เอง ก็ยังคงใช้เทคโนโลยีแบบเก่าคือหลอดสุญญากาศอยู่ เพราะได้ลงทุนไปเป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่กล้องยี่ห้อญี่ปุ่นอย่าง Canon หรือ Nikon ก็ออกแบบอิงมาจากกล้อง Leica ของเยอรมนี
1
ทั้งหมดนี้ส่งผลให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นเจริญเติบโตอย่างมาก มีเครื่องใช้ไฟฟ้าผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก
สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างเช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ได้กลายมาเป็นของสามัญประจำบ้านของครอบครัวในญี่ปุ่น เพราะมีราคาถูกและมีคุณภาพดี จนทำให้ญี่ปุ่นกลายมาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลกในที่สุด
2
จึงกล่าวได้ว่าอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นเจริญเติบโตอย่างมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่เกิดจากความสามารถในการลอกเลียนแบบและพัฒนาเทคโนโลยีของญี่ปุ่นนี่แหละ
1
ภาพดังกล่าวก็ได้สะท้อนออกมาเป็นการ์ตูนมังงะต่าง ๆ ในยุคทศวรรษ 1960 ที่ได้ฉายให้เห็นถึงเทคโนโลยีแห่งอนาคตเอาไว้ อย่างเช่น โดราเอมอน ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุด เพราะหากลองสังเกตดู โนบิตะ ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่อง เด็กที่ไม่เอาไหน การเรียนก็ไม่ได้ การกีฬาก็ไม่ดี แข่งกับเพื่อนก็ไม่ได้
ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากประเทศญี่ปุ่นเลย ที่ประสบกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัด พ่ายแพ้สงครามโลก เผชิญความสูญเสียมา แต่ก็พึ่งพาโดราเอมอน หรือเทคโนโลยี ของวิเศษต่างๆ จากโลกอนาคต เพื่อสามารถเอาชนะเพื่อนๆ ได้นั่นเอง
4
นอกจากนี้ ในทศวรรษ 1960 นี้เองที่เป็นทศวรรษที่นิยามการฟื้นฟูกลับมาของญี่ปุ่นที่ชัดเจนอย่างมาก
เพราะในปี 1964 ญี่ปุ่นได้มีการจัดงานโอลิมปิกขึ้นเป็นครั้งแรก และเป็นปีเดียวกับที่รถไฟความเร็วสูงหัวจรวดของญี่ปุ่น อย่างชินคันเซ็น และรถไฟรางเดี่ยว ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ภาพที่ญี่ปุ่นได้ฉายไปให้โลกเห็น คือ ภาพของความทันสมัยที่ญี่ปุ่นได้พัฒนาตัวเองขึ้นมา ไม่ใช่ภาพของประเทศที่พ่ายแพ้สงครามอีกต่อไป
1
ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงเส้นทาง นโยบายต่างๆ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นก้าวจากประเทศที่พ่ายแพ้สงคราม มาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลกภายในเวลาไม่กี่ทศวรรษเกิดเป็นคำเรียกขนานที่ว่าเป็น “ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น”
แต่แล้ว ปาฏิหาริย์ในวันนั้นก็ได้ประสบการเจริญเติบโตเศรษฐกิจชะลอลงจนอยู่ในระดับต่ำ เป็นระยะเวลาหลายทศวรรษต่อมา เข้าสู่สิ่งที่เรียกกันว่า “ทศวรรษที่สูญหายไป” หรือ Japan’s Lost Decades
2
ส่วนอะไรคือ สาเหตุที่ทำให้ชะตาชีวิตของญี่ปุ่นพลิกผันจากการเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่สูง จนกระทั่งสหรัฐฯ กลัวว่าจะแซงสหรัฐไปในอนาคต หลักสูตร MBA ของสหรัฐหลากหลายหลักสูตรต้องไปศึกษาวิธีการผลิตแบบญี่ปุ่น เอามาเขียนเป็นตำรากลับกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวที่ต่ำหรือไม่ขยายตัวเลยจนเข้าสู่ทศวรรษที่สูญหายไปนับ 20 ปี โปรดติดตามกันสัปดาห์หน้าครับ
#all_about_history #เศรษฐกิจญี่ปุ่น #
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
1
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา