11 ก.ย. 2021 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
"ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น" จากปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ ... สู่สองทศวรรษที่สูญหาย
(From Japanese Economic Miracle to the Lost Decades)
จากปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ ... สู่สองทศวรรษที่สูญหาย
ในสัปดาห์ก่อน Bnomics ได้พาทุกคนมองย้อนประวัติศาสตร์กลับไปถึงความเป็นมาของเส้นทางที่ญี่ปุ่นได้เลือก ซึ่งได้แปลงโฉมญี่ปุ่นจากประเทศผู้พ่ายแพ้สงครามมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ถัดจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียดเพียงในระยะเวลาไม่กี่ปี
1
จนเกิดเป็นที่เรียกขานกันว่าเป็น “ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น” หรือ Japanese Economic Miracle
อย่างไรก็ตาม ปาฏิหาริย์ดังกล่าวก็สิ้นสุดลง เมื่อเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นก้าวไปสู่เส้นทางใหม่ที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะอัตราการเจริญเติบโตในระดับต่ำ หรือแทบไม่โตเลย ในอีกหลายสิบปีต่อมาจนเกิดเป็นคำเรียกขานอีกเช่นกันว่าเป็น “ทศวรรษที่สูญหายไปของญี่ปุ่น” หรือ Japan’s Lost Decades
ด้วยเหตุนี้ วันนี้ Bnomics จะพาทุกคนไปพูดคุยถึงสาเหตุ ความเป็นมาเป็นไปที่ทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ “ทศวรรษที่สูญหายไป” ครับ
📌 เมื่อการส่งออกของญี่ปุ่น สร้างปัญหาให้กับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ
จากที่ได้เล่ากันไปในสัปดาห์ก่อน ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีปัจจัยสำคัญมาจากสภาพแวดล้อม และนโยบายที่เหมาะสม ที่ทำให้ญี่ปุ่นเดินไปถูกทาง เกิดการลงทุน เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ที่ผลักดันให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นไปเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตและส่งออกสินค้าคนสำคัญของโลก อย่างเช่น รถยนต์ ไปจนถึง วิทยุทรานซิสเตอร์ และโทรทัศน์ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะที่การส่งออกของญี่ปุ่นไปได้ดี เศรษฐกิจของญี่ปุ่นไปได้ดี แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะแฮปปี้เสมอไป เพราะเบื้องหลังการส่งออกที่ไปได้ดีนั้นก็คือลูกค้าผู้นำเข้าที่ซื้อสินค้าจำนวนมหาศาลจากญี่ปุ่น ซึ่งก็หนึ่งในนั้นก็คือสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้นำเข้าสินค้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น และมีการขาดดุลทางการค้ากับญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ การขาดดุลการค้าดังกล่าวกับญี่ปุ่นก็ยิ่งได้ทวีความรุนแรงขึ้นไปอีกในช่วงยุค 1970 – 1980 ซึ่งในขณะนั้น สหรัฐฯได้ประสบกับวิกฤติราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูง และเข้าสู่ Stagflation หรือภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง แต่ราคาสินค้าแพง เงินเฟ้อสูง ส่งผลให้ Paul Volcker ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในตอนนั้น ได้เข้ามาแก้ปัญหาดึงเงินเฟ้อลงโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปสูง แต่ขณะเดียวกัน ทำให้เงินทุนไหลเข้าสหรัฐฯ และค่าเงินแข็งค่าขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้สินค้าของสหรัฐฯ ดูมีราคาแพงขึ้น ขายยากขึ้น และปัญหาขาดดุลการค้ารุนแรงมากขึ้นไปอีก
Paul Volcker ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปี 1979 - 1987
ธุรกิจต่าง ๆ สัญชาติสหรัฐฯ อย่างเช่น บริษัทรถยนต์ Ford Chrysler และ General Motors ต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างมากจากรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีราคาถูก และคุณภาพดี อย่าง Honda Toyota และ Nissan บริษัทต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ต้องเลิกจ้างพนักงานไป เกิดเป็นความรู้สึกต่อต้านชาวญี่ปุ่นอย่างมากในหมู่ชาวอเมริกัน
1
New York Times ฉบับวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1989
หากใครเคยชมหนังคลาสสิคอย่างเรื่อง Back to the Future ภาคสอง ที่ Marty
McFly พระเอกของเรื่องต้องเดินทางไปในอนาคตเพื่อไปช่วยครอบครัวของเขาเอาไว้ จะเห็นได้ว่ามีฉากหนึ่งที่แสดงให้เห็นเขาพูดคุยกับหัวหน้าชาวญี่ปุ่นผ่าน Video Conference ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาพอนาคตที่คนอเมริกันได้วาดไว้ว่า วันหนึ่งจะถูกญี่ปุ่นเข้าครอบงำ มีอิทธิพลเหนือสังคมและเศรษฐกิจของอเมริกาในที่สุด
Back to the Future (1985)
📌 ข้อตกลงพลาซา จุดเปลี่ยนสำคัญของญี่ปุ่น
ในช่วงนั้น ได้มีความพยายามหลายอย่างจะลดปัญหาการขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่น
โดยในช่วงปลายทศวรรษ 1970 มีการประกาศใช้นโยบาย Orderly Marketing
Arrangement เพื่อจำกัดการส่งออกสินค้าบางชนิดไปสหรัฐฯ แต่ก็ยังไม่เป็นผลมากสักเท่าไหร่ ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ภายใต้ยุคของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ประเด็นด้านการขาดดุลทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นได้ทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก
วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าญี่ปุ่นมีการใช้วิธีปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เพราะอุตสาหกรรมที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ ได้แก่ เหล็ก
รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่มีสินค้าเข้ามาท่วมตลาดสหรัฐฯ อยู่ และเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเรแกน หาทางในการลดการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นเกิดเป็นสงครามการค้าระหว่างทั้งสองประเทศขึ้น
1
ในปี 1982 เหล่าผู้นำประเทศ G7 ได้ประชุมกันที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการเข้าแทรกแซงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยมีวัตถุประสงค์คือการทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง เพื่อที่จะให้สินค้าสหรัฐฯ สามารถแข่งขันได้มากขึ้นในตลาดโลกและแก้ปัญหาการขาดดุลทางการค้าที่สหรัฐฯ ประสบอยู่ให้ได้
1
จนกระทั่งปี 1985 ได้ข้อสรุปในข้อหารือดังกล่าว จนถูกนำมาบรรจุและลงนามโดยประเทศเศรษฐกิจใหญ่ 5 ประเทศ ประกอบไปด้วย ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ที่โรงแรมพลาซ่า กรุงนิวยอร์คเกิดเป็นข้อตกลงพลาซา (Plaza Accord) โดยมีวัตถุประสงค์ในการเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และทำให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่สัญญาอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลทางการค้าดังกล่าว
เรียงจากซ้ายไปขวา : Gerhard Stoltenberg (เยอรมนีตะวันตก), Pierre Bérégovoy (ฝรั่งเศส), James A. Baker (สหรัฐฯ), Nigel Lawson (สหราชอาณาจักร) และ Noboru Takeshita (ญี่ปุ่น)
ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือเงินดอลลาร์ก็ได้อ่อนค่าลงอย่างมาก และเงินเยนก็ได้แข็งค่าขึ้นเยอะมาก ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปี เงินเยนได้แข็งค่าขึ้นจากระดับประมาณ 250 เยนต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็นประมาณ 120 เยนต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นการแข็งตัวขึ้นกว่า 50%
1
ทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางของญี่ปุ่นจึงได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวได้ดังเดิมในฝั่งของธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอยู่ในระดับที่ต่ำมากจากประมาณร้อยละ 7 ในช่วงที่มีการลงนามข้อตกลงพลาซา มาเป็นร้อยละ 3 ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 – 3 ปี
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้ใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาในปี
1987 แม้ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะกลับมาขยายตัวแล้วก็ตาม
เพราะการส่งออกเองก็ไม่ได้ย่ำแย่ไปอย่างที่คิด
เพราะสินค้าญี่ปุ่นมีคุณภาพ และยังไม่สามารถหาสินค้ามาทดแทนได้ง่ายๆ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เศรษฐกิจได้ขยายตัวมากจนเกินไปจน Overheat อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับการกำกับดูแลที่ค่อนข้างหละหลวม ทำให้ฟองสบู่ได้ก่อตัวขึ้นในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์
📌 วิกฤติฟองสบู่แตก … จุดเริ่มต้นของทศวรรษที่สูญหาย
จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นในปี 1989 เมื่อธนาคารกลางญี่ปุ่นเล็งเห็นว่าเศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรงเกินไป และมองเห็นถึงฟองสบู่ที่ก่อตัวขึ้นในภาคสินทรัพย์ต่างๆ
จึงได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ฟองสบู่ที่ก่อตัวแตกลง และนำพาเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยที่กินเวลานานนับทศวรรษ ทำให้ญี่ปุ่นที่แต่เดิมเคยมีการเจริญเติบโตสูงถึงราว 6 – 8% ต่อปีในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เหลือเพียงแค่ประมาณ 1% ต่อปี หรือแทบไม่โตเลยด้วยซ้ำ และเข้าสู่ยุค “ทศวรรษที่สูญหาย”
2
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารในปี 1989
ทั้งนี้ ไม่มีคำอธิบายหรือปัจจัยใดปัจจัยเดียวที่สามารถอธิบายทศวรรษที่สูญหายของญี่ปุ่นได้โดยสมบูรณ์ เพราะจริงอยู่ที่วิกฤติฟองสบู่แตกในครั้งนั้นได้เป็นจุดเริ่มต้นที่นำพาญี่ปุ่นเข้าสู่ช่วงเวลาที่ย่ำแย่ดังกล่าว แต่สาเหตุที่ญี่ปุ่นไม่สามารถออกจากทศวรรษแห่งความสูญหายและก้าวสู่ยุคใหม่ได้นั้นเกิดจากปัจจัยหลายประการ ทั้งจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดทั้งจากสภาพโครงสร้างประเทศ ประกอบกัน
ในด้านนโยบายนั้น มีตั้งแต่การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดโดยกระตุ้นเศรษฐกิจเกินความจำเป็น ในช่วงหลังจากที่มีการลงนามในข้อตกลงพลาซ่าและการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไปในช่วงที่เกิดวิกฤติไปจนถึงการขาดการกำกับดูแลที่เหมาะสมที่สำคัญที่สุด คือ การพยายามอุ้มบริษัทและธนาคารที่กำลังล้มเอาไว้เกินไปจนทำให้ธนาคารเหล่านี้กลายเป็น Zombie Banks และบริษัทเหล่านั้นกลายเป็น
Zombie Firms กล่าวคือ อยู่รอดได้ เพราะความช่วยเหลือของรัฐบาลเท่านั้น แต่กลับเป็นภาระต่อระบบเศรษฐกิจ และเป็นตุ้มถ่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ในปัจจัยด้านโครงสร้างเศรษฐกิจเองก็มีหลายประเด็นเช่นเดียวกันทั้งจากสภาพโครงสร้างประชากรของญี่ปุ่นที่เป็นสังคมสูงวัยมีคนแก่เพิ่มขึ้นทุกปี และประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานน้อยลงทุกที ในขณะเดียวกัน งบประมาณรัฐจำนวนมหาศาลก็จะต้องถูกนำไปใช้เพื่อสวัสดิการสังคมดูแลผู้สูงอายุมากขึ้นทุกปี
นอกจากนี้ ในช่วงปี 1980 – 1990 ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นประกอบค่าแรงที่สูงขึ้นก็ยังทำให้บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศ เพื่อไปแสวงหาแหล่งการผลิตที่มีต้นทุนถูกกว่า (ซึ่งก็คือประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่แหละ) ส่งผลให้ญี่ปุ่นสูญเสียภาคการผลิตในประเทศซึ่งเคยเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนที่สำคัญเช่นเดียวกัน
ความผิดพลาดด้านนโยบายและปัญหาเชิงโครงสร้างของญี่ปุ่นข้างต้นได้แปลงสภาพประเทศที่เคยมีอัตราการเจริญเติบโตสูงถึงเกือบสิบเปอร์เซ็นต์ต่อปี จนก้าวจากประเทศที่พ่ายแพ้สงครามขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกได้ภายในระยะเวลาอันสั้นกลับกลายมาเป็นประเทศที่ติดหล่ม จนแทบไม่เจริญเติบโตเลยเกิดเป็นคำขนานว่า “ทศวรรษที่สูญหายของญี่ปุ่น”
Real GDP ของญี่ปุ่นในช่วงปี 1960 - 2000
กรณีนี้ได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญเชิงการบริหารเศรษฐกิจให้หลายประเทศศึกษา
เพื่อระวังไม่ให้เดินหลงทางไปเช่นกับที่ญี่ปุ่นเคยพลาดพลั้งจนกลายเป็นโรคร้ายเกาะกินและส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับในสัปดาห์ Bnomics จะพาทุกคนมองย้อนไปในประวัติศาสตร์เพื่อศึกษาเรื่องอะไร ขอเชิญชวนทุกคนติดตามกันครับ
#All_About_History #Japan_Lost_Decade #ญี่ปุ่น #ประวัติศาสตร์โลก
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา