18 ก.ย. 2021 เวลา 13:20 • ประวัติศาสตร์
มองภาพ "ปฏิรูปประเทศจีน" ผ่านผู้นำ 5 รุ่น จากเหมา เจ๋อตุง ถึง สี จิ้นผิง
3
จากเหมา เจ๋อตุง ถึง สี จิ้นผิง: มองภาพปฏิรูปประเทศจีนผ่านผู้นำ 5 รุ่น
📌 เหมา เจ๋อตุง ผู้นำรุ่นแรกของจีน ผู้นำการปฏิวัติและเปลี่ยนผ่านจีนเข้าสู่สังคมนิยม
ภายหลังจากการนำพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการเดินทัพทางไกล (The Long March) หนีการไล่ล่าของพรรคก๊กมินตั๋ง จนสามารถนำมาสู่ชัยชนะในที่สุด เหมา เจ๋อตุง ผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 เป็นก้าวแรกที่สำคัญของการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ในการเปลี่ยนผ่านจีนเข้าสู่สังคมนิยมเต็มรูปแบบ
1
เหมา เจ๋อตุง ผู้นำรุ่นแรกของจีน
สิ่งแรกที่ประธานเหมาได้เร่งดำเนินการหลังจากที่ได้ก่อตั้งระบอบใหม่สำเร็จ ก็คือ การสานต่อการปฏิวัติ ทำลายระบอบเดิมให้สิ้น เปลี่ยนผ่านประเทศจีนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม ผ่านนโยบายด้านการเมือง เศรษฐกิจ ไปจนถึงวัฒนธรรม โดยเดินตามรอยประเทศคอมมิวนิสต์ต้นแบบอย่างสหภาพโซเวียด ทั้งการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ โดยมีการนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีมาใช้
1
หนึ่งในนโยบายสำคัญในยุคผู้นำรุ่นแรกของจีนอย่าง เหมา เจ๋อตุงก็คือ นโยบายก้าวกระโดดไปข้างหน้า (The Great Leap Forward) โดยสาระสำคัญมุ่งเน้นไปที่การปลูกพืชผลทางการเกษตรและการผลิตเหล็ก เพราะเชื่อว่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ
3
โปสเตอร์นโยบายก้าวกระโดดไปข้างหน้า (The Great Leap Forward)
นโยบายสำคัญที่ได้มีการผลักดันภายใต้นโยบายก้าวกระโดดไปข้างหน้าของเหมานั้นประกอบไปด้วย การจัดตั้งระบบคอมมูน (People’s Commune) ขึ้นมา ซึ่งก็คือ การยกเลิกระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน และยกที่ดินเหล่านี้มาให้ชุมชนต่างๆ จัดสรรทรัพยากร ร่วมกันทำงาน เกิดเป็นระบบนารวมขึ้น
ระบบนารวม
ในการนี้ เหมาก็ได้ประกาศนโยบายอีกอย่างหนึ่งประกอบซึ่งก็คือ นโยบาย 4 ศัตรูพืชแห่งชาติ (The Four Pest Campaign) ซึ่งรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันกำจัดศัตรูพืชต่างๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชผลทางการเกษตร อีกทั้ง ยังเป็นพาหะในการแพร่เชื้อโรคอีกด้วย อย่างเช่น นก หนู แมลงวัน และยุง
The Four Pest Campaign
นอกจากนี้ เหมา เจ๋อตุงได้มุ่งเน้นไปที่การผลักดันการสร้างอุตสาหกรรมเหล็กในพื้นที่ชนบท โดยการโยกย้ายแรงงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเหล็ก มีการส่งเสริมให้บ้านแต่ละหลัง ชุมชนแต่ละชุมชน มีเตาหลอมเหล็กของตัวเอง (Backyard Furnaces) โดยให้ประชาชนตีเหล็กกล้าด้วยตัวเอง โดยเอาเศษเหล็กมาเป็นวัตถุดิบ
1
Backyard Furnaces
ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ นโยบายของเหมาล้มเหลวอย่างมาก ความพยายามในการโยกย้ายแรงงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเหล็ก ส่งผลให้เกิดแรงงานขาดแคลนในภาคการเกษตร ประกอบกับนโยบาย 4 ศัตรูพืชแห่งชาติ ซึ่งทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลอย่างมาก จนทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ (The Great Chinese Famine) ที่ได้คร่าชีวิตชาวจีนไปหลายสิบล้านคน
5
ขณะเดียวกัน นโยบายที่สนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กก็ล้มเหลวเช่นเดียวกัน อย่างเช่น นโยบายเตาหลอมเหล็กหลังบ้าน (Backyard Furnaces) ที่ได้กล่าวไปข้างต้น ผลที่เกิดขึ้นคือ การหลอมเหล็กโดยไม่มีความรู้ ทำให้เหล็กที่ได้เป็นเพียงเหล็กคุณภาพต่ำ ไม่ใช่เหล็กกล้าตามที่คิด และไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้
1
นโยบายที่ผิดพลาดของเหมา เจ๋อตุงได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากโดยเหล่าผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยกันเอง ซึ่งทำให้ศรัทธาและความเชื่อมั่นในตัวประธานเหมาสั่นคลอนอย่างมาก จนเหมา เจ๋อตุง ต้องสร้างนโยบายใหม่ขึ้นมาซึ่งก็ คือ การปฏิวัติวัฒนธรรม (The Cultural Revolution) เพื่อทำลายเหล่าผู้นำและคนที่มีความคิดเป็นปรปักษ์ต่อแนวคิดคอมมิวนิสต์ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่คนที่ถูกกำจัดนั้นก็คือ คนที่เป็นปรปักษ์ และเป็นภัยต่อเหมาเองด้วย
3
📌เข้าสู่ยุคของเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นที่สองของจีน ผู้ริเริ่มการปฏิรูปที่ทำให้ “จีน” เป็น “จีน” ที่เราเห็นทุกวันนี้
3
ภายหลังจากที่เหมา เจ๋อตุง ได้ถึงอสัญกรรมในปี 1976 ฮั่ว กั๋วเฟิง ซึ่งเป็นทายาททางอำนาจของเหมาก็ได้ขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดต่อ โดยยึดนโยบายสำคัญซึ่งก็ คือ สองอะไรก็ได้ (Two Whatevers) กล่าว คือ อะไรที่ประธานเหมาเคยทำมา ก็จะทำต่อไป และอะไรที่ประธานเหมาได้สั่งให้ทำก็จะทำตามที่เหมาได้สั่งไว้ แต่แน่นอนนโยบายที่ล้มเหลวในยุคเหมาได้ทำให้เกิดแรงต่อต้านอย่างมาก
5
จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่อสำนักพิมพ์ Guangming Daily ได้ตีพิมพ์บทความชื่อว่า “Practice is the sole criterion of testing truth” หรือแปลได้ว่า “การทดลองปฏิบัติเท่านั้น คือ วิธีการเดียวในการทดสอบข้อเท็จจริง” ผลที่ตามมา คือ บทความดังกล่าวได้นำไปสู่การโต้เถียงกันในหมู่ผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์กันเองระหว่างฝั่งที่สนับสนุนการทำตามวิถีทางของเหมา กับฝั่งที่เชื่อในการปฏิรูป และทดลองในวิธีการใหม่ ซึ่งในที่นี้รวมถึง เติ้ง เสี่ยวผิง ด้วย จนสุดท้าย ผลปรากฏว่าผู้นำจำนวนไม่น้อย และผู้นำกองทัพในขณะนั้น เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูป ทำให้เติ้ง เสี่ยวผิง สามารถรวบอำนาจได้และนำไปสู่จุดเริ่มต้นของเติ้ง เสี่ยวผิงในฐานะผู้นำรุ่นที่สองของจีนในที่สุด
3
Guangming Daily ได้ตีพิมพ์บทความชื่อว่า “Practice is the sole criterion of testing truth” หรือแปลได้ว่า “การทดลองปฏิบัติเท่านั้น คือ วิธีการเดียวในการทดสอบข้อเท็จจริง”
ทั้งนี้ นโยบายที่สำคัญและโดดเด่นที่สุดของเติ้ง เสี่ยวผิง คือ นโยบายการปฏิรูปและเปิดประเทศ (Reform and Opening up) โดยสิ่งที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ได้เร่งดำเนินการก็คือ การนำแนวคิดระบบตลาดแบบทุนนิยมมาใช้นี่แหละ หลักการปฏิบัตินิยม ซึ่งก็คือ ว่าจะหาความจริงหรือข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ก็ต้องผ่านการทดลองปฏิบัติเท่านั้น จนนำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า สังคมนิยมแบบจีน (Socialism with Chinese Characteristics) นั่นเอง
3
เติ้ง เสี่ยวผิง กับ นโยบายการปฏิรูปและเปิดประเทศ (Reform and Opening up)
สิ่งที่เติ้ง เสี่ยวผิง ดำเนินการปฏิรูปเป็นอันดับแรกก็คือ ภาคการเกษตรที่แต่เดิมเป็นระบบนารวมก็ได้เปลี่ยนเป็นระบบความรับผิดชอบของครัวเรือน (Household Responsibility System) มีการมอบสิทธิในการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรให้กับแต่ละครัวเรือน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องจ่ายค่าเช่าโดยการขายผลผลิตให้กับภาครัฐในราคาที่กำหนด แต่หากมีผลผลิตเหลือก็สามารถนำไปขายที่ราคาตลาดได้ ส่งผลให้ครัวเรือนต่างมีแรงจูงใจในการทำงาน เพิ่มผลิตภาพขึ้นอย่างมาก ซึ่งการเริ่มนำระบบราคาตลาดใช้ก็เป็นการปูทางให้ประเทศจีนค่อยๆ คุ้นชินกับระบบทุนนิยมอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั่นเอง
3
ขณะเดียวกัน เติ้ง เสี่ยวผิง ก็ได้ทยอยปลดล็อกให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจของตัวเองได้ มีการเริ่มอนุญาตให้มีการเปิดกิจการธนาคารพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมการลงทุน และแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยยึดหลักที่สำคัญ คือ จะต้องเป็นไปอย่างไม่เร่งรีบ ก้าวช้าๆ แต่มั่นคง เปรียบเสมือนดั่งสุภาษิตจีนโบราณที่ว่า “จงข้ามแม่น้ำโดยค่อยๆ เหยียบหินทีละก้อน” เพราะสิ่งที่จีนกำลังทำคือ การก้าวจากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำที่เป็นโลกสังคมนิยมที่เหมาได้สร้างขึ้น ไปสู่อีกฝั่งที่เป็นโลกตลาดแบบทุนนิยมที่ชาวจีนไม่เคยคาดถึง
5
เช่นเดียวกันกับนโยบายเปิดประเทศของจีนที่ยึดหลักดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยการทยอยเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไปผ่านการสร้างเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษขึ้นมา อย่างเช่น เสิ่นเจิ้น จูไห่ และเซี่ยเหมิน โดยอนุญาตให้มีกิจกรรมทุนนิยมได้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากการแทรกแซงและควบคุมที่รัดกุมของภาครัฐ ตามโมเดลของประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ หรือแม้แต่ลูกรักของจีนอย่างเกาะฮ่องกง
7
เซินเจิ้น เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของจีน
เม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้ไหลสะพรั่งเข้ามาในจีนได้ช่วยปลดล็อกศักยภาพเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะแรงงานที่มีจำนวนมหาศาล เกิดเป็นพื้นที่ศูนย์กลางด้านการผลิต และทำให้เศรษฐกิจจีนกลับมาเจริญรุ่งเรืองอย่างมากภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี
1
📌 จากเติ้ง เสี่ยวผิง สู่เจียง เจ๋อหมิน ผู้นำรุ่นที่สามของจีน ผู้สานต่อการปฏิรูปประเทศ
1
จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งเกิดขึ้นภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ตั้งแต่การจำกัดสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนถึง ปัญหาเงินเฟ้อ การว่างงาน และความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่มีการปฏิรูปและเปิดประเทศมา โดยการสลายการชุมนุมดังกล่าวได้นำพาจีนเข้าสู่การนำภายใต้ผู้นำรุ่นที่สามของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็คือ เจียง เจ๋อหมิน ซึ่งก็เป็นคนที่เติ้ง เสี่ยวผิง ได้วางตัวไว้แล้วนั่นเอง
5
เจียง เจ๋อหมิน ผู้นำรุ่นที่สามของจีน
นโยบายสำคัญที่เจี๋ยง เจ๋อหมินได้ประกาศออกมาเพื่อย้ำจุดยืนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในการเป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริงก็คือ นโยบายสามตัวแทน หรือ The Three Represents ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะต้อง
1
1) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพลังการผลิตที่ก้าวหน้าของจีน (Represent the development trend of China’s advanced productive forces)
2) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนวัฒนธรรมที่ก้าวหน้าของจีน (Represent the orientation of China’s advance culture)
3) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการรักษาผลประโยชน์ของประชากรชาวจีน (Represent the fundamental interest of the overwhelming majority of the Chinese people)
นอกจากนี้ ในยุคเจียง เจ๋อหมินก็ได้สานต่อนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ดำเนินมาตั้งแต่รุ่นก่อนมากมาย ทั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การปฏิรูปภาคธนาคาร และแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถประกอบธุรกิจได้สะดวกยิ่งขึ้น ไปจนถึงการนำประเทศจีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกอย่างเป็นทางการ ซึ่งส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศของจีนเจริญเติบโตอย่างมาก และเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ไปจนถึงเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่นั้นมา รวมถึงการนำนักธุรกิจเอกชนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในพรรคคอมมิวนิสต์อีกด้วย เพื่อที่จะเผยแพร่ให้นักธุรกิจเหล่านั้นมีสำนึกร่วมกันในอุดมการณ์ดั้งเดิมของจีน และไม่โดนทุนนิยมกลืนไปจนสิ้นได้
3
📌 หู จิ่นเทา ผู้นำรุ่นที่สี่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้นำด้านการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
1
เมื่อหู จิ่นเทาได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นที่สี่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2002 หู จิ่นเทาก็ยังคงเน้นย้ำความสำคัญของทฤษฎีสามตัวแทนที่เจียง เจ๋อหมิน ได้เสนอมาก่อนหน้านี้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็นำเสนอแนวคิดการพัฒนาแบบใหม่ควบคู่ไปด้วย ภายใต้หลักการที่ว่า Scientific Outlook on Development โดยตั้งผลประโยชน์ของประชาชนชาวจีนเป็นจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทางของการพัฒนา และอาศัยวิทยาศาสตร์เป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนายั่งยืนสำหรับชาวจีนทุกคน เพื่อแก้ปัญหาจากทุนนิยมที่ได้เกิดขึ้นมาในช่วงที่ผ่านมา เช่น ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น การตัดไม้ทำลายป่า การใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืน
1
หลักการที่เขาได้เสนอมีเนื้อหาสาระที่สำคัญ คือ การเน้นย้ำการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิต และวัฒนธรรมของประชาชน ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่ทำให้ประชาชนชาวจีนสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่
1
นอกจากนี้ หู จิ่นเทา ยังตั้งเป้าหมายใหม่ในการก้าวไปสู่ “สังคมสมานฉันท์” หรือ “Harmonious Society” โดยมุ่งเน้นไปที่การลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม ที่เกิดขึ้นมาอย่างมากจากระบอบทุนนิยม รวมไปถึงการทลายกำจัดปัญหาคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นมาด้วย และสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และกลมเกลียวกันอย่างแท้จริง
1
📌 เข้าสู่ยุคของสี จิ้นผิง ผู้นำรุ่นที่ห้าของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้ประกาศความฝันของจีน
ภายหลังจากที่สี จิ้นผิงได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดคนใหม่ เข้าสู่ยุคของผู้นำรุ่นที่ห้าของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สี จิ้นผิงก็ได้ประกาศแนวคิดหลักสำคัญที่เป็นรากฐานการบริหารงานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่นั้นมา ซึ่งก็คือ การประกาศความฝันของจีน (The Chinese Dream) โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อฟื้นฟูให้ประเทศจีนกลับมาเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง เป็นดั่งมหาอำนาจเหมือนเช่นในอดีตที่เคยเป็นมาตลอดประวัติศาสตร์หลายพันปี
5
สี จิ้นผิง ผู้นำรุ่นที่ห้าของจีนในปัจจุบัน
สี จิ้นผิง ได้ตั้งเป้าหมายว่า จีนจะต้องเป็นประเทศที่อยู่ดีกินดี (Moderately well-off) ภายในปี 2021 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบหนึ่งร้อยปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และจะต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2049 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบหนึ่งร้อยปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป้าหมายแรกก็ได้สำเร็จไปแล้วในวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา
3
นอกจากนี้ ในวันดังกล่าว สี จิ้นผิง ยังได้ประกาศอีกว่าจะไม่ยอมให้กองกำลังของชาวต่างชาติมารุกรานจีนอีกเป็นอันขาด มิเช่นนั้นจะหลั่งเลือดที่กำแพงเหล็กของชาวจีนกว่าพันล้านคน
3
ทั้งนี้ การปฏิรูปที่เกิดขึ้นในยุคของสี จิ้นผิง ก็นับได้ว่ามีความน่าสนใจอย่างมาก โดยจีนได้ก้าวจากประเทศที่เคยเก็บตัวเงียบในด้านนโยบายต่างประเทศ มาเป็นประเทศที่ผลักดันและให้การสนับสนุนความช่วยเหลือด้านการต่างประเทศอย่างมาก เพื่อเพิ่มบทบาทตัวเองสู่การก้าวเป็นผู้นำโลก โดยได้มีการประกาศโครงการสำคัญที่ชื่อว่าโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt Road Initiatives) โดยมีจุดประสงค์สำคัญคือ ให้การสนับสนุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกเพื่อสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยง โดยยึดตามเส้นทางการค้าของจีนแต่โบราณ ซึ่งก็คือ เส้นทางสายไหมนั่นเอง
3
แผนที่โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt Road Initiatives)
ขณะเดียวกัน ก็ได้ชะลอการปฏิรูปเศรษฐกิจเข้าสู่ทุนนิยมลง และเพิ่มกฎเกณฑ์ การกำกับดูแลต่างๆ ให้เข้มงวดรัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจมีความยั่งยืน และป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจจีนประสบกับวิกฤติหรือปัญหาเช่นเดียวกับประเทศทุนนิยมหลายประเทศ ดังที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมา
3
นอกจากนี้ ยังได้เข้าไปกำกับดูแลอย่างเข้มงวดกับธุรกิจจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ไปจนถึงธุรกิจกวดวิชา ซึ่งก็ได้ทำให้เผชิญกับข้อครหาอย่างยิ่งจากบรรดา Thinktank ในฝั่งฟากตะวันตกว่า การหันกลับไปสู่การกำกับดูแลที่เข้มงวด นโยบายเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีน
3
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด กรณีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Evergrande ที่มีความเสี่ยงอย่างมากว่าจะล้มลง จากการกำกับดูแลที่หละหลวมในช่วงที่ผ่านมา จนได้รับคำกล่าวขานจากหลายสำนักว่าอาจจะลุกลามเกิดเป็นวิกฤติ Subprime ของเอเชีย ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสิ่งที่จีนกำลังเร่งดำเนินการทำ ทั้งการปฏิรูปด้านกฎเกณฑ์ต่างๆ คือ ทางเลือกที่ใช่ เพื่อให้จีนมีการพัฒนาที่ยั่งยืนในรูปแบบของจีนเอง และสามารถก้าวไปสู่สิ่งที่จีนใฝ่ฝันได้อย่างแท้จริง โดยที่ไม่พลาดพลั้ง ประสบกับวิกฤติ ดังเช่นที่ประเทศตะวันตกหลายประเทศได้เคยเผชิญมา
3
บริษัทอสังหาริมทรัพย์ Evergrande
#จีน #สีจิ้นผิง #เศรษฐกิจจีน #ประวัติศาสตร์จีน
#Bnomics #Economics #All_About_History #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา