25 ก.ย. 2021 เวลา 14:12 • ประวัติศาสตร์
มองย้อนประวัติศาสตร์เวียดนาม : จากประเทศแห่งสงคราม สู่อีกหนึ่งปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของเอเชีย
5
(From a nation full of wars to another Asia’s miracle of growth)
33
มองย้อนประวัติศาสตร์เวียดนาม : จากประเทศแห่งสงคราม สู่อีกหนึ่งปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของเอเชีย
📌 เวียดนาม : จากอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ สู่อาณานิคมของชาติตะวันตก
ความจริงแล้ว ประเทศเวียดนามมีประวัติศาสตร์มายาวนานหลายพันปี ไม่แพ้ประเทศจีนเลย แต่จุดตั้งต้นจริงๆ ของเวียดนามสามารถย้อนกลับไปถึงราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 – 10 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เวียดนามสามารถประกาศตนเป็นเอกราชจากการปกครองของจีน และนำไปสู่การก่อตั้งอาณาจักรดั่ยเหวียต (Dai Viet)
อาณาจักรดั่ยเหวียต (Dai Viet)
หากมองย้อนประวัติศาสตร์กลับไปจะพบว่าช่วงเวลาส่วนใหญ่ของอาณาจักรดั่ยเหวียต นั้นเต็มไปด้วยการทำสงคราม ทั้งกับอาณาจักรขอม และจีน ส่งผลให้เรื่องราวของบ้านเมืองในยุคนั้นล้วนเต็มไปด้วยสงครามทั้งสิ้น ในขณะที่กิจกรรมอื่นๆ อย่างเช่น ด้านการค้า ด้านเศรษฐกิจนั้น มีอยู่เพียงน้อยนิด ทั้งที่อาณาจักรเวียดนามเองมีชัยภูมิที่ดีอยู่ติดทะเล อยู่บนเส้นทางสายไหมโบราณ น่าจะมีการค้ากับทั้งอาณาจักร ในภูมิภาค และอาณาจักรจากตะวันตกมากมาย แต่ก็เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลา ส่งผลให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการค้าขาย การลงทุน พ่อค้าต่างชาติที่คิดจะมาตั้งรกราก ต่างก็หนีไปที่อื่นกันหมด
3
นอกจากนี้ สงคราม และความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ก็หมายความว่าทรัพยากรต่างๆ ที่สมควรจะถูกจัดสรรให้ใช้เพื่อพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ นั้นจะต้องถูกนำไปจัดสรรสำหรับการทำสงครามทั้งหมด
2
ด้วยเหตุนี้ แม้ช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 19 จักรพรรดิซา ล็อง แห่งราชวงศ์เหงียน จะได้ผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจ เริ่มมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งระบบภาษีอากรขึ้น การเพิ่มบทบาทของรัฐในการช่วยบรรเทาปัญหาทางการเงินให้กับประชาชนเมื่อเกิดวิกฤตภัยพิบัติขึ้น แต่ก็ไม่ทันไร หลังจากนั้นเพียงไม่นาน อาณาจักรเวียดนามก็เผชิญกับภัยรุกรานจากการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส จนท้ายที่สุดแล้ว ตกไปเป็นเมืองขึ้นของประเทศฝรั่งเศสในช่วงปลายศตวรรษที่ 19
4
จักรพรรดิซา ล็อง แห่งราชวงศ์เหงียน
แน่นอนว่าการตกไปเป็นอาณานิคม อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีแน่นอน เพราะแนวคิดที่ครอบงำระบอบการปกครอง และนโยบายทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกในขณะนั้น ก็คือแนวคิดที่ชื่อว่า Mercantilism ซึ่งเชื่อในเรื่องที่ว่าประเทศไหนที่ส่งออก ขายสินค้าได้มาก สะสมทองคำได้มาก ก็หมายความว่าประเทศนั้นมีความมั่งคั่งมาก
2
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในช่วงเวลาที่เวียดนามถูกปกครองเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส นโยบายการปฏิรูปและพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ ที่เคยดำเนินมาในสมัยจักรพรรดิซา ล็อง ได้หยุดชะงักลง เพราะรัฐบาลเจ้าอาณานิคมได้เปลี่ยนนโยบายการปกครองเศรษฐกิจเป็นแบบกดขี่ขูดรีด (Exploitative economic policies) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์สูงสุดซึ่งก็คือเพื่อนำความมั่งคั่งมาให้กับจักรวรรดิฝรั่งเศสนั่นเอง
แผนที่อินโดจีน ปี 1887
ในช่วงเวลาดังกล่าว ทรัพยากรทางเศรษฐกิจต่างๆ ของเวียดนามนั้นถูกจัดสรรโยกย้ายมาเพื่อผลิตสินค้าขั้นวัตถุดิบให้กับฝรั่งเศสเป็นหลัก และต้องจำใจขายให้กับเหล่าพ่อค้าชาวฝรั่งเศสในราคาต่ำ อีกทั้ง เมื่อเหล่าพ่อค้าชาวฝรั่งเศสผลิตสินค้า แปรรูปไปเป็นสินค้ามูลค่าสูงแล้ว ก็นำมาขายในราคาสูงลิบลิ่วให้กับชาวเวียดนามเองอีก เพื่อให้สะสมทองคำไว้ให้ได้มากที่สุด หากเปรียบเป็นสำนวนไทย เขาก็คงว่าเป็น อัฐยายซื้อขนมยาย
2
การปกครองของฝรั่งเศสเหนือเวียดนามได้ดำเนินไปถึงราวสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแม้ว่าฝรั่งเศสจะถูกกองทัพนาซีเยอรมันรุกรานจนพ่ายแพ้ นำไปสู่การก่อตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดของฝ่ายอักษะที่ชื่อว่า Vichy France ซึ่งก็ยังคงมีการควบคุมเหนืออาณานิคมในอินโดจีนอยู่
3
ทั้งหมดนี้สิ้นสุดลง เมื่อญี่ปุ่นได้ถอดรัฐบาลหุ่นเชิดออกในช่วงเดือนมีนาคม 1945 และก่อตั้งจักรวรรดิเวียดนาม (Empire of Vietnam) ขึ้นมา ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ญี่ปุ่นก็ได้ประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขในเดือนสิงหาคม 1945 และการปฏิวัติของกลุ่ม Viet Minh นำโดยโฮจิมินห์ก็สามารถประกาศชัยชนะและเอกราชให้กับเวียดนามได้ในที่สุด จนนำไปสู่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ซึ่งการประกาศเอกราชดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่การประกาศชัยชนะเหนือญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เป็นการประกาศชัยชนะเหนือการปกครองของฝรั่งเศสที่กินเวลามาราวครึ่งศตวรรษอีกด้วย
2
📌 การประกาศเอกราชเป็นเรื่องยาก และการรักษาเอกราชเอาไว้เป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า แต่เวียดนามก็ทำสำเร็จ
ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เวียดนามที่ได้เพิ่งได้ประกาศเอกราชมา ก็เผชิญกับภัยรุกรานอีกครั้ง เมื่อเจ้าอาณานิคมเก่าอย่างฝรั่งเศสต้องการทวงอาณานิคม อยากได้เวียดนามมาเป็นอาณานิคมของตัวเองเช่นเดิม จึงได้นำไปสู่การต่อสู้ปะทะกันระหว่างกลุ่ม Viet Minh ของโฮจิมินห์และกองทัพฝรั่งเศส โดยการต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายกินเวลาเกือบสิบปี ตั้งแต่ปี 1946 ถึง 1954
ผลสุดท้ายของสงครามดังกล่าวคือกลุ่ม Viet Minh ของโฮจิมินห์ก็สามารถคว้าชัยชนะไปได้ โดยเป็นผลมาจากลักษณะยุทธศาสตร์การสู้รบที่แตกต่างกันนั้นเป็ของฝรั่งเศสนั้นเป็นการสู้รบแบบดั้งเดิมตามตำรา ในขณะที่การต่อสู้ของกลุ่ม Viet Minh นั้นเป็นการต่อสู้แบบกองโจร และมีความเข้าใจในพื้นที่ภูมิศาสตร์มากกว่า
3
เส้นขนานที่ 17 แบ่งเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้
ผลที่ตามมาคือการประชุม ณ กรุงเจนีวา ในปี 1954 เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับสงครามที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรเกาหลีและในเวียดนาม โดยที่ประชุมมีมติว่าให้กำหนดเส้นแบ่งเวียดนามขึ้นที่เส้นขนานที่ 17 โดยเวียดนามเหนืออยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่ม Viet Minh ของโฮจิมินห์ซึ่งมีแนวคิดฝักไฝ่สังคมนิคม ในขณะที่เวียดนามใต้ อยู่ภายใต้การสนับสนุนของเหล่าชาติตะวันตกอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา และกำหนดว่าให้มีการเลือกตั้งในอีก 2 ปีต่อไป ซึ่งก็คือปี 1956 เพื่อรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง
2
การประชุม ณ กรุงเจนีวา ในปี 1954
แต่ผลคือการรวมประเทศดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้น เพราะความเป็นจริงคือเสียงส่วนใหญ่ในเวียดนามนั้นสนับสนุนโฮจิมินห์มากกว่า เพราะโฮจิมินห์เป็นนักสู้รักชาติที่สามารถกู้เอกราชให้กับชาวเวียดนามได้
นอกจากนี้ แผนการปฏิรูปต่างๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์ในเวียดนามเหนือ โดยเฉพาะ การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ที่มีการนำที่ดินที่อยู่ในการครอบครองของนายทุนเจ้าของที่ดินมาให้จัดสรรให้กับคน ทำให้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวนา คนยากจน ในพื้นที่ห่างไกล ยิ่งนิยมชมชอบพรรคคอมมิวนิสต์
ผลก็คือการเลือกตั้งที่ควรจะเกิดขึ้นในปี 1956 ไม่เกิดขึ้น ด้วยความกลัวว่าฝ่ายสังคมนิยมของเวียดนามจะคว้าชัยชนะไปได้ และเมื่อเวียดนามทั้งประเทศเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ ประเทศอื่นๆ รอบข้างในภูมิภาคก็จะเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย ตามทฤษฎีโดมิโนของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลนำไปสู่สงครามอีกครั้งหนึ่งระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ ระหว่างคอมมิวนิสต์และทุนนิยม และเป็นสงครามตัวแทนระหว่างสองมหาอำนาจในตอนนั้นซึ่งก็คือสหภาพโซเวียดและสหรัฐอเมริกา นั่นเอง
2
สงครามเวียดนาม
สงครามเวียดนามสิ้นสุดลงในปี 1975 เมื่อสหรัฐอเมริกาได้ถอนกำลังทหาร ภายหลังจากที่ล้มเหลวด้านการรบ ไม่สามารถเอาชนะกลยุทธ์กองโจรของกลุ่ม Viet Minh ได้ ทหารก็หมดขวัญกำลังใจ รวมทั้งมีแรงกดดันทางการเมืองจากในประเทศเอง การถอนกำลังทางทหารดังกล่าว ได้นำไปสู่เหตุการณ์กรุงไซ่ง่อนแตก (The Fall of Saigon) ทำให้เกิดการรวมประเทศระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ และทำให้เวียดนามทั้งหมดอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเดียวซึ่งก็คือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามนั่นเอง
3
📌 แม้จะรวมประเทศได้สำเร็จ แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถรุ่งเรืองได้อย่างที่คิด
ภายหลังจากที่สามารถรวมประเทศได้สำเร็จ วาระแรกที่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้เร่งดำเนินการคือการเปลี่ยนผ่านประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะเวียดนามทางใต้ (ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมของสหรัฐฯ มานาน) เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมให้ได้ โดยพรรคคอมมิวนิสต์ได้ประกาศแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 2 (ฉบับที่ 1 ได้ประกาศใช้ไปในปี 1961 สำหรับใช้กับเวียดนามเหนือเท่านั้น เนื่องจากยังไม่รวมประเทศกัน)
แผนพัฒนา 5 ปีฉบับดังกล่าว มีสาระสำคัญก็เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่สังคมนิยมเต็มรูปแบบให้สำเร็จ มีการตั้งเป้าหมายในการสนับสนุนอุตสาหกรรมทั้งการเกษตร และอุตสาหกรรมการผลิต อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว เวียดนามก็ยังคงต้องพึ่งพาการช่วยเหลือทางการเงินจำนวนมากจากประเทศยักษ์ใหญ่ของค่ายคอมมิวนิสต์อื่นๆ อย่างเช่น สหภาพโซเวียด และจีน เป็นต้น
ผลที่ตามมาคือแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 2 ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เวียดนามประสบปัญหาอัตราการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ ผลิตภาพแรงงานต่ำ มีอัตราการจ้างงานสูง และเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร ความล้มเหลวของนโยบายดังกล่าวทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้หันมานั่งถกกัน และตั้งคำถามถึงแนวทางแก้ไข และมองหาถึงความเป็นไปได้ของการแสวงหาวิธีการที่จะทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจรุ่งเรืองได้ แม้จะต้องสละอุดมการณ์บางอย่างของแนวคิดคอมมิวนิสต์ก็ตามที
ด้วยเหตุนี้ ในแผนพัฒนาฉบับที่ 3 (1981 – 1985) จึงเริ่มมีการผ่อนหนักผ่อนเบาให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทุนนิยมในเวียดนามใต้ก็ยังพอดำเนินต่อไป เพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลเวียดนามเอง ก็เริ่มทดลองนำระบบทุนนิยมและตลาดเสรีมาใช้ในส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น ในกรณีของสหกรณ์เกษตร โดยกำหนดให้แต่ละครัวเรือนที่มีผลผลิตให้กับสหกรณ์เกินโควต้าที่กำหนดไว้ ก็สามารถเก็บผลผลิตดังกล่าวไว้บริโภคเองได้ หรือสามารถนำส่วนเกินเหล่านี้ไปขายในตลาดได้
4
การเปลี่ยนทิศทางของนโยบายที่สำคัญเช่นนี้ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากไม่ใช่เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประเทศผู้นำค่ายคอมมิวนิสต์ยักษ์ใหญ่อย่างจีน ที่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายแบบเดิมของเหมา เจ๋อตุง และเข้าสู่ยุคใหม่แห่งการปฏิรูปและเปิดประเทศของเติ้ง เสี่ยวผิง สู่ตลาดเสรี และทุนนิยม ภายใต้กรอบแนวคิดปฏิบัตินิยมที่ว่า “แมวไม่ว่าจะสีอะไร ขอให้จับหนูได้ก็เพียงพอ”
4
📌 เปิดรับทุนนิยมเข้ามา ช่วยปลดล็อคศักยภาพให้เศรษฐกิจอย่างแท้จริง
ในช่วงเวลาไม่กี่ปีหลังจากนั้น ในปี 1986 พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามก็ได้ประชุมกันถึงแนวทางการวางนโยบายเศรษฐกิจต่อจากนี้ ผลที่ตามก็คือรัฐบาลเวียดนามก็ได้ประกาศแนวทางในแผนปฏิรูปที่ชื่อว่า Doi Moi หรือที่แปลว่า การฟื้นฟู ซึ่งเป็นแผนปฏิรูปเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบทุนนิยมและตลาดเสรีอย่างสมบูรณ์
3
การประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เกี่ยวกับแผนปฏิรูปโด๋ยเม้ย (Đổi Mới)
ในแผนดังกล่าว หนึ่งในสิ่งแรกที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการคือการปฏิรูปด้านการเกษตร โดยทางรัฐบาลได้มีการยกเลิกการควบคุมราคาสินค้าเกษตรออก และอนุญาตให้ครัวเรือนสามารถขายผลผลิตของตัวเอง ณ ราคาตลาด ได้อย่างแท้จริง และยังรวมไปถึงการมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินของสหกรณ์การเกษตรให้กับครัวเรือนต่างๆ โดยให้สิทธิ์เช่ายาวนานถึงราว 15 ปี โดยกำหนดให้จ่ายค่าเช่าในรูปของผลผลิตให้กับภาครัฐ และส่วนเกินก็สามารถนำไปขายได้ตามความต้องการ ทำให้ชาวนามีแรงจูงใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก
2
ในขณะเดียวกัน ยังมีการปลดล็อกกฎเกณฑ์ด้านการส่งออกเป็นจำนวนมาก จนทำให้เวียดนามก้าวไปเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับสามของโลกภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปีต่อมา
2
นอกจากนี้ เวียดนามยังได้ใช้นโยบายเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค โดยลดปริมาณงบขาดดุลไปมากจากที่อยู่ที่ 8.4% ต่อ GDP ในปี 1989 ไปเป็น 1.7% ในปี 1992 ซึ่งการตัดค่าใช้จ่ายดังกล่าวก็มาจากการปิดกิจการและแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ จำนวนมาก ที่ขาดทุนมาเป็นยาวนาน
1
ในช่วงระหว่างปี 1989 ถึง 1992 จำนวนรัฐวิสาหกิจลดลงจาก 12,000 บริษัท เหลือเพียงแค่ราว 6,000 บริษัทเท่านั้น และเลิกจ้างพนักงานไปได้กว่า 800,000 คน ซึ่งก็ไม่ได้นำไปสู่ปัญหาการว่างงานพุ่งสูงแต่อย่างใด เพราะแรงงานที่ถูกเลิกจ้างไปจำนวนไม่น้อยก็เข้าไปหางานใหม่ที่เปิดขึ้นมาจำนวนมากในภาคเอกชน จากการเปิดเสรีการค้าการลงทุน และการปลดล็อคกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เอกชนสามารถทำธุรกิจได้
1
ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามยังได้ปฏิรูปทางด้านการแพทย์ ด้านการศึกษา โดยอนุญาตให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ สามารถเปิดคลินิกเอกชน และร้านขายยาของตัวเองได้ และในด้านการศึกษา อนุญาตให้โรงเรียนเอกชนถูกกฎหมาย ไปจนถึงการปฏิรูปให้คนกลุ่มน้อยสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ซึ่งการปฏิรูปเหล่านี้ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวเวียดนามปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก และเป็นส่วนสำคัญในการวางรากฐานประชากรชาวเวียดนามที่มีคุณภาพในช่วงต่อมา
ผลของการปฏิรูปดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเจริญเติบโตไปได้ดีอย่างมาก เนื่องจากมีระบบตลาดช่วยหล่อเลี้ยงให้เศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้ดี มีเม็ดเงินไหลเข้ามาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังที่เวียดนามได้เริ่มมีการลงนามในข้อตกลงการค้ากับประเทศต่างๆ อย่างเช่น การลงนามข้อตกลงการค้ากับ European Economic Community ในปี 1992 การเข้าร่วม Asean Free Trade ในปี 1995 การลงนามข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯในปี 2001 และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปีต่อมา (ล่าสุด เวียดนามได้เข้าเป็นสมาชิกของ CPTPP และได้มีข้อตกลงการค้าเสรีกับ EU และ UK)
4
ผลที่เกิดขึ้นก็คือการลงนามในข้อตกลงเหล่านี้ได้ทำให้เวียดนามยิ่งปลดล็อคศักยภาพของเศรษฐกิจตัวเองมากขึ้นไปอีก จากจำนวนประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานจำนวนมาก มีความรู้ ได้รับการศึกษามาพอควร ประกอบกับค่าแรงที่ค่อนข้างถูก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้เวียดนามได้ก้าวมาเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก ตีคู่ขนานกับจีนขึ้นมา และทำให้การส่งออกเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเวียดนามในช่วงที่ผ่านมา
2
ทั้งนี้ ภาพดังกล่าวก็ยิ่งชัดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ประกอบกับค่าแรงที่สูงขึ้นในจีน ส่งผลให้โรงงานต่างๆ ที่เคยตั้งฐานการผลิตในจีน เริ่มย้ายออก และมองหาประเทศใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ในนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ก็ย้ายมาเวียดนามทั้งสิ้น จนหลายคนได้ขนานนามเวียดนามทั้งในฐานะศูนย์กลางการผลิตแห่งใหม่ของโลก และอีกหนึ่งปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของเอเชีย ที่ได้ก้าวจากประเทศที่เต็มไปด้วยสงคราม มาเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงเช่นนี้ได้
1
อย่างไรก็ตาม ภาพของการเจริญเติบโตเศรษฐกิจของเวียดนามที่เราเห็นกันก็มีส่วนสำคัญที่เป็นผลมาจากฐานที่ค่อนข้างต่ำ จากสงครามกลางเมือง และนโยบายที่ผิดพลาด ที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ จนส่งผลให้เศรษฐกิจเปรียบเสมือนดั่งคนป่วยมานานหลายปี
3
อีกประการหนึ่งก็คือว่าภาพที่เราเห็นของเวียดนามในวันนี้ก็เป็นผลมาจากแรงงานจำนวนมาก และค่าแรงที่ค่อนข้างถูก ที่เป็นลักษณะที่เหมาะสมสำหรับงานใช้แรงงาน (Labor-intensive tasks) ซึ่งก็เป็นภาพเดียวกับที่เราเคยเห็นประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน
2
ด้วยเหตุนี้ เมื่อใดที่ค่าแรงในเวียดนามปรับตัวสูงขึ้น ก็จะส่งผลให้เวียดนามเองเริ่มสูญเสียความได้เปรียบที่ทำให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกได้
3
หากวันนั้นมาถึง แล้วประเทศไทยยังคงเดินอย่างช้าๆ ไม่ยอมปรับตัวให้เร็ว และเวียดนามสามารถปรับตัวเองได้ทัน คำกล่าวที่ว่า เวียดนามจะแซงประเทศไทยคงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป
3
ถ้าเราไม่เปลี่ยนเราก็จะเลือนหายไป ถ้าเราเปลี่ยนช้าเราก็จะเลือนหายไปเช่นกัน
3
#เวียดนาม #เศรษฐกิจเวียดนาม #สงครามเวียดนาม
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
1
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา