2 ต.ค. 2021 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
บทเรียน "หนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกา" จาก "New Deal" ของ Roosevelt สู่ "ปัญหาหนี้สาธารณะ" ในปัจจุบัน
📌 มองย้อนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสหรัฐฯ
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ​ เพิ่งผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการระงับการบังคับใช้เพดานหนี้สาธารณะชั่วคราว (Debt Ceiling) ไปด้วยคะแนนเสียง 219 – 212 แต่ทว่า หลายคนก็ยังคงกังวลใจอยู่ เพราะว่าร่างกฎหมายดังกล่าวยังคงต้องผ่านการพิจารณาโดยวุฒิสภาของสหรัฐฯ ซึ่งมีเงื่อนไขการผ่านร่างกฎหมายที่เข้มงวดยิ่งกว่า กล่าวคือ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การลงคะแนนเสียงผ่านเกินกึ่งหนึ่งเหมือนดังในสภาล่าง แต่กลับเป็น 60 คะแนนเสียงขึ้นไป จากคะแนนเสียงทั้งหมด 100 คะแนนเสียง
จาก ‘New Deal’ ของ Roosevelt สู่ ‘ปัญหาหนี้สาธารณะ’
ซึ่งในปัจจุบัน พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันต่างครองเสียงในวุฒิสภาเท่ากันที่พรรคละ 50 ที่นั่ง และทางพรรครีพับบลิกันก็ได้ตั้งจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่ยอมขานลงคะแนนเสียงให้มีการระงับหรือปรับขึ้นเพดานหนี้อย่างเด็ดขาด
นำมาซึ่งความกังวลของใครหลายคนที่ว่าก็คือระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ​ จะไต่ระดับขึ้นไปชนเพดานหนี้ (Debt Ceiling) ที่ว่าภายในวันที่ 18 ตุลาคมที่จะถึงนี้ และหากวุฒิสภาสหรัฐฯ ไม่สามารถพิจารณาผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวได้ทันเวลา ก็หมายถึงว่า จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สหรัฐฯ​ จะผิดชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ วันนี้ Bnomics จะชวนทุกคนมองย้อนประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่ปัญหาที่เราเห็นในวันนี้ครับ
1
📌 The Great Depression ยุคแห่งความสิ้นหวังของชาวอเมริกัน
ในปี 1929 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ (The Great Depression)​ ขึ้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ได้ปรับตัวขึ้นมาตลอดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กลับร่วงลงอย่างกะทันหัน ธนาคารจำนวนมากต้องปิดตัวลง คนจำนวนมากที่ได้ลงทุนไปต่างก็สูญเสียเงิน ต้องสูญเสียความมั่งคั่งไป หลายคนถึงกลับล้มละลาย คนที่ยังพอไปต่อได้ ก็ต้องตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปเป็นจำนวนมาก อุปสงค์ที่หดหายไปก็ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ให้ธุรกิจต่างๆ ก็ต้องปิดกิจการลง ส่งผลให้อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้นไปถึงกว่า 20%
ประธานาธิบดีในขณะนั้นก็คือ Herbert Hoover จากพรรครีพับลิกัน ผู้เข้ามารับตำแหน่งในปี 1929 และได้ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจที่ได้กลายมาเป็นวิกฤติที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็ได้พยายามทำหลายอย่างในการบรรเทาปัญหาและแสวงหาทางออกจากวิกฤติที่เกิดขึ้น เช่น การขึ้นภาษีสินค้าต่างๆ การตั้งงบประมาณสมดุล โดยตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐลงไปอีก (ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ปัญหายิ่งแย่ไปอีก แต่ก็เป็นแนวคิดหลักในยุคนั้น) และสร้างโครงการลงทุนภาครัฐอย่างเช่น เขื่อน Hoover
Herbert Hoover ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในช่วงปี 1929-1933
แต่ความพยายามต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยให้วิกฤติที่เกิดขึ้นทุเลาลงเลย ทำให้มีชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่ได้เรียกร้องให้ Herbert Hoover เพิ่มบทบาทรัฐ เข้ามาแทรกแซงมากกว่านี้ ผ่านการควบคุมราคา ไปจนถึงการเข้าควบคุมการดำเนินงานของธุรกิจเสียเอง แต่ Herbert Hoover ก็ไม่ได้ขานรับกับเสียงเรียกร้องเหล่านี้ เนื่องจากรู้สึกว่ามีความเป็นนโยบายของฝั่งสังคมนิยมมากเกินไป จนได้ขนานนามว่าเป็น Do-nothing president หรือประธานาธิบดีที่ไม่ได้ทำอะไรเลย และสะท้อนออกมาเป็นภาพที่เต็มไปด้วยความหดหู่ สิ้นหวัง และมองไม่เห็นทางออกของชาวอเมริกัน
เขื่อน Hoover หรือ Hoover Damn
📌 Franklin Delano Roosevelt : ประธานาธิบดีผู้เข้ามาสร้างความหวังใหม่กับประชาชน
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วงปี 1932 เมื่อ Franklin Delanor Roosevelt หรือที่รู้จักกันเป็นชื่อย่อว่า FDR ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กจากพรรคเดโมแครตได้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และได้มอบความหวังให้กับประชาชนชาวอเมริกันอีกครั้ง
Franklin Delano Roosevelt ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในช่วงปี 1933-1945
ผ่านโครงการเรือธงของเขาที่ชื่อว่า New Deal พร้อมกันนั้น ในแทบทุกที่ที่เขาตระเวนเดินทางไปหาเสียง เขาก็จะเปิดเพลงที่ชื่อว่า Happy Days are Here Again หรือแปลว่า วันที่ดีได้หวนคืนกลับมาแล้ว เพื่อเรียกขวัญกำลังใจให้กับประชาชนที่กำลังจมทุกข์อยู่กับวิกฤติเศรษฐกิจอยู่ให้กลับมามีความหวังอีกครั้ง
ผลปรากฏก็คือในการเลือกตั้งครั้งนั้น เสียงแห่งความหวังของ FDR ได้ทำให้เขาชนะการเลือกตั้งนั้นไปอย่างขาดรอย และทำให้ FDR ได้ก้าวขึ้นไปเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ​โดยในวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง FDR ยังได้ให้สุนทรพจน์​ที่กินใจคนมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งก็คือ “The only thing we have to fear… is fear itself” หรือแปลเป็นไทยว่า สิ่งเดียวที่เราต้องกลัวคือความกลัวเสียเอง
2
FDR คงหารู้ไม่ว่าชัยชนะของเขาในวันนั้นจะนำมาซึ่งนโยบายสำคัญต่างๆ ที่ได้วางรากฐานสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสหรัฐฯ มายาวนานอีกนับศตวรรษ
โดยในช่วง 100 วันแรกของวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา FDR ก็ได้เร่งดำเนินการนโยบายต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นผ่านโครงการ New Deal เช่น การหยุดใช้มาตรฐานทองคำชั่วคราว เพื่อให้ธนาคารกลางของสหรัฐฯ สามารถใช้นโยบายการเงินแบบขยายตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาเงินฝืดที่เกิดขึ้นได้ การปฏิรูปกฎเกณฑ์ที่กำกับดูแลภาคธนาคารและตลาดการเงิน และรวมไปถึงการแก้ปัญหาการจ้างงานผ่านโครงการลงทุนภาครัฐ
1
แต่สิ่งที่เป็นคุณปการมากที่สุดของโครงการ New Deal ของ Roosevelt ก็คือการผ่านกฎหมายระบบประกันสังคม (Social Security System Act) ขึ้นมาในปี 1935 โดยมีหลักการที่สำคัญก็คือว่าเพื่อสร้างระบบบำนาญถ้วนหน้าให้ประชาชนชาวอเมริกันได้มีเงินใช้ในยามเกษียณ จัดตั้งระบบประกันว่างงาน (Unemployment Insurance) ซึ่งได้กลายมาเป็นรากฐานสำคัญของระบบสวัสดิการสหรัฐฯ​ในช่วงต่อมา
การผ่านกฎหมายระบบประกันสังคม (Social Security System Act) ในปี 1935
นอกจากนี้ ระบบประกันสังคมที่ FDR ได้สร้างขึ้นมายังได้เป็นรากฐานสำคัญของความฝันของอเมริกันชน (American Dreams) ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย ซึ่งเชื่อในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย การไปสู่ความฝันของตัวเองผ่านการทำงานหนัก โดยที่การันตีว่าเมื่อแก่เถ้าไป ก็ยังคงมีระบบบำนาญ ระบบประกันสังคมคอยรองรับเพื่อให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่
📌 ระบบประกันสังคม (Social Security) และ The New Deal มรดกชิ้นสำคัญที่ FDR ได้ทิ้งเอาไว้ให้กับอเมริกา
และแม้ว่าสิ้นสุดยุคสมัยของ FDR ไปแล้ว The New Deal ก็ได้เป็นมรดกที่ FDR ได้ทิ้งไว้ให้กับสังคมอเมริกันไปอีกยาวนาน ประธานาธิบดีที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในยุคหลังล้วนให้การสนับสนุนโครงการ New Deal ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นจากฟากฝั่งของพรรคเดโมแครต หรือแม้แต่จากพรรครีพับลิกัน
ยกตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดี Dwight Eisenhower จากพรรครีพับลิกันที่เชื่อในเรื่องของการลดบทบาทภาครัฐยังให้การสนับสนุนโครงการ New Deal ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ไปจนถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นการจ้างงานอย่างเช่น การสร้างระบบทางหลวงข้ามมลรัฐ (Interstate Highway System) อีกด้วย โดยประธานาธิบดี Eisenhower ยังเคยกล่าวไว้ว่า “พรรคการเมืองใดก็ตามที่คิดจะยกเลิกระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการอื่นๆ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาภายใต้โครงการ New Deal พรรคการเมืองนั้นจะต้องสูญพันธุ์ไปจากการเมืองสหรัฐฯ อย่างแน่นอน”
นอกจากนี้ ในยุคของประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson ก็มีการประกาศนโยบาย Great Society โดยเป็นโครงการที่ขยายมาจากกรอบเดิมที่ New Deal ได้วางรากฐานเอาไว้ มีการประกาศสงครามต่อความยากจน (War on Poverty) และได้ริเริ่มโครงการต่างๆ มากมาย เช่นการการันตีการศึกษาให้กับครอบครัวที่ยากจน ไปจนถึง การแก้กฎหมายประกันสังคมที่ใช้มาตั้งแต่ยุค FDR ให้ครอบคลุมไปถึงโครงการใหม่อย่างเช่น Medicare และ Medicaid ซึ่งเป็นระบบประกันสุขภาพของชาวอเมริกันนั่นเอง
Lyndon B. Johnson ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในช่วงปี 1963-1969
📌 ระบบสวัสดิการที่ดี แต่มาพร้อมกับต้นทุนมหาศาลให้กับภาครัฐ
ระบบสวัสดิการสังคมต่างๆ เหล่านี้ที่ FDR และประธานาธิบดีรุ่นหลังได้สร้างขึ้น ได้กลายมามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวอเมริกัน อย่างไรก็ตาม โครงการเช่นนี้ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมาพร้อมกับต้นทุนอันมหาศาลให้กับภาครัฐ ขนาดของโครงการสวัสดิการเหล่านี้ที่ขยายใหญ่ขึ้นทุกปีก็หมายถึงค่าใช้จ่ายของภาครัฐ การขาดดุลงบประมาณ และหนี้สาธารณะที่เพิ่มมากขึ้นไปทุกปีๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทรนด์ด้านประชากรศาสตร์เริ่มชี้ให้เห็นถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัย เหล่า Baby Boomers ที่เข้าสู่วัยเกษียณเพิ่มมาขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ประชากรวัยแรงงานก็มีลดลง รวมทั้งอายุคาดเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจากพัฒนาการด้านการแพทย์ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนของโครงการสวัสดิการเหล่านี้ยิ่งสูงขึ้นไปอีก อย่างเช่น ในปีที่ผ่านมา งบประมาณที่ต้องถูกจัดสรรให้กับสวัสดิการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ประกันสังคม Medicare และ Medicaid นั้นคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงราวกึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมด และเป็นต้นตอสำคัญของการขาดดุลงบประมาณและหนี้ภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี
ที่มา : Datalab.com
และแน่นอน ภาพของการใช้จ่ายภาครัฐที่ขาดดุล หนี้สาธารณะที่เพิ่มสูง และบทบาทภาครัฐที่มากเกินไปเช่นนี้ ย่อมทำให้พรรคการเมืองอย่างพรรครีพับบลิกัน ซึ่งยึดหลักการในเรื่องของเสรีนิยม ตลาดเสรี และการลดบทบาทของภาครัฐให้น้อยที่สุด ไม่พอใจอย่างแน่นอน จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมในช่วงที่ผ่านมา พรรครีพับลิกัน ถึงได้พยายามแล้วพยายามอีกในการปรับปรุงแก้ไข หรือแม้แต่ยกเลิกระบบประกันสังคมและสวัสดิการเหล่านี้ให้ได้ รวมถึงล่าสุดที่ไม่ยอมให้ความร่วมมือสนับสนุนในการปรับเพิ่มเพดานหนี้อีกด้วย เพราะพรรครีพับลิกันมองว่าไม่อยากเห็นภาษีของชาวอเมริกันอีกแม้แต่สตางค์เดียวถูกใช้ไปกับโครงการที่สิ้นเปลืองเช่นนี้
1
แต่แน่นอนว่าการจะยกเลิกโครงการเช่นนี้ก็คงไม่เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย เพราะยังมีคนกว่าครึ่งประเทศที่ยังคงให้การสนับสนุนโครงการเช่นนี้อยู่ และหากสวัสดิการเช่นนี้ถูกยกเลิกไป ก็หมายความว่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่อาจตกไปอยู่ในความยากจนได้ เพราะฉะนั้น แม้จะเป็นภาระเท่าไหร่ แต่โครงการเช่นนี้ก็ยังคงต้องมีต่อไป แต่ในอนาคตจะปฏิรูปไปในทิศทางไหน ก็ยังคงต้องติดตามกันต่อไป
และในส่วนของหนี้สาธารณะที่กำลังชนเพดานในไม่ช้า แม้ว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรครีพับลิกัน แต่หลายคนก็คาดว่าคงไม่เกิดวิกฤติดังที่ใครหลายคนกลัวกัน เพราะท้ายที่สุดแล้ว พรรคเดโมแครตก็ยังคงมีทางออกในการนำวาระการปรับหรือระงับการใช้เพดานหนี้ดังกล่าวเข้าบรรจุในกระบวนการ Budget Reconciliation ซึ่งใช้เสียงวุฒิสมาชิกเพียงแค่ 50 เสียงเท่านั้น ก็ทำให้ผ่านร่างกฎหมายและหลีกเลี่ยงวิกฤติได้แล้ว
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวที่ Bnomics ได้พาทุกคนมองย้อนประวัติศาสตร์ไปเพื่อเข้าใจหนึ่งในจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่นำมาสู่ปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ​ในทุกวันนี้ครับ สำหรับในสัปดาห์เราจะพาไปมองย้อนประวัติศาสตร์เรื่องอะไร ขอเชิญชวนติดตามกันด้วยครับ
#Franklin_Roosevelt #ประธานาธิบดีสหรัฐ #เศรษฐกิจสหรัฐ
#Bnomics #All_About_History #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา