23 ส.ค. 2021 เวลา 12:48 • สุขภาพ
สารพัดหนี้มีทางออก!! แก้หนี้ครบจบม้วนเดียว
สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงของโรคโควิด – 19 กำลังเข้าสู่ปีที่2 ตีคู่ขนานกับวิกฤตเศรษฐกิจ
หลายคนกำลังเผชิญ “ภาวะความเครียดจากหนี้สิน ไร้ทางออก” กับหนี้สินพอกพูน ถูกตามทวงหนี้ ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากเจ้าหนี้ จนบางคนเกิดภาวะความเครียด และหาทางออกโดยคิดสั้นฆ่าตัวตาย
ตามข้อมูลโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ระบุว่า
“ปัจจัยทางเศรษฐกิจอาจเป็นตัวกระตุ้นให้อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ต่อประชากร 1 แสนคนเร่งตัวขึ้น ในปี 2563 เมื่อเกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด – 19 ขึ้น กรมสุขภาพจิตฯ พบอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.4 ต่อประชากร 1 แสนคน
หากเทียบกับประชากร 66.2 ล้านคน ปีที่ผ่านมามีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จเกือบ 4,900 ราย”
ปัญหานี้สามารถขยายผลไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ทางสังคมต่อไป เป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง และเร่งหาทางออกร่วมกัน
โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ในฐานะศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ สังกัดกรมสุขภาพจิต จับมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานพันธมิตร ร่วมนำประสบการณ์แก้ปัญหาหนี้สินภาคประชาชน
จัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) “แก้หนี้ครบ จบในเล่มเดียว” ชี้ทางออกให้ลูกหนี้ สามารถฝ่าฟันปัญหาหนี้สินอย่างเป็นระบบที่ยั่งยืน สร้างสุขภาพทางการเงิน ดูแลสุขภาพใจไปพร้อมกัน
“ภาระหนี้สินมีทางออก ท่านไม่ได้สู้กับปัญหาหนี้สินอย่างเดียวดาย”
กู้ใจเรียกสติ คืนความนิ่งให้ตัวเอง เผชิญหน้ากับปัญหาหนี้สิน !?
การทำใจยอมรับว่าหนี้สินเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ หมั่นเติมกำลังใจให้ตนเอง เชื่อมั่น ศรัทธาในตนเองว่า เราสามารถพาตัวเองออกจากปัญหาหนี้สิน และสร้างชีวิตใหม่ที่ดีได้
อย่าคิดคนเดียว !! ลองเปิดใจกับครอบครัว ร่วมแรง พร้อมใจจัดการปัญหาหนี้สินไปด้วยกัน
1.ลดรายจ่าย
เลือกจ่ายในรายการที่เหมาะสมกับรายได้ อาจลงลึกถึงการเลือกเมนูที่เหมาะสมกับรายได้
2.เพิ่มรายได้
ทำอะไรก็ได้ในช่วงเวลาว่างระหว่างวัน “นับเป็นงาน นับเป็นเงิน” ทั้งนั้น และอาจกลายเป็นรายได้หลักของเราต่อไปได้ จากศักยภาพที่ถูกรีดออกมาในสภาวะวิกฤต
3.ลดภาระหนี้สิน
 
เดินเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ ปรึกษา เปิดใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แสดงความจริงใจ ตั้งใจ และพร้อมให้ความร่วมมือ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินทุกวิถีทาง สร้างเครดิตหรือความน่าเชื่อถือให้เจ้าหนี้เห็นคุณค่าในตัวเรา เพราะ “ลูกหนี้กลุ่มนี้มักถูกฟ้องเป็นอันดับท้าย ๆ”
วิธีลดภาระหนี้สิน - ปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน !?
ลูกหนี้มีสิทธิเจรจาในทางเลือกที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเองที่สุด เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ หรือปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระให้เหมาะกับรายได้ และแม้เป็นหนี้เสียก็ยังเจรจาได้
โดยสถาบันการเงินต่าง ๆ จะมีโปรแกรมช่วยเหลือลูกหนี้หลายรูปแบบ
1.ยืดระยะเวลาชำระหนี้ ทำให้ลดภาระผ่อนต่อเดือน
2.พักชำระเงินต้น แต่ดอกเบี้ยยังผ่อนเหมือนเดิม
3.ลดอัตราดอกเบี้ย
4.ยก / ผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
5.เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน ให้แก่กิจการพื้นฐานดี
 
6.ปิดจบด้วยเงินก้อน และเจรจาขอส่วนลด เพื่อให้เพียงพอต่อการปิดหนี้จบทั้งบัญชี
7.รีไฟแนนซ์ (Refinance) ปิดวงเงินสินเชื่อจากเจ้าหนี้เดิมไปใช้สินเชื่อของเจ้าหนี้ใหม่ที่เงื่อนไขดีกว่า
8.เปลี่ยนหนี้ดอกแพงเป็นหนี้ดอกถูก เช่น กรณีหนี้บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด
- สามารถเปลี่ยนเป็นสินเชื่อ “แบบมีกำหนดระยะเวลาชำระ” (term loan) ที่ดอกเบี้ยถูกกว่า
- ข้อพึงระวัง..อย่าประเมินเจ้าหนี้ผิดไป!! เลือกจ่ายขั้นต่ำ จนกลายเป็นภาระหนี้ก้อนโต เพราะดอกเบี้ยในใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ดอกเบี้ยที่คิดจากจำนวนเงินที่รูดซื้อสินค้า และดอกเบี้ยที่คิดจากยอดเงินต้นค้างชำระ
แต่หากลูกหนี้ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร !?
“อย่าเพิ่งสิ้นหวัง หมดกำลังใจ แม้เป็นหนี้นอกระบบ ก็ไม่โดดเดี่ยว”
เพราะธปท. และทุกภาคส่วนพร้อมช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนแบบครบวงจร ในหลากหลายช่องทาง อาทิ
1. สายด่วนแก้หนี้ 1213 ธปท.
เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ล้วนมีความรู้ในการแก้ไขหนี้สิน ดูแลลูกหนี้ทุกประเภทที่เริ่มผ่อนไม่ไหว หรือไม่สามารถหาข้อตกลงกับเจ้าหนี้ได้ เช่น บัตรเครดิต หรือสินเชื่อประเภทต่าง ๆ
ในระหว่างการปรึกษาพูดคุย เมื่อเจ้าหน้าที่พบว่า ลูกหนี้มีภาวะเครียดจนไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ทางธปท. จะประสานไปยัง “สายด่วนสุขภาพจิต 1323” ให้ติดต่อกลับลูกหนี้รายนี้ทันที เพื่อรับฟัง ฟื้นฟูกำลังใจจนลูกหนี้สงบ ก่อนส่งเรื่องกลับมายัง ธปท. อีกครั้ง
 
2.สายด่วนสุขภาพจิต 1323 กรมสุขภาพจิต
รวมทีมนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และพยาบาลวิชาชีพ ที่มีทักษะการรับฟัง การใช้คำพูดสะท้อนความรู้สึก สามารถค้นหา และรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ อย่างครบถ้วน รวมทั้งสภาพแวดล้อม ที่อยู่ พิกัด พร้อมประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในขณะนั้น เพื่อเข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
 
3.สายด่วน 1443 คลินิกแก้หนี้
ดูแลลูกหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน หรือเป็นหนี้เสีย หรือถูกพิพากษาแล้ว แต่ยังไม่ถูกบังคับบัญชี
4.มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์
ดูแลลูกหนี้ทุกสถานะ เช่น หนี้เสีย ถูกฟ้องมีคำพิพากษาแล้ว หรือถูกบังคับคดี กำลังขายทอดตลาด ให้สามารถกลับมาเจรจากับเจ้าหนี้ได้ โดยผู้สนใจสามารถเข้าไปติดตามข่าวการจัดมหกรรมฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.1213.or.th
5.ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
ช่วยตรวจสอบ สืบสวน แสวงหาข้อเท็จจริง ดำเนินคดีกับเจ้าหนี้ พร้อมประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย และมาตรการภาษีกับเจ้าหนี้นอกระบบ เจรจาไกล่เกลี่ย และให้ความรู้การทำสัญญากู้ยืม
 
ติดต่อได้ที่ 02-575-3344 หรือ 02-831-9888 ต่อ 1033, 1202, 1033
แล้วใครเป็นที่พึ่งเมื่อลูกหนี้ถูกทวงหนี้โหด !?
ตามพ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ประชาชนหรือลูกหนี้เมื่อพบพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหนี้ รวมถึงหนี้นอกระบบ หนี้การพนันต่างๆ ในลักษณะ
- ไปทวงหนี้กับคนอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้
- การเอาข้อมูลลูกหนี้ไปบอกกับคนอื่น
- การข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่น ๆ ทำให้เสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง ทรัพย์สิน
- การใช้คำพูดดูหมิ่น
- ความถี่ในการทวงหนี้เกิน 1 ครั้งต่อวัน แต่เพื่อนทวงเพื่อนได้เกิน 1 ครั้ง !!
 
สามารถไปร้องเรียนเอาผิดได้ที่ “คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้” ที่มีตั้งแต่ระดับประเทศ จังหวัด ที่ว่าการอำเภอ และสถานีตำรวจในท้องที่ มีอำนาจสั่งการให้หยุดการกระทำดังกล่าว
หากฝ่าฝืนมีโทษไม่เกิน 1 แสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับได้
รู้เรา – รู้เขา – รู้ข้อมูล !?
รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง การแก้หนี้ครบจบม้วนเดียว
1.รู้เรา - จากการวางแผนทางการเงิน ทำให้เรารู้ว่าโอกาส และปัญหาของตัวเองคืออะไร
รายได้เรามีเท่าไหร่ มีงานหรือเวลาช่วงไหนจะหารายได้เพิ่มได้บ้าง
รายจ่ายมีเท่าไหร่ อะไรที่เราจะลดได้ ร่วมด้วยช่วยกันทั้งครอบครัว
หนี้สินเป็นอย่าง การจัดลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้สิน ช่วยสร้างทางเลือกในการปลดหนีอย่างเป็นระบบ
2. รู้เขา – ประเมินให้ออกว่า เจ้าหนี้ต้องการอะไร ต้องเจรจากับเจ้าหนี้อย่างไร
สิ่งสำคัญ คือ ความมุ่งมั่นที่อยากชำระหนี้ เป็นเครดิตของลูกหนี้ในช่วงที่รายได้ไม่สม่ำเสมอ และมักได้รับโอกาส หรือข้อเสนอจากเจ้าหนี้ช่วยให้ปลดหนี้ได้เร็วขึ้น
3.รู้ข้อมูล – เรียนรู้ แสวงหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการปลดหนี้
โดยเฉพาะมาตรการของ ธปท. กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการคลัง ฯลฯ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยความเต็มใจ
“ไม่ว่าวิกฤตไหน ๆ ย่อมมีวันจบ อย่าเพิ่งฆ่าความหวังของตัวเอง”
ภาระหนี้มีทางออกเสมอ !!
ขอบคุณที่เข้ามาติดตามอ่านทุกเรื่องราว และเข้ามาทักทายกันนะคะ
Credit :
ธนาคารแห่งประเทศไทยและคณะ. E-Book แก้หนี้ครบจบในเล่มเดียว.2564
#WhoChillDay #แก้หนี้ครบ จบในเล่มเดียว #ธปท.
#โควิด – 19 #สารพัดหนี้มีทางออก #แก้หนี้ครบจบม้วนเดียว

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา