27 ส.ค. 2021 เวลา 09:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 38] แนะนำภาพรวมของภาษากาตาลา
An overview of Catalan language
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 13 ของซีรีส์ "ภาษาละตินเเละกลุ่มภาษาโรมานซ์" จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ "ภาษากาตาลา" ภาษาท้องถิ่นของเมืองบาร์เซโลนาและเมืองบาเลนเซีย เมืองใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของประเทศสเปน และพื้นที่แถบตะวันออกของประเทศ ให้คนอ่านได้เข้าใจถึงภาพรวม ประวัติความเป็นมา ลักษณะเฉพาะ รวมถึงตัวอย่างไวยากรณ์ในภาษากาตาลาครับ
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
ภาพประกอบ : อาคาร Palau Nacional ซึ่งใช้เป็นอาคารของพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติกาตาลุญญา ตั้งอยู่ในเมืองบาร์เซโลนา เมืองหลวงของแคว้นกาตาลุญญา ทางตะวันออกของประเทศสเปน [Credit ภาพ : User 'Juanedc' @ Flickr]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : MV เพลงภาษากาตาลา "Una lluna a l'aigua" เพลงในดนตรีแนวฟิวชั่น โดยวง Txarango จากแคว้นกาตาลุญญา
“ภาษากาตาลา” (ชื่อภาษาอังกฤษ : Catalan / ชื่อภาษากาตาลา : Català หรือ Llengua catalana) เป็นสมาชิกหนึ่งในกลุ่มภาษาโรมานซ์ (Romance languages) ที่สืบทอดมาจากภาษาละตินสามัญ (Vulgar Latin : ภาษาละตินแบบภาษาพูดในระดับสามัญชนคนทั่วไปในจักรวรรดิโรมัน) ร่วมกับภาษาโปรตุเกส ภาษาสเปน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอิตาลี และภาษาโรมาเนีย
ภาษานี้มีจำนวนประชากรที่ใช้พูดประมาณ 10 ล้านคน (รวมผู้ใช้งานเป็นภาษาแม่และผู้ใช้งานเป็นภาษาที่ 2) ส่วนใหญ่อยู่ทางตะวันออกของประเทศสเปน ได้แก่...
 
- แคว้นกาตาลุญญา (Catalonia) และเมืองบาร์เซโลนา (Barcelona) เมืองที่มีประชากรมากอันดับ 2 ของสเปน ภาษากาตาลาที่ปรากฏในสื่อ การเรียนการสอนในโรงเรียน และตำราเรียนภาษากาตาลาสำหรับผู้เริ่มต้นชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะใช้สำเนียงกาตาลากลาง (Central Catalan) ซึ่งเป็นสำเนียงที่ใช้กันแถบเมืองบาร์เซโลนา ภาษาสำเนียงนี้จึงกลายเป็นภาษากาตาลามาตรฐาน
- แคว้นบาเลนเซีย (Valencia) และเมืองบาเลนเซีย เมืองที่มีประชากรมากอันดับ 3 ของสเปน บริเวณนี้จะเรียกภาษากาตาลาว่า “ภาษาบาเลนเซีย” (Valencian)
- หมู่เกาะแบลีแอริก (Balearic Islands)
แผนที่แสดงบริเวณที่มีผู้ใช้ภาษากาตาลาเป็นหลัก (พื้นที่สีเทาเข้ม) ใน "ดินแดนที่ใช้ภาษากาตาลา" (Catalan Countries / Països Catalans) ประกอบด้วยแคว้นบาเลนเซีย หมู่เกาะแบลีแอริก แคว้นกาตาลุญญา แถบตะวันออกของแคว้นอารากอน ประเทศอันดอร์รา และดินแดนกาตาลุญญาเหนือ (ในประเทศฝรั่งเศส) [Credit แผนที่ : User 'Mutxamel' @ Wikipedia.org]
ในเขตการปกครองเหล่านี้จะใช้ภาษากาตาลาเป็นภาษาราชการควบคู่ไปกับภาษาสเปน ซึ่งแคว้นกาตาลุญญายังเป็นพื้นที่ที่มีขนาดเศรษฐกิจ (วัดจากขนาด GDP ในปี ค.ศ.2019) ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศสเปนรองจากกรุงมาดริด โดยมีสัดส่วนประมาณ 19% ของขนาดเศรษฐกิจประเทศสเปนทั้งหมด (มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกรุงมาดริด) ตามมาด้วยแคว้นบาเลนเซียในฐานะพื้นที่ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศสเปน ในสัดส่วนราว 9% จึงถือได้ว่าภาษากาตาลาเป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้พูดกันในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศสเปน
แผนที่แสดงสัดส่วนขนาดเศรษฐกิจของแต่ละเขตการปกครองต่อขนาดเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศสเปน (วัดจากขนาด GDP) โดยเป็นข้อมูลช่วง ค.ศ.2017 ซึ่งเป็นช่วงที่แคว้นกาตาลุญญามี GDP มากกว่ากรุงมาดริดเล็กน้อยก่อนถูกกรุงมาดริดแซงภายหลัง [Credit แผนที่ : Pew Research Center]
ขณะที่ประเทศอันดอร์รา (Andorra) รัฐขนาดเล็กบริเวณเทือกเขาพิรินี (Pyrenees) ตรงชายแดนประเทศสเปน-ฝรั่งเศส ก็ใช้ภาษากาตาลาเป็นภาษาราชการเช่นกัน
ส่วนดินแดนอื่น ๆ ในประเทศสเปน ฝรั่งเศส และอิตาลี ที่รับรองให้ภาษากาตาลามีสถานะเป็นภาษาชนกลุ่มน้อย ได้แก่...
- แคว้นอารากอน (Aragon) ประเทศสเปน
- จังหวัดปีเรเน-ออรีย็องตาล (Pyrénées-Orientales) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ตรงชายแดนสเปนฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีอีกชื่อหนึ่งในบริบทกลุ่มชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรมว่า “กาตาลุญญาเหนือ” (Northern Catalonia)
- เมืองอัลเกโร (Alghero) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี
ภาษากาตาลาถือกำเนิดขึ้นในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8 – 10 จากดินแดนที่เป็นแคว้นกาตาลุญญา (Catalonia) ในประเทศสเปนปัจจุบัน และได้ใช้เป็นหนึ่งในภาษาของอาณาจักรอารากอน (Kingdom of Aragon) ซึ่งอยู่ภายใต้ราชบัลลังก์แห่งอารากอน (Crown of Aragon) ได้แผ่อิทธิพลลงมาทางใต้เข้าสู่แคว้นบาเลนเซียและหมู่เกาะแบลีแอริก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 – 13 ระหว่างที่กลุ่มอาณาจักรชาวคริสต์ทางตอนเหนือของคาบสมุทรไอบีเรียพิชิตดินแดนคาบสมุทรทั้งหมดคืนจากชาวมุสลิม (Reconquista)
การแผ่อิทธิพลลงทางใต้ของราชบัลลังก์อารากอนทำให้ภาษากาตาลาได้แพร่หลายลงสู่ทางใต้ตามไปด้วย ขณะที่การแผ่ขยายอิทธิพลของราชบัลลังก์อารากอนสู่เกาะซาร์ดิเนียในภายหลัง ทำให้มีผู้ใช้ภาษากาตาลาในเมืองเล็ก ๆ ทางตะวันตกของเกาะ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14
แผนที่ทางภาษาศาสตร์แสดงวิวัฒนาการทางภาษาศาสตร์ของประชากรที่ใช้ภาษาต่าง ๆ ในคาบสมุทรไอบีเรีย ในปี ค.ศ.1000-1300 ได้แก่ ภาษากาลิเซีย-โปรตุเกส (สีฟ้า) ภาษาสเปนสำเนียงเลออน (สีเขียว) ภาษาสเปนเก่า (สีเหลือง) ภาษาบาสก์ (สีแดงเข้ม) ภาษาอารากอน (สีชมพู) ภาษากาตาลา (สีส้ม) และภาษาอาหรับ (สีเทา) [Credit แผนที่ : User ' Alexandre Vigo' @ wikipedia.org]
เอกสารที่เขียนเป็นภาษากาตาลาที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบคือ “กฏหมายวิซิกอท” (Forum Iudicum) ฉบับภาษากาตาลา และ “บทเทศน์แห่งหมู่บ้านโอร์กัญญา” (Homilies d'Organyà) จากช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 - 12 ซึ่งในช่วงที่ราชบัลลังก์อารากอนเรืองอำนาจ เกิดยุคทองของภาษากาตาลา (ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 – 15) ผ่านงานเขียนในภาษากาตาลาที่ออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม เอกสารทางกฎหมาย อย่าง “Book of the Consulate of the Sea” บทสรุปร่างกฎหมายด้านการค้าทางทะเล ที่ทำขึ้นในช่วง ค.ศ.1320-1330 และใช้ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18
หน้าหนึ่งใน “กฏหมายวิซิกอท” (Forum Iudicum) ฉบับแปลเป็นภาษากาตาลาเก่า (Old Catalan) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 (ราว ค.ศ.1050)
“Book of the Consulate of the Sea” บทสรุปร่างกฎหมายด้านการค้าทางทะเล ที่ทำขึ้นในช่วง ค.ศ.1320-1330 และใช้ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในภาพนี้เป็นฉบับแปลเป็นภาษาดัตช์ ในปี ค.ศ.1704 ผ่านต้นฉบับที่แปลจากภาษากาตาลาเป็นภาษาอิตาลีในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16
หลังจากที่มีการคิดค้นเทคโนโลยีแท่นพิมพ์ในดินแดนเยอรมนี เมื่อปี ค.ศ.1440 ก็มีงานวรรณกรรมภาษากาตาลาที่พิมพ์ด้วยเทคโนโลยีนี้เรื่องแรกในปี ค.ศ.1474 แต่ในช่วงเดียวกันนี้ เมื่อปี ค.ศ.1469 การรวมเป็นสหภาพระหว่างราชบัลลังก์อารากอนกับราชบัลลังก์กัสติยาผ่านการอภิเษกสมรสระหว่างสมาชิกราชวงศ์จนเป็นจักรวรรดิสเปน ภาษาสเปนจากฝั่งกัสติยาก็ได้เข้ามายังแถบดินแดนที่ใช้ภาษากาตาลา (อารากอน บาเลนเซีย กาตาลุญญา) ภาษากาตาลาจึงเริ่มเสื่อมลงในด้านวรรณกรรม แม้ว่าจะยังใช้เป็นภาษาทางกฎหมาย การบริหารราชการ และเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารระดับประชาชนในฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรไอบีเรีย ขณะที่ภาษากาตาลาเริ่มมีวิวัฒนาการที่เกิดสำเนียงท้องถิ่นในแคว้นบาเลนเซียและหมู่เกาะแบลีแอริกในคริสต์ศตวรรษที่ 16
แผนที่การรวมดินแดนเป็นสเปน ตั้งแต่การรวมเป็นสหภาพระหว่างแผ่นดินภายใต้ราชบัลลังก์กัสติยา (Castile) และอารากอน (Aragon) ผ่านการอภิเษกสมรสระหว่างสมาชิกราชวงศ์ทั้งสองฝั่ง (ค.ศ.1469) การพิชิตอาณาจักรมุสลิมกรานาดา (ค.ศ.1492) การพิชิตอาณาจักรนาวาร์ (ค.ศ.1512) [ที่มาของภาพ : https://sites.psu.edu/travellingtheworld/2018/10/10/bienvenido-a-espana-welcome-to-spain/]
เมื่อเวลาผ่านไป จนเกิดสงครามฝรั่งเศส-สเปน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1635 สถานการณ์ความขัดแย้งในราชรัฐกาตาลุญญาที่สะสมจากความไม่พอใจของคนท้องถิ่น ทั้งเหตุการณ์กองทหารสเปนฝั่งกัสติยาเข้ามากาตาลุญญาจำนวนมาก และการผลักดันของฝั่งกัสติยาให้ทุ่มเงินทุนและกำลังพลจากดินแดนอื่นภายใต้จักรวรรดิสเปน (อย่างกาตาลุญญา อารากอน บาเลนเซีย) ในสงครามครั้งนี้ จนปะทุเป็นการลุกฮือในกาตาลุญญา ในปี ค.ศ.1640-1659 ที่ราชรัฐกาตาลุญญาได้เป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสต่อสู้กับสเปน หลังจากสงครามจบลง กาตาลุญญาได้เสียดินแดนฝั่งเหนือให้กับฝรั่งเศส และมีการประกาศห้ามใช้ภาษากาตาลาในดินแดนกาตาลุญญาเหนือ ภาษากาตาลาในพื้นที่ฝรั่งเศสจึงคงเหลือในระดับครัวเรือน
ภาพวาดแสดงการสู้รบที่ป้อมกำแพงเมืองบาร์เซโลนา ในการปิดล้อมเมืองบาร์เซโลนา (Siege of Barcelona) ในปี ค.ศ.1713-1714 ระหว่างฝ่ายสเปนราชวงศ์บูร์บง-ฝรั่งเศส กับฝ่ายสเปนราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค-ราชรัฐกาตาลุญญา ในช่วงท้ายสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน ที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายสเปนราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค-ราชรัฐกาตาลุญญา
จากนั้นในปี ค.ศ.1701-1714 เกิดสงครามสืบราชบัลลังก์สเปนระหว่างราชวงศ์ฮาพส์บวร์คของออสเตรีย กับราชวงศ์บูร์บงของฝรั่งเศส ดินแดนภายใต้ราชบัลลังก์อารากอนสนับสนุนฝั่งราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค แต่ผลของสงครามนั้นทำให้ราชวงศ์บูร์บงได้ขึ้นครองราชบัลลังก์สเปน ฝ่ายสเปนภายใต้ราชวงศ์บูร์บงจึงยุบราชบัลลังก์อารากอนลง และประกาศห้ามใช้ภาษากาตาลาในหลายด้าน (กฎหมาย การบริหารราชการ การศึกษา และการค้า) ดังนั้น ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 การใช้ภาษากาตาลาคงเหลือแต่ในระดับครัวเรือน ทั้งในดินแดนกาตาลุญญาเหนือในฝรั่งเศส และดินแดนทางตะวันออกของสเปน (กาตาลุญญา บาเลนเซีย หมู่เกาะแบลีแอริก)
เมื่อแนวคิดและกระแสชาตินิยมผงาดขึ้นในหมู่ชาติยุโรปช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 - ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูภาษาและวรรณกรรม รวมถึงภาษากาตาลา ในช่วงนี้เริ่มมีการกลับมาเขียนบทกวี บทละคร และนิยายในภาษากาตาลาจากนักเขียนในแคว้นกาตาลุญญา บาเลนเซีย และหมู่เกาะแบลีแอริก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี้ การเรียนการสอนภาษากาตาลาก็เริ่มกลับมาในสังคม มีการจัดทำพจนานุกรมภาษากาตาลา ซึ่งเป็นก้าวแรกสู่การปรับมาตรฐานของภาษากาตาลาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และเริ่มมีสื่อสิ่งพิมพ์ (หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร) ออกสู่สังคมในแถบตะวันออกของสเปน
อาคารสถาบันกาตาลาศึกษา (Institute for Catalan Studies : IEC) ในปัจจุบัน [Credit ภาพ : Josep Renalias]
พอเข้าสู่ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 พรรคชาตินิยมในกาตาลุญญาเริ่มส่งเสริมการเรียนการสอนภาษากาตาลาในโรงเรียนอย่างจริงจัง และการใช้ภาษากาตาลาในการบริหารราชการ มีการจัดตั้งสถาบันกาตาลาศึกษา (Institute for Catalan Studies : IEC) เพื่อเป็นสถาบันวิชาการที่รับผิดชอบการปรับมาตรฐานภาษากาตาลา กับการศึกษาวิจัยภาษาและวัฒนธรรมกาตาลา ในปี ค.ศ.1907 และการจัดทำพจนานุกรมภาษากาตาลาท้องถิ่น กาตาลุญญา-บาเลนเซีย-หมู่เกาะแบลีแอริก ตั้งแต่ปี ค.ศ.1926 เมื่อประเทศสเปนเข้าสู่ช่วงฝ่ายซ้ายปกครอง ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐสเปน ค.ศ.1931 ตามด้วยรัฐบัญญัติว่าด้วยการปกครองตนเองของแคว้นกาตาลุญญาในปี ค.ศ.1932 ที่กระจายอำนาจให้แคว้นกาตาลุญญามีรัฐบาลท้องถิ่นของตน รัฐบาลแคว้นกาตาลุญญาได้ประกาศให้ภาษากาตาลากลับมาเป็นภาษาราชการ
1
ภาพถ่ายช่วงที่กองทัพสเปนฝ่ายขวาสามารถเข้ายึดเมืองบาร์เซโลนาจากกองทัพสเปนฝ่ายซ้ายได้ ในเดือนมกราคม ค.ศ.1939  ซึ่งแคว้นกาตาลุญญาเป็นหนึ่งในฐานที่มั่นของฝ่ายซ้ายสเปนที่พ่ายแพ้การรบแก่ฝ่ายขวา ในช่วงท้ายสงครามกลางเมืองสเปน [ที่มาของภาพ : https://www.barcelonarevisited.com/en/barcelona-onder-franco-de-val-van-de-stad/]
หลังจากภาษากาตาลาได้รับการฟื้นฟูตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้ไม่นาน เกิดสงครามกลางเมืองสเปนระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในปี ค.ศ.1936 – 1939 จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายขวา (ชาตินิยม) สเปนจึงเข้าสู่ระบอบเผด็จการของนายพลฟรังโก (Francisco Franco) ช่วง ค.ศ.1939 – 1975 รัฐบาลเผด็จการสเปนในช่วงนี้มีนโยบายรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง จึงมีนโยบายทางภาษาที่ต่อต้านการใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษากลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้มงวด ซึ่งรวมถึงภาษากาตาลา โดยเฉพาะในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 – 1950 ภาษากาตาลาจึงนำกลับมาอนุรักษ์และใช้งานในระดับครัวเรือนอีกครั้ง
นโยบายต่อต้านการใช้ภาษากาตาลาของสเปนภายใต้นายพลฟรังโก ได้แก่...
- คำสั่งห้ามการเรียนการสอนภาษากาตาลาในโรงเรียน
- คำสั่งห้ามการใช้ภาษากาตาลาในตำรา สื่อสิ่งพิมพ์ การสื่อสารทางโทรศัพท์และโทรเลข
- รายการโทรทัศน์และวิทยุใช้เพียงภาษาสเปนเท่านั้น ขณะที่การฉายภาพยนตร์และการแสดงในโรงละครในแถบตะวันออกของสเปนต้องมีภาษาสเปนประกอบ
- เอกสารทางการบริหารราชการ การจดทะเบียนต่าง ๆ กระบวนการยุติธรรม และการค้าจะสามารถใช้งานได้เมื่อเป็นภาษาสเปนเท่านั้น หากเป็นภาษากาตาลาจะไม่มีผลบังคับใช้
- ป้ายตามถนน ธุรกิจการค้า และโฆษณาต้องเป็นภาษาสเปน
"Si eres español, habla español" (หากคุณเป็นคนสเปน ก็จงพูดภาษาสเปน) ข้อความส่งเสริมให้ใช้ภาษาสเปนและเลิกใช้ภาษาท้องถิ่น อย่างภาษากาตาลาและภาษาบาสก์ พร้อมภาพวาดนายพลฟรังโก ในช่วงที่สเปนอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ [ที่มาของภาพ : https://www.elnacional.cat/en/culture/history-castilian-language-spain_408874_102.html]
หลังจากนายพลฟรังโกเสียชีวิตในปี ค.ศ.1975 ถึงมีการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพของประชาชนในประเทศสเปน รัฐธรรมนูญสเปน ค.ศ.1978 กลับมายอมรับความหลากหลายทางภาษาในประเทศ รัฐบัญญัติว่าด้วยการปกครองตนเองของแคว้นกาตาลุญญา (ค.ศ.1979) แคว้นบาเลนเซีย (ค.ศ.1982) และหมู่เกาะแบลีแอริก (ค.ศ.1983) ประกาศให้ใช้ภาษากาตาลาร่วมกับภาษาสเปนเป็นภาษาราชการในพื้นที่การปกครองทั้งสามแห่ง หลังจากนั้น รัฐบาลท้องถิ่นของกาตาลุญญา-บาเลนเซีย-หมู่เกาะแบลีแอริกต่างอนุมัติกฏหมายส่งเสริมการใช้ภาษากาตาลาในโรงเรียน รัฐบาลท้องถิ่น และสื่อมวลชน
ประเทศอันดอร์ราได้ประกาศในรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1993 ให้ภาษากาตาลาเป็นภาษาราชการของประเทศ ขณะที่ดินแดนกาตาลุญญาเหนือในพื้นที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น ที่แต่เดิมภาษากาตาลาเป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้ในระดับครัวเรือน ส่วนท้องถิ่นเริ่มกลับมาฟื้นฟูการใช้ภาษากาตาลาและส่งเสริมการเรียนการสอนภาษานี้ในโรงเรียนตั้งแต่ปี ค.ศ.2007
หากพิจารณาความใกล้ชิดของภาษาผ่านคำศัพท์ ภาษาที่มีความใกล้ชิดกับภาษากาตาลามากที่สุดคือภาษาอุตซิตา (Occitan) และภาษาสเปน แต่เนื่องจากภาษาอุตซิตามีสถานะเป็นภาษาท้องถิ่นทางตอนใต้ของฝรั่งเศส และคำศัพท์ในภาษากาตาลาก็มีความใกล้ชิดกับภาษาฝรั่งเศสที่ใช้กันแพร่หลายกว่าภาษาอุตซิตา ภาษากาตาลาจึงถูกมองว่าเป็น “สะพาน” ระหว่างภาษาสเปนกับภาษาฝรั่งเศสในบางครั้ง
ในความใกล้ชิดกันระหว่างภาษากาตาลากับภาษาสเปน แม้ว่าจะมีคำศัพท์ในสองภาษาที่วิวัฒนาการจากคำภาษาละตินคำเดียวกัน แต่คำในภาษากาตาลากับภาษาสเปนก็อาจมีความหมายแตกต่างกันได้
ลักษณะเฉพาะตัวอย่างหนึ่งของภาษากาตาลาที่เกิดจากวิวัฒนาการจากภาษาละติน คือ ภาษากาตาลามักมีแนวโน้มที่จะตัดพยางค์สุดท้ายในคำจำนวนมากที่มีรากศัพท์ภาษาละติน ส่วนหนึ่งจะรวบพยางค์สุดท้ายกลายเป็นตัวสะกด ขณะที่พยายามรักษาเสียงสระที่เน้นหนักจากรากศัพท์ภาษาละติน จนคำภาษากาตาลาเหล่านี้ปรากฏเป็นคำสั้น ๆ พยางค์เดียว หรือสั้นกว่าเมื่อเทียบกับคำภาษาสเปนที่วิวัฒนาการจากรากศัพท์ภาษาละตินคำเดียวกัน วลีกับประโยคภาษากาตาลาจึงดูมักมีคำพยางค์เดียวและเว้นวรรคระหว่างคำค่อนข้างถี่กว่าภาษาสเปน
สำหรับตัวอย่างของไวยากรณ์ในภาษากาตาลาที่เด่นชัด ได้แก่...
1) ประโยคบอกเล่าส่วนใหญ่มักมีโครงสร้างประโยคเป็นแบบ SVO (ประธาน-กริยา-กรรม) คล้ายภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่ไม่ได้ตายตัวเท่าภาษาอังกฤษ
2) มักมีคำ no ในประโยคปฏิเสธ
3) คำนามในภาษากาตาลามีเพศทางไวยากรณ์ (Grammatical gender) คือ เพศชาย และเพศหญิง
4) คำกำกับนาม (Article) จะเปลี่ยนแปลงไปตามเพศ และพจน์ของคำนาม ประกอบด้วยแบบชี้เฉพาะ (คล้าย “The” ในภาษาอังกฤษ) และแบบไม่ชี้เฉพาะ (คล้าย “A” กับ “An” ในภาษาอังกฤษ)
5) คำคุณศัพท์ (Adjective) ผันตามพจน์ (เอกพจน์หรือพหูพจน์) และเพศของคำนาม
6) คำกริยาในภาษากาตาลา จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ลงท้ายด้วย -ar, -re/-er และ -ir ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีการผันท้ายคำกริยาแตกต่างกัน
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของ "ภาษากาตาลา" ในฐานะหนึ่งในสมาชิกกลุ่มภาษาโรมานซ์ ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นที่สำคัญในแถบตะวันออกของประเทศสเปน เข้าใจและเห็นภาพถึงประวัติความเป็นมา ลักษณะเฉพาะ ความใกล้ชิดกับภาษาสเปนและภาษาอื่นในฝรั่งเศส รวมถึงตัวอย่างไวยากรณ์ในภาษากาตาลาครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[ที่มาของข้อมูล]
- Anna Poch Gasau, Alan Yates. Complete Catalan. London, UK: Hodder Education; 2010.
- Toni Ibarz, Alexander Ibarz. Colloquial Catalan. Oxfordshire, UK: Routledge; 2005.
โฆษณา