20 ส.ค. 2021 เวลา 09:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 37] แนะนำภาพรวมของภาษาโรมาเนีย
An overview of Romanian language
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 12 ของซีรีส์ "ภาษาละตินเเละกลุ่มภาษาโรมานซ์" จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ "ภาษาโรมาเนีย" ภาษาที่ค่อนข้างโดดเดี่ยวห่างออกไปจากสมาชิกอื่นในกลุ่มภาษาโรมานซ์ (โปรตุเกส-สเปน-ฝรั่งเศส-อิตาลี) ให้คนอ่านได้เข้าใจและเห็นภาพถึงลักษณะเฉพาะ ความสำคัญ ประวัติความเป็นมา รวมถึงตัวอย่างไวยากรณ์ในภาษาโรมาเนียครับ
1
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
ภาพประกอบ : ปราสาทเปเล็ช (Peleș Castle) บริเวณเทือกเขาคาร์เพเทียน ภาคใต้ของประเทศโรมาเนีย [Credit ภาพ : User 'TiberiuSahlean' @ Wikipedia.org]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : MV เพลงภาษาโรมาเนียปนภาษาอังกฤษ "De la capăt / All Over Again" เพลงในดนตรีอินดีป็อปร็อก โดยวง Voltaj ศิลปินตัวแทนประเทศโรมาเนียที่ร่วมการประกวดเพลงระดับยุโรป Eurovision เมื่อปี ค.ศ.2015 ที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย
"ภาษาโรมาเนีย" (ชื่อในภาษาอังกฤษ : Romanian / ชื่อในภาษาโรมาเนีย : Limba română) เป็นสมาชิกหนึ่งในกลุ่มภาษาโรมานซ์ (Romance languages) ที่สืบทอดมาจากภาษาละตินสามัญ (Vulgar Latin : ภาษาละตินแบบภาษาพูดในระดับสามัญชนคนทั่วไปในจักรวรรดิโรมัน) ร่วมกับภาษาโปรตุเกส ภาษาสเปน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอิตาลี
หากเปรียบเทียบภาษาประจำชาติ 5 ภาษาในกลุ่มภาษาโรมานซ์ ภาษาโรมาเนียถือว่าเป็นญาติที่ห่างไกลจากภาษาอื่น ๆ ร่วมกลุ่มไปมาก เพราะกลุ่มประเทศในยุโรปที่ใช้กลุ่มภาษาโรมานซ์ส่วนใหญ่ (โปรตุเกส สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี) ต่างเป็นประเทศเพื่อนบ้านในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่มีความสัมพันธ์ทางภาษาและวัฒนธรรมใกล้ชิดกัน ขณะที่ประเทศโรมาเนียและมอลโดวาที่ใช้ภาษาโรมาเนียเป็นหลัก กลับอยู่ในภูมิภาคยุโรปตะวันออก และอยู่ท่ามกลางประเทศที่ใช้กลุ่มภาษาอื่น อย่างกลุ่มภาษาสลาวิก (บัลแกเรีย เซอร์เบีย ยูเครน) และกลุ่มภาษาฟินโน-อูกริก (ฮังการี)
แผนที่แสดงการกระจายตัวของประชากรในทวีปยุโรปที่พูดภาษาสมาชิกในกลุ่มภาษาโรมานซ์ จะเห็นว่ากลุ่มประเทศที่ใช้กลุ่มภาษาโรมานซ์ส่วนใหญ่ (โปรตุเกส สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี) จะอยู่ใกล้ชิดกัน ขณะที่โรมาเนียและมอลโดวา (บริเวณพื้นที่สีชมพู-ม่วง) ค่อนข้างแยกห่างออกมา [Credit แผนที่ : User 'Servitje' @ Wikipedia.org]
ด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่ใช้ภาษาโรมาเนีย ซึ่งอยู่ห่างไกลจากดินแดนยุโรปแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ใช้กลุ่มภาษาโรมานซ์และอิทธิพลของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทำให้วิวัฒนาการของภาษาโรมาเนียแยกออกไปจากภาษาส่วนใหญ่ในกลุ่มภาษาโรมานซ์ ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่...
- การอพยพของกลุ่มชนชาวสลาฟเข้ามาสู่คาบสมุทรบอลข่าน
- การแบ่งคริสตจักรตะวันตกกับคริสตจักรตะวันออก ระหว่างกรุงโรมกับกรุงคอนสแตนติโนเปิล ในปี ค.ศ.1054 ศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ได้กลายเป็นศาสนาหลักของโรมาเนียในภายหลัง
- อิทธิพลจากภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาตุรกี ภาษากรีก ภาษาฮังการี เป็นต้น
รากฐานแรกเริ่มของภาษาโรมาเนีย มาจากภาษาดาเซีย (Dacian language) ที่กลุ่มชนท้องถิ่นในพื้นที่ดาเซีย (Dacia : แถบเทือกเขาคาร์เพเทียไปจนถึงบริเวณปากแม่น้ำดานูบ) ก่อนที่จักรวรรดิโรมันจะยกทัพมาพิชิตดาเซียลงได้ในปี ค.ศ.106 แล้วตั้งเป็นมณฑลดาเซีย (Roman dacia)
แผนที่แสดงอาณาจักรดาเซีย (Dacia) ภายใต้กษัตริย์บูเรบิสตา (Burebista) ในปีที่ 82 ก่อนคริสตกาล [Credit แผนที่ : User 'Bogdangiusca' @ Wikipedia.org]
แผนที่แสดงมณฑลต่าง ๆ ของจักรวรรดิโรมันในคาบสมุทรอิตาลี คาบสมุทรบอลข่าน และคาบสมุทรอนาโตเลีย เมื่อปี ค.ศ.125 โดยมณฑลดาเซีย (Roman dacia) จะอยู่ทางด้านบนของแผนที่ [Credit แผนที่ : User 'Andrein' & 'EraNavigator' @ Wikipedia.org]
การเข้ามาของโรมันในช่วงนี้ทำให้ภาษาละตินเข้ามายังดินแดนดาเซียจนกลายเป็นรากฐานของคำศัพท์และไวยากรณ์ส่วนใหญ่ในภาษาโรมาเนียปัจจุบัน แต่เมื่อโรมันถอนตัวออกจากดินแดนดาเซียในปี ค.ศ.275 อิทธิพลของภาษาละตินในพื้นที่แห่งนี้จึงชะงักตามไปด้วย
ภาษาโรมาเนียจึงรักษาร่องรอยลักษณะของภาษาละตินสามัญช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 2-3 ซึ่งมีลักษณะบางอย่างที่ไม่สามารถพบได้จากภาษาอื่น ๆ ในกลุ่มภาษาโรมานซ์ (ที่ยังคงรับอิทธิพลจากภาษาละตินต่อหลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 3 และมีวิวัฒนาการหลังจากนั้น) เช่น “การก” (Grammatical case) ซึ่งเป็นลักษณะที่ใช้ระบุว่าคำนามทำหน้าที่ใดในประโยค ภาษาโรมาเนียยังมีการกที่หลากหลายเช่นเดียวกับภาษาละติน แต่ไม่เหลือลักษณะนี้ในภาษาอิตาลี ฝรั่งเศส สเปน และโปรตุเกสแล้ว
คำนามในภาษาละตินจะมี 6 การก ในที่นี้จะยกตัวอย่างคำนาม Coquus “คนทำอาหาร/คนครัว (Cook)” ประกอบ
- Nominative case (กรรตุการก) คำนามที่ผันจะเป็นประธานของประโยค : coquus ibī stat (คนครัวยืนอยู่ตรงนั้น)
- Accusative case (กรรมการก) คำนามที่ผันจะเป็นกรรมตรงของประโยค : coquum vīdī (ฉันเห็นคนครัว)
- Genitive case (สัมพันธการก) คำนามที่ผันจะมีหน้าที่เป็นเจ้าของ : nōmen coquī Claudius est (คนทำอาหารชื่อ Claudius)
- Dative case (สัมปทานการก) คำนามที่ผันจะเป็นกรรมรองของประโยค : coquō dōnum dedī (ฉันมอบของขวัญให้คนครัว)
- Vocative case (สัมโพธนาการก) คำนามที่ผันจะเป็นคนหรือสิ่งที่ถูกเรียก : grātiās tibi agō, coque (ฉันขอขอบคุณนะ กุ๊ก)
- Ablative case (อปาทานการก) คำนามที่ผันจะใช้ในกรณีอื่น ๆ เช่น เป็นแหล่งที่มา หรือเป็นตัวเปรียบเทียบ : sum altior coquō (ฉันสูงกว่าคนครัว)
1
ส่วนภาษาโรมาเนียนั้น จะตัด Ablative case ออกไป แล้วปรับรูปแบบการผันท้ายคำนามระหว่างคู่ Nominative-Accusative case กับคู่ Genitive-Dative case ให้สะกดเหมือนกัน ตำราเรียนภาษาโรมาเนียส่วนหนึ่งจึงกล่าวว่าภาษาโรมาเนียมี 3 การก (ตามรูปแบบการสะกดเมื่อผันท้ายคำนาม) แต่อีกส่วนกล่าวว่ามี 5 การก (ตามรูปแบบหน้าที่ของคำนามที่ผัน) จำนวนการกในภาษาโรมาเนียจึงแล้วแต่มุมมองคนสอน
เมื่อกลุ่มชนชาวสลาฟอพยพเข้ามาสู่คาบสมุทรบอลข่าน ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 6 – ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7 ภาษาโรมาเนียก็เริ่มได้รับอิทธิพลจากกลุ่มภาษาสลาวิกหลังจากนั้น รวมถึงวัฒนธรรมไบแซนไทน์ที่แพร่หลายในคาบสมุทรบอลข่าน จนเป็นวัฒนธรรมร่วมระหว่างโรมาเนีย-บัลแกเรีย-เซอร์เบีย อย่างเช่น...
- อิทธิพลทางภาษาที่โรมาเนียได้รับจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ : ภาษากรีกไบแซนไทน์ อักษรซีริลลิก และภาษาสลาวอนิกคริสตจักร (Church Slavonic)
โรมาเนียรับภาษาสลาวอนิกคริสตจักรมาผ่านบัลแกเรียและเซอร์เบียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ภาษานี้เป็นภาษาที่ใช้ทางศาสนาตามคริสตจักรนิกายออร์ทอดอกซ์ในโรมาเนียกับมอลโดวา (ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18) และเป็นภาษาราชการและวรรณกรรมของโรมาเนียกับมอลโดวา (ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17)
- อิทธิพลจากภาษาบัลแกเรียและภาษาเซอร์เบีย ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13
เอกสารที่พบภาษาโรมาเนียแบบภาษาเขียนที่เก่าแก่ที่สุดคือ จดหมายจากพ่อค้าชาวโรมาเนียแจ้งเตือนเรื่องการโจมตีของตุรกีถึงเจ้าเมืองบราชอฟ (Brașov) ที่เขียนด้วยอักษรซีริลลิกในปี ค.ศ.1521 (ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16) แสดงให้เห็นว่าภาษาโรมาเนียเก่า (Old Romanian) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 เคยใช้อักษรซีริลลิกมาก่อน ส่วนอักษรโรมันเริ่มเข้ามาใช้กับภาษาโรมาเนียในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยใช้หลักการสะกดคำตามภาษาฮังการี
"Neacșu's letter" เอกสารภาษาโรมาเนียแบบภาษาเขียนที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบ เขียนขึ้นในปี ค.ศ.1521
อิทธิพลของภาษาฮังการีในภาษาโรมาเนียในฐานะภาษาดินแดนเพื่อนบ้าน นอกจากหลักการสะกดคำด้วยอักษรโรมันแล้ว ยังมีประเด็นดินแดนทรานซิลเวเนีย (Transylvania) ภาคตะวันตกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศโรมาเนียปัจจุบัน เคยอยู่ภายใต้ฮังการีประมาณ 900 ปี (ตั้งแต่ประมาณ ค.ศ.1000 ถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1) และเป็นพื้นที่ที่กลุ่มชาวโรมาเนียอาศัยปะปนกับกลุ่มชาวฮังการี ภาษาฮังการีจึงเข้ามามีอิทธิพลโดยเฉพาะกับภาษาโรมาเนียแบบภาษาถิ่นในทรานซิลเวเนีย
แผนที่จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีในปี ค.ศ.1910 (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้น) แสดงการกระจายตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าดินแดนทรานซิลเวเนีย (Transylvania) ขึ้นตรงกับฮังการี และมีทั้งชาวฮังการี (สีเขียวอ่อน) และชาวโรมาเนีย (สีส้ม) อาศัยอยู่
ขณะที่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 - 17 โรมาเนียและมอลโดวาตกเป็นรัฐในบรรณาการของจักรวรรดิออตโตมันช่วงเรืองอำนาจ จึงได้รับอิทธิพลของภาษาตุรกีเข้ามา
แผนที่แสดงคาบสมุทรบอลข่านในปี ค.ศ.1590 ช่วงจักรวรรดิออตโตมันเรืองอำนาจ ซึ่งดินแดนทรานซิลเวเนีย วัลลาเคีย (โรมาเนีย) และมอลดาเวีย (มอลโดวา) ต่างตกเป็นรัฐในบรรณาการของออตโตมัน (ตุรกี) [Credit แผนที่ : User 'Chamboz' @ Wikipedia.org]
พอถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เริ่มมีแนวคิดจากนักปราชญ์ชนชั้นสูงจากดินแดนทรานซิลเวเนียถึงภาษาละตินว่าเป็นบรรพบุรุษของภาษาโรมาเนีย และตระหนักว่าภาษาโรมาเนียเป็นสมาชิกกลุ่มภาษาโรมานซ์ ค่านิยมเรื่องภาษาโรมาเนียเป็นสมาชิกกลุ่มภาษาโรมานซ์ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางภาษา ดังนี้...
- การรับคำยืมจากภาษาอื่นในกลุ่มภาษาโรมานซ์ : นักเขียนชาวโรมาเนียและมอลโดวาปรับภาษาโรมาเนียให้ดูทันสมัยขึ้น ด้วยการยืมคำจากภาษาฝรั่งเศสกับภาษาอิตาลีมาใช้ในภาษาโรมาเนียในช่วงต้นคริสต์ศวรรษที่ 19
- ความนิยมใช้อักษรโรมันในการเขียน : คนโรมาเนียหันมานิยมใช้อักษรโรมันมากขึ้น เพราะเห็นว่าในเมื่อภาษาโรมาเนียอยู่ในกลุ่มภาษาโรมานซ์ ก็ควรใช้อักษรโรมันในการเขียนภาษาโรมาเนียมากกว่าอักษรซีริลลิก และปรับอักษรโรมันให้เข้ากับระบบเสียงของภาษาโรมาเนียด้วยการเพิ่มสัญลักษณ์เฉพาะ จนกระทั่งมีการประกาศใช้อักษรโรมันเป็นระบบการเขียนภาษาโรมาเนียอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1860
แม้ว่าภาษาโรมาเนียในโรมาเนียและมอลโดวาจะใช้อักษรโรมันในการเขียนเรื่อยมา แต่การเข้าครอบครองมอลโดวาของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1940-1991 ทำให้มอลโดวาใช้อักษรซีริลลิกแบบที่ใช้ในภาษารัสเซียมาใช้กับภาษาโรมาเนีย ก่อนที่มอลโดวาจะกลับมาใช้อักษรโรมันเป็นระบบการเขียนเช่นเดิมหลังจากมอลโดวาเป็นประเทศเอกราชแล้ว
ในปัจจุบันนี้ ภาษาโรมาเนียมีสถานะเป็นภาษาราชการของประเทศโรมาเนีย และประเทศมอลโดวา ซึ่งภาษาโรมาเนียมีชื่อเรียกในประเทศมอลโดวาว่า “ภาษามอลโดวา” (ภาษาอังกฤษ : Moldovan / ภาษาโรมาเนีย : Limba moldovenească) ส่วนจำนวนประชากรที่ใช้ภาษาโรมาเนียเป็นภาษาแม่มีประมาณ 24 ล้านคน
**ตัวอย่างภาษาโรมาเนียที่ประเทศมอลโดวาใช้ : เพลงภาษาโรมาเนีย "Hora din Moldova" เพลงในดนตรีกลิ่นอายพื้นเมืองมอลโดวา โดย Nelly Ciobanu ศิลปินตัวแทนประเทศมอลโดวาที่ร่วมการประกวดเพลงระดับยุโรป Eurovision เมื่อปี ค.ศ.2009 ที่กรุงมอสโก รัสเซีย
กลุ่มคนที่ใช้ภาษาโรมาเนียเป็นภาษาแม่ ได้แก่...
- ประชากรในประเทศโรมาเนีย (17.3 ล้านคน) และมอลโดวา (2.2 ล้านคน)
- กลุ่มชาติพันธุ์โรมาเนียในประเทศเพื่อนบ้าน (เซอร์เบีย ฮังการี ยูเครน) ซึ่งอยู่ในยูเครนมากที่สุดที่ประมาณ 151,000 คน
แผนที่แสดงการกระจายตัวของประชากรผู้ใช้ภาษาโรมาเนียเป็นภาษาหลัก ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ประเทศโรมาเนียและมอลโดวา [Credit แผนที่ : User 'Fobos92' @ WIkipedia.org]
- ชาวโรมาเนียที่ย้ายถิ่นฐานหรือทำงานอยู่ตามประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรป (ประมาณ 3 ล้านคน) เช่น อิตาลี (1.13 ล้านคน) เยอรมนี (~748,000 คน) สเปน (~672,000 คน) สหราชอาณาจักร (~427,000 คน) ออสเตรีย (~123,000 คน)
- ชาวโรมาเนียที่ย้ายถิ่นฐานหรือทำงานอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ เช่น สหรัฐฯ และแคนาดา
สำหรับตัวอย่างของไวยากรณ์ในภาษาโรมาเนียที่เด่นชัด ได้แก่...
1) ประโยคบอกเล่าส่วนใหญ่มักมีโครงสร้างประโยคเป็นแบบ SVO (ประธาน-กริยา-กรรม) คล้ายภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
2) มักมีคำ nu (ใกล้เคียงคำว่า no ในภาษาอังกฤษ) ในประโยคปฏิเสธ
3) คำนามในภาษาโรมาเนียมีเพศทางไวยากรณ์ (Grammatical gender / Gen gramatical) ได้แก่ เพศชาย เพศหญิง และเพศกลาง
คำนามเพศกลางในภาษาโรมาเนียจะมีลักษณะคล้ายคำนามเพศชายเมื่อเป็นเอกพจน์ (เช่น การผันคำนามและคำคุณศัพท์ การใช้คำกำกับนาม) แต่จะคล้ายคำนามเพศหญิงเมื่อเป็นพหูพจน์ ต่างจากคำนามเพศกลางในภาษาละตินที่มีรูปแบบการผันเฉพาะตัว
4) คำกำกับนาม (Article) จะเปลี่ยนแปลงไปตามเพศ พจน์ และการกของคำนาม ประกอบด้วยแบบชี้เฉพาะ (คล้าย “The” ในภาษาอังกฤษ) และแบบไม่ชี้เฉพาะ (คล้าย “A” กับ “An” ในภาษาอังกฤษ)
5) คำคุณศัพท์ (Adjective / Adjectiv) ผันตามพจน์ (เอกพจน์หรือพหูพจน์) และเพศของคำนาม
6) คำกริยาในภาษาโรมาเนีย จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ลงท้ายด้วย -a, -ea, -e และ -i/-î ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีการผันท้ายคำกริยาแตกต่างกัน
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของ "ภาษาโรมาเนีย" ในฐานะหนึ่งในสมาชิกกลุ่มภาษาโรมานซ์ เข้าใจและเห็นภาพถึงลักษณะเฉพาะ ประวัติความเป็นมา อิทธิพลจากภาษาอื่น ๆ รวมถึงตัวอย่างไวยากรณ์ในภาษาโรมาเนียครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[ที่มาของข้อมูล]
- Eastern Europe : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2013.
- Ramona Gönczöl-Davies, Dennis Deletant. Colloquial Romanian. Oxfordshire, UK: Routledge; 2004.
- Dennis Deletant, Yvonne Alexandrescu. Complete Romanian. Berkshire, UK: Hodder & Stoughton; 2010.
- บทความเรื่องการก (Grammatical Case) จากเพจ “ว่าด้วยเรื่องของภาษา” : https://www.facebook.com/aboutphasa/posts/2420337901411730
โฆษณา