13 ส.ค. 2021 เวลา 09:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 36] แนะนำภาพรวมของภาษาอิตาลี
An overview of Italian language
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 11 ของซีรีส์ "ภาษาละตินเเละกลุ่มภาษาโรมานซ์" จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ "ภาษาอิตาลี" ภาษาจากดินแดนรูปรองเท้าบูทซึ่งเป็นอีกหนึ่งภาษาสมาชิกในกลุ่มภาษาโรมานซ์ ให้คนอ่านได้เข้าใจและเห็นภาพถึงลักษณะเฉพาะ ความสำคัญ ประวัติความเป็นมา รวมถึงตัวอย่างไวยากรณ์ในภาษาอิตาลีครับ
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
[Credit ภาพ : User 'Theunixgeek' @ Wikimedia.org]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลงภาษาอิตาลี "Grande amore" เพลงในดนตรีป๊อปที่ร้องแบบการแสดงโอเปรา โดย Il Volo ศิลปินตัวแทนประเทศอิตาลีที่ร่วมการประกวดเพลงระดับยุโรป Eurovision เมื่อปี ค.ศ.2015 ที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย
“ภาษาอิตาลี” (ชื่อในภาษาอังกฤษ : Italian / ชื่อในภาษาอิตาลี Italiano หรือ Lingua italiana) เป็นภาษาสมาชิกในกลุ่มภาษาโรมานซ์ (Romance languages) ที่สืบทอดมาจากภาษาละตินสามัญ (Vulgar Latin : ภาษาละตินแบบภาษาพูดในระดับสามัญชนคนทั่วไปในจักรวรรดิโรมัน) ร่วมกับภาษาโปรตุเกส ภาษาสเปน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาโรมาเนีย หากเปรียบเทียบภาษาประจำชาติ 5 ภาษาในกลุ่มภาษาโรมานซ์ ภาษาอิตาลีจะใกล้เคียงกับภาษาละตินมากที่สุด
นอกจากภาษาละตินสามัญที่เป็นรากฐานสำคัญของภาษาอิตาลีแล้ว การรุกรานคาบสมุทรอิตาลีตั้งแต่ช่วงปลายสมัยจักรวรรดิโรมันไปจนถึงยุคกลาง (ช่วง ค.ศ.300 – 800) โดยเฉพาะกลุ่มชน “ลอมบาร์ด” (Lombards) กลุ่มชนกลุ่มหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์เยอรมานิกที่มาจากทางใต้ของสแกนดิเนเวีย เข้ามายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของคาบสมุทรอิตาลี ในช่วง ค.ศ.568 – 774 ทำให้อิทธิพลจากกลุ่มภาษาเยอรมานิกเข้ามาในภาษาอิตาลีเล็กน้อย อย่างเช่น ภาษาลอมบาร์ด (Lombardic) ภาษาที่สาบสูญไปแล้วในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11
แผนที่คาบสมุทรอิตาลีในช่วงปี ค.ศ.751 แบ่งเป็นพื้นที่ใต้การครอบครองของกลุ่มชนลอมบาร์ด (พื้นที่สีเทา) และจักรวรรดิไบแซนไทน์ (พื้นที่สีส้ม) [Credit แผนที่ : User 'Castagna' & 'InvaderCito' @ Wikipedia.org]
ขณะที่คำศัพท์ในภาษาละตินที่วิวัฒนาการในสมัยอื่น ๆ เช่น ภาษาละตินยุคกลาง ภาษาละตินยุคเรอแนซ็องส์ ภาษาละตินใหม่ หรือภาษาละตินเชิงศาสนา ก็ได้เข้ามาในภาษาอิตาลีตั้งแต่ช่วงต้นยุคกลางด้วย ผ่านคนอิตาลีสมัยนั้นที่ได้รับการศึกษา (อย่างนักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ ชนชั้นสูง นักบวช) ต้องเรียนภาษาละติน จึงรับคำศัพท์ภาษาละตินสมัยอื่น ๆ เข้ามาในภาษาอิตาลีแบบภาษาเขียน และแบบภาษาพูดในภายหลัง
ส่วนการค้าขายระหว่างสาธารณรัฐเวนิสกับพ่อค้าชาวอาหรับ และการค้าขายกับอิทธิพลของจักรวรรดิไบแซนไทน์ในคาบสมุทรอิตาลี ส่งผลให้เกิดคำยืมในภาษาอิตาลีจากคำภาษาอาหรับและภาษากรีกยุคกลาง
แผนที่แสดงดินแดนแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนใน ค.ศ.555 ซึ่งเป็นช่วงที่จักรวรรดิไบแซนไทน์ที่มีศูนย์กลางที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลเรืองอำนาจสุดขีด ภายใต้รัชสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียนมหาราช ซึ่งไบแซนไทน์ได้ครอบครองคาบสมุทรอิตาลีในช่วงนี้ด้วย [Credit แผนที่ : User 'Tataryn' @ Wikipedia.org
แผนที่แสดงเส้นทางการค้าในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลดำในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 ของสาธารณรัฐเวนิส (พื้นที่สีแดงเข้ม) โดยมีสถานีหรือนิคมการค้าของเวนิสส่วนหนึ่งตั้งในดินแดนของชาวมุสลิมอาหรับในช่วงนั้น ตั้งแต่เมืองตูนิสในตูนิเซีย เมืองอเล็กซานเดรียในอียิปต์ ไปจนถึงเมืองเท่าแถบตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน [Credit แผนที่ : User '-kayac-' @ WIkipedia.org]
ขณะที่อิทธิพลของภาษาฝรั่งเศสช่วงแรกเริ่มเข้ามาเมื่ออาณาจักรฟรังเกีย (Francia : อาณาจักรที่มีศูนย์กลางอยู่ในบริเวณตอนเหนือของฝรั่งเศส เบลเยียม และฝั่งตะวันตกของเยอรมนี) ภายใต้พระเจ้าชาร์เลอมาญได้พิชิตดินแดนตอนเหนือของคาบสมุทรอิตาลีในปี ค.ศ.774 และชาวนอร์มันจากตอนเหนือของฝรั่งเศสได้ยึดครองภาคใต้ของคาบสมุทรอิตาลีในช่วง ค.ศ.999 – 1139 ทำให้ภาษาอิตาลีได้รับคำศัพท์ในภาษาฝรั่งเศสเก่า (Old French) และภาษานอร์มัน
แผนที่แสดงการแผ่ขยายอำนาจของอาณาจักรฟรังเกียในช่วง ค.ศ.481-814 โดยสามารถพิชิตอาณาจักรของชาวลอมบาร์ดทางตอนเหนือของอิตาลีได้ใน ค.ศ.774 [Credit แผนที่ : User 'Sémhur' @ Wikipedia.org]
ในช่วงที่คาบสมุทรอิตาลีแบ่งออกเป็นรัฐต่าง ๆ เช่น สาธารณรัฐเวนิส สาธารณรัฐเจนัว อาณาจักรซาร์ดีเนีย แคว้นตอสกานา รัฐสันตะปาปา หรืออาณาจักรซิซิลี ต่างก็ใช้ภาษาอิตาลีแต่เป็นภาษาอิตาลีตามสำเนียงแต่ละท้องถิ่น ยังไม่มีภาษาอิตาลีมาตรฐาน โดยพื้นที่ที่เป็นแหล่งรากฐานสำคัญของภาษาและวรรณกรรมอิตาลี คือ เมืองฟลอเรนซ์ (Florence / Firenze) เมืองหลวงของแคว้นตอสกานา (Tuscany / Toscana)
แผนที่แสดงกลุ่มรัฐขนาดเล็กคาบสมุทรอิตาลีในปี ค.ศ.1796 ก่อนฝรั่งเศสภายใต้จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 บุกอิตาลี ส่วนเมืองฟลอเรนซ์ที่เป็นเมืองหลวงของแคว้นคอสกานา อยู่ในพื้นที่สีเหลืองของแผนที่ [Credit แผนที่ : User 'Shadowxfox' & 'Enok' @ Wikipedia.org]
เมืองฟลอเรนซ์ยังเป็นบ้านเกิดของดันเต อาลีกีเอรี (Dante Alighieri) กวีและนักภาษาศาสตร์ชาวอิตาลีคนสำคัญในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 - ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ซึ่งได้แต่งงานเขียนสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่...
- ตำราภาษาละติน De vulgari eloquentia ที่เสนอให้มีการยอมรับภาษาอิตาลีสำเนียงหนึ่งเป็นภาษากลางของคาบสมุทรอิตาลีทั้งในระดับสามัญชน วงการวรรณกรรม กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (แม้ว่าในช่วงนั้น กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในดินแดนอิตาลี จะใช้ภาษาละตินและภาษาฝรั่งเศสเป็นหลักอยู่ก็ตาม)
- กวีนิพนธ์ Divina Commedia ที่เขียนด้วยภาษาอิตาลีสำเนียงตอสกานา มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายในปรัชญาช่วงยุคกลางและวิวัฒนาการผ่านความเชื่อในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14
ภาพวาดแสดงดันเต อาลีกีเอรี (Dante Alighieri) กวีและนักภาษาศาสตร์ชาวอิตาลี จากจิตรกรรมฝาผนัง La commedia illumina Firenze ในอาสนวิหารฟลอเรนซ์ วาดโดย Domenico di Michelino จิตรกรชาวอิตาลีในปี ค.ศ.1465
ภาษาอิตาลีสำเนียงตอสกานา (แบบเมืองฟลอเรนซ์) จากยุคสมัยของดันเต ได้สืบทอดต่อไปอีกหลายศตวรรษโดยมีความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ผ่านการตั้งสถาบันกรุสกา (Accademia della Crusca) สถาบันด้านภาษาศาสตร์ที่ทำหน้าที่รักษาความเป็นภาษาอิตาลีสำเนียงตอสกานา (แบบเมืองฟลอเรนซ์) ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1583
ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ดินแดนคาบสมุทรอิตาลีส่วนใหญ่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของสเปน (กรณีอิตาลีฝั่งใต้) และออสเตรีย (กรณีอิตาลีฝั่งเหนือ) ในช่วงนี้อิทธิพลด้านไวยากรณ์จากภาษาสเปนเข้าสู่ภาษาอิตาลี ส่วนสงครามในคาบสมุทรอิตาลีช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่ฝรั่งเศสเข้าร่วม คนอิตาลีที่เข้าทำงานในราชสำนักฝรั่งเศส และความนิยมใช้ภาษาฝรั่งเศสในหมู่ชนชั้นสูงและผู้ได้รับการศึกษาในยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 ทำให้ภาษาฝรั่งเศสและภาษาอิตาลีต่างได้รับอิทธิพลระหว่างกันในช่วงนี้
ฝรั่งเศสภายใต้จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 เข้ายึดครองอิตาลีเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ในปี ค.ศ.1797 – 1814 ทำให้เกิดการรวมศูนย์ด้านการศึกษาและการปกครองในอิตาลี จึงเริ่มเกิดการลดความแตกต่างลงระหว่างภาษาอิตาลีสำเนียงต่าง ๆ
เมื่อถึงช่วงการรวมชาติอิตาลีในปี ค.ศ.1848-1871 ภาษาอิตาลีได้ใช้เป็นภาษาหลักในประเทศอิตาลีที่รวมชาติขึ้นมาใหม่ โดยมีภาษามาตรฐานที่อ้างอิงจากภาษาอิตาลีสำเนียงตอสกานา (Tuscan / Toscano) แบบเมืองฟลอเรนซ์ในภาคกลางของอิตาลี ส่งผลให้ดันเต ในฐานะกวีผู้ผลักดันภาษากลางที่ใช้ในคาบสมุทรอิตาลีและภาษาอิตาลีสำเนียงตอสกานาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งภาษาอิตาลี”
1
เมืองฟลอเรนซ์ในภาคกลางของอิตาลี แหล่งกำเนิดภาษาอิตาลีมาตรฐาน [Credit ภาพ : Caius bonus]
หลังการรวมชาติอิตาลีในช่วงแรก ๆ นั้น ประชากรที่ใช้ภาษาอิตาลีมีสัดส่วนผู้ใช้ภาษาอิตาลีมาตรฐานเป็นจำนวนน้อย แต่ก็เริ่มมีการเรียนการสอนภาษาอิตาลีมาตรฐานตามโรงเรียนในอิตาลี แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ภาษาอิตาลีมาตรฐานแพร่หลายไปในภูมิภาคต่าง ๆ ของอิตาลีในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้แก่...
- การย้ายถิ่นของคนอิตาลีจากชนบทเข้ามาในชุมชนเมืองใหญ่เพื่อหางานทำ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 – 1960 เช่น ภาคเหนือของอิตาลี (แถบเมืองตูริน มิลาน เวนิส โบโลญญา) ภาคกลาง (ฟลอเรนซ์ กรุงโรม) และเมืองนาโปลีทางภาคใต้ของอิตาลี อีกทั้งการพัฒนาภาคเหนือของอิตาลีเป็นแหล่งอุตสาหกรรมของประเทศ และเกิดพื้นที่ “สามเหลี่ยมอุตสาหกรรม” (ตูริน-มิลาน-เจนัว) ทำให้เกิดการย้ายจากภาคใต้เข้ามาเป็นแรงงานในแหล่งอุตสาหกรรมในภาคเหนือ การย้ายถิ่นเหล่านี้ทำให้ต้องมีภาษาอิตาลีมาตรฐานในการสื่อสารระหว่างคนอิตาลีจากภูมิภาคต่าง ๆ
แผนที่คาบสมุทรอิตาลีโดยสังเขปในเนื้อหาเรื่องความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจของอิตาลีระหว่างฝั่งเหนือที่ร่ำรวยกว่ากับฝั่งใต้ที่ยากจนกว่า โดย “สามเหลี่ยมอุตสาหกรรม” (ตูริน-มิลาน-เจนัว) อยู่ในภาคเหนือของอิตาลี ส่วนจุดกลมสีดำคือตำแหน่งเมืองใหญ่ในอิตาลี (ไล่จากเหนือไปใต้ - มิลาน ตูริน เจนัว โบโลญญา ฟลอเรนซ์ กรุงโรม และนาโปลี) [Credit แผนที่ : www.thestudentroom.co.uk]
- ความแพร่หลายของวิทยุและโทรทัศน์ในครัวเรือน จนถึงสื่อมวลชนและสื่อบันเทิงแบบอื่น (หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ภาพยนตร์) ทำให้ภาษาอิตาลีมาตรฐาน (สำเนียงตอสกานา) เป็นที่แพร่หลายขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ของอิตาลี แต่เนื่องจากมีสถานีโทรทัศน์และวิทยุของอิตาลีส่วนหนึ่งในกรุงโรมและเมืองมิลาน (เมืองใหญ่ที่สุด 2 อันดับแรกของอิตาลีจากจำนวนประชากร) จึงเริ่มมีภาษาอิตาลีสำเนียงกรุงโรมและสำเนียงเมืองมิลานเข้ามาในภาษาอิตาลีมาตรฐาน
1
ภาษาอิตาลีถูกใช้เป็นภาษาราชการในประเทศอิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ (โดยเฉพาะทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศที่ติดกับอิตาลี) ซานมารีโน และนครรัฐวาติกัน และใช้เป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์อิตาลีทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรอิสเตรีย (Istria) ในพื้นที่ประเทศสโลวีเนียและโครเอเชีย
แผนที่แสดงพื้นที่ที่มีประชากรผู้ใช้ภาษาอิตาลีเป็นหลักในปัจจุบัน [Credit แผนที่ : User 'Fobos92' @ Wikipedia.org]
ส่วนผู้คนที่ใช้ภาษาคอร์ซิกา (Corsican) บนเกาะคอร์ซิกาของประเทศฝรั่งเศสก็สามารถเข้าใจภาษาอิตาลี ซึ่งภาษาคอร์ซิกากับภาษาอิตาลีมีความใกล้ชิดกันจนนักภาษาศาสตร์ส่วนหนึ่งถือว่าภาษาคอร์ซิกาเป็นสำเนียงหนึ่งในภาษาอิตาลี
ตัวอย่างภาษาคอร์ซิกา : เพลงภาษาคอร์ซิกา "Sognu" เพลงในดนตรีป๊อปที่ร้องแบบการแสดงโอเปรา โดย Amaury Vassili ศิลปินตัวแทนประเทศฝรั่งเศสที่ร่วมการประกวดเพลงระดับยุโรป Eurovision เมื่อปี ค.ศ.2011 ที่เมืองดึสเซิลดอร์ฟ เยอรมนี
ในอดีตนั้น ภาษาอิตาลีเคยเป็นภาษาราชการในดินแดนเคยอยู่ใต้อิทธิพลของประเทศอิตาลี หรือสาธารณรัฐเวนิส (อดีตรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลีในช่วง ค.ศ.697-1797) เช่น แอลเบเนีย มอลตา โมนาโก บางส่วนของมอนเตเนโกรและกรีซ และอดีตอาณานิคมของอิตาลีในทวีปแอฟริกา (ลิเบีย เอริเทรีย เอธิโอเปีย และโซมาเลีย) นอกจากนี้ ยังมีการใช้ภาษาอิตาลีตามกลุ่มคนอิตาลีที่ย้ายมาอยู่อาศัย หรือคนเชื้อสายอิตาลี ในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย และประเทศอื่นในทวีปยุโรป (เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร)
แผนที่แสดงพื้นที่ที่มีประชากรผู้ใช้ภาษาอิตาลีเป็นหลักหรือภาษาราชการในปัจจุบัน และดินแดนที่เคยใช้ภาษาอิตาลีเป็นภาษาราชการในอดีต (แอลเบเนีย มอลตา ลิเบีย เอริเทรีย เอธิโอเปีย และโซมาเลีย) [Credit แผนที่ : User 'Fobos92' @ Wikipedia.org]
ด้วยจำนวนประชากรผู้ใช้ภาษาอิตาลีเป็นภาษาแม่เกือบ 65 ล้านคน (ที่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอิตาลี) ทำให้ภาษาอิตาลีเป็นภาษาที่มีประชากรใช้กันเป็นจำนวนมากในทวีปยุโรป (ร่วมกับภาษาอังกฤษ เยอรมัน รัสเซีย ฝรั่งเศส และสเปน) ภาษาอิตาลีใช้เป็นหนึ่งในภาษาทางการในองค์กรระหว่างประเทศในภูมิภาคยุโรปบางแห่ง เช่น องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE)
เนื่องจากดินแดนคาบสมุทรอิตาลีเป็นศูนย์กลางทางศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ภาษาอิตาลีจึงใช้เป็นภาษาหลักในการทำงานของ “สันตะสำนัก” (Holy See) ศูนย์กลางบริหารงานเครือข่ายศาสนจักรทั่วโลกของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกภายใต้พระสันตะปาปา
แผนที่แสดง "นครรัฐวาติกัน" (Vatican City) ที่เป็นที่ตั้งของ "สันตะสำนัก" (Holy See) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำไทเบอร์ และล้อมรอบด้วยชุมชนเมืองของกรุงโรม เมืองหลวงของอิตาลี [Credit แผนที่ : Google Map]
ดินแดนคาบสมุทรอิตาลีเคยเป็นจุดเริ่มต้นของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (ยุคเรอแนซ็องส์) ในยุโรป และประเทศอิตาลีก็ยังคงมีจุดเด่นในด้านศิลปวัฒนธรรมอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ภาษาอิตาลีมีบทบาทในด้านศิลปวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ เช่น วงการดนตรีและอุปรากร ศิลปะ อาหารและเครื่องดื่ม ไปจนถึงแฟชั่นและการออกแบบสมัยใหม่
สำหรับตัวอย่างของไวยากรณ์ในภาษาอิตาลีที่เด่นชัด ได้แก่
1) ประโยคบอกเล่าส่วนใหญ่มักมีโครงสร้างประโยคเป็นแบบ SVO (ประธาน-กริยา-กรรม) คล้ายภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่ก็มีบางกรณีที่เรียงแบบ SOV (ประธาน-กรรม-กริยา)
2
2) มักมีคำ non (ใกล้เคียงคำว่า no ในภาษาอังกฤษ) ในประโยคปฏิเสธ
3) คำนามในภาษาอิตาลีมีเพศทางไวยากรณ์ (Grammatical gender / Genere grammaticale) คือ เพศชายและเพศหญิง
4) คำนำหน้านาม (Article) จะเปลี่ยนแปลงไปตามเพศทางไวยากรณ์ของคำนาม ประกอบด้วยแบบชี้เฉพาะ (คล้าย “The” ในภาษาอังกฤษ) และแบบไม่ชี้เฉพาะ (คล้าย “A” กับ “An” ในภาษาอังกฤษ)
5) คำคุณศัพท์ (Adjective / Aggettivo) ผันตามพจน์ (เอกพจน์หรือพหูพจน์) และเพศของคำนาม
6) คำกริยาในภาษาอิตาลี จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ลงท้ายด้วย -are, -ere และ -ire ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีการผันท้ายคำกริยาแตกต่างกัน
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของ "ภาษาอิตาลี" ในฐานะหนึ่งในสมาชิกกลุ่มภาษาโรมานซ์ เข้าใจและเห็นภาพถึงลักษณะเฉพาะ บทบาทความสำคัญ ประวัติความเป็นมา ภาษาอิตาลีมาตรฐานจากเมืองฟลอเรนซ์ในภาคกลาง ภาษาอิตาลีในทวีปยุโรปและระดับนานาชาติ รวมถึงตัวอย่างไวยากรณ์ในภาษาอิตาลีครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[ที่มาของข้อมูล]
- Sylvia Lymbery. Perfect Your Italian. London, UK: Hodder Education; 2010.
- Derek Aust, Mike Zollo. Italian : language, life & culture. London, UK: Hodder & Stoughton Educational; 2000.
- Western Europe : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2013.
โฆษณา